ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
หนังขายยา (ที่ยุคนี้คนไทยอาจไม่ค่อยคุ้นเคยกันแล้ว) เริ่มมีขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเอกชนเจ้าของสินค้านำภาพยนตร์ไปฉายในชนบท พร้อมกับการจำหน่ายสินค้าของบริษัท ออกหน่วยบรรทุกข้าวของเครื่องใช้ เครื่องปั่นไฟ เครื่องฉายหนัง จอ ลำโพง ฯลฯ โดยใช้พาหนะต่างๆ ตามความเหมาะสมของพื้นที่
อย่างการใช้หน่วยรถยนต์ในพื้นที่ที่ถนนไปถึง, ใช้หน่วยเรือตามแม่น้ำลำคลองในเขตสมุทรปราการ อยุธยา ปากน้ำโพ ปราจีนบุรี รวมทั้งลำคลองสายหลักในเขตกรุงเทพฯ, ใช้หน่วยเกวียนในพื้นที่ไม่มีถนน ฯลฯ ส่วนการจำหน่ายสินค้าจะมีเป็นระยะๆ ระหว่างการฉายภาพยนตร์ ซึ่งแม้จะเรียกว่าหนังขายยา แต่สินค้ากลับมีหลากหลาย
แม้จะดูเป็นความบันเทิงควบคู่กับการตลาด แต่ในยุคสงครามเย็น “หนังขายยา” ยังเป็นหนึ่งในเครื่องมือการแย่งชิงมวลชนของภาครัฐด้วยอีกแง่หนึ่ง
ช่วงทศวรรษที่ 2490 การเมืองระหว่างประเทศมีความแปรผันอย่างมาก เช่น การปฏิวัติในจีน (พ.ศ. 2492) สงครามเกาหลี (พ.ศ. 2493) สงครามในอินโดจีนและความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟู (พ.ศ. 2497) และการรุกคืบของคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สหรัฐอเมริกา หนึ่งในประเทศผู้นำโลกเสรีให้ความสำคัญกับการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้อย่างมาก ประเทศไทยถูกกำหนดให้เป็นศูนย์กลางของปฏิบัติการลับและปฏิบัติการจิตวิทยาในภูมิภาค จึงมีการสนับสนุนด้านการทหารแก่รัฐบาลไทยอย่างมหาศาล ควบคู่กับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ
หน่วยงานดังเช่น ยูซิส หรือ สำนักข่าวอเมริกัน (United State Information Unite, USIS) หน่วยงานเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสหรัฐฯ เป็นกลไกหนึ่งในปฏิบัติการทางจิตวิทยา เครือข่ายปฏิบัติการของยูซิสพร้อมกับหน่วยโฆษณาชวนเชื่อย่อยๆ เข้าไปในเขตชนบทลึกถึงระดับหมู่บ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสาน มีผู้เชี่ยวชาญในสงครามจิตวิทยาออกเดินทางไปแจกโปสเตอร์ และสมุดคู่มือการต่อต้านคอมมิวนิสต์ให้กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชน ในเวลากลางวัน และฉายภาพยนตร์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ในตอนกลางคืน เช่นเดียวกับหนังขายยา
แต่จุดประสงค์ครั้งนี้เป็นการขายความคิด สร้างความเชื่อที่ต้องการแผยแพร่
การสกัดกั้นคอมมิวนิสต์ไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านั้น ช่วงปลายทศวรรษ 2490 USOM (United States Operation Mission) ให้ความช่วยเหลือในโครงการจัดตั้งโรงพยาบาลให้ครบทุกจังหวัดของไทย ซึ่งเกิดขึ้นจริงได้ก่อน พ.ศ. 2500 โดยใช้งบประมาณของ AID (Agency for International Development-หน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ) ของสหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ ศูนย์ควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขสหรัฐฯ ยังทำข้อตกลงกับรัฐบาลไทยในการจัดตั้งหน่วยงานวิจัยมาลาเรียในประเทศไทย (พ.ศ. 2500) เพื่อควบคุมและกวาดล้างไข้มาลาเรียในไทย เนื่องจากทหารของสหรัฐอเมริกาเข้ามาปฏิบัติการในภูมิภาคต้องเผชิญกับไข้ป่ามาลาเรียล้มป่วยเป็นจำนวนมาก ทำให้อัตราการเสียชีวิตด้วยไข้มาลาเรียต่อประชากรใน 100,000 คน ลดจากร้อยละ 24.5 ใน พ.ศ. 2504 เหลือร้อยละ 18.2 ใน พ.ศ. 2507
หนังขายยาและการสาธารณสุข จึงกลายเป็นยุทธวิธีที่สหรัฐใช้สู้กับคอมมิวนิสต์ในไทยไปอย่างเนียนๆ
อ่านเพิ่มเติม :
- ชื่อ “อู่ตะเภา” มาจากไหน? สู่จุดกำเนิด “สนามบินอู่ตะเภา” ฐานทัพอเมริกาใช้บอมบ์อินโดจีน
- การเมืองในประวัติศาสตร์ “เครือญาติ” ไทย-กัมพูชา กรณี “ทับหลัง” ที่ได้คืนจากสหรัฐอเมริกา
- จิม ทอมป์สัน พ่อค้าผ้าไหม หรือสายลับซีไอเอ?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ บรรณาธิการ. ปกิณกคดี 100 ปีการสาธารณสุขไทย, หอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข , เมษายน 2561
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2563