สภาพความหวาดกลัว “คอมมิวนิสต์” ในไทยในอดีต กับตัวอย่างการกล่าวหากันโดยง่าย

ธง ค้อนเคียว คอมมิวนิสต์
ภาพประกอบเนื้อหา - สัญลักษณ์ค้อนเคียว ฉากหลังเป็นตลาดน้ำช่วงชั่วโมงเร่งด่วนในกรุงเทพฯ เมื่อค.ศ. 1976 ภาพจาก AFP

พ.ศ. 2513-2514 ผู้เขียนเรียนหนังสืออยู่ชั้น ป.2 อยู่ที่โรงเรียนวัด ช่วงนั้นอ่านหนังสือแตกแล้ว มีข่าวเรื่อง “คอมมิวนิสต์” จะมาบุกบ้านโน้น ปล้นบ้านนี้อยู่ไม่ขาด บางทีพวกผู้ใหญ่ก็กระซิบกระซาบกัน ยิ่งกระซิบก็ยิ่งเพิ่มความน่าสนใจ แต่คนบ้านนอกเมื่อก่อนนี้ ท่านสอนกันว่า การที่ผู้ใหญ่กำลังคุยกัน เด็กจะไปทำหน้าป๋อหลอ คอยสอดแนมหรือเงี่ยหูฟังอยู่ใกล้ ๆ เป็นไม่ได้เลย หรือยิ่งพูดสอดระหว่างที่ท่านคุยกัน ถือว่ามีโทษฉกรรจ์ เมื่อแขกลับตาไปแล้ว มีหวังถูกเขกกระบาล หรือถูกกระหนาบมิให้กระทำเช่นนี้อีก

ต่อมาไม่นานที่โรงเรียนวัดมีหนังสือการ์ตูนเล่มบาง ๆ มาอยู่ในห้องสมุด เป็นภาพวาดสี พิมพ์ลงในกระดาษขาวจั๊วะ เนื้อกระดาษนั้นดีกว่าหนังสือของกรมวิชาการ รวมถึงกระดาษหนังสือเที่ยวรถไฟที่มีเรื่องของเด็กชายปัญญากับเด็กหญิงเรณูเสียอีก

หนังสือการ์ตูนที่ว่านี้ เป็นภาพวาดหน้าตาเหมือนคนจริง ไม่ขี้ริ้วหรือผิดสัดส่วน แต่เรื่องราวในหนังสือนั้นชวนระทึกมาก เพราะมันเป็นหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวความโหดร้ายของ “คอมมิวนิสต์” เรียกว่า “มัน” บุกไปที่ (หมู่) บ้านไหน บ้านนั้นเป็นต้องถูกจุดไฟเผา เพราะความบ้าคลั่งของลัทธิคอมมิวนิสม์ ลูกชายก็ฆ่าพ่อฆ่าแม่ได้ โดยมีเจ้านายของพวกคอมมิวนิสต์เป็นคนสั่ง

ความน่าสะพรึงของเรื่องในหนังสือ แม้คนอ่านหนังสือไม่ออก เพียงแต่เปิด ๆ ให้ผ่านสายตาก็ดูน่ากลัว  เพราะเปลวไฟที่กำลังลุกไหม้เรือนของชาวบ้านนั้น สีแดงเถือกไปทั้งหน้ากระดาษ ไหนจะเป็นชาวบ้านที่ถูกดาบปลายปืนแทงจากข้างหลังโผล่ออกมาทะลุยอดอก หน้าตาเหยเก ส่ออาการเจ็บปวด มีเส้นหยาดเลือดแดงกระฉูด

พวกเรานักเรียนคุ้นหูกับคำว่า คอมมิวนิสต์ มากขึ้น และนึกหวั่น ๆ ว่า หากคอมมิวนิสต์มาถึงที่นี่เข้าสักวัน หมู่บ้าน วัด และโรงเรียนของเราก็คงจะถูกเผาเป็นสีแดงเพลิงเหมือนอย่างในหนังสือ

หนังสือเหล่านี้ คุณครูอนุญาตให้พวกเรานำกลับบ้าน เพื่อไปอ่านให้พ่อแม่ฟังได้ แต่มีน้อยคนที่จะนำกลับไป เหตุผลง่าย ๆ คืออ่านหนังสือไม่ค่อยจะออก

พ่อผู้เขียนนั้นชอบฟังลำกับฟังข่าว โดยเฉพาะข่าวของ “นายหนหวย” (ชื่อจริงว่า ศิลปชัย ชาญเฉลิม) ซึ่งลีลาการพูดภาษาไทยกลางของท่านผู้นี้ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ พูดชัดเหมือนกับนักเรียนอ่านหนังสือเป็นคำ ๆ เช่นว่า “ไอ้-พวก-นี้-มัน-ชัก-น้ำ-เข้า-ลึก-ชัก-ศึก-เข้า-บ้าน” เรื่องที่ท่านเล่าซึ่งพ่อชอบฟังมากก็คือเรื่องเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ เข้าใจว่าเหตุที่พ่อมีความรู้เรื่องคอมมิวนิสต์มาก ส่วนหนึ่งนั้นคงจะได้มาจากการฟังข่าวของลุงหนหวยนี่เอง

พ่อไม่ได้บอกเรื่องน่ากลัวของคอมมิวนิสต์โดยตรง แต่ก็บอกลูก ๆ คนโต ๆ ว่า ถ้าใครมาชวนคุยเรื่องนี้ ก็ขอให้หลีกหนีไปห่าง ๆ อย่าไปซักถามหรือฟังเขามาก พ่อบอกอีกว่า ไม่รู้ว่าจะมีคนแอบแฝงมาหลอกถามหรือเปล่า เดี๋ยวพวกเราในบ้านก็จะถูกหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์

เรื่องกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์นี้ กล่าวหากันได้ง่าย พ่อเล่าตัวอย่างจากบ้านอื่นให้ฟังว่า มี “เจ้านาย” ที่ทำงานในอำเภอไปเล่นสาว (เล่นสาว แปลว่า จีบสาว) แล้วก็เปรยกับพ่อหรือแม่ของสาวว่า “ไก่กำลังพอต้มกินดีเนาะ” ความหมายปลายทางจากความที่เปรยก็คือ เจ้านายบอกให้ชาวบ้านฆ่าไก่แล้วทำต้มยำให้กิน

แต่ก่อนแต่ไรมา เพียงแค่คำเปรยของ “เจ้านาย” เท่านี้ ก็จะกลายเป็นคำสั่ง ชาวบ้านต้องกุลีกุจอไปจับไก่มาเชือดแล้วก็ต้ม (ทำต้มยำไก่ รสชาติออกเปรี้ยวนำ ใส่น้ำปลาร้าต่างน้ำปลา) เป็นการเลี้ยงต้อนรับเจ้านาย เมื่อเจ้านายได้กินและพอใจ ก็จะไม่เกิดความระแวงสงสัยแต่อย่างใด

แต่ถ้าบ้าน (ครัวเรือน) ใดเกิดอิดออด อ้างว่าไก่ที่เห็นคุ้ยเขี่ยอยู่ใต้ถุนนั้นเป็นของคนอื่น อ้างว่าไก่ยังไม่โตพอจะนำมาต้ม หรืออ้างว่าไก่ของญาติทางไกลเขามาฝากเลี้ยง ถ้าได้รับคำตอบประมาณนี้ แสดงว่าเป็นการปฏิเสธ ไม่ยินดีต้อนรับเจ้านาย และคนในบ้านหลังนั้น (เรือนหลังที่ปฏิเสธ ไม่นำไก่มาต้มเพื่อต้อนรับเจ้านาย) ก็อาจจะมีโอกาสถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ได้

ผู้เขียนเคยหมุนวิทยุเพื่อจะฟังดนตรีไทย ซึ่งวิทยุแต่ก่อน ตามบ้านนอกนั้นเป็นระบบเอเอ็ม คือมีเสียงป๊อด ๆ แป๊ด ๆ แทรกได้เสมอ แต่น่าแปลกคือ เวลาหมุนหาคลื่นไม่ทันไร ก็จะมีเสียงภาษาเวียดนามแหวขึ้นมา และเสียงภาษาเวียดนามนี้ชัดมาก บางคลื่นราวกับมีคนเวียดนามมายืนพูดอยู่นอกหน้าต่าง บางคราวผู้เขียนก็ค้างคลื่นที่เป็นภาษาเวียดนาม ฟังไม่รู้เรื่องเลย แต่ก็สนุก คือมีเสียง ป๋อง ๆ แป๋ง ๆ ดุ๋ม ๆ ด่าว ๆ แล้วพ่อก็เอ็ดเอาและชี้แจงว่า ไม่ให้เปิดฟังเสียงวิทยุแกว เพราะถ้าหากมีคนเดินผ่านบ้านเราไปแล้วมีคนไปแจ้งตำรวจว่า คนในบ้านเรารับฟังภาษาแกว เพียงเท่านี้เราก็จะติดคุกอย่างไม่ต้องแก้ตัว โทษฐานที่ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ นับแต่นั้นมา ผู้เขียนก็ไม่เปิดฟังเสียงภาษาแกวอีกเลย

ลืมเล่าเป็นเบื้องต้นว่า คนลาวรวมถึงคนไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกคนเวียดนามว่าแกว และเรียกภาษาเขาพูดว่าภาษาแกว ไม่รู้สึกว่าเป็นคำดูถูกหรือดูแคลนอะไร เพียงแต่เป็นการจำแนกให้รู้ว่า มิใช่เขมร มิใช่ลาว มิใช่เจ๊ก มิใช่พม่า ปู่ย่าก็พาเรียกกันมาอย่างนี้ เพิ่งมารับรู้ว่าเป็นคำดูถูกก็เมื่อตอนโตขึ้นมานี้เอง

เรื่องความสนุกของภาษาเวียดนามนี้ จำขี้ปากของเพื่อนพี่ชายที่ไปดูหมอลำ เขานำมาเล่าสู่กันฟัง ผู้เขียนเป็นเด็กนั่งอยู่ไม่ไกลมากนักก็พลอยได้ยิน เรื่องที่ตลกหมอลำเขาว่า นำมาเล่าเลียนเสียงโดยเพื่อนของพี่ว่า “ปั๊ก-ไต่-ไห-หลำ-หำ-เปียก-จุ๋มๆ-เหวียด-นาม, บัก-ฟัก-แฟง-แกง-ใส่-ฮา-นอย, เปิด-ผ่า-ขึ่น-เห็น-หมอย-เหวียด-นาม” เนื้อความแท้ ๆ ในภาษาเวียดนามจะว่ากระไรไม่แจ้ง แต่พอตลกหมอลำเอามาเลียนเสียงเลียนทำนอง แล้วใส่ความหมายอย่างลาวก็ให้นึกขำ ฟังครั้งเดียวยังจำได้มาจนบัดนี้

ในช่วงนั้น พวกเราชาวบ้านกลัวคอมมิวนิสต์กันมาก ไม่จำเพาะแต่เวียดนาม ยังรวมไปถึงประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ หรือบรรดาผู้ใหญ่พากันเรียกว่า จีนแดง ดังนั้น อะไรก็ตามที่ผลิตจาก “ประเทศจีนแดง” เป็นเรื่องน่ากลัว เพราะเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ มีหัวหน้าใหญ่ชื่อ “เมาเซตุง” เช่น มีเรื่องเล่าว่าชาวบ้าน (หมู่บ้านอะไรก็ไม่ทราบ เพราะเป็นเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมา พวกเราก็ไม่กล้าซักเอาความละเอียดจากผู้ใหญ่นัก) ถูกฟ้าผ่าตายกลางทุ่งนาตอนฝนตกพรำ ๆ โดยที่ผู้ตายนั้นสวมหมวกกะโล่ และหมวกกะโล่นี่เองที่ผลิตจากจีนแดง ที่ขอบหมวกกะโล่มีขดลวดทองแดง “เป็นการผลิตให้กับคนไทยซื้อมาใช้ แล้วจะทำให้ฟ้าผ่าตาย คนจีนแดงเองใส่ชนิดไม่มีขดลวดทองแดง”

เรื่องเล่าที่น่ากลัวเกี่ยวกับจีนแดงยังมีอีก เพื่อนบางคนเล่าว่า ลุงตัวเองไปเป็นทหารรับจ้างในเวียดนาม ได้ฟังเจ้านายบอกว่า ที่จีนแดงมีตู้เย็นขนาดใหญ่มาก เขาผลิตเพื่อปล่อยความเย็นให้พัดมาสู่ประเทศไทยเพื่อให้คนไทยหนาวตาย จะเห็นได้ว่าความหนาวเย็นพัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากหลักฐานเรื่องทิศของลมหนาวที่ดูสมจริงตามวิชาภูมิศาสตร์ที่ครูสอนแล้ว เจ้าเพื่อนคนที่เล่ามันมีลุงเป็นทหารรับจ้าง ยิ่งสมจริงเข้าไปอีก เพียงแค่นี้ก็ทำให้จีนแดงเป็นประเทศที่น่าชังเหลือดี

“ยา ‘น้ำมันปักกิ่ง’ นั่นก็เป็นแผนการเผยแพร่คอมมิวนิสต์จากจีนแดง” รัฐบาลของเรายุคนั้นชาญฉลาด จึงสั่งให้ลบไม้หันอากาศออกจาก “ปัก” จึงกลายเป็น น้ำมันปกกิ่ง แก้ปัญหาคอมมิวนิสต์ง่ายนิดเดียว

ในปัจจุบันนี้ หากใครจะกล่าวหาใครอีกคนว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เห็นจะเชยเต็มที ซ้ำยังจะถูกย้อนเกล็ดว่าพยายาม “ปลุกผีคอมมิวนิสต์” ส่วนผู้เขียนนั้นกลับนึกอยากอ่านหนังสือการ์ตูนบอกเล่าเรื่องคอมมิวนิสต์เมื่อสมัย พ.ศ. 2514 หากได้อ่านอีกที เห็นจะนอนตายตาหลับสนิทดี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “คอมมิวนิสต์” เขียนโดย วีระพงศ์ มีสถาน ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2560


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กันยายน 2563