“โดโนแวน” สายลับอเมริกันในไทยแทบทำให้ “ทหาร-ตร.” เผชิญหน้ากันยุคล้างคอมมิวนิสต์

วิลเลียม โจเซฟ โดโนแวน ดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยโอเอสเอส (ภาพจาก archives.gov ไฟล์ภาพ public domain)

ทำความรู้จักกับ พลตรี วิลเลียม โจเซฟ โดโนแวน (Major General William Donovan) “สายลับ” อเมริกันในไทยแทบทำให้ “ทหาร-ตร.” เผชิญหน้ากันยุคล้างคอมมิวนิสต์

อิทธิพลของชาวอเมริกันที่มีต่อไทย และอีกหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนเป็นที่ประจักษ์กันมานาน สำหรับไทยในช่วงของการต่อต้านคอมมิวนิสต์ก็มีบุคคลที่สหรัฐอเมริกาส่งมาเพื่อสนับสนุนภารกิจต่อต้านคอมมิวนิสต์ซึ่งแทบเป็นชนวนให้ทหารและตำรวจต้องเผชิญหน้ากัน

โดโนแวน เป็นอีกหนึ่งตัวเต็งที่คิดว่าจะได้รับตำแหน่งหัวหน้าซีไอเอ (Central Intelligence Agency) แต่ในปี พ.ศ. 2496 ประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) แต่งตั้งพลตรี วิลเลียม โจเซฟ โดโนแวน ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2496-2497 ซึ่งว่ากันว่า เหตุผลที่เขารับงานนี้ก็เพราะไทยเป็นหนึ่งในจุดสำคัญในช่วงสงครามเย็น และจะได้สามารถทำงานโดยมีอิสระจากกระทรวงการต่างประเทศในระดับหนึ่ง (ช่วงนั้นกระทรวงมีรัฐมนตรีว่าการเป็นเครือญาติกับหัวหน้าของซีไอเอ ที่ถูกแต่งตั้งปาดหน้าเขา) โดยก่อนหน้านี้ โดโนแวน ปฏิเสธข้อเสนอตำแหน่งไปเป็นทูตประจำที่ฝรั่งเศส

รุ่งมณี เมฆโสภณ ผู้เขียนหนังสือ “อำนาจ” แสดงความคิดเห็นว่า การรับตำแหน่งครั้งนี้ทำให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม หวาดระแวง จากที่โดโนแวน เป็นผู้ที่คุ้นเคยกับเสรีไทยสายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งถือเป็นศัตรูทางการเมืองของจอมพล ป.

พลตรี วิลเลียม โจเซฟ โดโนแวน (Major General William Donovan) จากนิวยอร์ก อดีตทหารที่เคยร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 และได้รับบาดเจ็บจนเกือบตาบอด ขณะที่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ยังมีบทบาทสำคัญเช่นกัน

เขาถูกเรียกว่าเป็น “บิดาของงานข่าวกรองของสหรัฐฯ” โดยถือเป็นผู้มีส่วนสำคัญในสำนักงานด้านยุทธศาสตร์ หรือ “โอเอสเอส” (Office of Strategic Service : OSS) หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และบทบาทของโดโนแวน ในช่วงนี้ ถือว่าโดดเด่นมาก กระทั่งภายหลังหน่วยงานถูกยุบและแปลงสำนักงานนี้เป็นสำนักข่าวกรองกลางแห่งสหรัฐอเมริกา หรือที่รู้จักกันในนาม “ซีไอเอ” (Central Intelligence Agency) ซึ่งถือว่าเป็นการยุติบทบาทของโดโนแวน ไปด้วย

จากบทบาทในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และสายสัมพันธ์กับเสรีไทยสายปรีดี พนมยงค์ เป็นเหตุผลให้จอมพล ป. ระแวงมากขึ้น ยิ่งเมื่อประกอบเข้ากับความสัมพันธ์ระหว่างโดโนแวน กับพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ที่พยายามวัดทางอำนาจกับจอมพล ป. เสมอมายิ่งทำให้การรับตำแหน่งครั้งนี้สร้างความไม่สบายใจให้จอมพล ป.

ภารกิจที่โดโนแวน ได้รับมาคือการต่อต้านคอมมิวนิสต์สำหรับสหรัฐฯในภูมิภาคนี้ และแน่นอนว่าเป็นถางทางรองรับภารกิจของสหรัฐฯในอนาคตไปด้วย งบประมาณที่สหรัฐฯสนับสนุนสำหรับภารกิจสงครามจิตวิทยาเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์กรณีนี้รวมแล้วเป็นเงิน 1,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ

การดำเนินงานในภารกิจก็มีฝ่ายตำรวจเป็นผู้ดำเนินงาน รุ่งมณี เมฆโสภณ อธิบายบทบาทต่างๆ ที่สหรัฐฯเลือกให้ฝ่ายตำรวจว่า มีตั้งแต่สนับสนุนจัดตั้งตำรวจตระเวนชายแดน ส่งซีไอเอมาฝึกตำรวจพลร่มเพื่อปฏิบัติการลับและสงครามนอกแบบ รวมถึงสนับสนุนการจัดตั้ง “กรมประมวลราชการแผ่นดิน” ซึ่งกลายเป็นสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ในเวลาต่อมา ภารกิจโดยรวมก็มีพลตำรวจเอก เผ่า เป็นผู้ดูแล ซึ่งยิ่งเสริมฐานทางอำนาจมากขึ้นไปอีก

เมื่อหมดวาระแล้ว โดโนแวน ตอบรับข้อเสนอเข้าเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย โดยการศึกษาของณัฐพล ใจจริง ว่าด้วยการเมืองไทยสมัยจอมพล ป. อ้างอิงถึงเอกสารเกี่ยวกับการแต่งตั้งนายโดโวแวน เป็นที่ปรึกษาสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ จากเภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึงรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อเดือนมกราคม 2498 ระบุว่า รัฐบาลโอนงบประมาณให้แก่สถานทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นค่าใช้จ่ายในราชการลับ

ขณะที่จอห์น ดัลเลส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแจ้งให้ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ ทราบว่า โดโนแวน ยอมเป็นตัวแทนรัฐบาลไทยด้วยค่าจ้างปีละ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ

นายโดโนแวน เสียชีวิตที่โรงพยาบาลในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี ในปี พ.ศ. 2502 อายุได้ 76 ปี ปัจจุบันมีรูปปั้นของนายโดโนแวน อยู่ด้านหน้าล็อบบี้ของสำนักงานซีไอเอ ในรัฐเวอร์จิเนีย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

รุ่งมณี เมฆโสภณ. อำนาจ ลอกคราบการเมืองไทย อุดมการณ์ เพื่อชาติ และญาติมิตร. กรุงเทพฯ : บ้านพระอาทิตย์, 2554

ณัฐพล ใจจริง. การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2552


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2561