วิถีพระพิมลธรรม โดนขัง 5 ปีคดีคอมมิวนิสต์-ความมั่นคง สู่ศาลทหารยกฟ้อง ชี้ว่าบริสุทธิ์

ภาพถ่าย พระพิมลธรรม เมื่อ ถูก ขัง ใน สันติบาล
พระพิมลธรรม เมื่อถูกจำขังอยู่ในสันติบาล หรือ “สันติปาลาราม”

…เหตุการณ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีความเกี่ยวพันระหว่างอาณาจักรและพุทธจักร กรณีของ “พระพิมลธรรม” (อาจ อาสโภ) พระมหาเถระระดับรองสมเด็จพระราชาคณะชั้นหิรัญบัฏ สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ เขตพระนคร ถูกจับกุมข้อกล่าวหาว่ากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ ขณะกำลังดำรงภาวะเป็นพระภิกษุ

คณะตำรวจผู้จับกุมนำโดย ... เอื้อ เอมมะปาน[1] อ้างว่าได้รับคำสั่งทางวาจาจาก ฯพณฯ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวไปคุมขังที่สันติบาล ซึ่งทำให้ประชาชนส่วนมากเข้าใจว่าเหตุการณ์นี้ จอมพล สฤษดิ์ เป็นผู้เหี้ยมโหด จับสึกพระมหาเถระผู้ใหญ่เพียงเพราะมีความเห็นต่างทางการเมือง ทำให้เป็นตราบาปของ จอมพล สฤษดิ์ ตราบจนถึงทุกวันนี้

หากมีการเอ่ยถึงพระพิมลธรรม ต้องมีการพูดชื่อถึง จอมพล สฤษดิ์ ในฐานะผู้กระชากผ้ากาสาวพัสตร์และยัดข้อหาคอมมิวนิสต์ จนนำไปสู่การคุมขังพระพิมลธรรมที่สันติบาลเป็นระยะเวลา 5 ปี ก่อนที่ศาลทหารจะมีคำพิพากษาให้เป็นผู้บริสุทธิ์ แต่แท้จริงแล้วเหตุการณ์นี้มีเงื่อนงำที่ซับซ้อนอยู่มาก ขนาดที่ตัวพระพิมลธรรมเองยังไม่เชื่อว่านายกรัฐมนตรีเป็นผู้กระทำเองโดยตรง แต่ทำเพราะได้รับข้อมูลยุยงจากผู้ที่ประสงค์ร้ายต่อตน ดังที่พระพิมลธรรมได้บันทึกไว้ว่า[2] 

เหตุการณ์ที่เกิดแก่ข้าพเจ้าแล้วมานั้น มีบุคคลจำพวกหนึ่งสำคัญผิดไปว่า เป็นเรื่องที่เกิดจากคณะรัฐบาลไทยเองซึ่งขณะนั้นเป็นโอกาสของรัฐบาลของ ฯพณฯ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่ตามที่เป็นจริงนั้นหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ที่ปรากฏออกมาให้คนภายนอกทราบโดยมากนั้น เป็นเพราะรัฐบาลต้องปฏิบัติตามหน้าที่ คือเมื่อมีผู้นำเรื่องขึ้นไปร้องเรียนว่าจะเป็นภัยแก่ประเทศแล้ว รัฐบาลซึ่งมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง จำจะต้องสั่งการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายป้องกันประเทศให้เข้าไปสอบสวนหรือจับกุมคุมขัง แล้วแต่กรณี

จากบันทึกนี้ทำให้บ่งชี้ได้ว่าพระพิมลธรรมนั้นเชื่อว่ารัฐบาลถูกใช้เป็นเครื่องมือของผู้ประสงค์ร้ายในการจัดการตนเอง ได้แก่ กลุ่มพระสงฆ์ระดับสังฆมนตรี ดังที่ท่านบันทึกเหตุที่ข้าพเจ้าถูกจับกุมคุมขัง[3] ว่า 

การที่ข้าพเจ้าถูกปลดจากตำแหน่งและถูกถอดถอนจากสมณศักดิ์ ตั้งแต่เมื่อปี .. 2503 มาแล้วนั้น ไม่ใช่เกิดจากรัฐบาลของชาติ หรือองค์พระมหากษัตริย์ของประเทศ แต่เกิดจากคณะสังฆมนตรีของสงฆ์ไทยโดยตรง

ย้อนเหตุการณ์ไปเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2503 พระพิมลธรรมถูกกล่าวหาว่าเสพเมถุนธรรมทางเวจมรรค และทำอัชฌาจารปล่อยสุกกะกับอดีตสามเณรและเด็กวัดที่เป็นลูกศิษย์ ซึ่งสมัครสอบเป็นพลตำรวจอยู่ในกรมตำรวจ พร้อมทั้งทางตำรวจได้นำเด็กนั้นมาเป็นพยาน เป็นเหตุให้พระพิมลธรรมถูกกล่าวหาว่าต้องอาบัติปฐมปาราชิก (เสพเมถุน) ถึงสีลวิบัติขาดจากความเป็นภิกษุแล้ว ไม่สมควรที่จะดำรงเพศเป็นบรรพชิตสืบต่อไปได้ ถูกพระบัญชาให้ออกจากตำแหน่งการปกครองทั้งปวง ถูกร้องให้ถอดถอนออกจากสมณศักดิ์ ทำให้พระพิมลธรรมต้องฟ้องศาลยุติธรรม เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง นี่เป็นปฐมบทแห่งมหากาพย์การต่อสู้ของพระพิมลธรรมในครั้งนี้

ต่อจากนั้นมา 3 เดือน นายวีรยุทธ์ วัฒนานุสรณ์ ซึ่งเป็นพยานปากสำคัญที่ให้การแก่ตำรวจในการกล่าวหาพระพิมลธรรมก็ได้สารภาพผิดต่อหน้าศาลยุติธรรมว่า[4] ข้าพเจ้าได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาจริง และเพื่อรับบาปกรรมที่กระทำผิดไปแล้ว ตามวิธีการทางศาสนา ข้าพเจ้าได้กราบขมาโทษและขออโหสิกรรมแด่พระเดชพระคุณท่านต่อหน้าศาลแล้ว

จึงขอโฆษณา ที่นี้ว่า พระเดชพระคุณพระอาจ อาสโภ มิได้เคยประพฤติล่วงละเมิดสิกขาบทเป็นศีลวิบัติ ดังที่ข้าพเจ้าต้องกล่าวใส่ร้ายพระเดชพระคุณท่านแต่ประการใด ขออานุภาพแห่งการสำนึกผิดครั้งนี้ จงดลบันดาลให้จิตใจข้าพเจ้ามีแต่ความผ่องแผ้ว พ้นจากความหม่นหมองอันตามบีบคั้นจิตใจข้าพเจ้าอยู่ในขณะนี้เทอญ

การพิจราณาคดี พระพิมลธรรม ในศาล
ห้องพิจารณาคดีพระพิมลธรรม

เหตุการณ์นี้เป็นชัยชนะครั้งแรกในการแสดงความบริสุทธิ์ของพระพิมลธรรม แต่วิบากกรรมของท่านยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้ ต่อมาถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ นำไปสู่การบังคับสึกในที่สุด

วันที่ 20 เมษายน 2505 เวลาบ่าย ประมาณ 13.30 . ขณะที่พระพิมลธรรม (อาจ อาสภมหาเถร) เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ กำลังนั่งสนทนากับญาติโยมที่มาเยี่ยมอยู่นั้น ในขณะนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าตรวจค้นจับกุมพระพิมลธรรมโดยข้อหาว่ามีการกระทำผิดต่อความมั่นคงของรัฐและกระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ และกระทำผิดต่อความมั่นคงของรัฐบาลภายในราชอาณาจักรอันเป็นความผิดอาญามีโทษร้ายแรงถึงขั้นประหารชีวิต จากนั้นได้นำท่านไปคุมขังไว้ที่สันติบาล

ต่อมาในเวลา 20.15 . กรมตำรวจก็ได้แถลงการณ์นำออกประกาศทางวิทยุกระจายเสียง กรมประชาสัมพันธ์ ถึงสาเหตุที่จับกุมอดีตพระพิมลธรรมในครั้งนี้ ต่อจากนั้นตำรวจได้นิมนต์พระธรรมคุณาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดพระนคร วัดสามพระยา และพระธรรมมหาวีรานุวัตร วัดไตรมิตรวิทยาราม มาสึกพระมหาอาจ เมื่อพระสังฆาธิการทั้ง 2 รูปมาถึง หลังจากที่สนทนาเหตุการณ์ต่างๆ แล้ว พระพิมลธรรมได้เขียน[5] หนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมมีใจความว่า

กระผมขอเรียนด้วยความเคารพว่า ถ้าท่านเจ้าคุณก็ดี หรือพระเถระชั้นผู้ใหญ่ขึ้นไปก็ดี ไม่มีเมตตากรุณาให้ความเป็นธรรมแก่กระผมตามที่ได้ขอความกรุณาแล้ว กระผมก็จะขอความกรุณาอีก คือไม่ยอมสึกตามข้อบังคับอันมิชอบด้วยพระธรรมวินัยและกฎหมายนั้น จะยอมเอาชีวิตบูชาพระรัตนตรัยไปจนถึงที่สุด ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดลุอำนาจเข้ามาแย่งชิงผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากร่างกายของกระผมแล้วไซร้ กระผมจะถือว่าผู้นั้นแย่งชิงเอาโดยผิดศีลธรรม และกระผมจะยังปฏิญาณเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาอยู่ตลอดไป

ถึงแม้จะมีผู้มีใจโหดร้ายทารุณแย่งชิงผ้ากาสาวพัสตร์ของกระผมไป กระผมก็จะนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ชุดอื่นแทน ซึ่งกระผมมีสิทธิตามพระธรรมวินัยและกฎหมาย จึงขอให้ท่านเจ้าคุณผู้รู้เห็นอยู่ ที่นี้ โปรดทราบและเป็นสักขีพยานให้แก่กระผม ตามคำปฏิญญานี้ด้วย

เมื่อถึงเวลาประมาณ 01.00 . ของวันที่ 21 เมษายน 2505 หลังจากที่พระสังฆาธิการทั้ง 2 รูป ได้รับหนังสือไว้แล้ว พระธรรมมหาวีรานุวัตร มีความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่จึงได้ปลอบว่า[6]ขอให้ปฎิบัติตามด้วยดีเยี่ยงนักปราชญ์เหมือนอย่างที่เจ้าคุณใหญ่เคยปฏิบัติมาแล้ว เอาไปสู้คดีดาบหน้า ซึ่งหวังว่าเจ้าคุณใหญ่คงมีสติปัญญาเพียงพออยู่แล้ว

จากนั้น พระธรรมคุณาภรณ์ยกมือขึ้นไหว้พระพิมลธรรมแล้วพูดว่าผมขอผ้าเหลืองก็แล้วกันแล้วจึงค่อยๆ ปลดเปลื้องจีวรส่วนบน ส่วนพระธรรมมหาวีรานุวัตรเข้ามากราบที่ตักพระพิมลธรรม พร้อมช่วยเปลืองผ้าเหลืองส่วนล่าง เพื่อเป็นการนำให้ตำรวจในการที่จะเปลื้องผ้าเหลืองออก ขณะที่ตัวอดีตพระพิมลธรรมอยู่ในกิริยาอาการนั่งขัดสมาธิบนเก้าอี้นวม หลับตา มือนับลูกประคำ ใจเจริญพระพุทธคุณ 108 บทด้วยจิตใจที่ไม่หวั่นไหว[7] 

นี้เป็นวิบากกกรรมที่ต้องเผชิญอยู่ในที่คุมขังถึงระยะเวลา 5 ปี และในระหว่างที่ถูกคุมขังอยู่นั้น นายอาจ ดวงมาลา (ตามที่เจ้าหน้าที่เรียก) ได้ประกาศความเป็นสมณสัญญาอยู่ คือ จะทำทุกอิริยาบถเหมือนเดิม เหมือนเป็นพระภิกษุทุกประการ เช่น การฉันอาหาร ต้องให้ตำรวจช่วยประเคน เป็นต้น เพราะถือว่าตนนั้นมิได้สึกแต่ประการใด เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบผ้าที่ครองเท่านั้น แม้ความเป็นพระก็ไม่ได้อยู่ที่ผ้า แต่อยู่ที่การประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย

เหตุการณ์ที่ถูกจับกุมในครั้งนี้ ยิ่งทำให้อดีตพระพิมลธรรมกลับได้รับความศรัทธาเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณถึงการต่อสู้เพื่อความบริสุทธิ์ของตน มีคณะศิษย์ไปเยี่ยมมากมายมิได้ขาด จนสันติบาลอันเป็นสถานที่ถูกคุมขังได้รับการขนานนามว่า สันติปาลาราม เสมือนเป็นวัด ในระหว่างที่จำพรรษาอยู่ในสันติบาลนั้น ก็ได้เขียนหนังสือสั่งสอนลูกศิษย์อยู่เสมอ

ภาพถ่าย พระพิมลธรรม
พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ)

สาเหตุที่อดีตพระพิมลธรรมเชื่อว่า จอมพล สฤษดิ์ นายกรัฐมนตรี มิได้เป็นตัวการในการจับสึกในครั้งนี้ เพราะว่าเบื้องต้นที่มีการกล่าวหาพระพิมลธรรมจนเกิดเป็นกระแสข่าวไปทั่วเมือง รัฐบาลได้แสดงเจตนาและนโยบายว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ให้เป็นเรื่องของคณะสงฆ์จัดการกันเอง[8] ดังแถลงการณ์ของสำนักนายกรัฐมนตรี มีใจความตอนหนึ่งว่า

รัฐบาลจึงจำกัดหน้าที่ของตนเพียงให้ความร่วมมือแก่คณะสงฆ์ คือเมื่อคณะสังฆมนตรีต้องการพยานหลักฐาน ก็หาส่งให้เท่าที่จะหาได้ คณะสังฆมนตรีจะพิจารณาหรือดำเนินการอย่างไร รัฐบาลไม่เคยเข้าไปสอดแทรก แต่รัฐบาลก็ต้องระมัดระวังในเรื่องความไม่สงบและความปลอดภัย เพราะมีพฤติการณ์บางอย่างที่ทำให้รัฐบาลต้องระมัดระวังเช่นนั้น รัฐบาลไม่เคยแสดงต่อสาธารณะว่า รัฐมีความคิดเห็นเป็นประการใด เพราะต้องให้คณะสงฆ์มีเสรีภาพสมบูรณ์ในการวินิจฉัยอธิกรณ์ โดยไม่ต้องคำนึงถึงความคิดเห็นทางรัฐบาล และถ้าหากคณะสงฆ์สามารถจัดการให้เรียบร้อยไปโดยที่รัฐบาลไม่ต้องทำอะไร รัฐบาลก็จะสาธุอนุโมทนาอย่างยิ่ง

นอกจากนี้พระพิมลธรรมยังเคยเขียนหนังสือร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรีตลอด ไม่ว่าจะเป็นการขอความเป็นธรรม ชี้แจง และขอความอารักขา เป็นต้น

แต่ภายหลังรัฐบาลมีท่าทีเปลี่ยนไป ขัดต่อเจตนารมณ์ที่แสดงไว้ชัดในครั้งแรก เช่น มีการถวายบังคมทูลถอดสมณศักดิ์ต่อราชเลขาธิการ เป็นต้น นอกจากนั้นท่าทีของ จอมพล สฤษดิ์ ก็มีทีท่าเปลี่ยนไปจากเดิม เช่นได้ให้สัมภาษณ์นักข่าว พร้อมทั้งเปิดเผยรูปภาพพระพิมลธรรมนุ่งกางเกง สวมหมวก ใส่แว่นดำ ในชุดที่ลงไปชมเหมืองว่ารูปนี้ก็ขาดจาก (ความเป็น) พระภิกษุสงฆ์แล้วไม่ใช่หรือ?”

แต่ความจริงแล้วเมื่อ .. 2501 คณะสงฆ์ไทยได้เลือกพระพิมลธรรมเดินทางไปประชุมขบวนการส่งเสริมศีลธรรม ที่เรียกกันว่าขบวนการ เอ็ม.อาร์.เอ.” ที่สหรัฐอเมริกาและสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งยังได้เดินทางต่อไปอีกหลายประเทศ รวมทั้งเยอรมนี ซึ่งที่เมืองรัวส์ รัฐเอสเสน พระพิมลธรรมพร้อมด้วยผู้ติดตาม มี นายเสริม สุขสม ผู้ดูแลนักเรียนไทยในเยอรมนีตะวันตก นายวิรัช บุญประสิทธิ์ และ พระมหามนัส พวงลำเจียก ได้รับเชิญให้ลงไปชมเหมืองถ่านหิน ซึ่งทุกคนที่ลงไปจะต้องแต่งชุดป้องกันฝุ่นพิษ พระพิมลธรรมจึงต้องสวดชุดของเหมืองทับผ้ากาสาวพัสตร์ไว้ รูปถ่ายในชุดของเหมืองถ่านหินนี้เอง ได้เป็นหลักฐานสำคัญในการฟ้องพระพิมลธรรมในเวลาต่อมา[9] 

เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้พระพิมลธรรมเชื่อว่าต้องมีผู้คอยยุยง จอมพล สฤษดิ์ เป็นแน่ แต่ภายหลังนั้นหลังจากที่มีการแสดงหลักฐานต่างๆ ถึงความบริสุทธิ์ของอดีตพระพิมลธรรมมากขึ้น มีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมของเหล่าศิษยานุศิษย์ ทำให้ จอมพล สฤษดิ์ ตาสว่างขึ้น รู้สึกว่าแท้จริงแล้วตนเองนั้นเป็นเครื่องมือของกลุ่มที่ริษยากลั่นแกล้งกัน พร้อมสำนึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นต่อท่านนั้นว่าเป็นเพราะตนเองนั้นมีส่วนร่วมด้วย

จึงมีความประสงค์ที่จะไปขอขมา พร้อมทั้งช่วยเหลือ ถึงขนาดที่ท่านได้กล่าวกับผู้ใกล้ชิดว่า [10] กูไม่นึกเลยว่า พระผู้ใหญ่จะใช้เล่ห์ลิ้นขนาดนี้ ให้กูหายเสียก่อน จะให้ความเป็นธรรม จะไปกราบขอขมาโทษแต่ความประสงค์ของนายกรัฐมนตรีก็ไม่สมประสงค์ดังที่หมายไว้ เพราะในขณะนั้นตนเองป่วยจนถึงแก่อสัญกรรม ทำให้อดีตพระพิมลธรรมต้องเผชิญชะตากรรมต่อไป

หลังจากที่อดีตพระพิมลธรรมถูกขังไว้เป็นเวลาถึง 5 ปี เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ เหล่าศิษยานุศิษย์ผู้นับถือพากันประท้วงร้องเรียนถึงความเป็นธรรม จนนำไปสู่การตัดสินของศาลทหาร พิพากษายกฟ้องรับรองความบริสุทธิ์ของท่าน ในวันที่ 30 สิงหาคม 2509 มีใจความว่า

ตามที่ศาลได้ประมวลวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามฟ้อง และกล่าวหามาหลายข้อหลายประเด็นนี้ มีสาระบ้าง ไม่มีสาระบ้าง ก็ไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดๆ เลย พอที่จะชี้ให้เห็นว่าจำเลยได้กระทำหรือน่าจะกระทำผิด การจับกุมคุมขังจำเลยนี้ย่อมเป็นที่เศร้าหมองและน่าสลดใจในวงการคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนมาก

ท่านประธานศาลฎีกาก็ดี พระเถระผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยก็ดี ซึ่งเป็นพยาน ต่างก็กล่าวเป็นทำนองเดียวกันว่าจำเลยนี้เป็นผู้ประกอบแต่กุศลกรรม กระทำกิจพระศาสนาแผ่ไพศาลไปทั้งในและนอกประเทศ ทั้งในทางปริยัติศาสนา และปฏิบัติศาสนา มีผลประจักษ์ชัดเป็นหลักฐานมาก ไม่เชื่อว่าได้กระทำผิด แต่กลับมาต้องถูกออกจากเจ้าอาวาส ถูกออกจากสมณศักดิ์ ถูกจับกุม ถูกบังคับให้สละเพศพรหมจรรย์ นับว่ารุนแรงที่สุดสำหรับพระเถระผู้ใหญ่ที่ปวงชนเคารพนับถือ

พระธรรมโกศาจารย์ ถึงกับกล่าวว่า คิดได้อย่างเดียวว่า เกิดขึ้นเพราะความอิจฉาริษยากันในวงการสงฆ์ หรือมิฉะนั้นก็เป็นกรรมเก่าของจำเลยเท่านั้นเอง พันโท ประเสริฐ สุดบรรทัด ผู้ฝักใฝ่ในธรรมผู้หนึ่งกล่าวว่า ตามที่จำเลยต้องคดีนี้ ได้สืบสวนด้วยตัวเองทราบเบื้องหลังโดยตลอด แต่จะเบิกความก็เกรงจะกระทบกระเทือนแก่วงการพระภิกษุสงฆ์และพระศาสนา

ขอสรุปว่า มูลกรณีทั้งหลายตามที่ทราบความจริงมา จำเลยถูกกลั่นแกล้งโดยไม่เป็นธรรมจริงๆ ไม่ได้กระทำผิดตามกล่าวหา ดังนั้น ศาลจึงขอให้จำเลยระลึกว่าเป็นคราวเคราะห์หรือกรรมเก่าของจำเลยเอง หรือมิฉะนั้นก็เป็นการสร้างบาปของคนมีกิเลส ไม่ใช่ความผิดของผู้ใด แต่เป็นความผิดของสังสารวัฏเอง

ศาลนี้รู้สึกสลดใจและเห็นใจจำเลย แต่เชื่อว่าจำเลยซึ่งอบรมอยู่ในพระศาสนามานาน คงจะซาบซึ้งดีในอุเบกขาญาณที่ว่า สัตว์ทั้งปวงมีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ทำกรรมใดไว้ ดีหรือชั่วก็ตาม ก็จะเป็นกรรมทายาทรับผลของกรรมนั้น และคงจะตั้งอยู่ในคุณธรรมอันเป็นลักษณะของบัณฑิตในพระพุทธศาสนาสืบไป อาศัยเหตุผลและดุลพินิจที่ได้วินิจฉัยมา จึงพร้อมกันพิพากษายกฟ้องโจทก์ ปล่อยจำเลยพ้นข้อหาไป

หลังจากนั้นอดีตพระพิมลธรรมได้นุ่งสบงครองจีวรพาดสังฆาฏิเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เป็นที่ปลื้มปีติโสมนัสแก่พุทธบริษัทที่มาประชุมฟังการพิจารณาครั้งนี้อย่างคับคั่ง มีพระภิกษุสามเณรประมาณ 1,000 รูป คฤหัสถ์ประมาณ 300 คน ล้นแน่นศาลไปหมด[11] 

จากเหตุการณ์ที่ศาลได้รับรองความบริสุทธิ์อดีตพระพิมลธรรมแล้วนั้น ผู้คนต่างศรัทธาต่ออดีตพระพิมลธรรมเป็นอย่างมาก มีการชุมนุมเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้ท่าน เช่น การขอให้เพิกถอนพระบัญชาความผิดคืน การขอพระราชทานสมณศักดิ์กลับคืน ขอคืนตำแหน่งเจ้าอาวาสดังเดิม เป็นต้น

ผลจากความบริสุทธิ์ในครั้งนี้ ทำให้พระพิมลธรรมได้รับความเจริญงอกงามในทางพระพุทธศาสนา ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นถึงสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

ในทางตรงกันข้าม ส่วนของผู้ที่กล่าวหาตั้งแต่แรกนั้นล้วนถูกสังคมประฌาม ถึงการใส่ร้ายต่างๆ นานา แต่เห็นทีผู้ที่จะเป็นตราบาปในเรื่องนี้ ก็ไม่พ้นจะเป็น ฯพณฯ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ผู้เซ็นลงนามในคำสั่งประหารชีวิตพระพิมลธรรมจากความเป็นภิกษุเพศ

ทำให้เมื่อมีการกล่าวถึงพระพิมลธรรมเมื่อใด ก็ต้องทำให้นึกคิดว่า จอมพล สฤษดิ์ คือผู้อยู่เบื้องหลังในครั้งนี้ ก็ถือได้ว่าตราบาปนี้เป็นวิบากกรรมของท่านนายกฯ ที่ไม่สามารถหายจากความเจ็บป่วยมาคืนความเป็นธรรมให้พระพิมลธรรมได้ จึงทำให้เป็นจำเลยสังคมต่อเหตุการณ์นี้

แม้ตัวพระพิมลธรรมเองจะบอกอย่างไรว่า จอมพล สฤษดิ์ นั้นไม่ได้เป็นต้นเหตุทั้งหมด แต่สังคมก็ยังจดจำภาพ จอมพล สฤษดิ์ ในฐานะผู้ร้ายกระชากผ้าเหลืองของ พระพิมลธรรม อยู่ดี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] จดหมายพระพิมลธรรมขอความเป็นธรรมต่อพระธรรมคุณาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดพระนคร, 20 เมษายน 2505

[2] ผจญมาร บันทึกชีวิต 5 ปี ในห้องขังของพระพิมลธรรม (อาสภมหาเถร), (กรุงเทพฯ : สำนักงานกลาง กองการวิปัสสนาธุระ, 2530), . 6.

[3] เรื่องเดียวกัน, . 4.

[4] สำเนาคดีดำที่ 8739/2503 ศาลแขวงพระนครใต้

[5] หนังสือขอความเป็นธรรมครั้งสุดท้าย ของพระพิมลธรรม ต่อพระธรรมคุณาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดพระนคร, 20 เมษายน 2505, อาสภเถร

[6] หนังสือจากสันติบาลผ่านเจ้าคุณพระสุวิมลธรรมาจารย์, 21 เมษายน 2505, อาสภเถร

[7] เรื่องเดียวกัน.

[8] คำแถลงการณ์ของรัฐบาล เรื่องความเป็นไปในคณะสงฆ์, สำนักนายกรัฐมนตรี, 28 ตุลาคม 2503

[9] โรม บุนนาค. “กรรมตามทันทุกราย! เรื่องสลดใจที่สุดของวงการสงฆ์ สุดยอดคำพิพากษาโดยศาลทหาร!!,” ใน ผู้จัดการออนไลน์. (23 มีนาคม 2559).

[10] อารมย์ จารุบรรยงค์, .. คำพิพากษาศาลทหารกรุงเทพคดีอดีตพระพิมลธรรม. (โรงพิมพ์สหประชาพาณิชย์, 2515).

[11] บันทึกสังเกตการณ์เกี่ยวกับอดีตพระพิมลธรรมเสนอ หน..สธ., สิริ เพ็ชรไชย หน.ปธ.ลช., 1 กันยายน 2509


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มิถุนายน 2561