“สันติบาล” ที่คุมขัง “พระพิมลธรรม” หลังถูกจับกุมข้อหาคอมมิวนิสต์

ภาพถ่าย พระพิมลธรรม เมื่อ ถูก ขัง ใน สันติบาล
พระพิมลธรรม เมื่อถูกจำขังอยู่ในสันติบาล หรือ “สันติปาลาราม”

“สันติบาล” ที่คุมขัง “พระพิมลธรรม” หลังถูกจับกุมด้วยข้อกล่าวหาคอมมิวนิสต์ เมื่อ 60 กว่าปีก่อน 

วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2505 เวลาประมาณ 13.30 น. ขณะที่ พระพิมลธรรม (อาจ อาสภมหาเถร) พระมหาเถระระดับรองสมเด็จพระราชาคณะชั้นหิรัญบัฏ สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ กำลังนั่งสนทนากับญาติโยมที่มาเยี่ยมอยู่นั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าตรวจค้นจับกุมพระพิมลธรรมโดยข้อหาว่า “มีการกระทำผิดต่อความมั่นคงของรัฐและกระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ และกระทำผิดต่อความมั่นคงของรัฐบาลภายในราชอาณาจักร” อันเป็นความผิดอาญา มีโทษร้ายแรงถึงขั้นประหารชีวิต จากนั้นได้นำท่านไปคุมขังไว้ที่ “สันติบาล”

พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ)
พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ)

ต่อมาในเวลา 20.15 น. กรมตำรวจก็ได้แถลงการณ์นำออกประกาศทางวิทยุกระจายเสียง กรมประชาสัมพันธ์ ถึงสาเหตุที่จับกุมครั้งนี้ จากนั้นตำรวจได้นิมนต์พระธรรมคุณาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดพระนคร วัดสามพระยา และพระธรรมมหาวีรานุวัตร วัดไตรมิตรวิทยาราม มาสึกพระพิมลธรรม เมื่อพระสังฆาธิการทั้ง 2 รูปมาถึง หลังจากสนทนาเหตุการณ์ต่างๆ แล้ว พระพิมลธรรมได้เขียนหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมมีใจความว่า

“กระผมขอเรียนด้วยความเคารพอีกว่า ถ้าท่านเจ้าคุณก็ดี หรือพระเถระชั้นผู้ใหญ่ขึ้นไปก็ดี ไม่มีเมตตากรุณาให้ความเป็นธรรมแก่กระผมตามที่ได้ขอความกรุณาแล้ว กระผมขอความกรุณาอีก คือไม่ยอมสึกตามข้อบังคับอันมิชอบด้วยพระธรรมวินัยและกฎหมายนั้น จะยอมเอาชีวิตบูชาพระรัตนตรัยตลอดไปจนถึงที่สุด ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดลุอำนาจเข้ามาแย่งชิงผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากร่างกายของกระผมแล้วไซร้ กระผมจะถือว่าผู้นั้นแย่งชิงเอาโดยผิดศีลธรรม และกระผมจะยังปฏิญาณตนเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาอยู่ตลอดไป ถึงแม้จะมีผู้มีใจโหดร้ายทารุณแย่งชิงผ้ากาสาวพัสตร์ของกระผมไป กระผมก็จะนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ชุดอื่นแทน ซึ่งกระผมมีสิทธิตามพระธรรมวินัยและกฎหมาย จึงขอให้ท่านเจ้าคุณผู้รู้เห็นอยู่ ณ ที่นี้ โปรดทราบและเป็นสักขีพยานให้แก่กระผม ตามคำปฏิญาณนี้ด้วย”

หนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมของพระพิมลธรรม ต่อพระธรรมคุณาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดพระนคร

เมื่อถึงเวลาประมาณ 01.00 น. ของวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2505 หลังจากที่พระสังฆาธิการทั้ง 2 รูป ได้รับหนังสือไว้แล้ว พระธรรมมหาวีรานุวัตร มีความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่ จึงได้ปลอบว่า“ขอให้ปฎิบัติตามด้วยดีเยี่ยงนักปราชญ์เหมือนอย่างที่เจ้าคุณใหญ่เคยปฏิบัติมาแล้ว เอาไปสู้คดีดาบหน้า ซึ่งหวังว่าเจ้าคุณใหญ่คงมีสติปัญญาเพียงพออยู่แล้ว”

จากนั้น พระธรรมคุณาภรณ์ยกมือขึ้นไหว้พระพิมลธรรม แล้วพูดว่า “ผมขอผ้าเหลืองก็แล้วกัน” แล้วจึงค่อยๆ ปลดเปลื้องจีวรส่วนบน ส่วนพระธรรมมหาวีรานุวัตรเข้ามากราบที่ตักพระพิมลธรรม พร้อมช่วยเปลื้องผ้าเหลืองส่วนล่าง เพื่อเป็นการนำให้ตำรวจในการเปลื้องผ้าเหลืองออก ขณะที่พระพิมลธรรมอยู่ในกิริยาอาการนั่งขัดสมาธิบนเก้าอี้นวม หลับตา มือนับลูกประคำ ใจเจริญพระพุทธคุณ 108 บท ด้วยจิตใจที่ไม่หวั่นไหว นี่เป็นวิบากกรรมที่ต้องเผชิญอยู่ในที่คุมขังถึงระยะเวลา 5 ปี

ในระหว่างที่ถูกคุมขังอยู่นั้น อดีตพระพิมลธรรม หรือ นายอาจ ดวงมาลา (ตามที่เจ้าหน้าที่เรียก) ได้ประกาศความเป็นสมณสัญญาอยู่ คือ จะทำทุกอิริยาบถเหมือนเดิม เหมือนเป็นพระภิกษุทุกประการ เช่น การฉันอาหาร ต้องให้ตำรวจช่วยประเคน เป็นต้น เพราะถือว่าตนนั้นมิได้สึกแต่ประการใด เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบผ้าที่ครองเท่านั้น แม้ความเป็นพระก็ไม่ได้อยู่ที่ผ้า แต่อยู่ที่การประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย

พระพิมลธรรม เมื่อ ถูก ขัง ในสันติบาล หรือ สันติปาลาราม
พระพิมลธรรม เมื่อถูกจำขังอยู่ในสันติบาล หรือ “สันติปาลาราม”

เหตุการณ์ที่ถูกจับกุมในครั้งนี้ ยิ่งทำให้อดีตพระพิมลธรรมกลับได้รับความศรัทธาเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณถึงการต่อสู้เพื่อความบริสุทธิ์ของตน มีคณะศิษย์ไปเยี่ยมมากมายมิได้ขาด จน “สันติบาล” อันเป็นสถานที่ถูกคุมขัง ได้รับการขนานนามว่า “สันติปาลาราม” เสมือนเป็นวัด และระหว่างที่จำพรรษาอยู่ในสันติบาลนั้น ก็ได้เขียนหนังสือสั่งสอนลูกศิษย์อยู่เสมอ

ปล. ในวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2509 ศาลทหารพิพากษายกฟ้องรับรองความบริสุทธิ์ของท่าน ผู้คนต่างศรัทธาต่ออดีตพระพิมลธรรมเป็นอย่างมาก มีการชุมนุมเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้ท่าน เช่น การขอให้เพิกถอนพระบัญชาความผิดคืน การขอพระราชทานสมณศักดิ์กลับคืน ขอคืนตำแหน่งเจ้าอาวาสดังเดิม เป็นต้น

ผลจากความบริสุทธิ์ในครั้งนี้ทำให้พระพิมลธรรมได้รับความเจริญงอกงามในทางพระพุทธศาสนา ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นถึงสมเด็จพระราชาคณะที่ “สมเด็จพระพุฒาจารย์” ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาและเรียงเรียงข้อมูลจากบทความ “จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในฐานะจำเลยสังคมในกรณีคดีพระพิมลธรรม” เขียนโดย พระมหาอิสระ ญาณิสฺสโร (ชัยภักดี) ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2560


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 พฤษภาคม 2561