“โรงเรียนจีน” แหล่งเผยแพร่ลัทธิไตรราษฎร์-คอมมิวนิสต์ ภัยความมั่นคงสมัยรัชกาลที่ 7

พิธีเปิดโรงเรียน "เผยอิง" หรืออีกชื่อคือโรงเรียน "ป้วยเอง" เมื่อ พ.ศ. 2463 (ภาพจาก สำเพ็ง : ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพฯ )

หลังจากกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) ประกาศใช้พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2461 ทำให้มีการตั้งโรงเรียนเพิ่มมากขึ้น ชาวจีนที่อาศัยอยู่ในสยามจึงก่อตั้ง “โรงเรียนจีน” แต่มิใช่แค่สถานที่ที่ให้การศึกษาเพียงอย่างเดียว ยังมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือการอบรมสั่งสอนทางการเมืองอีกด้วย โดยพบหลักฐานบ่งชี้ว่า ชาวจีนได้ใช้โรงเรียนจีนเป็นแหล่งปลูกฝังและเผยแพร่ลัทธิการปกครองระบอบสาธารณรัฐและลัทธิไตรราษฎร์ของ ดร. ซุนยัดเซ็น รวมถึงลัทธิของคอมมิวนิสต์ ซึ่งสร้างผลสะเทือนต่อความมั่นคงของสยาม สร้างความวิตกต่อรัฐบาลในสมัยรัชกาลที่ 7 อย่างมาก

ชาวจีนใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งแนบเนียนกว่าการใช้กำลังโดยตรง โดยค่อย ๆ ปลูกฝังความรู้สึกในเรื่องความเป็นจีนให้ลูกหลานชาวจีนในไทยอย่างช้า ๆ จนทำให้รัฐบาลมีความกังวลว่า หากลูกหลานชาวจีนได้รับการปลูกฝังลัทธิทางการเมืองอันขัดต่อประเพณีการปกครองของไทยในสมัยนั้น นานไปข้างหน้าชาวจีนเหล่านี้จะเป็นภัยต่อประเทศสยามได้

ชาวจีนที่ขอจัดตั้งโรงเรียนจีนอ้างว่า มีจุดมุ่งหมายต้องการให้ลูกหลานชาวจีนได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาการต่าง ๆ เป็นภาษาจีน เพื่อให้เกิดความสะดวกในการประกอบอาชีพค้าขาย แต่โรงเรียนจีนกลับมีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกันไป บ้างมุ่งให้การศึกษาโดยแท้จริง บ้างมุ่งเผยแพร่ลัทธิไตรราษฎร์ ของ ดร. ซุนยัดเซ็น บ้างมุ่งเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์

ไตรราษฎร์

การเคลื่อนไหวของลัทธิไตรราษฎร์ในโรงเรียนจีนมีปรากฏทั่วไปทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด บ้างทำอย่างเปิดเผย บ้างทำอย่างลับ ๆ เช่น กรณี โรงเรียนอนุบาลซันเหมิน ธนบุรี หยุดการเรียนการสอนในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2470 ซึ่งเป็นวันชาติของสาธารณรัฐจีน ทำการตกแต่งธงชาติจีนที่หน้าโรงเรียน และมีธงที่มีอักษรจีนซึ่งแปลความได้ว่า การปฏิวัติในจีนยีงไม่สำเร็จ ต้องร่วมมือกันให้บรรลุผลขั้นสุดท้ายให้จงได้

กรณี นายเม็ก อิน อ้างตนว่าเป็นผู้จัดการโรงเรียนฮั่วเคียวตกฮัก หลังวัดเทพศิรินทร์ นำหนังสือพิมพ์ที่มีข้อความเผยแพร่ลัทธิไตรราษฎร์มาแจกจ่ายแก่ประชาชน แต่ถูกตำรวจยึดไว้เป็นจำนวนกว่า 100 ฉบับ

กรณี นายหลิ่ว ซัน ชอง เมื่อ พ.ศ. 2471 เขาเป็นครูใหญ่โรงเรียนซุ่นหวุ่น มอบหมายให้นายลี่, นายจี้จอง และนายจือยุก นำรูป ดร. ซุนยัดเซ็น กับหนังสือจีน แจกจ่ายแก่ประชาชนและนักเรียน จนกระทรวงธรรมการต้องทักท้วง ห้ามไม่ให้นำหนังสือพิมพ์ที่กำกับรูป ดร. ซุนยัดเซ็นไปสอนนักเรียน

กรณี โรงเรียนเอ๋งเม้ง ธัญบุรี และโรงเรียนก๊กมิ้น อยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2472 นำในปลิวที่เผยแพร่ลัทธิ “ลัทธิซุนบุ๋น” ใส่กรอบติดไว้ที่โรงเรียน ซึ่งใบปลิวนี้กล่าวถึงลัทธิการเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองให้เป็นประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ และยุยงให้เกลียดชังคนชาติอื่น

นอกจากนี้ ยังมีการเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกันนี้ในอีกหลายโรงเรียน เช่น โรงเรียนฮั่วเฮง แพร่, โรงเรียนฮั่วเคี้ยว ลำปาง, โรงเรียนเฮงหัวฮักเฮา ตรัง, โรงเรียนแซหมิน พิษณุโลก เป็นต้น

ภาพอาคารโรงเรียนเผยอิง ตัวอาคารมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก (ภาพจาก มรดกสถาปัตยกรรมในประเทศไทย จัดพิมพ์โดย สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์, พ.ศ. 2548 )

คอมมิวนิสต์

การเคลื่อนไหวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในโรงเรียนจีนดูจะเป็นที่น่ากังวลมากกว่า แม้แต่เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำกรุงเทพฯ ได้มีหนังสือตั้งข้อสังเกตและชี้แจงเกี่ยวกับโรงเรียนจีนว่าเป็นแหล่งเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ ส่งให้กระทรวงการต่างประเทศสยามทราบ เพื่อให้รัฐบาลสยามได้หาทางป้องกันเอาไว้ให้รัดกุม โดยมีตัวอย่างหลายกรณี เช่น

กรณี โรงเรียนป้วยเอง (เผยอิง) เมื่อ วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2470 ได้จัดประชุมนักเรียนแล้วแจกหนังสือพิมพ์อักษรจีน ซึ่งเป็นเรื่องที่นักเรียนแต่งจากการเรียนในชั้นเรียนแก่นักเรียนทุกคน เมื่อพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ทรงทราบ จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 7  ๆ ก็ทรงมีความเห็นว่า โรงเรียนดังกล่าวพยายามปั่นหัวเด็กนักเรียนในเรื่องการเมือง โดยไม่มีในหลักสูตร เป็นการเอาอย่างโรงเรียนของพวกบอลเชวิค ซึ่งนับว่าอันตรายมาก

กรณี โรงเรียนจิ้นเต็ก กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2472 เปิดดาดฟ้าของของโรงเรียนเป็นศาลเจ้า และขายน้ำชาหารายได้ จนมีชาวจีนไปชุมนุมพบปะกันเป็นประจำ จนตำรวจสืบทราบภายหลังว่า เป็นการพบปะกันของชาวจีนคอมมิวนิสต์เพื่อประชุมวางแผนงานกัน โดยใช้การดื่มน้ำชาเป็นฉากบังหน้า จึงได้จับกุมเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม

นอกจากนี้ ยังมีการเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกันนี้ในอีกหลายแห่ง เช่น โรงเรียนยกเองหักเหา เพชรบุรี, โรงเรียนคีเม้ง อุตรดิตถ์, โรงเรียนป้วยอั้ว กรุงเทพฯ, โรงเรียนจุ้ยไช้ กรุงเทพฯ, โรงเรียนเฮียบยุก กรุงเทพฯ และโรงเรียนกวงหว่า กรุงเทพฯ ที่พบข้อสอบเป็นคำถามปลุกใจไปทางคอมมิวนิสต์

ลักษณะหรือวิธีการอย่างกรณีโรงเรียนกวงหว่านี้ ทำให้เห็นถึงการแทรกซึมของลัทธิคอมมิวนิสต์ในสยามอย่างชาญฉลาด รัชกาลที่ 7 ทรงมีกระแสพระราชดำรัสในที่ประชุมอภิรัฐมนตรีสภาว่า เรื่องตำราของโรงเรียนจีนนี้จะต้องตรวจดูให้ดี เพราะมีการสอดแทรกการเมืองในตำราทุกเล่ม ทั้งนี้ เพราะจีนเอาอย่างมาจากโซเวียตรัสเซีย ซึ่งเป็นเจ้าตำรับลัทธิคอมมิวนิสต์โดยตรง

ควบคุม

พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรทรงตระหนักว่า โรงเรียนจีนได้กลายเป็นแหล่งปลูกฝังและเผยแพร่ลัทธิทางการเมืองซึ่งอาจเป็นภัยต่อสยาม จึงทรงคิดแก้ไขพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2461 ด้วยการแก้ไขฉบับเพิ่มเติม พ.ศ. 2470 ทรงนำเสนอต่อที่ประชุมอภิรัฐมนตรีสภา ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ก็ทรงเห็นชอบโดยเร่งด่วน เพื่อจะได้ออกประกาศใช้พร้อมกับพระราชบัญญัติป้องกันการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ฉบับอื่น ๆ

จนได้ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2470 มีบทบัญญัติเพิ่มเติมบางตอน ความว่า “…ถ้าปรากฏว่ามีการสอนหรือเตรียมจะสอนลัทธิแบบแผนทางการเมืองหรือทางเศรษฐกิจในโรงเรียนใด ด้วยเจตนาคำนวณว่าจะให้เกิดความเกลียดชังต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือต่อรัฐบาล หรือต่อแผ่นดินก็ดี หรือจะให้มีการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลหรือพระราชกำหนดกฎหมายด้วยใช้กำลังบังคับ หรือกระทำร้ายก็ดี หรือจะให้คนทั้งหลายเกิดความไม่พอใจ และกระด้างกระเดื่อง ถึงอาจจะเกิดเหตุร้ายในแผ่นดินก็ดี หรือจะกวนให้เกิดขึ้นซึ่งความเกลียดชังระหว่างคนต่างชั้นก็ดี หรือจะยุยงให้คนทั้งหลายกระทำการล่วงละเมิดต่อรพะราชกำหนดกฎหมายก็ดี จะต้องถูกปิดโรงเรียนทันที…” 

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่ายังมีโรงเรียนจีนฝ่าฝืนพระราชบัญญัติดังกล่าว และพบพฤติการที่ไม่น่าไว้วางใจของโรงเรียนจีนอยู่อีกจำนวนมาก ทำให้เห็นว่าการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ไม่สามาารถควบคุมโรงเรียนจีนได้แท้จริง จึงมีความพยายามที่จะร่างพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ฉบับใหม่หรือแก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ศ. 2475 ช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่นานนัก

แก้ไขกฎหมาย

พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรทรงเสนอหลักการแก้ไขพระราชบัญญัตินี้ เช่น การตั้งโรงเรียนราษฎร์ต้องได้รับอนุญาตก่อนจะดำเนินการได้ เพราะในขณะนั้นเพียงแต่แจ้งให้กระทรวงธรรมการทราบ ถ้ากระทรวงไม่คัดค้านก็ตั้งโรงเรียนได้, ให้ผู้ปกครองท้องที่มีอำนาจอนุญาตตั้งหรือสั่งปิดโรงเรียน, กวดขันครูชั้นผู้น้อย, ห้ามมิให้ใช้โรงเรียนเป็นที่อาศัยซ่องสุมเหล่าของอันธพาลที่กระทำการมิชอบใด ๆ ก็ตาม ฯลฯ

เรื่องแก้ไขพระราชบัญญัตินี้เข้าสู่ที่ประชุมอภิรัฐมนตรีสภาในวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเห็นด้วยกับหลักการ แต่ทรงเห็นควรว่า การควบคุมโรงเรียนจีนให้สำเร็จไม่ควรใช้กฎหมายอย่างเดียว ต้องเอาใจด้วย ขณะที่รัชกาลที่ 7 ก็ไม่ทรงคัดค้านการแก้ไขกฎหมาย แต่เห็นว่าการดำเนินนโยบายก็สำคัญเท่ากับการออกพระราชบัญญัติ แต่ทรงคัดค้านการเพิ่มอำนาจของเสนาบดีกระทรวงธรรมการ

สมเด็จฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตทรงเห็นว่า เมื่อออกกฎหมายควบคุมโรงเรียน ซึ่งเน้นไปที่โรงเรียนจีนเช่นนี้ โรงเรียนฝรั่งก็จะกล่าวหาว่า รัฐบาลควบคุมมากเกินไป และถ้าหากออกกฎหมายซึ่งพอดีแต่ควบคุมโรงเรียนฝรั่ง เจ้าหน้าที่ก็จะกล่าวหาว่า มีอำนาจไม่เพียงพอควบคุมโรงเรียนจีน จึงทรงเห็นว่า การตั้งหรือสั่งปิดโรงเรียนควรได้รับอนุญาตจากสมุหเทศาภิบาล หรือสมุหพระนครบาล เพื่อให้อำนาจผู้ปกครองท้องที่ แต่การประชุมก็ยังไม่ได้ข้อยุติ

จนถึงการประชุมอภิรัฐมนตรีสภาในวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 ก็ยังมีข้อคิดเห็นหลากหลาย ว่าควรจะทำอย่างไรในการควบคุมโรงเรียนจีน และการแก้ไขพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ สุดท้ายแล้ว รัชกาลที่ 7 โปรดให้ตั้งกรรมการชุดหนึ่งมาพิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัตินี้เสียใหม่ แต่เรื่องก็ชะงักไปเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นเสียก่อน

พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร

ผสมกลมกลืน

ในช่วงเวลาที่พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการนั้น ทรงดำเนินนโยบายผสมกลมกลืนในโรงเรียนจีน เช่น 1. การใช้ภาษาไทย ไม่ให้ใช้แต่ภาษาจีนเพียงภาษาเดียว โดยให้มีจำนวนชั่วโมงการเรียนการสอนภาษาไทยในโรงเรียนจีนมากขึ้น กำหนดคุณสมบัติครูในโรงเรียนจีนให้มีความรู้และพูดภาษาไทยได้ เป็นต้น

2. สนับสนุนการเรียนภาษาจีนในหมู่ชาวไทย เช่น เปิดหลักสูตรภาษาจีนเป็นวิชาชุดในหลักสูตรครูมัธยมศึกษา และส่งเสริมให้ชาวไทยเรียนภาษาจีนเพื่อประโยชน์การติดต่อสื่อสารรวมถึงการค้าขาย ซึ่งกระทรวงธรรมการก็ต้องการคนที่รู้ภาษาจีนมาทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบโรงเรียนจีน อันจะสามารถทำหน้าที่ได้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม

การส่งเสริมให้ชาวไทยเรียนภาษาจีนยังเป็นการลดความแตกต่างระหว่างคนทั้งสองชาติ ให้ชาวจีนรู้สึกว่าไม่ถูกกีดกัน ไม่ถูกต่อต้าน เพื่อให้เข้ากับคนไทยได้ง่ายมากขึ้น ส่วนหนึ่งส่งผลต่อชาวจีนให้เปลี่ยนความคิด ส่งลูกหลานชาวจีนมาเรียนโรงเรียนไทยมากขึ้น (ซึ่งมีการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนเช่นเดียวกับโรงเรียนจีน)

3. กระทรวงธรรมการให้โรงเรียนจีนมีการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี โดยนโยบายนี้เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2471 และ 4. การสร้างสัมพันธ์อันดีกับโรงเรียนจีน เช่น กระทรวงธรรมการส่งครูไปช่วยเหลือกิจการในโรงเรียนจีน, พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรเสด็จเยี่ยมพบปะครูและผู้จัดการโรงเรียนจีน และรัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงเรียนจีน

ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงเรียนของรัชกาลที่ 7 เมื่อ พ.ศ.  2470 นี้ ทรงเยี่ยมโรงเรียนยกหมิ่น ถนนสุริวงศ์, โรงเรียนจีนเต็ก ถนนพาดสาย, โรงเรียนเม่งตั๊ก และโรงเรียนป้วยเอ็ง ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยกับชาวจีนใกล้ชิดกันมากขึ้น

ภายหลังจากการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงเรียนจีนแล้วนั้น หนังสือพิมพ์จีน ฮั่ว เซียม ซิน ป่อ ตีพิมพ์บทความส่งเสริมไมตรีไทย-จีน และสนับสนุนพระราชดำรัสรัชกาลที่ 7 ที่ได้พระราชทานแก่ครูและนักเรียนในโรงเรียนจีน เมื่อรัชกาลที่ 7 ทอดพระเนตรหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว ทรงพอพระราชหฤทัยแล้วมีพระราชดำรัสว่า “…ถ้อยคำในหนังสือนี้ดีมากเหมาะกับความประสงค์ของเรา ต้องนับว่าเป็นผลดีของการไปเยี่ยมโรงเรียนจีน…”

นี่เป็นเพียงนโยบายบางส่วนหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรยังทรงดำเนินนโยบายด้านการศึกษาอีกหลายประการที่พยายามผสมกลมกลืนชาวจีนกับชาวไทยให้ลดความแตกต่าง ลดความรู้สึกแปลกแยก อันจะเป็นผลดีต่อรัฐบาลสยามในการต่อต้านชาวจีนที่พยายามใช้โรงเรียนจีนเป็นแหล่งเผยแพร่ลัทธิไตรราษฎร์และคอมมิวนิสต์


อ้างอิง : 

ณรงค์ พ่วงพิศ. (2517). พระวรศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤติยากร และการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับโรงเรียนจีนในประเทศไทย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการ. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระวรศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤติยากร 15 ธันวาคม 2517, โรงพิมพ์ท่าพระจันทร์


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 สิงหาคม 2563