คอมมิวนิสต์ “เครื่องมือ” ที่จอมพล ป. ใช้สร้างอำนาจการเมือง และญาติดีมะกัน

จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกฯ ไทย กระทบไหล่ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ แห่งสหรัฐ ในพิธีมอบเครื่องอิสริยาภรณ์ลียองออฟเมอริท เชิดชูเกียรติ จอมพล ป. (ภาพจาก THAILAND ILLUSTRATED ค.ศ. 1955 ของสะสมคุณไกรฤกษ์ นานา)

หลังสงครามครั้งที่ 2 เกิดของใหม่อย่าง “ลัทธิคอมมิวนิสต์” ขึ้น ซึ่งเวทีการเมืองระหว่างประเทศถูกบางเป็น 2 ฝ่าย คือ โลกเสรี และโลกคอมมิวนิสต์ ในส่วนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้นำบางประเทศเลือกใช้ลัทธิคอมมิวนิสต์ในการปกครองบ้านเมืองตนเอง เพราะเชื่อว่ามันคือทางออกแห่งความเสมอภาค ขณะที่ผู้นำไทยเวลานั้นใช้มันเป็นเครื่องมือการสร้างอำนาจทางการเมือง

ต่อประเด็นดังกล่าวนี้ ไกรฤกษ์ นานา เสนอมุมมองของเขาไว้ในบทความชื่อ เหรียญสองด้าน: ไทยหลังศึกญี่ปุ่น นโยบายใหม่ จอมพล ป. เปลี่ยนสถานะผู้แพ้เป็นผู้ ‘ชนะ’” ที่ขอคัดย่อมาเพียงบางส่วนดังนี้

Advertisement

“ลัทธิทหาร” ซึ่งเหมาะสมและลงตัวกับประเทศไทยในช่วงสงครามโลกที่ผ่านมาจะทวีความสำคัญและมีความหมายต่อมาในยุคสงครามเย็น จากการที่ทวีปเอเชียถูกมองว่าเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติขนาดใหญ่ที่เลี้ยงดูชาวยุโรป (รวมทั้งอเมริกา) ซึ่งบอบช้ำและขาดแคลนอย่างหนักตลอดการสู้รบที่ติดพันมาหลายปีได้

ทวีปเอเชียมิใช่เป็นเพียงอู่ข้าวอู่น้ำที่ชาติมหาอำนาจหมายตาเท่านั้น แต่ยังเป็นที่รวมของประชากรขนาดใหญ่ ซึ่งกำลังสับสนและไม่แน่ใจต่อการสร้างความมั่นคงและการมีเสถียรภาพทางการเมืองภายหลังสงคราม ความเชื่อมั่นในลัทธิทหารจึงยังเป็นตัวแปรที่สำคัญต่อไปอีก สำหรับการสร้างความเป็นปึกแผ่นของประเทศไทยและของภูมิภาคนี้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเหตุการณ์แวดล้อมระหว่างประเทศและโครงสร้างทางอำนาจระหว่างประเทศภายหลัง พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) ทำให้การยึดอำนาจทางทหารในประเทศไทยเป็นการเสี่ยงที่สมเหตุสมผลมากยิ่งขึ้น ยิ่งประเทศมหาอำนาจตะวันตกมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามเย็น และการคุกคามของคอมมิวนิสต์ในเอเชียและยุโรปตะวันออกมาขึ้นเพียงใด ประเทศมหาอำนาจตะวันตกก็ยิ่งสนใจการต่อสู้ระหว่างลัทธิเสรีนิยมและลัทธิอำนาจนิยมในประเทศที่มิใช่ตะวันตกน้อยลง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีรัฐบาลที่มั่นคงและเข้มแข็งโดยมิต้องคำนึงว่าจะเป็นการปกครองรูปแบบใด แม้นว่าในช่วงสงครามโลกที่ผ่านมาไทยจะอยู่กันคนละฝ่ายกับสัมพันธมิตรก็ตามที

ในปี พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) สหรัฐฯ ได้เริ่มให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ประเทศกรีซและตุรกี และแสดงความวิตกกังวลยิ่งเกี่ยวกับชะตากรรมของประเทศจีนและประเทศต่างๆ ในเอเชีย ต่อมาปี พ.ศ. 2491 เมื่อเชคโกสโลวาเกียตกเป็นของฝ่ายคอมมิวนิสต์นั้น เจียงไคเชคกำลังตกอยู่ในสภาพง่อนแง่นอย่างเห็นได้ชัด และกองโจรคอมมิวนิสต์กำลังขยายอิทธิพลอย่างรวดเร็วเข้าไปในเวียดนามและมลายู

คนอเมริกันจึงยิ่งเห็นว่ารัฐบาลแบบอำนาจนิยมฝ่ายขวาเป็นผู้ร่วมงานที่คบได้ในการต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์ จากผลของความเป็นไปเหล่านี้ รัฐบาลจอมพล ป. ชุดแรกจึงได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็วจากสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 และจากประเทศอื่นๆ ในเวลาต่อมา ซึ่งต่างก็คล้อยตามความคิดเห็นของชาวอเมริกัน โดยเฉพาะรัฐบาลไทยซึ่งมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมใจของคนในชาติก็เริ่มตระหนักว่านโยบายโลกเสรีตามที่สหรัฐฯ รณรงค์เป็นทางรอดที่ต้องเลือกมากกว่าลัทธิคอมมิวนิสต์

จากการหันเหความสนใจของสหรัฐฯ นี้เอง ช่วยให้จอมพล ป. มองเห็นโอกาสของตนที่จะดำรงอยู่ในอำนาจได้กับการเอนเอียงไปทางนโยบายของสหรัฐฯ จอมพล ป.ตระหนักว่าตนไม่มีผู้สนับสนุนภายในประเทศที่เข้มแข็งพอในอันที่จะทำให้ฐานะอันไม่มั่นคงของตนมั่นคงยิ่งขึ้น และเพื่อที่จะทำให้ตนเองไม่ถูกกีดกันออกไปจากกลุ่มขั้วอำนาจต่างๆ ในคณะรัฐบาล จอมพล ป. จึงหันไปใช้นโยบายต่างประเทศเป็นหนทางเอาตัวรอดอย่างมีสติ

ดังนั้น ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 ใน พ.ศ. 2491 (ค.ศ. 1948) และจอมพล ป. ก็ยิ่งประกาศความกลัวภัยคอมมิวนิสต์ และนำประเทศไทยเข้าไปผูกพันกับสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้น ผลก็คือความช่วยเหลือด้านการทหารและเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ ได้ส่งเสริมฐานะของจอมพล ป. ที่กำลังเผชิญหน้ากับโครงสร้างอำนาจใหม่ภายในประเทศและประชาชนชาวไทยทั้งหมดเปลี่ยนเป็นสนับสนุนท่านผู้นำอีกครั้ง

ความตึงเครียดของสงครามเย็นและการให้ความสนับสนุนประเทศไทยของสหรัฐอเมริกา ทำให้จอมพล ป. ผูกพันใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับสหรัฐอเมริกา ที่จริงผลสำเร็จของรัฐบาลชุดนี้ในตลอดช่วงทศวรรษ 2490 นั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถของจอมพล ป. ที่จะดึงดูดอเมริกันเพื่อให้ความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจและการทหาร การได้รับเงินกู้จากธนาคารโลก และความเจริญก้าวหน้าทางด้านการค้าระหว่างประเทศ ฉะนั้นการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์จึงเป็นนโยบายต่างประเทศที่ให้ประโยชน์แก่จอมพล ป. ที่จะนำมาใช้

ที่มาของความชอบธรรมในการเป็นนายกรัฐมนตรีของจอมพล ป. ประการสุดท้ายเป็นเรื่องของจอมพล ป. กับสหรัฐอเมริกา หลังจากที่จอมพล ป. ได้เป็นนายกรัฐมนตรีใน พ.ศ. 2491 แล้ว จอมพล ป. ก็กระโดดเข้าร่วมกับสหรัฐอเมริกาทันทีในการต่อสู้กับ “ฝ่ายคอมมิวนิสต์สากล” จอมพล ป. ประกาศว่าประเทศไทยเป็นเป้าหมายความต้องการของคอมมิวนิสต์มากขึ้นและเริ่มแสวงหาความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการทหารจากอเมริกัน ส่วนรัฐบาลอเมริกันก็สนับสนุนฐานะของจอมพล ป. ด้วยการให้ความช่วยเหลือและเรียกร้องความร่วมมือมากขึ้น

ความสัมพันธ์ระหว่างจอมพล ป. กับทางอเมริกาเติบโตแบบก้าวกระโดด และเกื้อหนุนให้ฐานะทางการเมืองของจอมพล ป. มั่นคงยิ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยกลุ่มพวกฝ่ายสัมพันธมิตรก็แทบจะไม่สนใจเลยว่ารัฐบาลจอมพล ป. เคยฝักใฝ่กับทางญี่ปุ่นมาก่อน…

…แต่เหตุการณ์สำคัญที่สุดที่สามารถพลิกโฉมหน้าของประเทศไทยจากการพัวพันและเป็นผู้แพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 กลับมาเป็นผู้ชนะอย่างขาวสะอาดก็คือการทำหน้าที่อย่างภาคภูมิในฐานะสมาชิกใหม่ของสหประชาชาติและการมีส่วนร่วมรบในสงครามเกาหลี

ด้วยเหตุที่ภัยคอมมิวนิสต์เริ่มคุกคามคาบสมุทรเกาหลีก่อนทำให้ความสนใจของชาวโลกเสรีจดจ่อไปที่เกาหลีพร้อมกับการแจ้งเกิดของรัฐบาลจอมพล ป. ในยุคพัฒนาภาพลักษณ์ของตนเองบนเวทีการเมืองโลก…

…ความกระตือรือร้นของรัฐบาลจอมพล ป. ที่จะช่วยเหลือกองทัพสหรัฐฯ ในนามผู้นำโลกเสรีได้รับการตอบรับอย่างชัดเจนและอบอุ่นยิ่งจากกรณีสงครามในเกาหลี

โดยรัฐบาลอเมริกันได้ตอบแทนความมีน้ำใจของฝ่ายไทยทันทีในปี 2494 (ค.ศ. 1951)  ด้วยการจัดส่งเครื่องบินรบสมรรถภาพสูงแบบใหม่ล่าสุด คือ รุ่น F8F จำนวนมากถึง 50 ลำ เข้ามาให้รัฐบาลไทยไทยไว้ใช้ในกองทัพ เพื่อติดเขี้ยวเล็บให้กับกองทัพอากาศไทยแบบ “ให้เปล่า” และ “ทุ่มหมดหน้าตัก” เพื่อซื้อใจคนไทยในยุคนั้น…

…สงครามเกาหลีในปี พ.ศ. 2493 (ค.ศ. 1950) เปิดโอกาสอันดีให้แก่ จอมพล ป. ที่จะมีสิทธิพิเศษในสายตาของรัฐบาลอเมริกันโดยเราจะเห็นได้ว่า จอมพล ป. ได้ยกเลิกนโยบายต่างประเทศดั้งเดิม ซึ่งเป็นแบบยึดหยุ่นและผูกพันไทยเข้ากับสหรัฐฯ เหมือนที่จอมพล ป. เคยนำประเทศไทยเข้าเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นก็บรรลุวัตถุประสงค์ในปีนั้น

 


ข้อมูลจาก :

ไกรฤกษ์ นานา. “เหรียญสองด้าน: ไทยหลังศึกญี่ปุ่น นโยบายใหม่ จอมพล ป. เปลี่ยนสถานะผู้แพ้เป็นผู้ ‘ชนะ’”.  ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2563.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มกราคม 2564