เผยแพร่ |
---|
ภาพถ่ายไม่ได้เป็นเพียงแค่วัตถุบันทึกความทรงจำเบื้องหน้าในแง่มุมต่างๆ เท่านั้น ในเส้นทางประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ การถ่ายภาพสะท้อนทัศนคติ ความเชื่อ เทคโนโลยี และเครื่องมือในทางสังคมและการเมืองด้วย เมื่อพูดถึงการถ่ายภาพในสยามประเทศ ชื่อของนายจิตร หรือ “ฟรานซิส จิตร” ได้รับการยกย่องว่าเป็นช่างภาพรุ่นแรกของไทยที่มีชื่อเสียงมาก ได้รับการอ้างถึงเสมอ ข้อมูลบางแห่งยังบอกเล่าว่าท่านเป็นช่างภาพที่ถ่ายรูปรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ด้วย
ในบรรดาผู้ศึกษาประวัติ ผลงาน และเส้นทางในสายงานด้านการถ่ายภาพของนายจิตร เอนก นาวิกมูล นักเขียนและศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2563 เคยรวบรวมข้อมูลนำมาเผยแพร่ในบทความหลายชิ้นนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 เรื่อยมาจนถึงทศวรรษ 2560 ในปัจจุบัน
บทความของเอนก นาวิกมูล ในทศวรรษ 2520 มีปรากฏในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนตุลาคม 2526 ชื่อเรื่อง “มิศ ฟะรัน ซิศจิต พนักงานชักเงารูปรุ่นแรกของสยาม” บอกเล่าข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับนายจิตร ไว้ว่า นายจิตร หรือฟรานซิสจิตร ภายหลังได้เป็นขุนสุนทรสาทิศลักษณ์ และหลวงอัคนีนฤมิตร เป็นบุตรของนายตึง ไม่ทราบชื่อมารดา กำเนิดเมื่อ พ.ศ. 2373 ตรงกับสมัยต้นรัชกาลที่ 3 ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2434 เป็นช่วงกลางสมัยรัชกาลที่ 5 ขณะอายุได้ 61 ปี
ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 ถึง รัชกาลที่ 5 เอนก นาวิกมูล ระบุว่า นายจิตร เป็นช่างภาพหลวงในช่วงทั้งสองรัชกาล ถือเป็นช่างภาพรุ่นเก่าชุดแรกของสยามที่มีชื่อเสียงมากที่สุดอีกคนหนึ่ง ผลงานภาพถ่ายของท่านยังคงเก็บอยู่ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติจำนวนมาก มีกระจกเงาเนกาตีฟต้นฉบับอีกไม่น้อยเช่นกัน
ไม่เพียงถ่ายรูปพระมหากษัตริย์ไทย นายจิตร ยังถ่ายรูปเจ้านาย ขุนนางผู้ใหญ่ สามัญชนเอาไว้มากมาย เอนก นาวิกมูล ยังบรรยายถึงช่างภาพคนนี้ไว้ว่า เป็นช่างภาพไทยคนแรกที่คิดตั้งร้านถ่ายรูป รับจ้างถ่ายโดยตรงตั้งแต่พ.ศ. 2406 ลูกหลานของนายจิตรยังคงดำเนินกิจกรรมถ่ายภาพ มีบุตรของนายจิตรเป็นช่างภาพหลวงต่อมาอีก 2 คนคือ นายทองดี และ นายสอาด (สะกดตามต้นฉบับ) ลูกสาวของนายจิตรชื่อ สร้อย ยังมีข้อถกเถียงกันว่าเป็นช่างภาพหญิงคนแรกของไทยอีกหรือไม่
เอนก นาวิกมูล ยังพบข้อมูลว่า เหลนของนายจิตร เข้ารับปริญญาเมื่อปี 2562 ขณะอายุ 84
อันที่จริงแล้ว “ช่างภาพรุ่นแรกของสยาม” ที่แวดวงประวัติศาสตร์คุ้นเคยกันควบคู่กับชื่อของนายจิตร ยังมีนายโหมด อมาตยกุล หรือพระยากระสาปน์กิจโกศล ซึ่งว่ากันว่าเป็นคนไทยคนแรกที่เรียนวิชาถ่ายรูป แต่หากจะบอกว่า ช่างภาพรุ่นแรกที่มีผลงานมากมาย ชื่อของนายจิตร น่าจะเป็นบุคคลแรกๆ ที่นึกถึง
ก่อนจะเล่าถึงเส้นทางของนายจิตร คงต้องเกริ่นถึงการเข้ามาของวิชาถ่ายรูปในภาพรวมเสียก่อน โดยทั่วไปแล้ว แหล่งข้อมูลหลายแห่งบอกกันว่า วิชาถ่ายรูปเข้ามาในไทยเมื่อพ.ศ. 2388 ภายหลังฝรั่งเศสประกาศความรู้ราว 6 ปี
เอนก นาวิกมูล บันทึกไว้ว่า บาทหลวงฝรั่งเศส ชื่อ ลาร์โรดี กับสังฆราชปาเลอกัว วัดคอนเซ็ปชัญ สามเสน เป็นคนเอาวิชาถ่ายรูปมาเผยแพร่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ขณะที่นายจิตร น่าจะเป็นคนไทยคนที่ 2 ซึ่งเรียนรู้วิชานี้ ส่วนคนแรกก็คือนายโหมด อมาตยกุล นั่นเอง
ข้อมูลเกี่ยวกับนายจิตร ที่ผู้รู้ท่านสืบค้นเอาไว้แล้ว พบได้จากหนังสือราชกิจจานุเบกษาตอนลงข่าวการเสียตาย ร.ศ.110 (พ.ศ. 2434) ฉบับวันที่ 31 พฤษภาคม, จดหมายเหตุบางกอกรีคอร์เดอร์ ของหมอบรัดเล พ.ศ. 2408 และ 2409, หนังสือ The Siam Mercantile Gazette, หนังสือจดหมายเหตุแลนิราศลอนดอน ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3, หนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 4 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ (ขำ บุนนาค), หนังสือสยามประเภท ฉบับวันเสาร์ที่ 20 มกราคม ร.ศ.118 (พ.ศ. 2442) และฉบับวันพฤหัสที่ 11 เมษายน ร.ศ. 120 (พ.ศ. 2444), หนังสือจดหมายเหตุเสด็จประพาสต่างประเทศในรัชกาลที่ 5, สารคดีเรื่อง ช่างชักรูปเงาสมัยแรกของสยาม โดยส.พลายน้อย, หนังสือฟื้นความหลัง เล่ม 1 ของเสฐียรโกเศศ ไปจนถึงข้อมูลจากภาพถ่ายในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
สำหรับเอกสารอย่างเป็นทางการที่สุดอย่าง ราชกิจจานุเบกษา ในสมัยรัชกาลที่ 5 ปรากฏข้อมูลเกี่ยวกับนายจิตร เป็นการลงข่าวการตายของหลวงอัคนีนฤมิตร ประมาณครึ่งหน้า โดยเนื้อหาในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่ม 8 แผ่น 9 หน้า 73 ฉบับวันที่ 31 พฤษภาคม ร.ศ. 110 (พ.ศ. 2434) มีเนื้อหาว่า
“หลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร) เจ้ากรมหุงลมประทีป เปนบุตรนายตึง ทหารแม่่นปืนฝ่ายพระราชวังบวร เดิมเปนมหาดเล็กหลวงอยู่เวรชิตภูบาล ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ 5 ตำลึง ครั้นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ลงมาสมทบรับราชการในพระบรมมหาราชวังในรัชกาลปัตยุบันนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เปนขุนสุนทรสาทิศลักษณ์ ช่างถ่ายรูปขึ้นกรมแสง ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละชั่ง
ภายหลังโปรดเกล้าฯเลื่อนเปนหลวงอัคนีนฤมิตร เจ้ากรมหุงลมประทีป พระราชทานเบี้ยหวัดปีละชั่งสิบตำลึง
วันที่ 17 พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก 110 ป่วยเปนอหิวาตกะโรค ได้หาหมอชูชเลยศักดิ์รักษา หมอประกอบยาให้รับประทาน อาการทรงอยู่ รุ่งวันขึ้นที่ 18 พฤษภาคม เปลี่ยนให้หมอเทียนฮีมารักษา หมอประกอบยาให้รับประทาน อาการไข้อหิวาตกะโรคนั้นหาย รับประทานอาหารได้มื้อละ 4 ช้อน 5 ช้อนบ้าง
ภายหลังอาการแปรเปนลมอัมพาต ให้คลั่งเพ้อไม่ได้สติ แขนแลขาข้างซ้ายตายไปซีกหนึ่ง หมอประกอบยาให้รับประทาน อาการหาคลายไม่ จนวันที่ 23 พฤษาภาคม เวลา 2 ทุ่ม ให้หอบเปนกำลัง เวลา 4 ทุ่มเศษ หลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร) ถึงแก่กรรม อายุได้ 61 ปี ของหลวงพระราชทานผ้าขาว 2 พับ เงิน 100 เฟื้อง ขุนฉายาสาทิศกร บุตร เปนผู้จัดการศพ”
เมื่อสืบย้อนกลับไปหาหลักฐานประวัติในวัยเด็กกลับไม่พบ ภายหลังเกิดเมื่อ พ.ศ. 2373 ประวัติข้ามไปเป็นมหาดเล็กหลวง เมื่อปีพ.ศ. 2408 ซึ่งนายจิตรอายุได้ 35 ปี เป็นหนุ่มใหญ่ ไม่ทราบแน่ชัดว่าออกจากวังหน้ามาสมทบในวังหลวงของรัชกาลที่ 4 ในทันที หรือออกไปพักรับจ้างถ่ายรูปที่บ้านแพ (ตั้งมาตั้งแต่พ.ศ. 2406) แล้วค่อยเข้าวังหลวง ยังหาหลักฐานชัดเจนไม่ได้
สมัยรัชกาลที่ 4
เมื่อมาเป็นช่างถ่ายรูปในสมัยรัชกาลที่ 4 ก็ปรากฏใบโฆษณาอย่างต่อเนื่องจนถึงรัชกาลที่ 5 ทำให้เชื่อได้ว่า เป็นช่างถ่ายรูปที่มีชื่อเสียง
หลักฐานเรื่องการเรียนรู้วิชาถ่ายรูปของนายจิตร ปรากฏในเนื้อหาที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เขียนในจดหมายเหตุแลนิราศลอนดอน ในคำนำหน้า 14 ฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 3 เนื้อหาตอนหนึ่งมีว่า (เน้นคำใหม่-กองบก.ออนไลน์)
“…มีนายจิตรอยู่กุฎีจีนคน 1 ได้หัดชักรูปกับบาดหลวง หลุย ลานอดี ฝรั่งเศส แลได้ฝึกหัดต่อมากับ ทอมสัน อังกฤษที่เข้ามาชักรูปเมื่อในรัชกาลที่ 4 จนตั้งห้างชักรูปได้เปนทีแรก แลได้เปนที่ขุนฉายาทิศลักษณ์ เมื่อในรัชกาลที่ 5 แล้วเลื่อนเปนหลวงอัคนีนฤมิตร เจ้ากรมโรงแก๊สหลวง…”
เอนก นาวิกมูล ตั้งข้อสังเกตว่า บาทหลวง หลุย ลานอดี ไม่พบว่ามีใครเล่าถึงท่านในแง่เป็นช่างถ่ายรูป แต่ท่านเป็นล่ามให้คณะทูตไทยชุดไปฝรั่งเศส พ.ศ. 2404 ส่วนนายทอมสัน ชาวอังกฤษก็เข้ามาเมืองไทยหลังจากนายจิตรตั้งร้านไปแล้ว หลักฐานปรากฏในโฆษณาในบางกอกรีคอร์เดอร์ หากจะเป็นลูกศิษย์อาจเป็นเพียงบางส่วน อาจไม่ใช่แต่เริ่มแรก ทั้งนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับครูของนายจิตรนั้น เอนก นาวิกมูล เล่าว่าพบแต่แหล่งนี้แห่งเดียว
เอนก นาวิกมูล ยังเล่าในเนื้อหาของโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวในภายหลังเพิ่มเติมว่า
“นายจิตร ตั้งร้านถ่ายรูปอยู่บนเรือนแพ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงหน้าวัดซางตาครู้ส
ตรงข้ามโรงเรียนราชินี- แต่ตอนนั้นโรงเรียนราชินีก็ยังไม่เกิด
มีโฆษณาลง ในหนังสือพิมพ์ Bangkok Times ซึ่งออกทีหลัง บอกปีก่อตั้งชัดเจน
ผมพลิกเจอโฆษณานี้ในหอสมุดแห่งชาติโดยบังเอิญ จึงได้รู้ ว่านายจิตรตั้งสตูดิโอบนเรือนแพมาตั้งแต่อายุ 33 ปี”
นายจิตร มักใช้ชื่อร้านว่า “ฟรานซิสจิตรแอนซัน” และน่าจะตั้งร้านชักรูปขึ้นเองนอกเหนือจากเป็นช่างภาพหลวง โดยในปี พ.ศ. 2406 นับแต่กลางสมัยรัชกาลที่ 4 นายจิตรก็ได้ตั้งร้านชักรูปขึ้นแล้ว
สำหรับชื่อ “ฟรานซิส” ที่อยู่ข้างหน้านามนายจิตร เรื่องนี้ เสฐียรโกเศศ เขียนไว้ในหนังสือ ฟื้นความหลัง เล่ม 1 หน้า 45 ว่า
“…ที่มีอักษรย่อว่า F. อยู่ข้างหน้า เห็นจะเป็นคำว่า FRANCIS ซึ่งเป็นชื่อนักบุญในศาสนาคฤสต์นิกายโรมันคาทอลิก ใช้เป็นชื่ออยู่หน้าชื่อของผู้ที่นับถือคฤสตศาสนา ในนิกายนี้เมื่อเข้าลัทธิพิธีรับ ‘ศีลล้างบาป’ “
ส่วนคำว่า มิศ ด้านหน้าสุด เอนก เห็นว่าควรมาจากคำว่า มิสเตอร์ หมายถึงคำนำหน้าว่า “นาย” นั่นเอง
ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงแต่งตั้งให้นายจิตร เป็นช่างภาพหลวง เอนก พบหลักฐาน 3 ชิ้นที่พบจะยืนยันได้ว่า นายจิตรได้เป็นขุนสุนทรสาทิศลักษณ์ (แปลว่า ทำภาพเหมือนได้งาม) ในสมัยรัชกาลที่ 4 คือจากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 4 โดยเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), หนังสือมหามกุฎราชคุณานุสรณ์ (สมเด็จกรมพระนราธิปพงษ์ประพันธ์ทรงแต่งเป็นโคลงลิลิตเมื่อพ.ศ. 2469) และหนังสือสยามประเภท ของก.ศ.ร.กุหลาบ
ในหนังสือ มหามกุฎราชคุณานุสรณ์ นี้มีเนื้อหาที่บอกเล่าถึงการถ่ายรูปว่า
“สุริยุปราคา…จับสิ้นดวงเมื่อจุลศักราช 1230 ปีมโรงสัมฤทธิศก นี้เปนการประหลาด…พระบาทสมเดจพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตร คนยุโรปได้มาประชุมกันคอยดูอยู่ที่นั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ขุนสุนทรสาทิศลักษณ์…ถ่ายรูป ได้ถ่ายรูปสุริยไว้เมื่อเวลา… 40 นิมิต ฯาะ”
สมัยรัชกาลที่ 5
เมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับนายจิตรว่า เมื่อ 2414 ได้ตามเสด็จไปพม่า-อินเดียด้วย เอนก นาวิกมูล เล่าว่า ขณะนั้นจิตร อายุได้ 41 ปี ปรากฏหลักฐานในเรื่อง เสด็จประพาสอินเดีย พิมพ์รวมเล่มเดียวกับ “จดหมายเหตุเสด็จประพาสต่างประเทศในรัชกาลที่ 5 เสด็จเมืองสิงคโปร์ และเมืองเบตาเวียครั้งแรก และเสด็จประพาสอินเดีย”
ในนั้นมีบัญชีผู้ตามเสด็จอย่างละเอียด เรือที่ไปมี 3 ลำ โดยนายจิตรไปในลำที่ 3 คือเรือสยามูปสดัมภ์ ปรากฏข้อความว่า
“ขุนสุนทรสาทิศลักษณ์ (จิตร ช่างถ่ายรูป ภายหลังเป็นหลวงอัคนีนฤมิตร)”
ในสมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2423 นายจิตร อายุ 50 ปี ได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์และตำแหน่งให้เป็นหลวงอัคนีนฤมิตร เจ้ากรมหุงลมประทีป หรือเจ้ากรมทำลมประทีป หรือเจ้ากรมทำแก๊ส
รูปถ่ายฝีมือนายจิตร
จากการสืบค้น เอนก นาวิกมูล พบอัลบั้มภาพเจ้านายตั้งแต่พระมหากษัตริย์ พระบรมราชวงษ์ ขุนนางชั้นผู้ใหญ่จนถึงชั้นผู้น้อย พ่อค้า สามัญชน อยู่หลายเล่ม เมื่อดึงภาพออกมาจะพบตราร้านนายจิตรพิมพ์บอกเอาไว้ทำให้ง่ายต่อการศึกษา ทั้งนี้ ตราของร้านนายจิตรเปลี่ยนแปลงรูปแบบหลายชิ้น ตั้งแต่รุ่นแรกที่เป็นเจ้าของร้านและผู้ถ่ายภาพ จนถึงรุ่นหลังที่รุ่นลูกเช่นนายทองดี นายสอาด มาช่วยกิจการด้วย
สันนิษฐานว่านายจิตรคงติดตามข่าวคราวบ้านเมืองเป็นผลให้มักทำสิ่งที่เป็นสากล อาทิ ลงโฆษณาในหนังสือหลายเล่มทั้งไทยและอังกฤษ
นอกจากภาพถ่ายอัดใส่กระดาษ เอนก นาวิกมูล ยังพบกระจกเนกาตีฟเมื่อ พ.ศ. 2525 มีป้ายเขียนไว้ที่หีบเก็บว่า “กระจกรูปคน หลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร) เปนผู้ถ่าย พระฉายาสาทิศกร (สอาด) ถวายสำหรับหอพระสมุดฯ”
เอนก ยังเล่าว่า เมื่อตรวจสอบหีบเพิ่มเติม พบหีบที่เขียนเช่นนี้ทั้งสิ้น 23 หีบ หีบหนึ่งใส่กระจกได้ประมาณ 20 ภาพ อาจมากกว่าหรือน้อยกว่า ทั้งนี้ ภาพและหีบมีหลายขนาดทั้งเล็กและใหญ่
ทายาทและนามสกุลพระราชทาน “จิตราคนี”
นามสกุลที่ตระกูลนายจิตรใช้คือ “จิตราคนี” ผู้ได้รับพระราชทานนามสกุลนี้คือ ลูกชายคนสุดท้องของนายจิตร ได้รับตั้งแต่รุ่นแรกคือรุ่นที่ 1 ประกาศเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2456
สำหรับเรื่องทายาทของนายจิตร ปรากฏข้อมูลในสารคดีเรื่อง “ช่างชักเงารูปสมัยแรกของสยาม” โดยส.พลายน้อย หน้า 356 ระบุชื่อลูกของนายจิตร จำนวน 6 คน คือ
นวม (หญิง)
สร้อย (หญิง) เป็นช่างภาพถ่ายรูปเจ้านายฝ่ายใน
ทองดี (ชาย) ช่างถ่ายรูปหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นขุนฉายาสาทิศกร (ตามปรากฏในราชกิจจานุเบกษา) แต่ถึงแก่กรรมเมื่อ 21 ตุลาคม ร.ศ. 114 อายุประมาณ 330 เศษ
ล้วน (หญิง) เป็นภรรยาของเจ้าพระยานรรัตน์
ฝาแฝดชื่อ เลื่อม (หญิง) เป็นภรรยาของเจ้าพระยานรรัตน์ และสอาด (ชาย) รับราชการเป็นช่างภาพหลวง ได้เป็นหลวงฉายาสาทิศกร แทนพี่ชาย
เมื่อมาถึงพ.ศ. 2562 เอนก นาวิกมูล โพสต์เล่าในเฟซบุ๊กส่วนตัว (Anake Nawigamune) เล่าถึง “เหลน” ของนายจิตร ชื่อพัลลภ เสาวณิตนุสรณ์ (แต่เนื้อหาในบทความที่เอนก นาวิกมูล เขียนและเผยแพร่ใน “สารคดี” ระบุว่าเป็น โหลน) มีภรรยาชื่อ มาลัย ชาวเชียงราย มีลูกสาว 2 คนลูกชาย 1 คน เป็นผู้ใหญ่กันหมดแล้ว
เอนก นาวิกมูล เล่าว่า คุณพัลลภ เรียนจบมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยเรียนอยู่ 12 ปีเพิ่งจบปริญญารัฐศาสตร์เมื่อปี 2561 เดิมทีแล้วคุณพัลลภ เรียนจบม.6 คิดออกไปขายลอตเตอรี่ เมื่ออายุ 21 มาเป็นทหารม้ายานเกราะที่เกียกกาย เป็นทหารได้ 5 ปีก็ออกมาทำงานด้านการเงิน เก็บเงินการประปา แล้วย้ายไปองค์การไฟฟ้า ช่วงหนึ่งได้ขึ้นเหนือมาหาทำเลที่ภาคเหนือและได้พบลูกสาวชาวนา จากนั้นก็ปักหลักสร้างเนื้อสร้างตัวจนมีที่ดินในเชียงราย เชียงแสน และเชียงใหม่
แต่จากคำบอกเล่าของคุณพัลลภ เล่าว่า นายจิตร มีลูกกับภรรยาคนอื่นอีก และไม่ได้ปรากฏชื่อในงานเขียนของส. พลายน้อย ชื่อที่สืบได้คือ
นายทองแถม จิตราคนี (ร้อยเอก หลวงประดิษฐ์ภาพฉายาลักษณ์) เอนก นาวิกมูล ชี้ว่า เป็นช่างถ่ายรูปกรมแผนที่ทหารบก ประมาณ พ.ศ. 2467 มารดาของนายทองแถมชื่อนางเทศ
นายต๋ำ จิตราคนี เป็นช่างภาพกรมรถไฟ สมัยกรมพระกำแพงเพชรฯ มีลูกหลายคน ไม่ทราบชื่อมารดา
คลิกอ่านเพิ่มเติม : รู้จัก “พระยาวิเชียรคิรี” ช่างภาพต่างจังหวัดคนแรกของไทยเมื่อร้อยปีก่อน
คลิกอ่านเพิ่มเติม : 16 สิงหาคม 2560 สิ้น บุญเสริม สาตราภัย ช่างภาพคนสำคัญผู้บันทึกอดีตของล้านนา
คลิกอ่านเพิ่มเติม : “แท้ ประกาศวุฒิสาร” นักเลงกล้องผู้บันทึกประวัติศาสตร์สำคัญของชาติ
คลิกอ่านเพิ่มเติม : “กล้องถ่ายภาพ” อาวุธในการล่าอาณานิคม เก็บข้อมูลได้เร็ว และแม่นยำ
อ้างอิง:
เอนก นาวิกมูล. “มิศ ฟะรัน ซิศจิต พนักงานชักเงารูปรุ่นแรกของสยาม”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2526.
___________. “ฟรานซิส. จิตร ช่างภาพผู้ยิ่งใหญ่”. ใน สารคดี ปีที่ 17 ฉบับที่ 204 เดือน กุมภาพันธ์ 2545. (สืบค้นในระบบออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 4 มีนาคม 2564. <https://www.sarakadee.com/feature/2002/03/francis.htm>
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มีนาคม 2564