ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
หากอ่านหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ล้านนา, ประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ สักเล่มหนึ่ง จะต้องพบว่ารูปประกอบในหนังสือเหล่านั้น ที่มาจากฝีมือถ่ายภาพ หรือการเก็บสะสมภาพเก่าของ บุญเสริม สาตราภัย
เรื่องราวของบุญเสริมนั้น ธีรภาพ โลหิตกุล นักเขียนเรื่องสารคดี เคยมีโอกาสได้สัมภาษณ์เขา และเรียบเรียงไว้ในบทความชื่อ “แกะรอยชีวิต ‘คนเก็บอดีต’ ล้านนา บุญเสริมสาตราภัย” เก็บความได้ดังนี้
บุญเสริม สาตราภัย (7 มีนาคม พ.ศ. 2471-16 สิงหาคม พ.ศ. 2560) บิดาของท่านเป็นนายไปรษณีย์โทรเลขคนแรกของจังหวัดเชียงใหม่ การเกิดและโตที่บ้านพักไปรษณีย์ ทำให้บุญเสริมคุ้นเคยกับภาพโปสต์การ์ด สวยๆ จากต่างประเทศ ซึ่งบางครั้งก็เป็นรูปเหตุการณ์สำคัญ เช่น สงครามโลกครั้งที่ 1, ขบวนแห่พระบรมศพกษัตริย์ในทวีปยุโรป ฯลฯ
นั่นทำให้เขาเห็นความสำคัญของ “รูปภาพ” ว่ามีส่วนช่วยบันทึกประวัติศาสตร์
หากในยุคของบุญเสริมการถ่ายภาพไม่ใช่เรื่องที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่ายๆ แต่บังเอิญพี่เขยของเขาที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชอบถ่ายภาพ เมื่อโรงพยาบาลมีภารกิจไปปราบยุงในท้องถิ่นทุรกันดาร บุญเสริมจึงมีโอกาสติดตามไปช่วยงานพี่เขย และเรียนรู้การถ่ายภาพ ภาพถ่ายภาพครั้งแรกของเขาจึงเป็น ภาพคนจับยุง
ต่อมาบุญเสริมจะมาช่วยงานพี่สาวที่ร้านขายปุ๋ยในตัวเมืองเชียงใหม่ ก่อนจะไปเป็นช่างภาพให้กับ คนเมือง-หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ที่เพิ่งเปิดและยังขาดช่างภาพประจำ จากนั้นมาบุญเสริมก็เริ่มก้าวเข้าสู่การเป็นนักหนังสือพิมพ์และช่างภาพเต็มตัว เริ่มเรียนรู้เทคนิค อุปกรณ์ทั้งกล้องภาพนิ่ง และภาพยนตร์ ตลอดจนการล้าง, อัด และขยายภาพเองทั้งหมด
บุญเสริมเล่าประสบการณ์สำคัญครั้งหนึ่ง ที่ต้องขึ้นเครื่องบินทหารขนาดเล็ก ไปโปรยใบปลิวโฆษณางานฤดูหนาวเชียงใหม่ ประจำปี 2496 ว่า
“…ฮ.ลำเล็กๆ นั่งได้ 3 คน คือ นักบินกับผู้ช่วย แล้วก็ผม มีเข่งใส่ปลิวตั้งข้างหน้าต่างสองข้าง ผมไม่สั่น ไม่กลัว แต่มัวหามุมกล้องถ่ายภาพจนไม่ค่อยได้โปรยใบปลิว ก็วันนั้นเอากล้องคล้องคอขึ้นไปตั้ง 3 ตัว โชคดีที่วันนั้นอากาศดี ฟ้าเคลียร์ เลยได้ภาพสะพานนวรัฐภาพนี้มาเป็นภาพถ่ายทางอากาศของเชียงใหม่ภาพแรก ภูมิใจมาก...ยังจำได้ว่าวันนั้นเป็นวันที่ 31 ธันวาคม 2496…” (เน้นโดยผู้เขียน)

ประมาณปี 2505 สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ริเริ่มงานบุกเบิกเรื่องชนเผ่าผีตองเหลือง มีไกรศรี นิมมานเหมินท์ ปราชญ์ล้านนาเป็นหัวหน้าคณะสำรวจ ชักชวนบุญเสริมให้ร่วมงานด้วย พวกเขาทำการสำรวจในพื้นที่ป่าแถบจังหวัแพร่-น่าน นับเป็นคณะสำรวจรุ่นบุกเบิกในเรื่องนี้
บุญเสริมนำข้อมูลและภาพในครั้งนั้นมาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์คนเมือง จนได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดผลงานหนังสือพิมพ์ประเภทสารคดี ทั้งมีงานเขียนอื่นตามมา เช่น อดีตลานนา, เสด็จลานนาเล่ม 1 และเล่ม 2, เชียงใหม่เมื่อวันวาน, ศรีโหม้ คนเชียงใหม่คนแรกที่ไปอเมริกา ฯลฯ

นอกจากภาพที่บุญเสริมถ่ายเองแล้ว ยังมีภาพอีกจำนวนไม่น้อยที่บุญเสริมสะสมเมื่อทำงานกับหนังสือพิมพ์คนเมือง ภาพถ่ายเก่าของล้านนาที่ผ่านเข้ามา และบางภาพก็เป็นการทำสำเนาจากหอจดหมายเหตุเชียงใหม่ ซึ่งเป็นภาพถ่ายของพระยาเจริญราชไมตรี-ข้าหลวงยุติธธรรมประจำมณฑลพายัพ สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่นำกล้องถ่ายภาพมาในเมืองเชียงใหม่, คุณหลวงอนุสารสุนทร คหบดีเชียงใหม่ และนักเล่นกล้องยุคเดียวกับพระยาเจริญราชไมตรี
อ่านเพิ่มเติม :
- รู้จัก “พระยาวิเชียรคิรี” ช่างภาพต่างจังหวัดคนแรกของไทยเมื่อร้อยปีก่อน
- เปิดชีวิต ฟรานซิส จิตร ช่างภาพรุ่นแรกของสยาม ช่างภาพหลวงถ่ายรูป ร.4-ร.5 สวยงาม
- เส้นทางผจญภัย “จอห์น โนเอล” ช่างภาพคนแรก ผู้ถ่ายภาพยนตร์บันทึกการไต่เขาเอเวอเรสต์
ข้อมูลจาก :
ธีรภาพ โลหิตกุล. “แกะรอยชีวิต ‘คนเก็บอดีต’ ล้านนา บุญเสริมสาตราภัย” ใน กบฏกริช บาหลี, สำนักพิมพ์มติชน, กรกฎาคม 2540
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 สิงหาคม 2563