เส้นทางผจญภัย “จอห์น โนเอล” ช่างภาพคนแรก ผู้ถ่ายภาพยนตร์บันทึกการไต่เขาเอเวอเรสต์

จอห์น แบพทิสต์ โนเอล (Captain John Baptist Noel) ช่างภาพคนแรก ผู้ถ่ายภาพยนตร์บันทึกการไต่ยอดเขาเอเวอเรสต์เมื่อ ค.ศ. 1922

ช่างภาพคนแรก ผู้ถ่ายภาพยนตร์บันทึกการไต่ยอดเขาเอเวอเรสต์เมื่อ ค.ศ. 1922 คือชาวอังกฤษชื่อ ร้อยเอก จอห์น แบพทิสต์ โนเอล (Captain John Baptist Noel)

เขาเพิ่งตายไปเมื่อ ค.ศ. 1989 ขณะอายุ 99 ปี โดยทิ้งสมุดบันทึก จดหมาย หนังสือ และฟิล์มภาพยนตร์ ไว้เป็นมรดกประวัติศาสตร์โลก…เมื่อโนเอลอายุ 22 ปี และรับราชการทหารในกองทัพบกอังกฤษ โดยประจำการอยู่ตอนเหนือของอินเดีย เขาหาหนทางที่จะเดินผจญภัยไปยังยอดเขาเอเวอเรสต์ที่สูงที่สุดในโลก ระหว่างช่วงลาหยุดพักฤดูร้อนสองเดือน

ขณะนั้น ค.ศ. 1913 ทิเบตออกกฎห้ามคนผิวขาวเข้าประเทศและเดินทางไปยังภูเขาศักดิ์สิทธิ์ “โคโมลังมา” เจ้าแม่แห่งโลก ซึ่งไม่ปรากฏว่าเคยมีชาวตะวันตกคนใดพยายามมาก่อน

โนเอลถึงกับย้อมผมและทาผิวให้เป็นสีน้ำตาล แล้วสวมเสื้อผ้าชนพื้นเมืองชาวทิเบต ลักลอบออกเดินทางไปกับชาวเขากลุ่มหนึ่ง พร้อมเสบียงอาหารสำรอง กินได้สองสัปดาห์

ภายหลังการใช้เวลาเกือบสองเดือน เดินทางผ่านที่ราบสู่ภูเขาสูงอันทุรกันดารของทิเบต

และอีกเพียง 40 ไมล์ ก็เจียนจวนจะถึงยอดเขาเอเวอเรสต์แล้ว! โนเอลประจันหน้ากับหน่วยทหารลาดตระเวนทิเบต ซึ่งบังคับให้เขาเดินทางกลับทันที

เขามาถึงกรมทหารโดยใช้เวลาเกินกว่าที่ลาหยุดไว้เกือบหนึ่งเดือน ซึ่งโทษของเขาคือการถูกส่งฟ้องศาลทหาร แต่เขากลับรอดตัว เพราะได้ชี้แจงต่อผู้บังคับบัญชาว่า เขาทำปฏิทินหล่นหายขณะลุยข้ามธารน้ำแข็ง

โนเอลได้รับคำแนะนำให้เอาปฏิทินไปสองอันในการเดินทางคราวหน้า หลังจากความล้มเหลวครั้งแรก

โนเอลก็ไม่ย่อท้อ เขาเริ่มวางแผนเดินทางพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์อีกครั้ง แต่ต้องชะลอโครงการไว้ก่อน เพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

โนเอลถูกเรียกตัวไปประจำการที่กรุงดับลิน ไอร์แลนด์ เมื่อ ค.ศ. 1914 และต่อมาถูกส่งตัวต่อไปยังฝรั่งเศสเพื่อสู้รบกับทหารเยอรมัน

ครั้งหนึ่ง โนเอลรอดตายมาได้พร้อมกับทหารอีก 20 คน จากการปะทะกับทหารเยอรมัน และถูกจับเป็นเชลยศึก แต่เขากลับหนีรอดโดยหลบซ่อนในป่าตอนกลางวัน และเดินเท้าตอนกลางคืนคนเดียวเกือบสามสัปดาห์ จนกระทั่งถึงกองกำลังฝ่ายพันธมิตรอย่างปลอดภัย

โอกาสทองมาถึงโนเอลใน ค.ศ. 1922 เมื่อราชสมาคมภูมิศาสตร์ (Royal Geographical Society) แห่งอังกฤษสนับสนุนเงินทุนให้โครงการสำรวจยอดเขาเอเวอเรสต์ของนักไต่เขาคณะหนึ่ง

โนเอลขอเดินทางไปด้วยในฐานะช่างภาพประจำคณะสำรวจ แต่ถูกต่อต้านจากสมาชิกคณะสำรวจ เพราะไม่เห็นความจำเป็นที่จะให้ช่างภาพร่วมโครงการ โดยมีเหตุผลว่าการไต่เขาเป็นกีฬาสำหรับสุภาพบุรุษ มิใช่เป็นการถ่ายทำภาพยนตร์

คณะสำรวจยอดเขาเอเวอเรสต์ ใน ค.ศ. 1922 โนเอลนั่งอยู่แถวหลัง คนที่สามจากซ้าย

เนื่องจากโนเอลไม่ได้รับเงินทุนสนับสนุน เขาจึงต้องวิ่งหาเงินทุนสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยตนเอง โดยแลกกับการถ่ายภาพยนตร์ โนเอลสนใจถ่ายภาพมาแต่เยาว์วัย เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากมารดาซึ่งเป็นช่างภาพมีฝีมือในการถ่ายภาพทิวทัศน์ ภูเขา และดอกไม้ป่า

ความรักภูเขาก่อกำเนิดในหัวใจของโนเอลขณะเรียนหนังสือชั้นมัธยมปลายที่สวิตเซอร์แลนด์ โดยก่อนหน้านี้เมื่ออายุ 14 ปี เขาสนใจวิชาการถ่ายภาพยนตร์ ถึงขนาดแอบไปฟัง เฮอร์เบิร์ต พอนติง (Herbert Ponting) ช่างกล้องลือชื่อจากการถ่ายภาพยนตร์การสำรวจขั้วโลกใต้ของสก็อตต์ ด้วยกล้องเดบรี (Debrie Camera) ซึ่งบรรยายวิชาการถ่ายภาพอยู่ที่ ฟิลฮาร์โมนิก ฮอลล์ กรุงลอนดอน ทุกคืนเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์

ไม่มีใครล่วงรู้ได้ก่อนว่า นักไต่เขาจะสามารถมีชีวิตรอดในความสูงระดับ 29,000 ฟุตของยอดเขาเอเวอเรสต์หรือไม่?

กล้องถ่ายภาพยนตร์จะสามารถใช้การได้ดีหรือไม่? โนเอลจะมีชีวิตรอดพร้อมกับนักไต่เขาหรือไม่? โนเอลจะสามารถล้างฟิล์มบนภูเขาเพื่อดูว่าทุกภาพจะถ่ายติดหรือไม่? และ ฯลฯ

ฟิล์มไนเตรท 35 มม. อาจเสียหาย ท่ามกลางอากาศหนาวเย็นและแห้งก่อนถึงยอดเขาเอเวอเรสต์ในระยะ 300 ไมล์ หรืออาจเสียหายท่ามกลางอากาศร้อนอ้าวและชื้นของอินเดีย หรืออาจเสียหายท่ามกลางการขนส่งทางเรืออันยาวนานกว่าจะถึงอังกฤษ

โนเอลหอบหิ้วกล้องถ่ายภาพยนตร์ ยี่ห้อ นิวแมน ซินแคลร์ (Newman Sinclair) และกล้องส่องถ่ายทางไกล ยี่ห้อ คุก (Cooke) พร้อมเลนซ์ผลิตโดย เทเลอร์, เทเลอร์และฮอบสัน (Taylor, Taylor & Hobson) รวมทั้งอุปกรณ์สำหรับการล้างฟิล์มที่ดัดแปลงด้วยเทคนิควิธีการประยุกต์ของตน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ

ในที่สุดเวลาแห่งการรอคอยด้วยจิตวิญญาณที่จะพิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกก็มาถึง

ภาพอดีตที่ถ่ายไว้เมื่อคราวเดินทางไปยอดเขาเอเวอเรสต์ครั้งแรก ทุกคนดูซอมซ่อ และอะไรต่อมิอะไรก็ไม่พร้อม ไม่ว่าจะเป็นเสบียงอาหาร เครื่องนุ่งห่มกันหนาว และอุปกรณ์การไต่เขา แต่สำหรับชาวอังกฤษผู้นี้แล้ว เขามีศรัทธามันว่าจะพิชิตทุกสิ่งได้!

โนเอลฟื้นความหลัง…ว่า

“ครั้งแรกที่พวกเราเห็นยอดเขาเอเวอเรสต์ พวกเราประทับใจกับความศักดิ์สิทธิ์และความยากลำบากแสนสาหัสในการไต่เขาขึ้นมา พวกเราทรุดนั่งลงกับพื้น…อ้าปาก อย่างลืมตัวมองดูภูเขาตรงหน้า ไม่มีใครในหมู่พวกเราพูดระบายความรู้สึกออกมา ไม่มีใครรู้ว่าใครกำลังคิดอะไร แต่ผมรู้ดีว่าผมคิดอะไรและทุกคนในคณะสำรวจคิดอะไร นี่คือสิ่งที่เกินกว่ามนุษย์จะทำได้ แต่พวกเราไม่เคยแสดงออกมา”

โนเอลไม่มีผู้ช่วยเป็นช่างกล้องติดตามมาด้วย แต่มีชาวเขาเผ่าเชอร์ปา (Sherpa) ซึ่งมีถิ่นฐานอาศัยอยู่แถบภูเขาหิมาลัย จำนวน 10 คน และล่อจำนวน 2 ตัว เป็นผู้ช่วยเหลือและแบกสัมภาระ เดินทางไต่เขาไปด้วยกัน เป็นเรื่องแปลกที่โนเอลสามารถปรับตัวให้ชินกับสภาพภูมิอากาศหนาวเหน็บได้อย่างดี ขณะที่ผู้ช่วยเชอร์ปาของเขาหนึ่งคนหกล้มบาดเจ็บเกือบตายและอีกสองคนป่วย

โนเอลมองผ่านกล้องเห็นนักไต่เขาสองคนกำลังปีนป่ายถึงระดับ 27,000 ฟุต แต่เมื่อคอยจนถึงเย็นค่ำมืดแล้วยังไม่กลับถึงกระโจมที่พัก เขาจึงเอาฟิล์มที่ตุนไว้ยังไม่ได้ถ่ายกองสุมจุดไฟลุกสว่างเพื่อเป็นสัญญาณให้เดินทางกลับถึงที่หมายโดยปลอดภัย นักไต่เขาเดินทางกลับถึงที่พักด้วยอาการบาดเจ็บอย่างรุนแรงเพราะน้ำแข็งกัดจนบวมเป็นน้ำเหลือง

วันต่อมาเกิดอุบัติภัยหิมะก้อนใหญ่เท่าภูเขาเลากาถล่มล่วงหล่นลงมากระทบแม่น้ำน้ำแข็งกระจายทับชาวเชอร์ปาตายไปเจ็ดคน

การสำรวจครั้งนี้ถึงจุดสิ้นสุด

จอห์น แบพทิสต์ โนเอล (Captain John Baptist Noel)

กลับถึงกรุงลอนดอน โนเอลลำดับภาพเป็นภาพยนตร์สารคดีออกฉายโดยตั้งชื่อเรื่องว่า “การไต่ยอดเขาเอเวอเรสต์” (Climbing Mount Everest) แต่ไม่มีโรงภาพยนตร์ใดสนใจ เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญวงการภาพยนตร์วิจารณ์ว่าปราศจากเรื่องราว รัก ๆ ใคร่ ๆ ซึ่งจะไม่มีคนดู

โนเอลจึงต้องตัดสินใจทำเช่นเดียวกับที่พอนติงเคยทำมาแล้ว คือการจัดแสดงนิทรรศการด้วยตนเองเป็นเวลานาน 10 สัปดาห์ ซึ่งปรากฏว่ามีผู้สนใจชมมากพอสมควร

การร่วมเดินทางไปพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์กับคณะสำรวจ ทำให้โนเอลเรียนรู้ประสบการณ์ว่าเขาไม่สามารถสั่งให้นักไต่เขาวางท่าทางหรือทำอะไรซ้ำเพื่อถ่ายภาพได้เลยในฐานะช่างกล้องประจำคณะสำรวจ

ถึงแม้จะมีจุดประสงค์เบื้องต้นเพื่อบันทึกภาพยนตร์สารคดีเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของการไต่เขา แต่ในฐานะศิลปิน เขาก็ยังต้องการภาพความยิ่งใหญ่ของภูเขาพร้อมกับสุนทรียภาพและลีลาความยากลำบากของพวกนักไต่เขา

โอกาสทองของโนเอลมาถึงอีกครั้งใน ค.ศ. 1924 เมื่ออังกฤษหวังจะพิชิตยอดโลกให้จงได้ คราวนี้โนเอลใช้กล้องจากโรงงาน อาเธอร์ นิวแมน (Arthur Newman) พร้อมแบตเตอรีซึ่งสามารถถ่ายภาพได้ไวกว่า และให้ชาวเชอร์ปานนำฟิล์มจากภูเขาไปล้างที่ห้องแลปเมืองดาจาริง อินเดีย ซึ่งมีช่างชำนาญงานรออยู่ ต่อจากนั้นจึงค่อยส่งไปให้ ปาเธ นิวส์ (Pathé News) ที่อังกฤษเผยแพร่เป็นข่าว

คณะสำรวจยอดเขาเอเวอเรสต์ครั้งที่สองส่วนมากเป็นนักไต่เขาหน้าใหม่ ซึ่งยังคงไม่ยอมรับช่างกล้องที่ร่วมเดินทางไปด้วย แต่ไม่แสดงปฏิกิริยาให้เห็น เพราะเกรงบารมีและผลงานการถ่ายภาพยนตร์ของโนเอลจากการสำรวจครั้งแรก

นักไต่เขาได้นำขวดออกซิเจนติดตัวไปด้วยเป็นครั้งแรกสำหรับการผจญภัยคราวนี้ เพื่อใช้สูดหายใจช่วยยามเจ็บปวด ขณะผจญกับสภาพอากาศเบาบาง แต่ไม่ว่าครั้งไหนก็เช่นกัน ยอดเขาเอเวอเรสต์ไม่เคยยอมให้ใครพิชิตได้ง่าย ๆ

อุปกรณ์ออกซิเจนของคณะสำรวจยอดเขาเอเวอเรสต์ ใน ค.ศ. 1922

ลมที่กรรโชกแรงดุจพายุได้พัดกระโจมที่พักปลิวพินาศและความหนาวเย็นถึงกับทำให้ชาวเชอร์ปาต้องตายไปสองคน เพราะน้ำแข็งกัดและตกโลหิต เมื่อโนเอลปืนถึงความสูงระดับ 23,000 ฟุต ซึ่งจากบริเวณจุดนี้ที่ตั้งชื่อว่า นอร์ท โคล (North Col) เขาสามารถไต่ตามนักไต่เขาที่กำลังรุกคืบไปข้างหน้า เพื่อจะถึงจุดยอดสุดให้ได้

เมื่อออกซิเจนบางขวดของคณะสำรวจเสื่อมคุณภาพ โนเอลยอมเสียสละขวดออกซิเจนของตนให้แก่นักไต่เขาเพื่อช่วยในการปฏิบัติภารกิจได้สำเร็จ โดยตัวเขาเองพร้อมกับชาวเชอร์ปาอีกสองคน ต้องอยู่ในบริเวณกระโจมที่พักในระดับความสูง 23,000 ฟุต โดยปราศจากขวดออกซิเจนเป็นเวลานานสองสัปดาห์

รู้กันทั่วไปในวงการแพทย์ว่าความสูงระดับ 21,000 ฟุต คือขีดจำกัดของมนุษย์ที่จะสามารถสร้างความชินกับสภาพภูมิอากาศ และการมีชีวิตอยู่ในระดับความสูงขนาดนี้ หากไม่มีออกซิเจนช่วยเสริมการหายใจแล้วจะทำให้ร่างกายไม่สามารถทนทานและอาจถึงตายได้

วันที่สองนักไต่เขาผู้ยิ่งใหญ่ จอร์จ มัลลอรี (George Mallory) และแอนดรู เออร์วิน (Andrew Irvine) พยายามครั้งสุดท้ายที่จะพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ โนเอลไต่เขาติดตามไปถ่ายภาพยนตร์ทุกอิริยาบถยามเคลื่อนขยับร่างสูงขึ้น ๆ

เลนซ์ถ่ายระยะไกลของโนเอลทำให้เขาสามารถเฝ้ามองสองนักไต่เขาอย่างใกล้ชิดคนเดียว ระยะทางอีก 800 ฟุตเท่านั้นจะถึงยอดเขา พลันเกิดเมฆหนาแน่นปกคลุมทั่วอาณาบริเวณ จนมองไม่เห็นร่างมนุษย์เคลื่อนไหว

คณะนักไต่เขาติดตามไปค้นหามัลลอรีและเออร์วินทุกซอกมุมนานสองวัน แต่ไม่พบแม้ร่องรอย โนเอลบรรยายความรู้สึกของเขาเมื่อภาพยนตร์ฉายถึงตอนที่เห็นภาพคณะนักไต่เขาส่งสัญญาณบอกว่าได้ค้นหาจนทั่วแล้ว

“สมัยนั้นเราไม่มีโทรศัพท์ไร้สายใช้ในการติดต่อสื่อสาร คณะนักไต่เขาที่ออกค้นหาส่งสัญญาณมาให้รู้ ผมบันทึกภาพไว้ ภาพที่ดีที่สุดในชีวิตของผม แล้วพวกเขาก็เดินต่อไป มีคนถามผมว่าผมเห็นอะไร? ผมบอกไม่ได้ ผมรู้สึกหมดแรง ผมบอกเขาไม่ได้ว่าผมเห็นสัญญาณบอกว่า พวกเขาค้นหาจนทั่วแล้ว-มัลลอรีและ เออร์วินตายแล้ว ภาพที่ถ่ายไว้แสดงความหมายชัดเจน”

นอกเหนือจากโศกนาฏกรรมดังกล่าว ภาพยนตร์การสำรวจของโนเอลเรื่องที่สองชื่อว่า “มหากาพย์แห่งเอเวอเรสต์” (Epic of Everest) ถูกนำออกฉายพร้อมการบรรยายประกอบในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา 14 มลรัฐ

ค.ศ. 1927 โนเอลเขียนหนังสือเล่มหนึ่งเล่าเรื่องการผจญภัยและประสบการณ์จากยอดเขาเอเวอเรสต์โดยตั้งชื่อว่า “จากทิเบตสู่เอเวอเรสต์” (Through Tibet to Everest) ซึ่งขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

ยอดเขาเอเวอเรสต์มิได้ถูกผู้ใดพิชิต จนกระทั่งถึง ค.ศ. 1953

และอีกสิบปีต่อมาใน ค.ศ. 1963 การถ่ายภาพยนตร์จากยอดเขาเอเวอเรสต์ เพิ่งกระทำได้สำเร็จ โดย ลูท เจอร์สตัด (Lute Jerstad) ด้วยกล้องขนาด 16 มม. ยี่ห้อโบเล็กซ์ (Bolex Camera) ซึ่งสมาคมภูมิศาสตร์แห่งชาติ (National Geographic Society) ได้นำฟิล์มบางตอนออกฉายในรายการโทรทัศน์ของตนเป็นครั้งแรกชื่อเรื่อง “อเมริกันบนเอเวอเรสต์”

เพิ่งใน ค.ศ. 1988 มานี่เองที่มีการถ่ายทอดสดจากยอดเขาเอเวอเรสต์ ผ่านไมโครเวฟและดาวเทียมโดยช่างกล้องนักไต่เขาชื่อ เดวิด เบรสเชียร์ส (David Breashears)…

การรำลึกถึงเหล่านักไต่เขาผู้กล้าหาญ…ผู้คนส่วนมากมักเอ่ยถึงวีรกรรมของมัลลอรี และเออร์วิน น้อยคนนักจะนึกถึงความสำเร็จของโนเอล ผู้มิใช่ธรรมดา

โนเอลตายโดยทิ้งมรดกอันยิ่งใหญ่อย่างแท้จริงแก่มนุษยชาติ ซึ่งคนรุ่นหลังสามารถศึกษาจากสมุดบันทึก จดหมาย หนังสือ และฟิล์มภาพยนตร์บรรจุเรื่องราวการผจญภัยในดินแดนห่างไกล

ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ที่ถ่ายทำโดยโนเอลเรื่อง “การไต่ยอดเขาเอเวอเรสต์” และ “มหากาพย์แห่งเอเวอเรสต์” สามารถหาดูได้ที่ สถาบันภาพยนตร์แห่งอังกฤษและราชสมาคมภูมิศาสตร์

กล้องถ่ายภาพยนตร์ของโนเอลตั้งแสดงอยู่ติดกับกล้องถ่ายภาพยนตร์ของ เฮอร์เบิร์ต พอนติง ในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ กรุงลอนดอน

มรดกของโนเอลที่ทิ้งไว้คือ ประจักษ์พยานแห่งตำนานการผจญภัยของมนุษย์ผู้ปรารถนาแรงกล้าคนแรกที่ต้องการไต่ให้ถึงยอดโลก

 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ช่างภาพคนแรก ผู้พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์” เขียนโดย บุญยก ตามไท ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2534 โดยเรียบเรียงจากนิตยสาร American Cinematographer ฉบับสิงหาคม ค.ศ. 1990


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 ธันวาคม 2564