รู้จัก “พระยาวิเชียรคิรี” ช่างภาพต่างจังหวัดคนแรกของไทยเมื่อร้อยปีก่อน

พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา)

ภาพขนาดแคบิเบต กว้าง ยาว 11×16.5 ซ.ม. จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัส ภอ.001 หวญ 10-1 สีออกน้ำตาล ข้างหลังมีลายมือเก่าชำระไว้ ว่า “พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา)” กับมีลายมือของพระยาวิเชียรคีรี เขียนด้วยปากกาเส้นคม (ตัวหนังสือตก ๆ หล่น ๆ) ว่า “ข้าพระพุธิเจา ขอ ถวาไว้ตายฝาพระบาทตอไป” เข้าใจว่าจะเป็นรูปทูลเกล้าฯ ถวาย รัชกาลที่ 5

ในภาพ พระยาวิเชียรคีรีสวมเสื้อแขนยาว มีสายนาฬิกาพกโผล่ออกมาจากกระเป๋า นุ่งโจงกระเบน สวมรองเท้าถุงเท้า สวมหมวก นั่งไขว่ห้างบนเก้าอี้ ถ่ายหน้าฉากที่วาดเป็นเสาเชิงบันได

ใต้ภาพ พิมพ์หมึกสีทองว่า “Luang Weeset Singora Siam” กับ อักษรย่อ L W ซ้อนกันตรงกลาง ทั้งหมดหมายถึงหลวงวิเศษเมืองสงขลา สยาม

ด้านหลัง พิมพ์หมึกสีทองเป็นรูปเสือเดินใต้ต้นมะพร้าว และพิมพ์ตัวหนังสือภาษาอังกฤษข้อความเกี่ยวกับด้านหน้า เพียงแต่ไม่มีอักษรย่อ

พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา)

ประวัติและผลงานของพระยาวิเชียรคีรี (ชม) ผู้เขียนเคยรวบรวมเรียบเรียงอย่างละเอียดในหนังสือ “สมุดภาพสงขลา มหาวชิราวุธ” ซึ่งคณะกรรมการชุมนุมนักเรียนเก่ามหาวชิราวุธสงขลา พ.ศ. 2536 จัดพิมพ์… สรุปได้ว่า พระยาวิเชียรคีรี (ชม) เป็นช่างภาพคนแรกของสงขลา และน่าจะเป็นช่างภาพต่างจังหวัดคนแรกของไทยด้วย มีผลงานถ่ายภาพตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2430 จน ถึงปลายรัชกาลที่ 5

ที่ว่าน่าจะเป็นช่างภาพต่างจังหวัดคนแรกของไทยนั้นก็เพราะเท่าที่ค้นคว้าเรื่องประวัติการถ่ายรูปมา… ยังไม่พบว่าช่างในจังหวัดอื่นนอกเหนือกรุงเทพฯ “รู้จักการถ่ายรูป” ก่อนพระยาวิเชียรคีรี (ชม) ของสงขลาเลย

เช่น ที่เชียงใหม่ หลวงอนุสารสุนทร (เล่งอี้ ชุติมา เกิด พ.ศ. 2410 ถึง แก่กรรม พ.ศ. 2474) ตั้งร้านถ่ายรูปแห่งแรกขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2443

ที่ราชบุรีเดิมมีร้านเอี้ยวกี่ ก่อตั้ง พ.ศ. 2450 ต่อมาย้ายไปตั้งที่เพชรบุรีใน พ.ศ. 2460 ฯลฯ

คําว่า “รู้จักการถ่ายรูป” ในที่นี้หมายความว่า รู้และเข้าใจกระบวนการถ่ายรูป มิใช่เพียงเห็นการถ่ายรูปเฉย ๆ

พระยาวิเชียรคีรี (ชม) เกิดที่สงขลาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ปีขาล ฉศก พ.ศ. 2397 (ต้นสมัยรัชกาลที่ 4) ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคชราเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2447 อายุ 50 ปี เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาคนสุดท้าย ก่อนรัฐบาลกลางจะเข้าไปจัดระบบการปกครองใหม่

ในพงศาวดารเมืองสงขลา ภาคที่ 2 ซึ่งพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพมหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) เขียนโดยท่านผู้วายชนม์กับพระยาศรีสวัสดิ์คิรีศรีสมันตราษฎร์นายก (เย็น สุวรรณปัทม) กล่าวตอนหนึ่งว่า พระยาวิเชียรคีรี (ชม) เป็นผู้รักในการช่างและสนใจศึกษาหาความรู้หลายแขนงทั้งแพทย์ โหราศาสตร์ เดินเรือ และถ่ายรูป

ในบ้านของท่าน ท่านตั้งโรงงานทำข้าวของเครื่องใช้ เช่น ไม้เท้า เครื่องงา เครื่องเงิน ไว้น้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายเจ้านาย และมอบให้มิตรสหายโดยไม่มีความเสียดาย

เฉพาะวิชาถ่ายรูป พงศาวดารให้ร่องรอยไว้สั้น ๆ ว่า

“วิชาถ่ายรูปต่อหลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร จิตราคนี) และมิสเตอร์ลำเบิก มิสเตอร์เนาต้า”

คือเรียนถ่ายรูปกับหลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร) ลำเบิก และเนาต้า

หลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร) เป็นช่างถ่ายรูปอาชีพคนแรกของไทย ลำเบิก เชื่อได้ว่าหมายถึง ยี.อาร์. แลมเบิร์ต ช่างภาพฝรั่งที่ตั้งร้านในสิงคโปร์ เคยเข้ามารับจ้างถ่ายรูปในสมัยรัชกาลที่ 5 หลายหน เช่น พ.ศ. 2422, 2426, 2439 ส่วนเนาต้าเป็นใครยังค้นไม่ได้

พ.ศ. 2407 อายุเพียง 9-10 ขวบ ขึ้นมาถวายตัวเป็นมหาดเล็กหลวง ในรัชกาลที่ 4 มาอยู่ได้ 2 ปีก็ทูลลาลงไปสงขลา

พ.ศ. 2413-2431 ได้เป็นหลวงวิเศษภักดี ตำแหน่งผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา

พ.ศ. 2431 ได้เป็นพระยาสุนทรานุรักษ์, พ.ศ. 2433 ได้เป็นพระยาวิเชียรคีรี ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา

ราชทินนาม “วิเศษภักดี” คือกุญแจดอกสำคัญที่ผู้เขียนนำมาใช้ในการปะติดปะต่อประวัติด้านการถ่ายรูปของท่าน

คําว่า Luang Weeset และ L W ที่ปรากฏบนกระดาษปิดรูป แสดงให้เห็นว่าช่วงระหว่าง พ.ศ. 2413-2431 ที่ได้เป็นหลวงวิเศษภักดี ท่านต้องเรียนรู้เรื่องการถ่ายรูปแล้ว จึงเอาบรรดาศักดิ์และราชทินนามมาพิมพ์บนกระดาษกำกับงานไว้

ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวได้ว่าพระยาวิเชียรคีรี (ชม) เรียนรู้การถ่ายรูปมาตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2431 และก่อนช่างในจังหวัดอื่นเท่าที่จะหาหลักฐานมาเทียบเคียงได้

พระยาวิเชียรคีรี (ชม) มีสตูดิโอถ่ายรูปในบ้าน เวลา รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสสงขลา ก็เสด็จไปแวะเยี่ยมและฉายพระรูปที่นั่น ลูกชายของท่านก็ถ่ายรูปเป็น

รูปเสือที่นำมาพิมพ์หลังกระดาษปิดรูปต้องหมายถึงปีเกิดคือปีขาลแน่นอน

รูปพระยาวิเชียรคีรี (ชม) ที่นำมาตีพิมพ์ครั้งนี้น่าจะถ่ายในสมัยยังหนุ่มและยังเป็นหลวงวิเศษภักดี จึงอนุมานว่าควรถ่ายราว ก่อน พ.ศ. 2431

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 ธันวาคม 2563