เผยแพร่ |
---|
คนจำนวนมากเลือกบันทึกเหตุการณ์ในอดีตด้วยการเขียน แต่ยังมีวิธีการอื่นที่คนจำนวนน้อยเลือกบันทึกเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วด้วยวิธีการอื่นๆ และทั้งหมดนั้นทำให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ประวัติศาสตร์ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ขึ้น ในคนจำนวนน้อยนั้นมี แท้ ประกาศวุฒิสาร ยืนอยู่
เรื่องราวของแท้ ประกาศวุฒิสาร หอภาพยนตร์ (องค์กรมหาชน) ได้รวบรวมข้อมูลไว้ในสูจิบัตรชื่อ “ 100 ปี สุภาพบุรุษเสือแท้” เมื่อคราวจัดงานนิทรรศการชีวิตและงาน แท้ ประกาศวุฒิสาร (6 ธันวาคม 2561 – 10 กุมภาพันธ์ 2562) ไว้ให้คนรุ่นหลังๆ ได้รู้จักผลงาน “นักเลงกล้อง” ผู้นี้
แท้ ประกาศวุฒิสาร (พ.ศ.2461-2561) ชื่อเดิม “บุญแท้” บ้านเกิดอยู่ที่อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี แท้รักการถ่ายถ่ายรูป เมื่ออายุ 14 เขาก็ซื้อกล้องถ่ายรูปด้วยตนเอง เมื่อเข้าเรียนที่โรงเรียนเพาะช่างแท้ย้าย แผนกวิชาถ่ายรูปถูกยุบเพราะมีนักเรียนน้อยไป แต่แท้ยังอยู่เรียนต่อไป ปี 2478 แท้ได้พบและฝึกหัดงานกับขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต (เปล่ง ฟีลาเนีย) หนึ่งในผู้บุกเบิกวงการภาพยนตร์ไทยที่สอนวิชาภาพยนตร์ให้กับเขา
จากนั้นแท้ทำงานถ่ายภาพเรื่อยมาไม่ว่าภาพนิ่ง, ภาพเคลื่อนไหว
ในปี 2479 ช่างถ่ายภาพและภาพยนตร์ กองถ่ายรูป กรมแผนที่ทหารบก, 2480 ช่างภาพและทำหนังสือ “ท่องเที่ยวรายสัปดาห์” แผนกส่งเสริมการท่องเที่ยว กระทรวงพาณิชย์, 2483 ช่างถ่ายภาพ และภาพยนตร์ ที่บริษัท สหศีนิมา จํากัด, 2485 ช่างถ่าย ภาพยนตร์ของกองภาพยนตร์ทหารอากาศ ซึ่งได้ไปบันทึกเหตุการณ์ การรบของทหารไทยในกองทัพพายัพ, 2488 เปิดร้านถ่ายรูปไทยไตรมิตร ควบคู่กับการเป็นช่างภาพหนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย”, 2491 สร้างภาพยนตร์ไทยด้วยตนเอง
ฝีมือถ่ายภาพของแท้เป็นที่ยกย่องย่อมรับจากผู้คนหลายวงการ
ส่วนผลงานที่เขาฝากไว้จนถึงทุกวันนี้ คือประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของประเทศ เช่น ภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพมหานคร เดือนตุลาคม 2485, ภาพยนตร์บันทึกการก่อรัฐประหารของจอมพลผิน ชุณหะวันและคณะ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490, ภาพยนตร์บันทึกพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ รัชกาลที่ 8 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2493 และภาพยนตร์บันทึกการออกรับส่งผู้โดยสารเป็นวันสุดท้าย ของรถรางในกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2511 เป็นต้น
ขณะเดียวกันแท้ก็ช่วย “ปลุกวงการ” ภาพยนตร์ไทยช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ดังที่กล่าวไปตอนต้นว่า ปี 2491 แท้สร้างภาพยนตร์ไทยเอง เขาร่วมกับ ม.จ.ศุกรวรรณดิศ ดิศกุล สร้างภาพยนตร์ขนาด 16 มม.พากย์สด ชื่อเรื่อง “สุภาพบุรุษไทย” ซึ่งได้รับความสำเร็จเกิดคาด เมื่อออกฉายในปี 2492 ที่ศาลาเฉลิมกรุง ทำรายได้ถึง 315,998 บาท ลบสถิติภาพยนตร์ทุกเรื่องที่เข้าฉายก่อนหน้า
หลังจากนั้นแท้ก็ตั้งบริษัทสร้างภาพยนตร์เองชื่อ “ภาพยนตร์ไทยไตรมิตร” ผลิตภาพยนตร์สร้างชื่อมากมาย เช่น สาวเครือฟ้า (2496), เห่าดง (2501), สี่คิงส์ (2502), เสือเฒ่า (2503)ฯลฯ
ข้อมูลจาก
หอภาพยนตร์ (องค์กรมหาชน). สูจิบัตร “ 100 ปี สุภาพบุรุษเสือแท้” ในงานนิทรรศการชีวิตและงาน แท้ ประกาศวุฒิสาร (6 ธันวาคม 2561 – 10 กุมภาพันธ์ 2562)
เผยแพร่ข้อมูลครั้งแรก 1 เมษายน 2563