ภาพถ่ายหลังความตาย ความระลึกถึงจากคนเป็น

ภาพถ่ายหลังความตายของสตรีสูงวัยชาวสยาม ภาพนี้เป็น 1 ใน 3 ภาพถ่ายหลังความตายยุคแรกๆ ที่ค้นพบ (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

แครอล ที. คริสต์ (Carol T. Christ) นักวิชาการชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญวรรณกรรมยุควิกตอเรีย อธิบายว่า ในกรุงลอนดอน พ.ศ. 2373 (ค.ศ. 1430) อายุขัยเฉลี่ยของชายชนชั้นกลางจนไปถึงชนชั้นสูงจะอยู่ที่ 44 ปี พ่อค้าวาณิชมีอายุขัย 25 ปี และกรรมกรจะมีอายุขัยเฉลี่ยเพียง 22 ปี เท่านั้น ส่วนครอบครัวของชนชั้นแรงงาน ในจำนวนเด็กเกิดใหม่ 100 คน จะมีถึง 57 คน ที่เสียชีวิตก่อนอายุ 5 ขวบ

ด้วยเหตุนี้ ในยุควิกตอเรียจึงเกิดธรรมเนียมมากมายที่ผูกพันอยู่กับความตายและการไว้ทุกข์

ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับตัวของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเอง เมื่อทรงสูญเสียเจ้าชายอัลเบิร์ตพระสวามี พระองค์มิได้ทรงฉลองพระองค์สีสันอีกเลยตลอดพระชนมชีพที่เหลือ และทรงกำกับให้รักษาสภาพห้องสีฟ้า (the Blue Room ภายหลังมีอีกชื่อเรียกว่า “ห้องอัลเบิร์ต”) ในปราสาทวินด์เซอร์ ให้เหมือนกับว่าพระสวามียังทรงดำรงพระชนมชีพอยู่ ในทุกเช้าเจ้าพนักงานจะจัดฉลองพระองค์สำหรับเจ้าชายอัลเบิร์ต เปลี่ยนผ้าปูพระแท่น พร้อมกับจัดเตรียมน้ำร้อนถวายไว้สำหรับสรง เป็นเวลาถึง 40 ปี จวบจนสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเสด็จสวรรคต

กล้องถ่ายภาพเป็นหนึ่งในประดิษฐกรรมที่เกิดขึ้นในยุควิกตอเรีย คุณประโยชน์สำคัญของการถ่ายภาพคือ การบันทึกภาพผู้คนและชีวิตความเป็นอยู่ เมื่อความตายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตชาววิกตอเรีย จึงมีการนำกล้องถ่ายภาพไปใช้ถ่ายร่างที่ไร้ชีวิตด้วย

นักประวัติศาสตร์ประเมินว่า ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1840 ทศวรรษแรกที่กล้องถ่ายภาพถือกำเนิดขึ้น ภาพถ่ายที่บันทึกภาพความตายเมื่อเทียบสัดส่วนกับภาพถ่ายในพิธีแต่งงาน มีอัตราส่วนเป็น 3 ต่อ 1 เลยทีเดียว

วิธีปฏิบัติดังกล่าวมีชื่อทางการว่า การถ่ายภาพหลังความตาย (Post-mortem photography) ซึ่งเป็นที่นิยมมากในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ในโลกตะวันตกความพยายามที่จะสร้างวัตถุที่บันทึกภาพ (หรือสภาพ) ของผู้เสียชีวิตมีมาก่อนหน้านั้น เช่น ธรรมเนียมการทำหน้ากากแห่งความตาย (Death Mask) ในสู่นรกภูมิ [(Inferno (พ.ศ. 2557)] นวนิยายโดยแดน บราวน์ (Dan Brown) โรเบิร์ต แลงดอน (Robert Langdon) พระเอกของเรื่องอธิบายกระบวนการสร้างหน้ากากแห่งความตายไว้ดังนี้

อีกหนึ่งวิธีการบันทึกชั่วขณะแห่งความตายเอาไว้คือ การวาดภาพเหมือนหลังความตาย หรือภาพเหมือนไว้อาลัย (post-mortem portrait, mourning portrait) ที่ญาติของผู้ตายว่าจ้างจิตรกรให้วาดภาพเหมือนผู้ตายหลังจากเสียชีวิตไม่นาน แน่นอนว่าธรรมเนียมปฏิบัตินี้ทำกันในหมู่ชนชั้นสูง ที่มีฐานะสามารถจ้างจิตรกรได้เท่านั้น

ภาพเหมือนหลังความตายนี้เองที่เป็นต้นแบบทำให้เกิดภาพถ่ายหลังความตาย เมื่อประดิษฐกรรมการถ่ายภาพอุบัติขึ้น ในคริสต์ทศวรรษ 1840 จนถึงต้นคริสต์ทศวรรษ 1850 การถ่ายภาพยังมีต้นทุนสูงและยังไม่แพร่หลายทั่วไป โอกาสแรกและโอกาสเดียวที่จะได้ถ่ายภาพของบางบุคคลก็คือ เมื่อเขาหรือเธอจากไปแล้ว ญาติมิตรอาจตัดสินใจจ่ายเงินให้ช่างภาพบันทึกภาพสังขารของผู้ตายไว้เป็นเครื่องระลึกถึงชั่วนิรันดร์ ทั้งยังเป็นเครื่องเตือนใจถึง “Momento Mori-ระลึกไว้ว่าเธอต้องตาย”

นอกจากนี้ภาพถ่ายหลังความตายยังมีบทบาทในการปลอบโยนผู้ที่ยังอยู่ การจัดการร่างและองค์ประกอบของภาพมีความสําคัญอย่างยิ่งในส่วนนี้ การถ่ายภาพหลังความตายอาจเกิดขึ้นที่สตูดิโอถ่ายภาพหรือที่บ้านของผู้ตาย หลังจากทำความสะอาดร่างแล้ว ผู้ตายจะถูกจัดการให้อยู่ในเสื้อผ้าชุดที่ดูดีที่สุด การจัดท่าทางร่างผู้ตายมีแบบปฏิบัติที่หลากหลาย แต่รูปแบบมาตรฐานที่นิยมกันคือ จัดท่าในอิริยาบถนอนหลับ เพื่อเชื่อมโยงจุดสิ้นสุดของชีวิตกับอุปลักษณ์ของการนอนหลับ ถึงความสงบสุขและการพักผ่อน รอคอยที่จะตื่นอีกครั้งในวันพิพากษาตามความเชื่อของชาวคริสเตียน

วิถีปฏิบัติที่เกี่ยวพันกับความตายในยุควิกตอเรียได้แผ่อิทธิพลมาถึงสยามด้วย

การถ่ายภาพหลังความตายแม้มิได้แพร่หลายนัก แต่ก็พบหลักฐานอยู่อย่างน้อย 3 ภาพ ทั้ง 3 ภาพ ที่ไม่สามารถระบุนามของบุคคลในภาพได้ ภาพแรกเป็นภาพของสตรีสูงวัย ภาพที่ 2 เป็นภาพของสตรีเยาว์วัย และบอกชื่อห้องภาพ “ฉายานรสิงห์” บริเวณมุมล่างซ้ายของกรอบภาพ ทำให้อนุมานช่วงเวลาของการถ่ายภาพนี้ได้ว่าอยู่ในช่วงที่ห้องภาพหลวงฉายานรสิงห์ดำเนินกิจการระหว่าง พ.ศ. 2461-2476 ภาพทั้งสองผู้ตายอยู่ในอิริยาบถนอน มีดอกไม้ ใบไม้ ฯลฯ รายล้อมประดับประดา คล้ายการตกแต่งร่างของผู้ตายในโลกตะวันตกที่ช่วยสร้างความงาม ดับกลิ่นไม่พึงประสงค์ ภาพที่ 3 ร่างของผู้เสียชีวิตอยู่ในท่านั่ง มีเด็กชายผู้หนึ่งยืนอยู่ทางด้านขวามือของผู้ตาย

นอกจากภาพถ่ายหลังความตายแล้ว รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาพถ่ายของผู้ตายขณะยังมีชีวิตอยู่ก็ถูกนำมาใช้แทนความระลึกถึงควบคู่กับการแสดงความโศกาลัยซึ่งเป็นจารีตอันพึงประสงค์ในยุควิกตอเรีย เช่น ใน พ.ศ. 2423 เกิดโศกนาฏกรรมสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีเสด็จสวรรคตพร้อมสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ จากเหตุการณ์เรือพระที่นั่งล่มระหว่างทางเสด็จไปยังพระราชวังบางปะอิน

ความรู้สึกที่รัชกาลที่ 5 ทรงมีต่อเหตุการณ์ดังกล่าว เมื่อพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์แล้ว รัชกาลที่ 5 ทรงบรรจุพระอัฐิของพระนางลงในพระโกศพระอัฐิที่ทรงออกแบบด้วยพระองค์เอง โดยทรงกำหนดให้นำภาพของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์มาประดับไว้บนพระโกศเป็นที่ระลึก การประดับลักษณะดังกล่าวไม่เคยมีมาก่อนและไม่ปรากฏอีกในการจัดสร้างพระโกศของเจ้านายองค์อื่นๆ

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เรียบเรียงจาก นักรบ มูลมานัส. เล่นแร่ แปลภาพ ประวัติศาสตร์จากเบื้องหลังภาพถ่าย, สำนักพิมพ์มติชน, มีนาคม 2565


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 ตุลาคม 2565