ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
ถูกต้องแล้ว “กล้องถ่ายภาพ” ท่านอ่านไม่ผิด และไม่ได้เขียนผิดแต่อย่างใด “กล้องถ่ายภาพ” ที่เราใช้บันทึกเหตุการณ์, บุคคล, สิ่งของ ฯลฯ เพื่อระลึกถึงความทรงจำเก่า เพื่อให้ช่วยให้การสื่อสารชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อ… แต่ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ กล้องถ่ายภาพและภาพถ่ายก็มีต้องการเก็บไว้ใช้งาน
หากบทของความสืบสกุล ศรัณพฤฒิ อาจารย์ประจำโครงการจัดตั้งภาควิชาสื่อผสม คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ชื่อ “ภาพถ่ายอาวุธของลัทธิล่าอาณานิคม” (เมียนมา เพื่อนเรา, ตุลาคม 2558) ทำให้เราฉุกคิดถึงบทบาทของกล้องถ่ายภาพ และภาพถ่ายเสียใหม่
ข้อความตอนหนึ่งในบทความของสืบสกุล ศรัณพฤฒิ กล่าวถึงกล้องถ่ายภาพ ว่า
“การล่าอาณานิคมในยุคแรก มีการพัฒนาขอบเขตในการออกแสวงหาดินแดน โดยแรงสนับสนุนของรัฐบาล มิใช่แต่เพียงกลุ่มชนอิสระที่ต้องการแสวงหา มีการสั่งการ และการสร้างประดิษฐ์สิ่งที่จะอํานวยความสะดวกและให้ผลของล่านั้น สัมฤทธิ์มากที่สุด…การบันทึกสิ่งที่พบเห็นเพื่อเป็นข้อมูลในการรายงานผลและวิเคราะห์คือการจดบันทึกและการวาดรูปบอกลักษณะรูปพรรณสัณฐานของสิ่งที่พบเห็นเพื่อประเมินข้อมูลในความคุ้มค่าในการลงทุน รวมทั้งกําหนดจุดยุทธศาสตร์ ในการเข้ายึดครอง การที่สามารถสร้างเครื่องมือที่สามารถในการบอกพิกัดของแหล่งทรัพยากรได้อย่างแม่นยํา รวมทั้งบอกข้อมูลได้อย่างตรงความจริง น่าจะเป็นแรงจูงใจหนึ่งที่ทําให้เกิดการเร่งการพัฒนาการบันทึกภาพที่เกิดจากกล้องออปสคิวล่า (Camera Obscula) ให้เป็นผลสําเร็จ”
นอกจากนี้ เมื่อย้อนหลังกลับไปมองประวัติศาสตร์ของกล้องถ่ายภาพ ก็จะพบว่า เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ฝรั่งเศส และอังกฤษ คือสองชาติมหาอำนาจที่ทำการค้นคว้าและพัฒนาเรื่องนี้อย่างจริง และทั้งสองประเทศกำลังขยายอิทธิพลของตนสู่ประเทศนอกทวีปยุโรป ที่เรียกกันว่า “ลัทธิล่าอาณานิคม”
ใน ค.ศ. 1816/พ.ศ. 2359 เจ.เอ็น.เนียพซ์ (J.N.Niepce) ชาวฝรั่งเศสได้บันทึกภาพจากกล้องออบสคิวลาบนกระดาษที่ฉาบผิวหน้าด้วยเกลือเงินคลอไรด์ แต่ไม่สามารถทำให้ภาพอยู่ตัวได้ จน ค.ศ. 1826/พ.ศ. 2369 จึงทำได้สำเร็จ และมีการค้นคว้าวิจัย ทำให้การถ่ายภาพมีคุณภาพสูงขึ้น ขณะที่ประเทศอังกฤษ วิลเลี่ยม เฮนรี่ ฟอกค์ เทอร์เบอร์ (William Henry Fox Talbot) นักวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ทำการวิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับการถ่ายรูป โดยนำกระดาษแช่ในสารลายโซเดียมคลอไรด์แล้วทำให้แห้ง ก่อนจะจุ่มลงในสารละลายซิลเวอร์ไนเตรทเข้มข้น ที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาเป็นซิลเวอร์คอลไรด์ (เกลือเงิน) ที่มีความไวต่อแสง ซึ่งสามารถอัดภาพได้เป็นผลสำเร็จใน ค.ศ. 1835/พ.ศ. 2378
ดังนั้น นอกเหนือจากอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ที่นำเข้ามาเพื่อขยายอำนาจ และการควบคุมกำกับประเทศในปกครอง กล้องถ่ายภาพคืออีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่นำเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และพื้นที่อื่นๆ
ผลลัพธ์ก็คือ มหาอำนาจอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสได้แบ่งพื้นที่ครอบครองเป็น 2 ส่วน ฝรั่งเศสครอบครองย่านคาบสมุทรอินโดจีน ได้แก่ ประเทศลาว, กัมพูชา และเวียดนาม ขณะที่อังกฤษครอบครองประเทศเมียนมา, มาเลเซีย, แหลมมาลายา, อินเดีย ฯลฯ
สืบสกุล ศรัณพฤฒิ ยังรวบรวมความสามารถที่แสนร้ายกาจของกล้องถ่ายภาพมาขยายให้เห็นพิษสงที่ชัดเจน จาก เอนก นาวิกมูล ที่อ้างอิงถึง แพตเตอร์สัน ดูบัวร์ ว่า หลักฐานชิ้นหนึ่งจาก สถาบันสมิธโซเนียน ประเทศสหรัฐอเมริกา ในหนังสือชื่อ ฟิลาเดลเฟีย โฟโตกราเฟอร์ (Philadelphia Photographer) เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1865/พ.ศ. 2408 กล่าวถึงการเข้ามาของกล้องถ่ายภาพในประเทศสยาม ซึ่งเป็นเวลาใกล้เคียงกับกล้องถ่ายภาพที่เข้ามาสู่ประเทศเมียนมา และประเทศอื่นๆ ในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้บันทึกไว้ว่า
“การถ่ายภาพอันเป็นสิ่งที่แตกต่างจากความเจริญหลายอย่าง ในปัจจุบันกําลังขยายตัวเข้าไปสู่ท้องถิ่น ที่ไม่มีใครรู้จัก ซึ่งมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เพียงเล็กน้อยและแทบจะไม่รู้จักความก้าวหน้า แต่เมื่อ 2-3 เดือนมานี้ใครจะคิดบ้าง ศิลปะอันยิ่งใหญ่นี้ได้คืบคลานเข้าสู่ดินแดนอนารยะแล้ว เมื่อเร็วๆ นี้ข้าพเจ้าได้รับตัวอย่างภาพถ่ายแปลกๆ จํานวนหนึ่ง ซึ่งถ่ายโดยผู้อํานวยการกองกษาปณ์หลวงแห่งสยาม คือพระวิสูตรโยธามาตย์ ผู้เป็นเจ้านายชั้นสูง เขาได้ส่งภาพถ่ายเหล่านี้มายังเจ้าหน้าที่กษาปณ์สหรัฐฯ หลายคน โดยผ่านมาทางท่านศาสนาจารย์ ดร. เฮาส์ ซึ่งเป็นมิชชันนารีที่ได้ไปอยู่ในสยามประมาณ 18 ปี
สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ ได้ส่งเครื่องมือถ่ายภาพพร้อมหนังสือคู่มือครบชุด ไปถวายพระเจ้าแผ่นดินสยาม เจ้าชายผู้ซึ่งไม่รู้จักภาษาอื่นนอกจากภาษาของตนพระองค์นี้ได้หาคนมาอ่านคู่มือให้ฟังเป็นภาษาของตน โดยได้รับความช่วยเหลือบางประการจากศิลปินผู้หนึ่งซึ่งได้เดินทางไปกับคณะทูตปรัสเซีย เขาก็ประสบความสําเร็จในการถ่ายภาพ คุณภาพค่อนข้างดีจํานวนหนึ่ง ในฐานะที่เป็นเพียงตัวอย่างภาพถ่าย ภาพเหล่านั้นออกจากด้อยกว่าภาพถ่ายของเรา อย่างที่เราคงพอจะนึกกันออก
อย่างไรก็ตาม ภาพเหล่านั้นก็น่าสนใจสําหรับเราในฐานะที่ช่วยแสดงถึงอาคารบ้านเรือนทิวทัศน์ และความเป็นอยู่ของท้องถิ่นสยาม เช่นเดียวกันกับแสดงให้เห็นถึงสติปัญญาของชาวพื้นเมืองสยามที่หากไม่เห็นจากภาพถ่ายเหล่านั้น ก็คงจะนึกว่าด้อยพัฒนาและหลับใหลอยู่ ศิลปินที่กล่าวถึงนี้ได้สร้างเครื่องจักรกลแม่เหล็กและไฟฟ้าขึ้นหลายชิ้น และมีความเข้าใจในเรื่องการทำงานของโลหะ แน่นอนว่าการถ่ายภาพเป็นตัวแทนที่มีคุณค่า มีอิทธิพลส่งความเจริญไปยังชาติอนารยะ กล่อมเกลาและปลูกฝังสติปัญญา และความเปรื่องปราด และเป็นสิ่งที่นําเราไปใกล้ชิดกับแดนต่างด้าวมากขึ้น
แพตเตอร์สัน ดูบัวส์”
การถ่ายภาพได้เข้ามาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเวลาที่ใกล้เคียงกับการค้นพบภาพถ่ายแบบเวทเพลทใน ค.ศ. 1851/พ.ศ. 2394 ช่างภาพชาวเยอรมันคนสำคัญคือ ฟิลลิป อดอลป์ เคลเยอร์ (Philip Adolphe Klier) เปิดสตูดิโอส่วนตัวที่เมืองมะละแหม่ง ภาพถ่ายของเขาบันทึกอยู่บนแผ่นกระจกที่ฉาบน้ำยาไวแสงในเทคนิคดรายเพลท ที่สามารถบันทึกภาพได้มากขึ้นและมีความคมชัดสูง และอัดลงกระดาษด้วยระบบอะบูลเมน พรินท์ (Albumen print)
งานของเคลเยอ์ตีพิมพ์เป็นไปรษณียบัตรด้วยเทคนิคพิมพ์หิน (lithograph) ที่ประเทศเยอรมัน ชุดภาพที่ถ่ายทำในประเทศเมียนมา และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค รวมทั้งประเทศไทย ทำให้ผู้คนเกิดความหลงใหลทวีปเอเชีย สร้างแรงจูงใจในการเดินทางเข้าในโลกตะวันออก
ช่วงปลายรัชกาลที่ 4 รวมถึง พ.ศ. 2408 จอห์น ทอมสัน ช่างภาพชาวสก๊อตเดินทางถ่ายภาพในสยาม (ช่างภาพชาวตะวันตกเข้ามาถ่ายภาพในสยามหลายครั้งด้วยกัน) เขาได้รับการต้อนรับอย่างดีจากราชสำนัก และได้มีโอกาสบันทึกภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 เมื่อยังทรงพระเยาว์ รวมถึงพระราชพิธีสำคัญต่างๆ นอกจากนี้ยังได้ไปถ่ายภาพหัวเมืองต่างๆ ของประเทศสยามในขณะนั้น
ทอมสันจึงเป็นช่างภาพคนแรกที่ถ่ายรูปปราสาทหินนครวัด ภาพถ่ายนครวัดของทอมสัน ยังแสดงความชอบธรรมและสิทธิเหนือประเทศกัมพูชาในขณะนั้นของสยาม ซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงระบุให้ทอมสันกล่าวไว้ในหนังสือรวมภาพถ่ายของเขาที่จะตีพิมพ์ว่า อาณาเขตของประเทศกัมพูชานี้ ประเทศสยามได้มาจากสนธิสัญญาเมื่อ พ.ศ. 2325
ภาพถ่ายสําคัญที่ทอมสันได้ถ่ายในสยามส่วนใหญ่ได้พระบรมราชานุญาตจากรัชกาลที่ 4 เช่น ภาพพระราชวงศ์และขุนนางในราชสํานัก, ภาพองค์รัชทายาทพร้อมข้าราชบริพาธ, ภาพพระบรมมหาราชวังชั้นในที่งดงามยิ่งใหญ่, ภาพพระราชพิธีสําคัญต่างๆ เช่น ขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค, งานพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ, งานพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯลฯ ที่แสดงให้เห็นวัฒนธรรมและประเพณีของสยาม ที่ไม่ใช่บ้านป่าเมืองเถื่อน
อีกตัวอย่างของการใช้ภาพถ่ายเพื่อต่อสู้กับลัทธิล่าอาณานิคมที่หลายท่านทราบกันดี คือ ภาพถ่ายการเสด็จประพาสยุโรปของรัชกาลที่ 5 ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์กับพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย แสดงความสัมพันธ์อันดีระหว่างราชวงศ์สยามกับราชวงศ์โรมานอฟของรัสเซีย ในเวลานั้นนับว่ามีส่วนช่วยคลี่คลายปัญหาการรุกคืบของประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษ ที่กำลังมีอิทธิพลเหนือดินแดนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ดีทีเดียว
กล่าวได้ว่าพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ ทรงรู้ซึ้งถึงอานุภาพของภาพถ่าย และทรงรับมือได้เป็นอย่างดี
ในทางกลับกัน ชาวตะวันตกที่เข้ามาบันทึกภาพภูมิประเทศของประเทศไทย เช่น พื้นที่ในริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ปากอ่าวไทยจนถึงริมฝั่งแม่น้ำ ที่มองเห็นพระราชวังอย่างชัดเจน โดยเฉพาะภาพถ่ายมุมสูงจากพระปรางค์วัดอรุณ ที่ถูกถ่ายทอดออกไปจากการพิมพ์เผยแพร่ไปทั่วโลก เป็นการบอกจุดพิกัดอย่างแม่นยําที่ใช้ประกอบในการเดินเรือรบของฝรั่งเศสเข้าสู่ใจกลางของเมืองหลวงของประเทศสยาม ในกรณีวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ในสมัยรัชกาลที่ 5
การบันทึกภาพของนักเดินทางที่ถูกส่งกลับไปเผยแพร่ในประเทศ แม้ได้กระจายไปทั่วโลกทั้งในแอฟริกา ทวีปอเมริกาใต้ และเอเชีย โดยมีกล้องถ่ายรูปเป็นเครื่องมือหลัก ในการสํารวจและเร่งรัดให้การล่าอาณานิคมทําได้แม่นยําและรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม มันก็เป็นเครื่องมือในการรับมือที่ดีเช่นกัน เมื่อเราสื่อสารภาพที่ทำให้เกิดการยอมรับในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ
ข้อมูลจาก
โครงการจัดตั้งภาควิชาสื่อผสม คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. เมียน มา เพื่อนเรา, ตุลาคม 2558
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กันยายน 2562