เปิดบันทึก “จิ๋นซีฮ่องเต้” สืบหาเซียน-ยาอายุวัฒนะ เผาตำราโบราณ จนเกิดกระแสต่อต้าน

พระสาทิสลักษณ์จิ๋นซีฮ่องเต้ (ภาพจาก ความลับของจิ๋นซี, 2555)

จิ๋นซีฮ่องเต้ ปฐมจักรพรรดิที่ถูกมองว่าเป็นจักรพรรดิจีนซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ราชวงศ์แรกของจีนที่รวมศูนย์การปกครองเข้าสู่ศูนย์กลางก็คือราชวงศ์ฉิน และจักรพรรดิในราชวงศ์นี้ซึ่งเป็นที่ขนานนามว่า “ปฐมจักรพรรดิตลอดกาล” ก็คือพระเจ้าฉินสื่อหวง หรือที่คนไทยคุ้นชินกันว่า “จิ๋นซีฮ่องเต้” เมื่อประสบความสำเร็จในช่วงต้นแล้ว เป็นที่ทราบกันว่าในช่วงบั้นปลาย จิ๋นซีฮ่องเต้เริ่มปรากฏความเชื่อเหนือธรรมชาติ ดังปรากฏในบันทึกที่เล่าถึงการสืบหาเซียน ค้นหายาอายุวัฒนะ ไปจนถึงเผาตำราโบราณ

เอกสารบันทึกเชิงประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับจิ๋นซีฮ่องเต้ปรากฏในเอกสารประวัติศาสตร์จีนชิ้นสำคัญอีกชิ้นนั่นคือเอกสาร “บันทึกประวัติศาสตร์” โดยซือหม่าเซียน นักบันทึกประวัติศาสตร์และนักประพันธ์ในราชวงศ์ฮั่น แม้ว่านักประวัติศาสตร์รุ่นหลังจะพบว่า ข้อมูลบางส่วนในบันทึกของซือหม่าเชียนก็ขัดแย้งกันเอง และมีปริศนาที่สมควรสืบค้นและพิสูจน์กันต่อไป

ถึงจะมีข้อสังเกตหลายประการเกี่ยวกับบันทึกประวัติศาสตร์ชิ้นนี้ แต่อย่างน้อยยังสามารถนำมาใช้เป็นหลักในการศึกษาอ้างอิงหรือเทียบเคียงกับข้อมูลอื่นๆ ต่อไป ที่ผ่านมามีนักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศแปลและเรียบเรียงเอกสาร “บันทึกประวัติศาสตร์” ในส่วนเนื้อหาเกี่ยวกับจิ๋นซีไว้ ในที่นี้ยกสำนวนแปลและเรียบเรียงโดยรศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ และ ผศ. นวรัตน์ ภักดีคำ ในส่วนของเนื้อหาช่วงบั้นปลายที่ปรากฏเรื่องเกี่ยวกับการสืบหาเซียน ค้นหายาอายุวัฒนะ และการเผาตำราโบราณ

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ซือหม่าเชียน ผู้บันทึกประวัติศาสตร์ 3,000 ปีของจีน โดนตอน มาเป็นเจ้ากรมขันทีได้อย่างไร?

สำหรับบันทึกพระราชประวัติจิ๋นซีฮ่องเต้ ที่ยกมาในที่นี้แปลมาจากหนังสือ “สือจี้” โดยซือหม่าเชียน ม้วนที่ 6 เล่มพระราชประวัติฉินสื่อฮฺว๋าง (史记 :秦始皇本纪) ซึ่งรศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ และ ผศ. นวรัตน์ ภักดีคำ ผู้แปลและเรียบเรียงอธิบายไว้ว่า บันทึกพระราชประวัติตามลำดับปี บันทึกพระราชประวัติและเหตุการณ์ที่สำคัญตลอดพระชนมชีพของจิ๋นซีฮ่องเต้ไปจนถึงฉินเอ้อร์ซื่อ เนื้อหาค่อนข้างสมบูรณ์ สะท้อนภาพให้เห็นถึงก่อนและหลังการสถาปนาราชวงศ์ฉิน 40 ปี ดังที่กล่าวข้างต้นว่าในที่นี้จะยกเนื้อหาเฉพาะช่วงบั้นปลายที่เล่าถึงวีรกรรมอันแปลกแตกต่างจากทั่วไป เนื้อหาส่วนหนึ่งมีดังนี้

ปีที่ 28 สืบหาเซียน แสวงหายาอายุวัฒนะ

จารึกศิลาแล้วเสร็จ ชาวฉีสฺวีซื่อเป็นต้นถวายฎีกา ความว่า ในมหาสมุทรมีภูเขา 3 ลูกศักดิ์สิทธิ์ นามว่า เผิงไหล ฟางจ้าง และอิ๋งโจว ซึ่งมีเซียนประทับ ณ ที่นั้น ขอให้ถือศีลกินเจ ขอเด็กชายแลหญิงไปขอพบ

จิ๋นซีฮ่องเต้จึงมีพระบัญชาให้สฺวีซื่อคัดเลือกเด็กชาย-หญิงหลายพันคน ออกทะเลเพื่อไปเสาะหาเซียน

จิ๋นซีฮ่องเต้เสด็จกลับ ผ่านเมืองเผิงเฉิง ถือศีลกินเจสักการะ มีพระประสงค์ให้งมกระถางสามขา (ติ่ง) สมัยราชวงศ์โจวที่ตกแม่น้ำซื่อสุ่ย โปรดให้คน 1,000 คน ลงดำน้ำไปหา แต่ไม่พบ

จากนั้นจึงเสด็จไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ข้ามแม่น้ำฮฺว๋ายสุ่ย ไปภูเขาเหิงซาน หนานจฺวิ้น ล่องแม่น้ำไปถึงศาลเจ้าภูเขาเซียงซาน เจอลมพายุจนแทบจะเสด็จไปต่อไม่ได้

เมื่อจิ๋นซีฮ่องเต้ตรัสถามราชบัณฑิต (ขุนนางตำแหน่งป๋อซื่อ) ว่า “เทพแม่น้ำเซียงคือใคร” ราชบัณฑิตตอบว่า “ได้ยินมาว่า เป็นธิดาของหยาว ภรรยาของซุ่น ศพฝังอยู่ที่นี่”

จิ๋นซีฮ่องเต้จึงกริ้วมาก สั่งนักโทษจำนวน 3,000 คน ไปตัดต้นไม้บนภูเขาเซียงซานจนเหี้ยนเตียน ดินภูเขาจึงเป็นสีแดง จากนั้นจึงไปยังหนานจฺวิ้นเข้าด่านอู่กวานกลับเสียนหยาง

ปีที่ 34 เผาตำรับตำราโบราณ

ปีที่ 34 (ก่อน ค.ศ. 213) เกณฑ์ขุนนางที่ปฏิบัติหน้าที่มิชอบไปสร้างกำแพงที่หนานเยี่ย

ฮ่องเต้เลี้ยงสุราที่พระราชวังเสียนหยาง ขุนนางระดับป๋อซื่อ 70 คน มาถวายชัยมงคล ขุนนางระดับผุเย่ นามว่าโจวชิงเฉิน นำกล่าวสรรเสริญ ความว่า

“สมัยอื่นนั้นอาณาจักรฉินมีพื้นที่ไม่เกิน 1,000 ลี้ [500 กิโลเมตร – ผู้แปล] อาศัยพระปรีชาสามารถของพระองค์ ทำให้แผ่นดินสงบราบคาบ ขับไล่ชนเผ่าเร่ร่อน ดินแดนที่มีแสงตะวันแลจันทราสาดส่องไปถึงล้วนยอมสยบศิโรราบ แว่นแคว้นต่างๆ กลายเป็นเมืองในราชอาณาจักร ผู้คนต่างอยู่ดีมีสุข ไม่มีภัยร้ายจากสงคราม พระเกียรติคุณนี้แผ่กำจายได้นับหมื่นปี นับแต่โบราณกาลมา ไม่มีผู้ใดเสมอด้วยพระเดชานุภาพของพระองค์เลย”

จิ๋นซีฮ่องเต้ทรงโสมนัสยิ่งนัก

ขุนนางระดับป๋อซื่อชาวรัฐฉี เดิมนามว่าฉุนหฺยีวเยี่ย กราบทูลว่า

“กระหม่อมได้ฟังมาว่า ในสมัยราชวงศ์อิน (ซาง) ราชวงศ์โจวปกครองแผ่นดินมานับพันปี พระราชทานยศให้พระโอรสและพระอนุชาเพื่อเอาไว้ช่วยราชการ บัดนี้พระองค์ได้ครอบครองราชอาณาจักร แต่พระโอรสและพระอนุชายังคงเป็นสามัญชน

หากวันใดเกิดเหตุขุนนาง เช่น เถียนฉาง [ขุนนางใหญ่ของรัฐฉีในยุคชุนชิวในสมัยราชวงศ์โจว ฆ่าเจี่ยนกงแล้วตั้งผิงกงขึ้นรับตำแหน่งมหาเสนาบดี อำนาจของรัฐฉีจึงอยู่ในเงื้อมมือของตระกูลเถียน – ผู้แปล]

หรือ 6 ตระกูลขุนนางใหญ่ [ของรัฐจิ้นช่วงปลายยุคชุนชิวในสมัยราชวงศ์โจว ได้แก่ ตระกูลฟ่าน (范氏) ตระกูลจงสิง (中行氏) ตระกูลจือ (知氏) ตระกูลหาน (韩氏) ตระกูลจ้าว ( 赵氏) ตระกูลเว่ย (魏氏) ทั้ง 6 ตระกูลนี้แย่งชิงอำนาจ เจ้ารัฐหรือจิ้นอ๋องไม่สามารถควบคุมได้ ในที่สุดรัฐจิ้นก็แตกออกเป็นรัฐหาน รัฐจ้าว และรัฐเว่ย – ผู้แปล] ซึ่งวางแผนปลงพระชนม์กษัตริย์ หากไม่มีผู้ช่วย แล้วจะหาความช่วยเหลือจากใคร

เราสามารถเรียนรู้เรื่องราวแต่เก่าก่อนมาสอนสั่งก็จะอยู่ยั้งยืนยาว ไม่ใช่ว่าจะไม่เคยได้ยินได้ฟังมา เมื่อครู่โจวชิงเฉินได้กราบทูลเยินยอพระองค์ ยิ่งเพิ่มข้อผิดพลาดให้พระองค์มากขึ้นไปอีก นี้นับว่าไม่ใช่ขุนนางที่จงรักภักดี จิ๋นซีจึงโปรดให้ขุนนางทั้งปวงวิพากษ์”

เสนาบดีหลี่ซือจึงกราบทูลว่า

“การปกครองของอู่ตี้-5 จักรพรรดิ นั้นมิได้ซ้ำรอยกัน 3 ราชวงศ์ (เซี่ย ซาง โจว) ก็มิได้สืบทอดต่อกันมา ทุกยุคล้วนมีแนวทางในการปกครองของตนเอง ซึ่งมิใช่ว่าพวกเขาจะตั้งใจให้ขัดแย้งยุคเก่าก่อนก็หาไม่ แต่เป็นเพราะยุคสมัยเปลี่ยนไป สถานการณ์ก็แตกต่างกัน

ตอนนี้พระองค์ทรงเริ่มการปกครองที่ยิ่งใหญ่ด้วยพระองค์เอง ให้ผลงานสถิตนับหมื่นปี ซึ่งปัญญาชนที่คร่ำครึล้าหลังย่อมไม่อาจเข้าใจได้ ทั้งฉุนหฺยีวเยี่ยยังกล่าวไว้ถึงเรื่องราวของเซี่ย ซาง โจว 3 ราชวงศ์ มีอะไรควรค่าแก่การหยิบยกฤๅ

เมื่อก่อนนั้นบรรดาเจ้ารัฐพากันแก่งแย่งดินแดน จึงได้ต้อนรับปัญญาชนที่เล่นลิ้นจำนวนมากเหล่านั้น ตอนนี้แผ่นดินสงบสุข กฎหมายออกโดยพระองค์เองเป็นหนึ่งเดียว ราษฎรอาศัยในครัวเรือนตั้งใจในการกสิกรรม ปัญญาชนก็ควรศึกษาในตัวบทกฎหมายให้ถ่องแท้

วันนี้ปัญญาชนกลับไม่อยู่กับปัจจุบันแต่จะกลับไปเรียนอดีต แล้วมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องของวันนี้ ทำให้ประชาชนหลงผิด เสนาบดีหลี่ซือขอบังอาจกราบทูล โบราณนั้นแผ่นดินแตกแยก ไม่อาจมีผู้ใดรวบรวมให้เป็นปึกแผ่นได้

ดังนั้นเจ้ารัฐจึงพากันแข็งข้อแก่งแย่ง พูดจาอะไรล้วนนำคำโบราณมาให้ร้ายปัจจุบัน เอาคำเพ้อเจ้อไร้สาระมาก่อกวนสถานการณ์จริง คนเรามักชื่นชอบตามความรู้ที่ตนได้เล่าเรียนมาแต่ลำพังนั้น มาตำหนิติเตียนระบบราชสำนักที่สร้างขึ้น

วันนี้ฮ่องเต้ทรงรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่น แยกแยะอะไรดีอะไรชั่ว อะไรถูกอะไรผิด ทุกสิ่งถูกกำหนดโดยพระองค์

แต่ความรู้ส่วนบุคคลกลับมาชี้ข้อดีข้อด้อยของตัวบทกฎหมาย มาชี้นำให้ผู้คนที่ได้ยินได้ฟังคำสั่งที่ถ่ายทอดลงไป เอาคำวิพากษ์วิจารณ์ตามแต่ความรู้ที่ตนเรียนมา เข้ามาในท้องพระโรงก็เที่ยวมาตำหนิติเตียน

ออกจากที่เฝ้าไปก็เที่ยวไปวิพากษ์วิจารณ์ตามถนนรนแคม เมื่ออยู่หน้ามหาจักรพรรดิก็ยกยอตนเองเพื่ออำนาจลาภยศแลผลประโยชน์ สรรหาคำพูดให้แตกต่างจากผู้อื่นเพื่อยกตน เมื่ออยู่ในฝูงชนก็ชักจูงสร้างข่าวลือ เช่นนี้กลับไม่ห้ามปราม เบื้องบนพระเดชานุภาพของกษัตริย์ก็จะถดถอย เบื้องล่างอำนาจในเหล่าขุนนางก็ก่อตัว

กระหม่อมคิดว่าการห้ามเช่นนี้แลที่สมควร กระหม่อมขอร้องให้อาลักษณ์นำเอกสารโบราณที่ไม่ใช่ของอาณาจักรฉินเผาทิ้งทั้งหมด

นอกจากในหอพระสมุดที่ป๋อซื่อดูแลแล้ว คัมภีร์ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น คัมภีร์ซือจิง ซูจิง (ซ่างซู) ตำรับตำราของนักปราชญ์เมธีทั้งปวง ให้ส่งไปยังเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเผาทำลายทิ้งเสีย ผู้ใดกล้าที่จะวิพากษ์ซือจิง ซูจิง ให้ลงโทษประหารต่อหน้าสาธารณชน อ้างอิงเรื่องโบราณมาวิจารณ์ปัจจุบันให้ตัดหัวทั้งบ้าน

ขุนนางใดหากทราบแล้วไม่รายงาน ให้ลงโทษเป็นอย่างเดียวกันกับผู้ทำผิด ประกาศคำสั่งไป 30 วันแล้วยังไม่เผาตำราทิ้ง ให้สักหน้าด้วยหมึกเบิกประจาน เนรเทศจากเมืองหลวง 4 ปี ไปไว้ที่ชายแดน กลางวันให้ไว้เฝ้าศัตรู กลางคืนให้สร้างกำแพง

ที่ไม่ห้ามได้แก่ ตำราแพทย์และยา ตำราเสี่ยงทาย ตำราเพาะปลูก เป็นต้น หากผู้ใดต้องการเรียนเรื่องกฎหมาย ให้แต่งตั้งเป็นซือ (ด้านกฎหมาย)”

(จิ๋นซีฮ่องเต้) พระองค์ตรัสว่า “ได้”

การเผาตำราโบราณนี้ นักวิชาการผู้ศึกษาประวัติศาสตร์จีนมีความคิดเห็นว่า ส่งผลกระทบอย่างมากต่อภูมิปัญญาจีนโบราณ อันนำมาสู่การต่อต้านราชวงศ์มากขึ้น

เมื่อปีที่ 35 พระองค์สร้างพระราชวังเออฝางกง บันทึกประวัติศาสตร์มีเนื้อหาช่วงหนึ่งว่า

“หลูเซิง (ชาวแคว้นเอียน) ได้เกลี้ยกล่อมฉินสื่อฮฺว๋างว่า

‘พวกกระหม่อมไปเสาะหาหลิงจือ ยาวิเศษและเทพเซียน แต่หาอย่างไรก็ไม่พบ เหมือนว่ามีสิ่งใดทำร้ายของเหล่านั้นอยู่ ในใจของพวกกระหม่อมคิดว่า ฮ่องเต้ควรลอบเสด็จประพาสต้นให้บ่อยครั้งเพื่อขับไล่เสนียดจัญไรแลวิญญาณร้าย แลวิญญาณร้ายเหล่านั้นจะได้หลีกลี้หนีไป และเทพเซียนจะได้ปรากฏตัว หากบรรดาขุนนางทราบที่ประทับของฮ่องเต้ ก็จะไปกางกั้นทำร้ายเทพเซียน เจินเหฺยิน-อริยเทพนั้น ลงน้ำแต่ไม่เปียก ลุยไฟก็ไม่เป็นอันตรายใดๆ สามารถโดยสารเมฆเหาะไปอากาศได้ มีอายุยืนยาวตราบฟ้าดิน ตอนนี้ฮ่องเต้ปกครองแผ่นดิน ยังไม่สามารถปลีกวิเวกถือสันโดษได้ ขอให้อย่าได้มีคนทราบว่าพระองค์ประทับที่พระที่นั่งองค์ใด เช่นนี้แล้ว ยาอายุวัฒนะอาจเสาะหาจนเจอได้’

 ครั้นแล้วฉินสื่อฮฺว๋างจึงตรัสว่า

‘ข้าอิจฉาอริยเทพ จะเรียกตัวเองว่า ‘เจินเหฺยิน’ ไม่เรียกว่า ‘เจิ้น-ข้าพเจ้า’ แล้ว’

จากนั้นจึงโปรดให้สร้างสะพานเชื่อมทุกๆ หอนั่งรวมทั้งสิ้น 270 องค์ของพระราชวังเสียนหยาง เป็นพื้นที่ 200 ลี้ (100 กิโลเมตร)

ติดตั้งพระวิสูตร กลอง ระฆังและจัดสาวงามประจำไว้ทุกแห่ง ทุกสิ่งไม่สามารถโยกย้ายได้ หากมีผู้ใดแพร่งพรายว่าฮ่องเต้เสด็จประทับ ณ แห่งใด มีโทษประหาร

ครั้งหนึ่งฉินสื่อฮฺว๋างเสด็จไปประทับที่พระราชวังเหลียงซานกงบนเขาเหลียงซาน มองเห็นรถม้าติดตามของเสนาบดีมากมาย จึงไม่ปีตินัก ขันทีและขุนนางที่นั้นจึงไปบอกกับเสนาบดี เสนาบดีจึงลดจำนวนรถม้าติดตามลง ฉินสื่อฮฺว๋างทรงพระพิโรธยิ่ง ตรัสว่า

‘แปลว่าในวังมีคนเอาคำพูดของข้าไปเปิดเผย’

เมื่อมีการไต่สวน ไม่มีผู้ใดยอมรับผิด จึงมีพระบรมราชโองการให้จับคนทั้งปวงที่ติดตามไปในครานั้นประหารชีวิตทั้งหมด…”

ทั้งนี้ ในบันทึกเล่าว่า ปีที่ 37 ทรงพระประชวร ขุนนางทั้งปวงไม่กล้าพูดเรื่องตาย เนื่องจากจิ๋นซีฮ่องเต้เกลียดคำว่า “ตาย” เวลาต่อมา จิ๋นซีฮ่องเต้สวรรคตวันปิ่งอิน เดือนเจ็ด ที่ผิงไถเมืองซาชิว

ภายหลังการสวรรคต ด้วยความไว้วางพระราชหฤทัยคนสนิท ทำให้เกิดการเปลี่ยนตัวรัชทายาทจากที่คนสนิทเปิดจดหมายและแก้สารในจดหมาย หลังจากนั้น อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์ฉินก็ล่มสลายลงในที่สุด

คลิกอ่านเพิ่มเติม : คุ้ยสาเหตุจิ๋นซีฮ่องเต้ไม่มีฮองเฮา ที่ว่าสนมเยอะนั้นมีกี่คน แงะปริศนาที่หายจากบันทึก

คลิกอ่านเพิ่มเติม : จิ๋นซีฮ่องเต้ฝังคนทั้งเป็นจริงหรือ? ค้นต้นตอ-ข้อเท็จจริงเรื่องที่เชื่อกันมานับพันปี

หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งจากบทความชุด “ไม่มีจิ๋น ไม่มีจีน : จิ๋นซีฮ่องเต้ จากบันทึกประวัติศาสตร์จีนโบราณ ‘สือจี้'” โดย รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ และผศ. นวรัตน์ ภักดีคำ ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2562 ถึง มกราคม 2563 นำมาเรียบเรียงใหม่โดยกองบรรณาธิการ

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 มกราคม 2564