ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ในบรรดาผู้จดบันทึกประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในตะวันออก ดินแดนมังกรจดจำชื่อบุคคลอย่าง ซือหม่าเชียน (ก่อน ค.ศ. 145-?) ในฐานะผู้เขียน-เรียบเรียงพงศาวดาร “สื่อจี้” บันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ช่วงเวลากว่า 3,000 ปีของจีนเอาไว้ ชื่อ ซือหม่าเชียน ไม่ได้โดดเด่นเฉพาะผลงานของเขาเองเท่านั้น เรื่องราวในชีวิตของเขาก็ปรากฏมุมที่น่าสะทกสะท้อนเช่นกัน
“สื่อจี้” หรือบางแห่งเขียนว่า “สือจี้” เดิมมีชื่อว่า “ไท่ซื่อกงฟู” เป็นที่รับรู้กันว่า มีเนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์จีนตั้งแต่สมัยฮฺว๋างตี้ จนถึงสมัยพระเจ้าฮั่นอู่ตี้ รวมแล้วกินความช่วงเวลาในประวัติศาสตร์กว่า 3,000 ปี บันทึกเรื่องราวชีวประวัติกษัตริย์ 12 บท เหตุการณ์สำคัญในแต่ละยุคอีก 10 บท พร้อมบทความแง่มุมต่างๆ เช่น ดาราศาสตร์ และปฏิทิน อีก 8 บท เรื่องเกี่ยวกับขุนนางอีก 30 บท บุคคลในประวัติศาสตร์ 72 บท รวมแล้วมีทั้งหมด 130 บท คิดเป็นตัวหนังสือร่วม 526,500 ตัวอักษร
หลี่เฉวียน ผู้เขียนหนังสือ “ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ” มองว่า สื่อจี้ เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่เขียนในรูปแบบ “ชีวประวัติ” เล่มแรกของจีน ขณะที่ รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ และ ผศ. นวรัตน์ ภักดีคำ อธิบายเพิ่มเติมในบทความ “ไม่มีจิ๋น ไม่มีจีน…” (2562) ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ว่า หนังสือเล่มนี้เป็นพงศาวดารฉบับแรกของจีนซึ่งส่งอิทธิพลต่อการบันทึกประวัติศาสตร์จีนในเวลาต่อมา
หากย้อนกลับไปดูข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้เขียนพงศาวดารเอง เรื่องราวของซือหม่าเชียน ก็น่าสนใจไม่แพ้เนื้อหาในผลงานของตัวเขาเอง
ชีวิตของซือหม่าเชียน
หลี่เฉวียน เล่าไว้ว่า ซือหม่าเชียนเริ่มอ่านหนังสือโบราณมาตั้งแต่เด็ก เมื่อถึงวัยหนุ่ม อายุราว 20 ปี ซือหม่าเชียน เดินทางท่องเที่ยวในเส้นทางที่มีชื่อเสียงเสาะหาเรื่องเล่าท้องถิ่นพื้นเมือง เมื่อถึงช่วง 104 ปีก่อนคริสตกาล เขาสืบทอดตำแหน่งไท่สื่อลิ่ง (เจ้ากรมอาลักษณ์) ต่อจากบิดา และได้อ่านหนังสือที่ราชสำนักเก็บรวบรวมไว้ ประกอบกับอ่านข้อมูลและเอกสารต่างๆ จากนั้นจึงเริ่มต้นเขียน “สื่อจี้” ขึ้นตามความต้องการของบิดา
สำหรับเรื่องการสืบทอดตำแหน่งจากบิดา บทความของ รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ และ ผศ. นวรัตน์ ภักดีคำ ให้ข้อมูลแตกต่างกันเล็กน้อยว่า เมื่อถึงสมัยฮั่นอู่ตี้ ปีหฺยยนเฟิงที่ 3 (ก่อน ค.ศ. 108) ซือหม่าเชียนรับราชการสืบต่อจากบิดา และเริ่มเรียบเรียง “สือจี้” ในปีไท่ชวู (ก่อน ค.ศ. 104)
ข้อมูลเกี่ยวกับความพลิกผันในชีวิตของซือหม่าเชียน อาจกล่าวได้ว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับลักษณะทางสังคมทั่วไปอยู่บ้าง หากพิจารณาจาก “ข้อเท็จจริง” (ที่ยังสามารถถูกถกเถียงโต้แย้งได้) ประการหนึ่งว่า การพูด “ความจริง” เป็นเรื่องเสี่ยงอีกประเภทหนึ่ง “ข้อเท็จจริง” นี้พอมีเค้าลางให้เห็นได้จากคติในสังคมที่หลายคนคงเคยได้ยินกันว่า “ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย แต่ที่ตายคือคนพูดความจริง” เรื่องราวของซือหม่าเชียน พอจะจัดไปอยู่ภายใต้บริบทนี้ได้บ้าง
จุดพลิกผันในชีวิตของซือหม่าเชียน ที่บอกเล่าต่อกันมา เรื่องมีอยู่ว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นช่วง 99 ปีก่อนคริสตกาล ซือหม่าเชียน แก้ตัวให้กับหลี่หลิง ขุนนางผู้ยอมจำนนต่อเผ่าซงหนู (บางแห่งบอกว่า เขาขอให้ลดโทษให้ด้วย) ซึ่งเป็นเรื่องที่นำความพิโรธมาถึงผู้ปกครองเป็นอย่างมาก
สำหรับการสู้รบกับชนเผ่าซงหนูกินเวลายาวนานหลายช่วง ช่วงหนึ่งเริ่มเปิดฉากในศักราชหยวนกวงปีที่ 2 (133 ปีก่อนคริสตกาล) ฮั่นดักซุ่มโจมตีสังหารประมุขเผ่าซงหนูที่เมืองหม่าอี้ (อำเภอซั่วในมณฑลซานซีในปัจจุบัน)
สภาพของฮั่นเวลานั้นผ่านการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วง 60-70 ปีก่อนหน้านั้นจนเศรษฐกิจกลับมารุ่งเรืองสำเร็จ เมื่อพระเจ้าฮั่นอู่ตี้ ขึ้นครองราชย์ การโจมตีต่อต้านเผ่าซงหนูก็เริ่มมีน้ำหนักมากขึ้น หลังจากนั้น การทำสงครามกับเผ่าซงหนูในสมัยพระเจ้าฮั่นอู่ตี้ก็ยืดเยื้อมากกว่า 40 ปี
Carrie Gracie คอลัมนิสต์ด้านจีนของ BBC News ประจำปักกิ่ง ผู้เขียนบทความ “Sima Qian: China’s ‘grand historian'” อ้างอิงเนื้อหาในจดหมายที่เขียนโดยซือหม่าเชียน ถึงสหายรายหนึ่งภายหลังผ่านวิกฤตไปแล้ว ใจความตอนหนึ่งมีว่า
“ชายผู้นี้ (หมายถึงหลี่หลิง) คือผู้ได้ชัยในการรบมาหลายครั้ง ชายผู้พิเศษเหนือธรรมดา ขณะที่พวกข้าราชบริพารขี้ประจบซึ่งคำนึงแต่จะรักษาตัวเองและพวกพ้อง กล่าวโทษความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ข้าพเจ้ารู้สึกสะอิดสะเอียนเมื่อพบเห็นเรื่องเช่นนี้”
การยอมจำนนทำให้หลี่หลิง มีความผิดเทียบเท่าการทรยศ เช่นนั้นแล้ว ซือหม่าเชียน ก็มีความผิดเดียวกันไปด้วยในฐานะผู้ออกตัวปกป้องหลี่หลิง บันทึกของซือหม่าเชียน ยังเล่าถึงกระบวนการสอบสวนว่า ไม่มีสหายรายใดเสนอตัวเข้ามาพูดแทนเขาเลย และร่างกายของเขาก็ไม่ได้ประกอบขึ้นจากหินหรือไม้ ขณะสอบสวน มีแต่ตัวเขาอยู่กับคณะผู้สอบสวน ขณะที่ห้องขังของเขาปกคลุมด้วยความมืด
รายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการและบทลงโทษนี้มักถูกบอกเล่าแตกต่างกันออกไป หลี่เฉวียน เล่าว่า ซือหม่าเชียน ถูก “มัดมือมัดเท้า ถอดเสื้อผ้าจนหมด แขวนไว้บนขื่อแล้วเฆี่ยนตี”
ขณะที่บันทึกจากสื่อตะวันตกและในแหล่งข้อมูลอีกหลายแห่งมักเล่ากันว่า ซือหม่าเชียน มีทางเลือกรับโทษประหาร หรือจะเลือกรักษาชีวิตแล้วรับโทษถูกตอน อันที่จริงแล้ว การรับโทษประหารเป็นทางเลือกที่ถูกมองว่า “รักษาเกียรติ” มากที่สุดแล้ว แต่นักเขียนบางรายวิเคราะห์ว่า ซือหม่าเชียน ประสงค์จะบรรลุเป้าหมายในภารกิจบันทึกประวัติศาสตร์เพื่อมนุษยชาติ ดังนั้น เขาเลยเลือกถูกตอน
Carrie Gracie ยกใจความในจดหมายอีกท่อนที่เอ่ยถึงเรื่องการตัดสินใจรับโทษว่า “หากข้าพเจ้าเลือกเดินตามจารีตและยอมรับโทษประหาร มันจะยิ่งใหญ่ไปกว่าการสูญเสียมัดขนของฝูงวัวหรือชีวิตของมดอันโดดเดี่ยวได้อย่างไร”
“ชีวิตคนผู้หนึ่งตายได้ครั้งเดียว ความตายอาจหนักดังขุนเขา หรือจะเบาดุจขนนก ล้วนขึ้นกับทางเลือกในความตายของผู้นั้น”
ซือหม่าเชียน เชื่อว่า ประวัติศาสตร์มีไว้เพื่อจุดประสงค์หนึ่งคือเป็นแนวทางสำหรับผู้ปกครองให้ปกครองได้อย่างเหมาะสม
รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ และผศ. นวรัตน์ ภักดีคำ อธิบายว่า ภายหลังพ้นโทษ ซือหม่าเชียน รับราชการเป็นจงซูลิ่ง (เจ้ากรมขันที) และเรียบเรียง “สื่อจี้” จนจบบริบูรณ์ในปีเจิ้งเหอ (ก่อน ค.ศ. 92) สอดคล้องกับประวัติของซือหม่าเชียน ใน Britannica เขียนโดย Denis C. Twitchett ศาสตราจารย์ด้านจีนศึกษาจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton University) ว่า ภายหลังพ้นโทษ ซือหม่าเชียน กลับขึ้นมาเป็นที่โปรดปรานของราชสำนักอีกครั้ง แต่ต้องอยู่กับความรู้สึก “อัปยศ” จากสิ่งที่เขาประสบไปตลอดชีวิตที่เหลือ
เนื้อหาจดหมายของซือหม่าเชียน มีใจความตอนหนึ่งเอ่ยถึงความรู้สึกว่า “เมื่อข้าพเจ้ามองกลับมาที่ตัวเองในสภาพไม่สมประกอบและมีชีวิตอยู่กับความอัปยศอันน่าตกต่ำ ทุกครั้งที่นึกถึงความอัปยศ จะพบว่าร่างกายตัวเองโชกไปด้วยเหงื่อ”
ในจดหมาย ซือหม่าเชียน ยังบันทึกอีกว่า การตัดสินใจของเขาทำให้ผลงานที่สร้างขึ้นมีโอกาสกระจายไปสู่บุคคลที่เห็นคุณค่า กระจายไปสู่หมู่บ้านจนถึงเมืองใหญ่ เขาจึงไม่นึกเสียใจใดๆ แม้จะต้องถูกตอนอีกนับพันครั้งก็ตาม
เนื้อหาในหนังสือ “สื่อจี้” มีตัวอย่างเช่นเรื่องราวและประวัติของ “จิ๋นซีฮ่องเต้” ซึ่งตามความคิดเห็นของรศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ และ ผศ. นวรัตน์ ภักดีคำ มองว่า เนื้อหาที่ปรากฏในหนังสือ “สือจี้” มีความน่าสนใจ แม้ว่าเรื่องราวบางส่วนจะบันทึกไว้เพียงข้อความสั้นๆ แต่เป็นหลักฐานสำคัญที่ได้รับการนำมาใช้ศึกษาอ้างอิง อีกทั้งเป็นเอกสารเก่าแก่และเป็นที่ยอมรับในทางประวัติศาสตร์
“พระราชประวัติของจิ๋นซีฮ่องเต้ (秦始皇本纪)” จากภาษาจีนโบราณ ในหนังสือ “สื่อจี้” ปรากฏในม้วนที่ 6 เล่มพระราชประวัติฉินสื่อฮฺว๋าง (史记卷六, 秦始皇本纪第六) จากสำนวนการแปลและเรียบเรียงโดย รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ และ ผศ. นวรัตน์ ภักดีคำ เนื้อหาตอนหนึ่งมีดังนี้
“ฉินสื่อฮฺว๋างตี้ (จิ๋นซีฮ่องเต้) เป็นโอรสของฉินเซียงหวัง (เจ้าแคว้นฉิน) เวลานั้นจวงเซียงหวัง (秦庄襄王) ยังเป็นตัวประกันอยู่ที่แคว้นจ้าว ได้พบจ้าวจี (赵姬) นางบำเรอของหฺลี่วปู้เหวย (吕不韦) พระองค์ทรงลุ่มหลงนางเป็นอย่างยิ่ง (จึงขอจากหฺลี่วปู้เหวย) และแต่งงานด้วย แล้วให้กำเนิด “สื่อฮฺว๋าง (จิ๋นซีฮ่องเต้)”
(จิ๋นซีฮ่องเต้) พระองค์ประสูติที่เมืองหานตาน (เมืองหลวงของแคว้นจ้าว) ในเดือนอ้าย ปีที่ 48 ของรัชกาลฉินจาวหวัง พระนามเดิมว่า เจิ้ง แซ่อิ๋ง (嬴) สกุลจ้าว (赵) เมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา จวงเซียงหวังสิ้นพระชนม์ พระองค์จึงขึ้นครองราชย์เป็นฉินหวัง (จิ๋นอ๋อง) สืบแทน…”
(เมื่อ “จิ๋นอ๋อง” สามารถรวบรวมทั้ง 6 แคว้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับแคว้นฉินได้ จากนั้นจึงสถาปนาตนเป็น “จิ๋นซีฮ่องเต้” หรือ “ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ฉิน”)
อ่านเพิ่มเติม :
- คุ้ยสาเหตุจิ๋นซีฮ่องเต้ไม่มีฮองเฮา ที่ว่าสนมเยอะนั้นมีกี่คน แงะปริศนาที่หายจากบันทึก
- กำแพงเมืองจีน ไม่ใช่สร้างแค่ในสมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ แต่สร้าง-ซ่อมในหลายราชวงศ์
- จิ๋นซีฮ่องเต้ฝังคนทั้งเป็นจริงหรือ? ค้นต้นตอ-ข้อเท็จจริงเรื่องที่เชื่อกันมานับพันปี
อ้างอิง :
หลี่เฉวียน. ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ. แปลโดย เขมณัฎฐ์ ทรัพย์เกษมชัย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556.
รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ และผศ. นวรัตน์ ภักดีคำ. “ไม่มีจิ๋น ไม่มีจีน :
จิ๋นซีฮ่องเต้ จากบันทึกประวัติศาสตร์จีนโบราณ “สือจี้” (๑)”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2562.
Denis C. Twitchett. “Sima Qian Chinese historian and scientist”. Britannica. Online. Access 5 JAN 2021. <https://www.britannica.com/biography/Sima-Qian>
Gracie, Carrie. “Sima Qian: China’s ‘grand historian'”. BBC. Online. Published 7 OCT 2012. Access 5 JAN 2021. <https://www.bbc.com/news/magazine-19835484>
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 มกราคม 2564