ที่มาวาทะกรมพระยาดำรงฯ เตือนเจ้ารุ่นหลัง “ประพฤติตัวเลวทราม” ทำราชสกุลแปดเปื้อน

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

จดหมายลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรง “มีถึงลูกหลานอยู่เมืองนอก” ความตอนหนึ่งมีว่า

“…เจ้ารุ่นหลังโดยเฉพาะพวกที่ไปเรียนวิชามาจากต่างประเทศเช่นเธอ มาถืออิสระประพฤติตัวเลวทรามให้เขาดูหมิ่นได้หลายคน มันจึงพากันเปื้อนไปทั้งราชสกุล…”

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเขียนจดหมายหลายฉบับถึงพระโอรสและพระธิดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อเสด็จพระดำเนินไปประทับที่ปีนัง คงจะทรงเขียนจดหมายถึงพระโอรสและพระธิดาที่ไม่ได้ทรงพำนักด้วยกันเป็นจำนวนมาก

จดหมายลายพระหัตถ์ฉบับนี้คัดลอกไว้ในหนังสือ “ท่านหญิงแก้ว” ซึ่งท่านหญิงแก้วก็คือ หม่อมเจ้าอัปภัศราภา พระธิดาในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จดหมายฉบับนี้ลงวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกนึกคิดของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตลอดถึงข้อคิดที่ทรงสั่งสอน “ลูกหลาน” ในฐานะเจ้านาย กับเหตุการณ์ทางการเมือง ความบางส่วนดังนี้

“เธอคงจะได้ทราบแล้วว่าเกิดเหตุการณ์ที่ในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนมิถุนายน และคงจะได้ทราบว่าในเหตุการณ์นั้น พ่อถูกเขาเอาไปคุมไว้เป็นประกัน พ่อนึกวิตกว่าเธออยู่ไกลจะตกใจหรือเสียใจ ด้วยเข้าใจว่าพ่อถูกกดขี่แล้วจะละเลยท้อถอยไม่พากเพียรหาวิชาการเหมือนอย่างเคยประพฤติมาแต่ก่อน จึงเขียนจดหมายฉบับนี้บอกมาให้ทราบ

การที่เขาเอาพ่อไปคุมไว้ด้วยกันกับสมเด็จกรมพระนริศฯ นั้น พ่อเข้าใจว่าไม่ได้เป็นเพราะเขาเกลียดชังหรือว่าเขาประสงค์ร้าย เขาเอาไปด้วยเห็นว่าเป็นคนสำคัญของบ้านเมือง จะเอาไปไว้เป็นประกันให้ปลอดภัยของเขาเอง เป็นต้นว่าถ้ามีพวกอื่นจะมารบราหรือบินมาทิ้งลูกระเบิดทำอันตรายพวกเขา ก็จะเกรงเป็นอันตรายถึงพ่อและสมเด็จกรมพระนริศฯ ด้วย

ในเวลที่เขาเอาไปคุมไว้นั้น เขาก็ไม่ได้ลบหลู่ดูหมิ่นพ่ออย่างใด นอกจากบังคับให้อยู่ในที่มีจำกัดตลอดเวลา 4 วัน แล้วก็ปล่อยให้กลับมาอยู่บ้านอย่างเดิม เดี๋ยวนี้พ่อจะไปไหนก็ไปได้ เพราะฉะนั้นไม่มีเหตุที่เธอควรจะวิตก หรือเสียใจท้อใจอย่างหนึ่งอย่างใด ถ้าจะว่าเมื่อมีเหตุการณ์ขึ้นอย่างนี้มีความจำเป็นที่เธอจะต้องหมั่นเพียรในการศึกษาหาความรู้ให้ยิ่งขึ้นเสียอีก

เพราะความเข้าใจผิดของไทยเราสมัยนี้มีอยู่ด้วยเรื่องเจ้า ด้วยเข้าใจว่าเกิดมาเป็นเจ้าแล้วถึงจะเป็นคนดีคนชั่วก็ต้องได้ตำแหน่งในราชการและได้เงินเดือนผลประโยชน์มากจนมั่งมีเหลือล้นไปตามกัน ความจริงที่เจ้านายชั้นพ่อต้องพากเพียนทำการงานให้บ้านเมืองมาเพียงไร และได้ผลประโยชน์แต่พอเลี้ยงตัวมา ข้อนี้เขาหารู้ไม่

เพราะเมื่อว่าตามจริง เจ้ารุ่นหลังโดยเฉพาะพวกที่ไปเรียนวิชามาจากต่างประเทศเช่นเธอ มาถืออิสระประพฤติตัวเลวทรามให้เขาดูหมิ่นได้หลายคน มันจึงพากันเปื้อนไปทั้งราชสกุล ผู้ที่มาประพฤติเลวทรามให้เขาดูหมิ่นได้เช่นนั้น ถ้าจะว่ายังมีข้อแก้ตัวว่าเพราะประมาทไป แต่มาถึงชั้นเธอที่กำลังเล่าเรียนอยู่ในเวลานี้ เมื่อรู้เหตุการณ์ว่ามันอาจจะมีได้เช่นนั้นแล้วต้องระวังตัวอย่าให้พลาดไป ศีลธรรม (Ideal) ของผู้ที่เป็นเจ้ามาแต่ก่อนนั้นคือความรักบ้านเมือง และถือว่าประโยชน์ของบ้านเมืองสำคัญกว่าประโยชน์ของตนเอง

หรือถ้าว่าโดยย่อคืออุทิศตัวให้แก่บ้านเมืองอย่าง 1 ความซื่อตรงอย่าง 1 ความพากเพียรเรียนวิชาความรู้และประกอบกิจการต่าง ๆ มั่นคงอย่าง 1 คนทั้งหลายนิยมกันแต่ก่อนว่า ในศีลธรรมเหล่านี้เจ้าดีกว่าผู้ที่มิได้เป็นเจ้า คนทั้งหลายจึงพากันนับถือเจ้าทั่วไปทั้งประเทศ ศีลธรรมอันนี้ยังคงอยู่ ต้องพยายามรักษาให้มั่นคงจึงจะสมควรเป็นเจ้า…”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สุพจน์ แจ้งเร็ว. (กันยายน, 2527). ลายพระหัตถ์ สมเด็จฯ. ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 5 : ฉบับที่ 11.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มกราคม 2564