กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงรอดถูกวางยา? ไม่เล่าให้พระธิดาเพราะกลัวเกลียดกันถึงลูกหลาน

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

การใช้ชีวิตอยู่ในราชสำนักในไทยได้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทและเป็นที่โปรดปรานเป็นพิเศษใช่ว่าจะเป็นเพียงเรื่องมงคลแก่ชีวิตเท่านั้น บางแง่มุมอาจทำให้ต้องระวังตัวมากขึ้นไปด้วย หากพิจารณาจากบันทึกเหตุการณ์ที่หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงนิพนธ์บันทึกเรื่องราวครั้งสมเด็จกรมพระยาเทววงษ์ และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ถูกเชิญไปดินเนอร์แล้วพบเหตุการณ์ที่อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นการ “วางยาพิษ”

หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นพระอนุวงศ์ฝ่ายในที่มีโอกาสถวายการรับใช้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างใกล้ชิด เรียกได้ว่าเป็นฝ่ายในที่รู้เห็นเหตุการณ์ต่างๆ ในราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอันแวดล้อมไปด้วยข้าราชบริพารและพระราชวงศ์

ม.จ.พูนพิศมัย ทรงบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ที่พบเห็นในงานนิพนธ์หลายชิ้น ข้อมูลที่บอกเล่าในงานนิพนธ์ยังเป็นแหล่งอ้างอิงเปรียบเทียบเหตุการณ์ต่างๆ ได้พอสมควร เช่นเดียวกับงานนิพนธ์เรื่อง “พระราชวงศ์จักรี” ที่มีเนื้อหาตอนหนึ่งบอกเล่าเรื่องราวในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเกี่ยวเนื่องกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดา

เนื้อหาส่วนหนึ่งในบทนิพนธ์ในตอน “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6” บอกเล่าสภาพความสัมพันธ์ในสังคมข้าราชบริพารได้อย่างน่าสนใจ อีกทั้งยังน่าหวาดเสียวเล็กน้อย เมื่อม.จ.พูนพิศมัย ทรงเล่าถึงเรื่อง “สมเด็จกรมพระยาเทววงษ์” (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4) และเสด็จพ่อ (กรมดำรงฯ) ถูกเชิญไปดินเนอร์แล้วประสบเหตุที่เชื่อว่าเป็นการวางยาพิษ

ภาพถ่าย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย หม่อมเจ้าหญิงพิไลยเลขา และ หม่อมเจ้าหญิงพัฒนายุ
ดิศกุล
(จากซ้าย) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย หม่อมเจ้าหญิงพิไลยเลขา และหม่อมเจ้าหญิงพัฒนายุ
ดิศกุล ถ่ายที่เมืองบันดุง วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2477

ม.จ.พูนพิศมัย ทรงเล่าว่า คืนหนึ่ง “สมเด็จกรมพระยาเทววงษ์ฯ” เสด็จไปดินเนอร์องค์เดียว ถึงเวลาดื่มให้พร ท่านทรงเห็นของขุ่นๆ อยู่ก้นถ้วยเหล้า จึงทรงหยุดดื่ม และแค่จิบๆ

เนื้อหาส่วนนี้ไม่ได้ลงรายละเอียดชัดเจนว่าเป็นงานอะไร และจัดเมื่อใด แต่ระบุว่า งานนี้เผอิญถวายถ้วยงาพิเศษกลับมาวังด้วย ท่านจึงทรงเทออกตรวจดูกับพระยาพิพัฒน์โกษา (Xavier : เซเรสติโน ซาเวียร์ เชื้อสายโปรตุเกสแต่เกิดในไทย จบการศึกษาจากอังกฤษและกลับมารับราชการกระทรวงการต่างประเทศ) จึงเห็นว่าที่ขุ่นคือแก้วบดละเอียด ท่านทรงพระสรวลว่ายังไม่ถึงที่ตาย แต่เรื่องนี้ทำให้พระยาพิพัฒน์โกษา โกรธมาก ขอให้กราบบังคมทูล แต่ “สมเด็จกรมพระยาฯ” ไม่ยอมทรงทูล

พระยาพิพัฒน์ฯ จึงเขียนจดหมายส่วนพระองค์กราบทูลด้วยพระองค์เอง เนื้อหาในจดหมายเล่ารายละเอียดเพิ่มเติมว่า อีก 2 วันจะเลี้ยงเสด็จพ่อ (กรมดำรงฯ) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีลายพระราชหัตถ์ด่วนมาถึงกรมพระยาดำรงราชานุภาพให้ระวังตัว

เมื่อถึงวันได้รับเชิญไปเสวยก็ทรงจิบแล้วนำถ้วยนั้นกลับมา หลังจากนั้นมา กรมพระยาดำรงราชานุภาพไม่ได้เปิดเผยเรื่องนี้ต่อม.จ.พูนพิศมัย แต่ท่านทรงทราบเรื่องจากโอรสของสมเด็จกรมพระยาเทววงษ์ฯ (หม่อมเจ้าอนันตนรไชย เทวกุล โอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ)

ม.จ.พูนพิศมัย ทรงนิพนธ์เหตุการณ์หลังจากไปเสวยไว้ว่า

“วันหนึ่งเมื่อกำลังจัดมิวเซียม เราเดินตามเสด็จพ่อไปที่ห้องของพระสาสนาต่างๆ, เห็นในตู้หนึ่งมีถ้วยงาก้นถ้วยด่างขาววางอยู่กับถ้วยอื่นๆ ข้าพเจ้ายืนอยู่ตรงนั้นนานก็เพอินเห็นเข้า, และพูดกับน้องขึ้นว่า-‘แน่ะ ถ้าจะถ้วยใบนั้นเอง!’ เสด็จพ่อทรงได้ยิน, ก็หันมาถามว่า-‘เธอว่าถ้วยอะไร?’

ข้าพเจ้ารู้เรื่องมาจากลูกสมเด็จกรมพระยาเทววงษ์ฯ แต่ไม่เคยได้ยินเด็จพ่อตรัสเล่าเรื่องนี้เลย, จึงเดาได้ว่าท่านปิด! ก็หัวเราะทูลตอบไปว่า-‘หม่อมฉันรู้แล้วจากชายเติม (หม่อมเจ้าอนันตนรไชย เทวกุล โอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ)’

ท่านเลยหันไปสั่งหลวงบริบาลฯ Curator (หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ หรือป่วน อินทุวงศ์ บรรณารักษ์หอพระสมุดสำหรับพระนครและภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑสถานพระนคร) ว่า ‘เก็บถ้วยใบนั้นเสียเถิด, เพราะไม่สำคัญอะไร’ กลับมาถึงบ้านแล้ว, เราจึงพูดกันต่อไปว่าไม่นึกเลยว่าเป็นเรื่องจริง. เสด็จพ่อก็ตรัสว่า-‘พ่อไม่เล่าให้ลูกฟัง, ก็เพราะกลัวว่าจะไปเกลียดชังกันต่อไปถึงลูกหลาน, ให้เป็นเวรเป็นกรรมเปล่าๆ. พ่อก็ไม่เจ็บไม่ปวด และไม่ตาย, เรื่องมันแล้วมาแล้วก็ให้แล้วกันไปเถิด.’

ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นเด็จพ่อทรงเกลียดชังใครตั้งแต่เกิดมา, แม้คนที่รู้กันดีอยู่ว่าเกลียดท่านๆ ก็เข้าไปนบนอบแสดงไมตรีจากพระทัยจริงๆ จนบางครั้งเราเด็กๆ เดือดร้อนทนไม่ได้, แต่ท่านตรัสอธิบายว่า-‘เวรย่อมระงับด้วยการไม่มีเวร‘”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พูนพิศมัย ดิศกุล, หม่อมเจ้า, พระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น สมัยรัชกาลที่ 6). กรุงเทพฯ : มติชน, 2561


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 ธันวาคม 2561