กรมดำรงฯ กับญี่ปุ่นช่วงสงครามโลก และเรื่องเล่าจากม.จ.พูนพิศมัย ต้องยกโกศหลบระเบิด!

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

เหตุเกิดที่ปีนัง

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พร้อมพระวงศานุวงศ์บางส่วนเสด็จไปประทับที่ปีนังเพราะต้องการความสงบและให้พ้นจากการเมืองที่วุ่นวายในขณะนั้น

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้บุกยึดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงปีนัง หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาเล่าว่า พวกทหารญี่ปุ่นให้ส่งมอบหลักทัพย์สมบัติที่เกี่ยวข้องกับศัตรู เช่น แหวน ตุ้มหู เครื่องแต่งตัว ไปเก็บไว้ในการดูแลของพวกญี่ปุ่น

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย เสียดายของเหล่านั้น ซึ่งเป็นของเก่าเก็บของพระมารดา กรมพระยาดำรงฯ ก็ทรงปลอบว่า “เอายังไงมันอยู่กับเรามาเป็นเวลานาน นึกว่าปล่อยให้มันไปเที่ยวบ้างก็แล้วกัน”

๑ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะประทับอยู่ที่เมืองปีนัง, ๒ ทรงมีความสุขกับการอ่านหนังสือ

กลับคืนแผ่นดินเกิด

ครั้นเมื่อเหตุการณ์ทางการเมืองในไทยเริ่มสงบลง (เพราะไทยยังถูกญี่ปุ่นครอบงำในช่วงสงคราม) หม่อมเจ้าพิสิษฐดิศพงศ์พระโอรสในกรมพระยาดำรงฯ ที่ทำงานอยู่กับพวกญี่ปุ่น ได้พยายามติดต่อกับพวกญี่ปุ่นให้ช่วยพากรมพระยาดำรงฯ กลับประเทศไทย ในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2485

ช่วงนั้นกรมพระยาดำรงฯ ประชวรด้วยโรคพระหทัยพิการ แต่พระอาการก็ดีขึ้นเมื่อได้กลับมาอยู่ ‘บ้าน’ กระทั่งวันหนึ่งทอดพระเนตรเห็นนายทหารญี่ปุ่นยืนอยู่ 2 คนแถววัดพระแก้ว ตรัสถามหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัยว่า “นั่นใครเอาหมวกญี่ปุ่นมาใส่”

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัยพยายามเปลี่ยนเรื่องสนทนาแต่กรมพระยาดำรงฯ ก็ยังจะเอาความให้ได้ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัยจึงต้องตอบไปตามจริงว่าเป็นพวกทหารญี่ปุ่นเอง ซึ่งทำให้กรมพระยาดำรงฯ ฉุนเฉียวโกรธกริ้วคนโน้นคนนี้ไปตลอดทางในวันนั้น

ยกโกศหลบระเบิด

กรมพระยาดำรงฯ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2486 ที่วังวรดิศ แพทย์ที่ถวายการรักษาบอกว่าพระหทัยหยุดเฉย ๆ และพระสติปัญญาขนาดคนอายุ 60 แต่พระชันษา 81 ปี กายกับจิตจึงต่างกันมากถึง 20 ปี 

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศสมัยเล่าว่า

“เสด็จพ่อก็ทรงทิ้งข้าพเจ้าไว้ให้นั่งอยู่กับพระโกษฐ์ตลอด ๆ วัน เสียงบอมบ์ เสียงอพยพกันทั่วกรุงเทพฯ เราก็นั่งคอยยกพระโกศและคอยดับระเบิดไฟในเวลาจำเป็นอยู่เช่นนั้น”

พระโกศกุดั่นใหญ่บรรจุพระศพ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ภาพจากหนังสือ สมุดภาพพระประวัติและพระกรณียกิจของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)

ญี่ปุ่นอยากได้หนังสือ

ย้อนกลับไปเมื่อกรมพระยาดำรงฯ ประทับที่ปีนัง ทรงดำริจะทำพินัยกรรม หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัยจึงทูลขอหนังสือของพระบิดาไว้ เพราะไม่อาจทำใจได้หากหนังสือเหล่านั้นจะถูกนำไปขายเล่มละ 25 สตางค์ ตามเวิ้งนครเกษม ซึ่งพระองค์ก็ประทานหนังสือให้หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัยไว้ทั้งหมด

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัยมีประสงค์จะรวบรวมหนังสือไว้สร้างห้องสมุด ซึ่งหนังสือของกรมพระยาดำรงฯ นั้นถือว่ามีคุณค่ามากจนพวกญี่ปุ่นให้ความสนใจ มิสเตอร์มัตซุโมโตซึ่งป็นคนของสถานทูตบอกว่ารัฐบาลญี่ปุ่นต้องการหนังสือเหล่านี้มากทีเดียว

นายเสียว ผู้แทนหนังสือพิมพ์ข่าวภาพ เข้ามากราบพระศพกรมพระยาดำรงฯ แล้วได้ขอพบหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัยเพื่อถามว่าห้องสมุดของสมเด็จฯ จะทำอย่างไรต่อไป หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัยจึงถามว่า “ทำไมจึงอยากรู้กันนัก” นายเสียวบอกว่า “พวกญี่ปุ่นเขาอยากรู้กันมาก เพราะเขาอยากได้ไปเมืองโตเกียว”

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัยถามต่อไปว่า “เอาไปทำไมกันถึงโตเกียว” นายเสียวตอบว่า “เข้าใจว่าเขาจะเอาไปทำหนังสือเรียนมาให้คนไทยเอง” หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัยหัวเราะแล้วตอบว่า “บอกเขาเถิดว่าฉันจะให้ชาติของฉัน ถ้าญี่ปุ่นต้องการจะเรียนก็ให้มาเรียนที่นี่ได้ แต่เวลานี้ยังคิดทำอะไรไม่ได้ ก็เพราะบอมบ์ยังอึกทึกนัก!”

ภายหลังจากนั้นราชสกุลดิศกุล นำโดยหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัยก็สามารถก่อสร้างหอสมุดดำรงราชานุภาพได้สำเร็จ และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2490 ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันประสูติของกรมพระยาดำรงฯ

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จประพาสเมืองพม่า เมื่อ พ.ศ. 2478 ภายหลังได้ทรงพระนิพนธ์หนังสือเรื่องสำคัญคือ “เที่ยวเมืองพม่า” (ภาพจากหนังสือ สมุดภาพพระประวัติและพระกรณียกิจของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ถวายงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาถึง 3 แผ่นดิน พระองค์เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชาติตลอดช่วงชีวิตของพระองค์ จึงทรงเป็นที่เคารพนับถือของคนทุกระดับชั้นในสังคม

แม้บทบาทในฐานะข้าราชการแผ่นดินจะยุติลงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ไปแล้วนั้น แต่กรมพระยาดำรงฯ ยังคงมีบทบาทสำคัญและมีอิทธิพลต่อประเทศในแง่การศึกษาศาสตร์แขนงต่าง ๆ

โดยเฉพาะพระนิพนธ์ หนังสือ เอกสาร หรือหลักฐานของกรมพระยาดำรงฯ ในช่วงที่กรมพระยาดำรงฯ สิ้นพระชนม์ไปแล้วนั้น ถึงกับมีการเสนอราคาซื้อหนังสือจากชาวต่างชาติ ซึ่งบางเล่มมีราคาขอซื้อสูงถึง 3-5 ล้านบาท

นอกจากพระกรณียกิจที่ช่วยพัฒนาประเทศในหลากหลายด้านแล้ว พระนิพนธ์ของกรมพระยาดำรงฯ เหล่านั้นก็นำมาซึ่งประโยชน์แก่ชาวไทยรุ่นหลังอย่างมาก

คลิกอ่านเพิ่มเติม : “กราบเจ้าป้าลงกับพื้นเถิด” นัยของวาทะ กรมพระยาดำรงฯ ต่อพระธิดา ครั้งเฝ้าเจ้าดารารัศมี


อ้างอิง : 

สมุดภาพพระประวัติและพระกรณียกิจของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ.  (2529).  กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์.

หอสมุดดำรงราชานุภาพ.  (2532).  กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2562