วีรกรรมทหารไทยใน “สมรภูมิบ้านพร้าว” กองทัพฝรั่งเศสอันเกรียงไกรพ่ายยับ

จอมพล ป. ถ่ายภาพ กับ ธงชัยเฉลิมพล ของ ฝรั่งเศส หลัง สมรภูมิบ้านพร้าว
(จากซ้าย) จอมพลเรือหลวงยุทธศาสตร์โกศล ร.น. ขณะยังเป็นนาวาเอก, จอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลเอกหลวงสวัสดิรณรงค์ ขณะเป็นนายพันเอก ถ่ายภาพกับธงชัยเฉลิมพลของฝรั่งเศส "ครัวเดอแกร์" ที่ยึดได้ในสมรภูมิบ้านพร้าว

เรื่อง “สมรภูมิบ้านพร้าว” นี้ คัดมาจากเรื่อง “วีรกรรมของกองพันทหารราบที่ 2 กรมทราบราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ ในอดีต” ซึ่งลงพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พันเอกนิ่ม ชโยดม ท.ช., ท.ม. ณ เมรุวัดโสมนัสวรวิหาร กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2531

กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม ขอขอบพระคุณคุณเครือวัลย์ ญาณนนท์ และพลเรือโทช่วย ญาณนนท์ ผู้เป็นทายาทของพันเอกนิ่ม ชโยดม (ขุนนิมมาณกลยุทธ) มา ณ ที่นี้ด้วย ที่ได้กรุณาส่งหนังสืออนุสรณ์เล่มดังกล่าวมาให้ เพื่อกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรมจะได้ใช้เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านต่อไป

Advertisement

 

กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเกียรติประวัติและวีรกรรมอันดีเด่นจากการได้รับชัยชนะในการสู้รบกับกองทหารต่างชาติในอินโดจีน เมื่อครั้งสงครามกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส จนได้รับสมญานามว่า “กองพันทหารเสือ” ซึ่งมีความเป็นมาดังนี้

กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในระหว่างสงครามกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส สมัยนั้นใช้ชื่อว่า กองพันทหารราบที่ 3 มีพันตรี ขุนนิมมาณกลยุทธเป็นผู้บังคับกองพัน ได้นำทหารในบังคับบัญชาเข้ายึดรักษาดินแดน ด้านทิศตะวันออกติดกับประเทศกัมพูชา ตามแนวหลักเขตแดนที่ 43 ถึง 46 และได้รุกเข้าไปในเขตอินโดจีนฝรั่งเศส “ซึ่งเป็นดินแดนของประเทศไทยมาก่อน” ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม พุทธศักราช 2483

ณ สมรภูมิบ้านพร้าว ห่างจากดินแดนไทยเข้าไปในประเทศกัมพูชา ประมาณ 10 กิโลเมตร “ซึ่งเป็นดินแดนของประเทศไทยมาก่อนเช่นกัน” พันตรีขุนนิมมาณกลยุทธได้รับคำสั่งให้นำทหารในบังคับบัญชาเข้ายึดยุทธภูมิแห่งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม พุทธศักราช 2484 เมื่อนำกำลังเคลื่อนไปยังบ้านพร้าวนั้น พบร่องรอยค่ายเก่าของทหารต่างชาติในอินโดจีน ดัดแปลงเป็นอย่างดีอยู่แล้ว และไม่มีการต้านทานใด ๆ เนื่องจากฝ่ายข้าศึกได้ถอนกำลังออกไปหมด ปล่อยให้ฝ่ายเราเข้ายึดเพื่อจะทุ่มกำลังเข้าโจมตี ทำลายล้างกองพันทหารราบที่ 3 ที่บ้านพร้าวนี้ในภายหลัง

จากการตรวจภูมิประเทศของพันตรีขุนนิมมาณกลยุทธ ผู้บังคับกองพัน เห็นว่า ไม่ยึดที่บ้านพร้าว เนื่องจากฝ่ายข้าศึกรู้เบาะแสแล้ว และในตอนเย็นหลังจากนำกำลังเข้ายึดได้ถูกหน่วยลาดตระเวนของข้าศึกลอบยิง จากการตรวจภูมิประเทศหน้าแนวแล้ว เห็นว่า เหมาะสมดีกว่า จึงขออนุญาตเคลื่อนกำลังจากที่ตั้งเดิมออกไปอีก 4 กิโลเมตร ไปตั้งมั่นอยู่ที่ห้วยยางซึ่งเป็นลำห้วยไม่มีน้ำ

ภูมิประเทศคันคูง่ายแก่การดัดแปลงเป็นที่มั่นตั้งรับได้เป็นอย่างดี สามารถยิงได้อย่างกว้างขวาง และกองทหารต่างชาติได้ตัดถนนลำลองขึ้นสายหนึ่ง จากทางเหนือตรงมายังบ้านพร้าว ถนนสายนี้เป็นประโยชน์แก่การวางกำลังของฝ่ายเราอย่างดียิ่ง โดยฝ่ายเราได้วางกำลังเป็นรูปตัวยูหรือรูปปากฉลามคร่อมถนนที่ห้วยยางไว้

ความเข้าใจของกองทหารต่างชาติเข้าใจว่า ทหารไทยอยู่ที่บ้านพร้าว แต่ที่จริงแล้วด้วยการวางแผนการยุทธ์อันแยบยลและลึกล้ำของพันตรีขุนนิมมาณกลยุทธได้นำกำลังมาตั้งมั่นที่ห้วยยางเสียแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม พุทธศักราช 2484 ด้วยความสงบเงียบ มีวินัยอย่างดีเยี่ยมตามคำสั่งผู้บังคับกองพัน

ในเวลาเช้ามืดของวันที่ 16 มกราคมนั่นเอง กองทหารต่างชาติได้ทุ่มกำลัง 1 กรม มีกำลัง 3 กองพัน เข้าตีทำลายกองพันทหารราบที่ 3 ในบังคับบัญชาของพันตรีขุนนิมมาณกลยุทธ ที่บ้านพร้าว โดยจัดฐานออกตีที่ห้วยยาง เนื่องจากคิดว่าทหารไทยอยู่ที่บ้านพร้าว และไม่รู้ว่าฝ่ายเราได้เปลี่ยนแผนการยุทธ์เสียแล้ว กลยุทธ์ของฝ่ายเราได้กำหนดให้ฟังสัญญาณการยิงฉากจากปืนกลของร้อยตรียง ณ นคร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม โดยฟังคำสั่งจากร้อยเอกอัมพร เสือไพฑูรย์

ครั้นเมื่อเวลา 3 นาฬิกา ของวันที่ 16 มกราคม เริ่มได้ยินเสียงยานยนต์ของข้าศึกมาแต่ไกลหลายคัน แสดงถึงการเคลื่อนไหวของฝ่ายข้าศึก จนกระทั่งเวลา 4 นาฬิกา กองทหารต่างชาติได้ส่งลาดตระเวนห่างทหารไทยราว 20 เมตร ตรวจการณ์อยู่ประมาณ 5 นาที ฝ่ายเราก็สงบนิ่งอยู่ด้วยความใจเย็นและมีวินัยอย่างดีเยี่ยม

ถึงแม้สุนัขที่มากับข้าศึกจะวิ่งเข้ามาในแนวทหารไทยและดมทหารไทยคนโน้นบ้างคนนี้บ้าง แต่ก็ไม่เห่า ซึ่งก็ไม่ทราบว่า เป็นเพราะเหตุใดจึงไม่เห่า จากนั้นพลลาดตระเวนนำและสุนัขข้าศึกจึงได้กลับไป โดยคิดว่าไม่มีทหารไทยอยู่ที่ห้วยยาง ทั้ง ๆ ที่มีกำลังอยู่ทั้งกองพัน

อีก 1 ชั่วโมงต่อมา คือเมื่อเวลาประมาณ 5 นาฬิกา นาทีระทึกใจก็ได้อุบัติขึ้น เมื่อกรมทหารราบที่ 5 กองพันที่ 3 ของกองทหารต่างชาติ ซึ่งมีประวัติการรบอย่างโชกโชนและเป็นหน่วยกล้าตายชั้น 1 ที่มีกิตติศัพท์การรบอันเกรียงไกรมาแล้วในอินโดจีน ได้เคลื่อนกำลังเข้ามาเป็นขบวนตามเส้นทางที่ฝ่ายเราวางกำลังไว้ ปล่อยให้กำลังส่วนหน้าของข้าศึกเลยแนวรบไปด้วยความใจเย็น

เมื่อกำลังส่วนใหญ่เข้ามาอยู่ในพื้นที่สังหารแล้ว สัญญาณการยิงฉากจากปืนกลของร้อยตรียง ณ นคร จึงได้ระเบิดขึ้น พร้อมกับเสียงคำรามของปืนทุกกระบอกของกำลังฝ่ายเราทั้งกองพัน สู้รบถึงขั้นตะลุมบอนกันด้วยดาบปลายปืนอย่างทรหด

จนถึงเวลา 7 นาฬิกา เสียงร้องครวญครางอย่างเจ็บปวดและเสียงสั่งการดังลั่นไปทั่วยุทธภูมิ ด้วยยุทธวิธีของกองพันทหารราบที่ 3 ในบังคับบัญชาของพันตรีขุนนิมมาณกลยุทธในครั้งนี้ สามารถบดขยี้ฝ่ายข้าศึกเสียชีวิตไปประมาณ 400 นาย ถูกจับเป็นเชลยเป็นจำนวนมาก

ตัวผู้บังคับกองพันของกองทหารต่างชาติเสียชีวิตในที่รบ ยึดธงชัยเฉลิมพลของข้าศึก ซึ่งประดับเหรียญกล้าหาญครัวเดอแกร์ไว้ได้ กองทหารเขมรและทหารญวนที่ติดตามมาอีก 2 กองพันแตกกระจัดกระจายไป นับว่ากองทหารต่างชาติซึ่งผ่านการรบอย่างโชกโชนมาแล้วได้พินาศย่อยยับเกือบทั้งหมดทั้งกองพัน ด้วยพิษสงของทหารไทยทั้งกองพันทหารราบที่ 3 ในบังคับบัญชาของพันตรีขุนนิมมาณกลยุทธ สำหรับฝ่ายเราเสียชีวิตในที่รบ 1 นาย คือพลทหารจอน ปรีพงศ์ และได้รับบาดเจ็บสาหัส 2 นาย

เชลยศึกทหารฝรั่งเศสที่กองทัพไทยจับได้ทางภาคบูรพา (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม พฤษภาคม 2528)

พันตรีขุนนิมมาณกลยุทธ ผู้บังคับกองพันซึ่งสร้างวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ จนกองพันทหารราบที่ 3 ได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญประดับธงชัยเฉลิมพล และได้รับสมญานามว่า “กองพันทหารเสือ” นั้น แต่เดิมท่านมีชื่อว่า พันตรีนิ่ม ชโยดม ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็นขุนนิมมาณกลยุทธ ในโอกาสที่กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามแผนป้องกันประเทศบริเวณแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวกับหน่วยนี้ได้สร้างวีรกรรมไว้ในอดีตเมื่อเดือนกันยายน พุทธศักราช 2526 ถึงเดือนกันยายน พุทธศักราช 2527

เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการสู้รบแก่กำลังพลในหน่วย จึงได้อัญเชิญนามบรรดาศักดิ์ของท่าน คือ “นิมมาณกลยุทธ” อันมีความหมายว่า “ผู้วางแผนการยุทธ์อันล้ำเลิศ” มาเป็นชื่อฐานปฏิบัติการเพื่อระลึกถึงวีรกรรมของท่าน และกระตุ้นเตือนให้กำลังพลทุกนายได้ประพฤติปฏิบัติตามตัวอย่างอันดีงาม ดังเช่นวีรชนในอดีตของหน่วยได้กระทำมาแล้ว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 ตุลาคม 2563