วัน “ฝรั่งเศส” ถล่ม “นครพนม” โหมโรง “สงครามอินโดจีน”

ทหาร ฝรั่งเศส ใน เวียดนาม
ภาพประกอบเนื้อหา - ทหารฝรั่งเศสในเวียดนาม เมื่อ ค.ศ. 1909 (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2540)

วัน “ฝรั่งเศส” ถล่ม “นครพนม” โหมโรงสงคราม “กรณีพิพาทอินโดจีน” หรือ “สงครามอินโดจีน”

ภายหลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงปีเศษ คณะราษฎรได้จัดหาปืนต่อสู้อากาศยานรุ่นแรกเข้ามาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2476 เรียกว่า ปตอ. แบบ 76 เป็นปืนและรถที่ผลิตโดย บริษัท วิกเกอร์อาร์สตรอง ประเทศอังกฤษ โดยเป็นปืนอัตโนมัติขนาด 40 ม.ม. ติดตั้งบนรถพาน อัตรายิง 200 นัดต่อนาที แต่ไม่ใช้สายกระสุนแบบปืนกลทั่วไป ใช้บรรจุเป็นแมกกาซีน แมกกาซีนละ 10 นัด เพื่อถ่วงให้เว้นจังหวะยิงเป็นช่วง ๆ ไม่ให้ลำกล้องร้อนเกินเกณฑ์ปลอดภัย

ในปีเดียวกันนั้นเองควันสงครามโลกเริ่มคุกรุ่นขึ้นทางทวีปยุโรป โดยมีนายพลออฟ ฮิตเลอร์ แห่งเยอรมัน ร่วมมือกับเบนิโต มุสโสลินี ผู้นำเผด็จการแห่งอิตาลีวางแผนยึดครองทวีปยุโรปไว้ภายใต้มหาอาณาจักรโรม-เบอร์ลิน เยอรมันใช้ยุทธวิธีแบบสายฟ้าแลบ บุกเข้ายึดครองออสเตรีย เชโกสโลวะเกีย โปแลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ และเนเธอร์แลนด์

ตั้งแต่ พ.ศ. 2481-2482 สถานการณ์การสู้รบในยุโรป ประเทศมหาอำนาจอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสมิเคยเป็นฝ่ายได้เปรียบ ทั้ง ๆ ที่เคยแผ่อิทธิพลอยู่เหนือดินแดนอินโดจีนมาแล้ว

ขณะนั้นฝรั่งเศสมีกำลังสูงสุดอยู่ในยุโรป คือ มีทหารประจำการถึง 800,000 คน และทหารกองหนุนถึง 5,500,000 คน แต่ต้องยอมจำนนต่อเยอรมันในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2483

สำหรับเหตุการณ์ทางด้านทวีปเอเชีย ช่วงที่เยอรมันบุกเข้าออสเตรียนั้น จีนเกิดการสู้รบกับญี่ปุ่นในกรณีพิพาทการครอบครองดินแดนเกาหลี ซึ่งจีนได้สั่งซื้ออาวุธมาจากสหรัฐอเมริกามาสู้กับญี่ปุ่น โดยผ่านพ่อค้าคนกลางชาวฝรั่งเศสในอินโดจีน ให้จัดส่งไปทางอ่าวตังเกี่ย อันเป็นเส้นทางขนส่งสำคัญที่สุดของจีน ทำให้กระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศสถูกญี่ปุ่นทักท้วง ผลที่สุด ฝรั่งเศสต้องยอมจำนนด้วยการสั่งปิดพรมแดนระหว่างอินโดจีนกับจีน

นอกจากนี้ฝรั่งเศสยังกังวลกับความพยายามของญี่ปุ่นที่มีท่าทียอมรับไทยเป็นพันธมิตร ในฐานะกลุ่มเอเชียที่ยังมิเคยตกเป็นอาณานิคมการล่าเมืองขึ้นของประเทศใดมาก่อน ดังนั้นก่อนเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2483 ฝรั่งเศสได้มาทาบทามกับไทยเพื่อเจรจาทำสัญญาไม่รุกรานกัน

แต่ชาวไทยทุกคนยังคงรำลึกและจดจำเรื่องราวในอดีตได้เป็นอย่างดี ถึงการที่ฝรั่งเศสได้เคยใช้กำลังอำนาจบาตรใหญ่กดขี่ข่มเหง แย่งที่ดิน แย่งทรัพย์ พรากพี่น้องไทยไป โดยปราศจากศีลธรรมและเหตุผล หาเหตุซ้อนเหตุโดยความเห็นแก่ได้ถ่ายเดียวเรื่อยมา ซึ่งไทยต้องเสียดินแดนไปเริ่มแต่ พ.ศ. 2410-2449 รวม 5 ครั้ง จำนวนเนื้อที่ที่เสียไปประมาณ 467,000 ตารางกิโลเมตร เกือบเทียบเท่ากับเนื้อที่ของประเทศไทยในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังเสียพี่น้องไทยในแคว้นเขมร 2,900,000 คน ในแคว้นลาว 940,000 คน

ไทยต้องจำยอมสูญเสียสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวให้แก่ฝรั่งเศสด้วยความเจ็บแค้นและขมขึ้นเป็นอย่างยิ่ง และไม่สามารถจะตอบสนองอย่างใดได้ เพราะฝรั่งเศสมีกำลังรบเข้มแข็งกว่าไทยเป็นอันมากในระยะนั้น

เมื่อรัฐบาลไทยได้รับการทาบทามเช่นนั้น จึงมาพิจารณาดูว่าควรจะเจรจากันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น จึงได้ตอบไปเมื่อวันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2483 ว่า ยินดีจะรับข้อเสนอของฝรั่งเศส แต่ใคร่ขอให้ฝ่ายฝรั่งเศสตกลงดังนี้คือ

1. วางแนวเส้นเขตแดนลำแม่น้ำโขงให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ กล่าวคือถือหลักร่องน้ำลึกเป็นเกณฑ์

2. ให้ปรับปรุงเส้นเขตแดนให้เป็นไปตามธรรมชาติ คือ ให้ถือว่าแม่น้ำโขงเป็นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีน ตั้งแต่ทิศเหนือมาจดทิศใต้จนถึงเขตแดนกัมพูชา โดยให้ฝ่ายไทยได้รับดินแดนทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ตรงข้ามกับหลวงพระบางและตรงข้ามกับปากเซ (อันมีปัญหาเขตแดนบ่อย ๆ) คืนมา

3. ให้ฝรั่งเศสรับรองว่า ถ้าอินโดจีนของฝรั่งเศสเปลี่ยนจากอธิปไตยฝรั่งเศสไป ฝรั่งเศสจะคืนอาณาจักรลาวและกัมพูชาให้ไทยตามเดิม

ต่อมาวันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2483 ฝรั่งเศสได้ตอบบันทึกของไทยเรื่องการปรับปรุงเส้นเขตแดนดังนี้

1. รัฐบาลฝรั่งเศสจะจัดผู้แทนอินโดจีนมาประชุม (ซึ่งเดิมตกลงไว้ว่าจะส่งเจ้าหน้าที่ชั้นระดับเอกอัครราชทูตมาประชุม)

2. ฝรั่งเศสไม่ยอมเจรจาปัญหาดินแดนอื่น ๆ นอกจากปัญหาเรื่องเกาะในลำน้ำโขง

3. ฝรั่งเศสยืนยันการรักษาสถานภาพทางการเมืองและบูรณภาพแห่งดินแดนอินโดจีนไว้ต่อการอ้างสิทธิทั้งปวง และการรุกรานไม่ว่าจะมีกำเนิดมาจากทางใด

หลังจากนั้นเป็นต้นมาฝรั่งเศสเริ่มแสดงอำนาจคุกคามไทยเสมอ ๆ แม้จะพ่ายแพ้ต่อเยอรมันมาแล้วก็ตาม เพื่อจะแสดงตนว่า ยังมีอิทธิพลหลงเหลืออยู่ โดยส่งเรือรบล่วงล้ำเข้ามาในเขตน่านน้ำไทยที่บริเวณเกาะช้างในจังหวัดตราด

สำหรับทางภาคพื้นดินนั้น ฝรั่งเศสได้เคลื่อนกำลังทหารเข้าประชิดชายแดนไทยที่ป้อมสำโรง ด้านอรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี, ที่เสียมราฐ ด้านจังหวัดสุรินทร์, ที่ปากเซ ด้านจังหวัดอุบลราชธานี, ที่สุวรรณเขต ด้านจังหวัดมุกดาหาร, ที่เวียงจันท์ ด้านจังหวัดหนองคาย และด้านเมืองท่าแขก ตรงข้ามกับอำเภอเมืองนครพนม

ในวันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน 2483 มีชาวไทยผู้หนึ่ง ชื่อนายจันทา สินทระโก ได้ถูกทหารญวนยิงตายที่กรุงเวียงจันท์ เพราะไม่มีหนังสือเดินทางแสดงการผ่านแดน เรื่องนี้รัฐบาลไทยได้ประท้วงไป แต่ก็ไม่ได้คำตอบ เพื่อเป็นการปฏิบัติตามภารกิจของการป้องกันภัยทางอากาศ กองทัพอากาศได้จัดส่งเครื่องบินไปประจำที่สนามบินจังหวัดอุดรธานี ในปลายเดือนกันยายน

วันอังคารที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2483 กระทรวงกลาโหมได้ส่งกำลัง 3 เหล่าทัพเข้าป้องกันรักษาชายแดนทางกองทัพภาคอีสาน มี พ.อ.หลวงเกรียงศักดิ์พิชิต (ยศขณะนั้น) เป็นแม่ทัพ พ.อ.ผิน ชุณหะวัณ เป็นรองแม่ทัพ มีกองบัญชาการตั้งอยู่ที่จังหวัดสุรินทร์

สำหรับด้านนครพนมนั้น มีกองร้อยทหารราบจากจังหวัดอุดรธานี โดยมี ร.อ.อรุณ อุบลบาน เป็นผู้บังคับกองฯ และมีเครื่องบินตรวจการณ์มาประจำอยู่ เพื่อสนับสนุนกำลังทางบกและป้องกันการล่วงล้ำอธิปไตยน่านฟ้าไทย

ต่อมาวันอังคารที่ 8 ตุลาคม พล.ต.หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ได้ขอมติสนับสนุนการเรียกร้องดินแดนไทยคืน คราวที่เสียให้แก่ฝรั่งเศสไปเมื่อ ร.ศ. 112 ยุวชนทหารและยุวนารีได้ร่วมเดินขบวน และไปกล่าวคำปฏิญาณต่อพระแก้วมรกต และร่วมชุมนุมกันที่หน้ากระทรวงกลาโหม นับว่าเป็นการเดินขบวนครั้งใหญ่ที่สุด หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

คนไทย ประท้วง กรณีพิพาทอินโดจีน สงคราม ฝรั่งเศส โจมตี ไทย ที่ นครพนม
บรรดาครู นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ และประชาชนในจังหวัดพระนครและธนบุรี ร่วมหลายหมื่นคนเดินขบวนแห่เรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส กำลังชุมนุมหน้ากระทรวงกลาโหม วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2483 (ภาพจากหนังสือ ไทยสมัยสร้างชาติ)

วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 นายเรืออากาศตรี ศานิต นวลมณี ได้รับคำสั่งให้จัดเครื่องบินไปรักษาการณ์ที่นครพนม ลูกทัพฟ้าทั้งหมดจัดแจงเตรียมเครื่องบินและอาวุธ ตลอดทั้งเครื่องใช้ส่วนตัวทันที

จ.อ.ประยูร สุกุมลจันทร์ ถูกสั่งให้ทำหน้าที่พลประจำปืนหลัง ประจำเครื่องบินของนายเรืออากาศตรีศานิต

เสียงเครื่องบินดังกระหึมกึกก้อง นาทีต่อมาก็ค่อย ๆ ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าทีละลำสองลำจนครบจำนวน หลายนาทีผ่านไป เส้นสีขาวใหญ่ส่องประกายระยิบระยับปรากฏอยู่เบื้องล่าง อันเป็นเครื่องหมายแสดงให้รู้ว่า เข้าสู่เหนือลำแม่น้ำโขงแล้ว อีกไม่ช้าก็จะถึงจังหวัดนครพนม ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำสายนี้

ครู่ต่อมาภาพที่ปรากฏอยู่เบื้องล่างคือ แผ่นดินสองประเทศที่กำลังบาดหมางกัน ตามกระแสความผันผวนของบ้านเมือง ทั้ง ๆ ที่ราษฎรที่อยู่อาศัยยังคงรักใคร่ปรองดองกันเช่นพี่เหมือนน้องหาได้มีเรื่องโกรธเคืองเป็นการส่วนตัวไม่

ไม่นานนักนักบินก็สามารถเห็นตัวเมืองนครพนมได้แจ่มชัด จึงลดเพดานบินลง แล้วร่อนลงสู่สนามบินนครพนมตามลำดับ ครั้นเครื่องบินเงียบเสียงลง เสียงไชโยโห่ร้องของชาวเมืองได้ดังมาแทนที่ ในยามที่ทุกคนพากันอกสั่นขวัญหายเช่นนี้ พวกทหารอากาศมิต่างกับเทวดาที่เหาะลงมาจากฟ้าลงมาโปรด เพื่อปกป้องคุ้มกันภัยให้พวกเขา เสียงทักทาย เสียงหัวเราะดังเซ็งแช่ไปทั่วบริเวณ บ่งบอกถึงความปลื้มปีติกันทุกคน พ.ต.ขุนทะยานรอนราญ (วัชระ วัชรวิบูลย์) ข้าหลวงเมืองนครพนม และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มายืนให้การต้อนรับอย่างสมเกียรติ

รุ่งขึ้น วันพุธที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 เรื่องอาหารการกินของเหล่าทหารอากาศมีอยู่อย่างสมบูรณ์ ทั้งของที่ทหารอากาศนำมาเอง รวมกับของจากน้ำใจพี่น้องชาวนครพนมด้วย หลังจากนั้นทหารทุกคนเตรียมพร้อมอยู่ประจำเครื่องของตน เพื่อจะได้ปฏิบัติการได้ทันท่วงที หากมีเครื่องบินข้าศึกล่วงล้ำเขตน่านฟ้าไทยเข้ามา ปรากฏว่าตลอดเช้านั้น เหตุการณ์สงบเรียบร้อยดี

จนใกล้เที่ยง นายเรืออากาศตรีศานิตชวนจ่าประยูรไปเที่ยวในเมืองนครพนม ซึ่งอยู่ห่างไกลจากสนามบิน 2 กิโลเมตร โดยขึ้นรถจักรยานสามล้อไปลงที่ตลาด เพื่อจะรับประทานอาหารก่อน ทันทีที่ก้าวแรกเหยียบย่างเข้าร้านอาหาร เสียงเครื่องบินก็ดังมาแต่ไกล ความเคยชินกับเสียงเครื่องยนต์ ทำให้ลูกทัพฟ้าเข้าใจได้ทันทีว่า เสียงนั้นไม่ใช่เสียงเครื่องบินของไทย จ่าประยูร ร้องบอกไปว่า เสียงเครื่องบินฝรั่งเศส นายเรืออากาศตรีศานิตพยักหน้าตอบว่า เป็นเครื่องบินตรวจการณ์

ในทันทีที่จบประโยค นายเรืออากาศตรีศานิตเผ่นพรวดไปที่รถจักรยานสองล้อที่จอดอยู่หน้าร้านอาหาร คว้าขึ้นขี่พุ่งตรงไปยังสนามบินอย่างรวดเร็ว ฝ่าย จ.อ.ประยูร เหลียวซ้ายแลขวามองไม่เห็นพาหนะอื่นที่จะอาศัยไปได้ เลยตัดสินใจวิ่งด้วยเท้าอย่างเร่งรีบ อาศัยการวิ่งลัดตัดทาง ลูกทัพฟ้าทั้งสองได้ไปถึงสนามบินในเวลาไล่เลี่ยกัน

ท้องฟ้าเหนือเมืองนครพนมมีเครื่องบินรูปร่างคล้ายเบร์เก้ บินวนเวียนไปมาอยู่หลายเที่ยว ดูจากความเร็วและเพดานบิน สันนิษฐานว่าไม่มาประสงค์ร้าย นอกจากสำรวจถ่ายภาพสถานที่ราชการในนครพนม

พ.อ.อ.ทองใบ พันธุ์สบาย ผู้บังคับหมวดจากฝูงบินพิบูลสงคราม นำเครื่องหัวถาดคอร์แซร์ หรือแบบ 23 ไล่ตามขึ้นไปก่อน และยิงกระสุนกราดไป 21 นัด แต่เครื่องบินฝรั่งเศสลำนั้นลดระยะต่ำหลบ ขณะเดียวกันเครื่องบินของนายเรืออากาศตรีศานิตขึ้นตามไป ตรงไปที่ทิศทางเครื่องบินข้าศึก ทันกันที่เบื้องหน้า จ.อ.ประยูรได้ทำการยิงปืนผ่านใบพัดตนเองไป 23 นัด ไม่ปรากฏผล เครื่องบินฝ่ายตรงข้ามหายเข้าไปในกลีบเมฆ และใช้ป่ากับเทือกเขาอันยาวเหยียดหลบหนีไป นายเรืออากาศตรีศานิตเข้าใจว่า ด้านหลังเมืองท่าแขกคงจะมีสนามบินข้าศึก จึงบินตรวจดูรอบ ๆ บริเวณไม่พบสิ่งใดผิดสังเกต เลยบินกลับสู่ฐานที่นครพนมพบเครื่องบินของ พ.อ.อ.ทองใบกลับมาถึงก่อนเล็กน้อย

ในวันนั้นชาวนครพนมพากันมายืนดูและเห็นเหตุการณ์โดยตลอด และเกิดความอุ่นใจในอานุภาพของกำลังทัพฟ้าไทย ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็มีเสียงเล่าลือกันว่า เครื่องบินฝรั่งเศสไม่กล้าสู้เครื่องบินไทย

ลูกทัพฟ้าไม่เคยประมาทฝ่ายตรงข้ามและคิดว่าคงต้องมีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้นแน่ แต่เมื่อใดนั้นไม่มีใครสามารถจะตอบได้ คืนนั้นทุกคนได้ย้ายที่นอนมานอนใต้ปีกเครื่องบิน เผื่อฉุกเฉินจะได้ปฏิบัติการได้ทันที และสั่งให้มีการพรางแสงไฟกันอย่างเคร่งครัด แต่ตลอดคืนไม่ปรากฏมีวี่แววข้าศึก

เช้ามืดวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 ความหนาวเหน็บจับขั้วหัวใจ ผสมกับความตื่นเต้น ทำให้พวกลูกทัพฟ้าหลับได้ไม่สนิทนัก พอแสงทองเริ่มจับขอบฟ้า นายเรืออากาศตรีศานิตมองหาข้าศึกไม่เห็นมา จึงชวน จ.อ.ประยูรขึ้นตรวจการณ์ที่สุวรรณเขตที่ตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง อยู่ตรงข้ามกับมุกดาหาร เผื่อจะพบเครื่องบินข้าศึกไปจอดพักอยู่ ตลอดเวลาที่บินค้นหาเครื่องบินข้าศึกไม่ปรากฏพบมีที่ใดแปลกปลอมผิดสังเกตนอกจากทางด้านทิศตะวันออกของตัวเมืองสุวรรณเขต มีลานสร้างใหม่สภาพไม่สู้เรียบร้อย

ขณะที่เครื่องบินไทยบินวนเวียนอยู่เหนือสนาม เจ้าหน้าที่สนามข้างล่างคิดว่าพวกเดียวกัน จึงก่อไฟให้เห็นทิศทางลง แต่นายเรืออากาศตรีศานิตหาสนใจไม่ คงวนเวียนอยู่สักครู่ค่อยตัดสินใจบินกลับ ระหว่างทางได้โฉบลงเยี่ยมเยือนพี่น้องในอำเภอมุกดาหาร ทำให้ทุกคนต่างพากันแหงนหน้าต้อนรับกันเป็นจำนวนมาก และแสดงความยินดีอย่างน่าปลื้มใจ

ทหารไทย ใน สงคราม อินโดนจีน หรือ กรณีพิพาทอินโดจีน
ทหารไทยใน สงครามอินโดจีน หรือ กรณีพิพาทอินโดจีน (ภาพจาก ไทยในสมัยสร้างชาติ ที่ระลึกฉลองวันชาติ, 2484)

เมื่อกลับมาลงสนามบินนครพนมเรียบร้อยแล้ว คุณหมอรื่น ณ พัทลุง ได้มายืนให้การต้อนรับอยู่ และชักชวนลูกทัพฟ้าทั้งสองไปรับประทานอาหารเช้าในเมือง โดยเข้าไปนั่งในร้านกาแฟของแป๊ะนำ ซึ่งตั้งอยู่ที่ท่าด่านตรวจคนเข้าเมืองริมแม่น้ำโขง อากาศเย็นสบาย มีลมพัดถ่ายเทอยู่ตลอดเวลา

ขณะนั้นเวลาประมาณ 2 โมงเช้า โดยคุณหมอรื่นได้นำไข่ไก่ และกาแฟมาให้ หูก็ได้ยินเสียงเครื่องกระหึ่มแว่วมาจากทางท่าแขก พอหันกลับไปมองตามทิศทางของต้นเสียง ก็พบเครื่องบินสปีดไฟเตอร์ของฝรั่งเศสจำนวน 5 ลำกำลังมุ่งตรงมา บินมาในระยะสูง 600 เมตร เข้ามาทางทิศใต้ของเมืองนครพนม

นายเรืออากาศตรีศานิตและคู่หูไม่รอช้า รีบกระโดดขึ้นรถสามล้อปั่นของนายปุ๋ยตรงไปที่สนามบิน ลูกทัพอากาศทั้งสองรีบขึ้นเครื่องประจำการทันที โดยมีนายปุ๋ยสารถีผู้รักชาติเป็นคนช่วยเปิดประตูโรงเก็บและหมุนใบพัดเครื่องบินให้ ในเวลาเดียวกันนักบินคนอื่น ๆ ก็วิ่งเข้าประจำเครื่องบินของตนเช่นกัน แต่เครื่องนายเรืออากาศตรีศานิตซึ่งเพิ่งดับเมื่อกี้ยังอุ่นอยู่ จึงหมุนติดได้ง่ายและเริ่มวิ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าก่อนเป็นลำแรก

วินาทีนั้นข้าศึกได้ทิ้งระเบิดลงมาลูกหนึ่ง ทำให้เครื่องบินอีก 3 ลำที่จอดอยู่บนลานสนามบินถูกระเบิดเสียหาย คลังน้ำมันถูกไฟไหม้ น้ำมันเชื้อเพลิงจำนวน 300 ปี๊บ ปี๊บละ 20 ลิตรถูกระเบิดเสียหายเกลี้ยง

ฝ่ายนายเรืออากาศตรีศานิตขับเครื่องขึ้นไป เห็นเครื่องบินที่เคยมาเมื่อวานนี้ โผล่หน้ามาทางท่าแขก จึงปรี่เข้าใส่ทันที จ.อ. ประยูรบรรจุปืนกลหลังอย่างรอบคอบและพร้อมที่จะยิงทุกเวลา เครื่องบินไทยถูกเร่งความเร็วถึงขีดสุดดุจธนูหลุดจากแหล่ง ข้าศึกเห็นลูกทัพฟ้าไทยเอาจริง จึงเบนหัวกลับหนีไปหาภูเขา แต่เครื่องบินตามติดอย่างกระชั้นชิดเข้าไปทุกที

“เอาข้างเข้าเทียบ” จ.อ.ประยูรตะโกนบอก เพื่อจะได้ยิงถนัด นายเรืออากาศตรีศานิตตอบมาว่า “ขอให้อั๊วปล่อยสักก่อนหมู่เถอะ” เพื่อนคู่หูไม่ได้โต้แย้งและพร้อมที่จะยิงอยู่เสมอ ไม่ช้าก็เร็ว

ขณะนั้นเองเครื่องบินขับไล่ข้าศึกชนิดโมราน จำนวน 5 ลำ โผล่ออกมาจากซอกเขา พุ่งเข้าใส่เครื่องบินไทยทันที

“หลงกลมันเสียแล้ว” ลูกทัพฟ้าไทยทั้งสองตะโกนเกือบพร้อมกัน จ.อ.ประยูรเหลียวไปดูทางนครพนม มองเครื่องบินไทยที่จะมาช่วย แต่เจ้าประคุณเอ๋ย ยังหมุนเครื่องไม่ติดเลย เมื่อหมดที่พึ่งจึงคิดว่าจะสู้หรือหนี เพราะข้าศึกยังอยู่ห่าง แต่ด้วยเกียรติศักดิ์ของทหารอากาศไทยที่องอาจกล้าหาญ มีหรือจะหนีศัตรู สู้ยอมพลีชีวิตเพื่อชาติมิดีกว่าหรือ? แม้ข้าศึกจะมีสมรรถภาพดีกว่า และจำนวนมากกว่าถึง 1 ต่อ 5 เมื่อเป็นทหารอากาศไทยต้องสู้

จ.อ.ประยูรรีบหันปืนเล็งที่หมายทันที พอได้ระยะก็ปล่อยกระสุนไปให้ข้าศึก 1 หมู่ ทันใดนั้น โมรานทั้ง 5 ลำของข้าศึกก็แยกหมู่ออก แล้วเข้ารุมเล่นงานเครื่องบินไทย ยุทธการทางอากาศดำเนินไปอย่างดุเดือด แต่เป็นการต่อสู้แบบ 1 ต่อ 5 ซึ่งมีทั้งซ้าย ขวา หน้า หลัง

เครื่องบินข้าศึกระเบิดกระสุนปืนขนาด 20 ม.ม. เป็นชุด ๆ ดังกึกก้อง แล้วดึงเลี้ยวขึ้นไป ช่วงจังหวะตอนเลี้ยวขึ้น มักเปิดจุดอ่อนที่ท้องอันกว้างใหญ่ให้เสมอ นายเรืออากาศตรีศานิตไม่รอช้าฉวยโอกาสทองนี้ปล่อยกระสุนออกไปประมาณ 4-5 หมู่ ถูกเครื่องบินข้าศึกลำหนึ่งอย่างถนัดถนี่ ทำให้เสียการทรงตัวม้วนลงสู่พื้นดินทันที เสร็จไปแล้วหนึ่ง

แต่ทหารอากาศไทยไม่มีเวลาดูเครื่องบินเคราะห์ร้าย เพราะกระสุนปืนข้าศึกอีก 4 ลำยังคอยพิฆาตอยู่ แต่ถ้าบินเข้ามาทางด้านหน้า นายเรืออากาศตรีศานิตก็จะส่งกระสุนปืนกลหน้าเข้าทักทาย หากบินเข้ามาทางด้านหลัง จ.อ.ประยูรก็จะใช้ปืนกลหลังโบกอำลา แท่นปืนอันหนักถูกหมุนไปมาอย่างคล่องแคล่วนานอยู่ราว 15 นาที

จนกระทั่งมีเครื่องบินข้าศึกบินเข้ามาสู่เป้าปืนกลหลัง ทำให้ จ.อ.ประยูรมิรอช้า สาดกระสุนเข้าไปทักทายฝ่ายตรงข้าม แชะ…แชะ เสียงปืนลั่นฟรี

พลปืนหลังสะดุ้งโหยง ปืนติดเสียแล้วหรือนี่? จ.อ.ประยูร บอกกับตัวเองเพื่อความรอบคอบ จึงล้มลงมองจานกระสุนทันที คุณพระช่วย กระสุนหมดจาน ด้านประสบการณ์ที่มีมานาน นายเรืออากาศตรีศานิตผ่อนเครื่องยนต์ช่วย เพื่อสะดวกในการเปลี่ยนจานกระสุน

ขณะนั้นเครื่องบินไทยได้บินอยู่เหนือจังหวัดนครพนมแล้ว เพื่อความปลอดภัย นายเรืออากาศตรีศานิตขับเครื่องบินเข้าหาที่ตั้ง ปตอ.ของไทย เพื่อช่วยยิงสกัดข้าศึกไว้ พอผ่านพ้นกรวยกระสุน ปตอ. ที่ภาคพื้นดิน ม.ล.ขาบ กุญชร ณ อยุธยา ผู้บังคับการปืนต่อสู้อากาศยานได้ยิงปืนใหญ่ขึ้นขับไล่ ทำให้ข้าศึกทางด้านฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขงยิงปืนเล็กยาวและปืนกลโต้ตอบกลับมา วิถีกระสุนปืนนัดหนึ่งยิงมาถูกที่หัวเข่าข้างซ้ายของยุวชนทหารสุกรี วรวงศ์ ขณะที่วิ่งเข้าประจำสนามเพลาะ ล้มลงที่ข้างกอไผ่ แต่บาดแผลไม่ฉกรรจ์

เวลาเดียวกันนั้นเองเครื่องบินขับไล่ของไทยก็ขึ้นจากสนามได้ และบินเข้าขัดขวางข้าศึกมิให้มาทำร้ายเครื่องบินของนายเรืออากาศตรีศานิตได้

ยุทธการบนอากาศระหว่าง 4 ต่อ 2 ดำเนินอย่างดุเดือด สักครู่หนึ่ง พอนายเรืออากาศตรีศานิตเปลี่ยนจานกระสุนเสร็จเรียบร้อย จึงบินเข้าไปสมทบ ทำให้กลายเป็นการสู้รบแบบ 4 ต่อ 3 ถึงกระนั้น ข้าศึกก็หวาดหวั่นในความกล้าหาญของนักบินไทย จึงได้แตกหมู่บินหนีกลับไป

แต่ทว่าในเช้าวันนั้นเครื่องบินฝรั่งเศสก็ได้ทิ้งระเบิดลงมาสร้างความเสียหายแก่นครพนมไม่น้อย อำนาจระเบิดลูกแรกได้ทำลายโรงสีข้างวัดโอกาส และโรงแรมสุขสบาย (ปัจจุบันกลายเป็นที่ตั้งของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ)

ระเบิดลูกที่ 2 ตกลงที่สถานีตำรวจเมืองนครพนม ทำให้เจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 3 นาย และยังตกลงที่ท้ายเมือง มีชาวบ้านบาดเจ็บ 3 คน

ค่ำคืนวันนั้น เวลา 20.00 น. วิทยุกระจายเสียงกรมโฆษณาการ กรุงเทพฯ ได้ประกาศว่า ให้ชาวฝรั่งเศสทุกคนที่อยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ออกไปจากประเทศ ไทยภายใน 24 ชั่วโมง

กรณีพิพาทอินโดจีน นครพนม ศาลากลาง ถูก ระเบิด จาก ฝรั่งเศส สงครามอินโดจีน
ศาลากลางจังหวัดนครพนม (หลังเก่า) ที่ถูกยิงจนพรุน ในช่วง สงครามอินโดจีน (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2540)

เช้าวันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2483 เจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองนครพนมได้ยกกำลังมาที่วัดนักบุญอันนา (คริสต์จักรหนองแสง) เชิญพระสังฆราชแกวง คุณพ่อมาลทาล คุณพ่อเฟรช และคุณแม่ซีลนี้ไปยังสถานีตำรวจ และสั่งให้ออกไปจากประเทศไทย ตั้งแต่เช้าวันนั้น ทั้งนี้รัฐบาลไทยมีความประสงค์ให้ชาวไทยทุกคนกลับมานับถือพุทธศาสนา ทำให้โบสถ์คริสตั้งในนครพนมถูกปิดหมดเป็นเวลาหลายปี

การสู้รบระหว่างไทยกับอินโดจีน ฝรั่งเศส กองบัญชาการทหารสูงสุดได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันภัยทางอากาศในทุกจังหวัดที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก มีการให้พรางไฟในอาคารบ้านเรือน หลุมหลบภัยยังใช้ขุดร่องคูลักษณะสนามเพลาะ ไม่ได้เข้มงวดรัดกุมอะไร เพราะไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบทางการรบอยู่ในระยะนี้ กองทัพอากาศได้ป่าวประกาศให้ประชาชนมั่นใจในฝีมือสามเสืออากาศคือ นายเรืออากาศตรีศานิต นวลมณี พ.อ.อ.ทองใบ พันธุ์สบาย และ จ.อ.ประยูร สุกุมลจันทร์ แห่งกองบินพิบูลสงคราม

วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2483 เวลา 05.45 น. เครื่องบินฝรั่งเศสได้มาทิ้งระเบิดที่มุกดาหารจำนวน 14 ลูก นายเรืออากาศตรีจวน สุขเสริมได้นำเครื่องบินขึ้นสกัดข้าศึกที่ลอบบินเข้ามา แต่ได้ถูกข้าศึกยิงตกที่บริเวณบ้านตาดทองถึงแก่กรรม

วันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2483 รัฐบาลไทยถอนทูตฝรั่งเศสออกไปจากประเทศไทย เนื่องจากพันเอกปิซอง ทูตทหารฝรั่งเศสมีพฤติการณ์อันไม่เหมาะสม โดยได้แสดงมรรยาทล่วงเกินต่อนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของไทย

วันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม เวลา 14.50 น. เครื่องบินฝรั่งเศส 1 ลำ ได้บินมาตรวจการณ์เหนืออำเภอมุกดาหาร (ขณะนั้นขึ้นกับนครพนม) ค่ำคืนนั้น เวลา 21.00 น. เครื่องบินฝรั่งเศส 1 ลำ ได้มาทิ้งระเบิดที่ตัวเมืองนครพนมจำนวน 14 ลูก

ต่อมาเวลา 22.05 น. ก็ได้บินเข้ามาทิ้งระเบิดอีก 3 ลูก แต่ได้ถูกปืนต่อสู้อากาศยานของไทยยิ่งตก โดยมีชาวบ้านเห็นเครื่องบินดิ่งหัวลงในป่าทิศใต้ของเมืองท่าแขกห่างไปประมาณ 800 เมตร หักพังยับเยิน เข้าใจว่านักบินเสียชีวิต ส่วนไทยได้รับความเสียหายจากการถูกทิ้งระเบิดวันนั้นแค่เล็กน้อย

วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2483 เวลา 16.21 น. ฝ่ายฝรั่งเศสที่อยู่เมืองท่าแขกได้ใช้ปืนต่อสู้อากาศกับปืนใหญ่ ปืนกล ปืนเล็ก ระดมยิงด้วยกระสุนปรัมแบปมายังฝั่งไทยราว 120 นัด กองทหารไทยจึงได้ใช้ปืนใหญ่และปืนกลยิ่งโต้ตอบไปส่งผลให้ฝ่ายฝรั่งเศสยุติการยิงเมื่อเวลา 17.00น.

วันอังคารที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2483 ฝ่ายฝรั่งเศสได้ใช้ปืนใหญ่ยิงข้ามฟากจากเมืองท่าแขก มายังเมืองนครพนมจำนวน 8 ลูก แต่ไม่มีผู้ใดได้รับอันตราย อีกทั้งยังไม่มีสิ่งใดได้รับความเสียหาย ฝ่ายไทยได้ใช้ปืนใหญ่ยิงตอบกลับไป 11 ลูก ทำให้ฝ่ายตรงข้ามมีทีท่าสงบลง

วันเสาร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2483 เวลา 08.00 น. เครื่องบินฝรั่งเศสได้ทิ้งระเบิด 2 ลูกมาลงที่เมืองนครพนม แล้วก็บินกลับไป

วันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2484 เวลา 01.05 น. หน่วยทหารอินโดจีนฝรั่งเศสประมาณ 10 คน ใช้เรือชะล่าข้ามแม่น้ำโขงมาจากปากหินบูร เพื่อลอบเข้ายึดที่ว่าการอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ณ ที่นั้น ไทยได้ขุดสนามเพลาะไว้ต้านทานข้าศึก และมีราษฎรเป็นยามอากาศในบังคับบัญชาของนายจรูญ เกษมสินทธุ์ 3 นาย

ต่อจากยามอากาศไปทางทิศใต้ราว 200 เมตร มียามราษฎร ข้าศึกได้เข้ามาตรงที่ราษฎรเป็นยามอยู่ โดยมีนายทหารฝรั่งเศสเป็นผู้บังคับบัญชา ส่วนนายสิบพลทหารมีทั้งแขกโมร็อกโกและญวน ได้จับเอาชาวบ้าน 3 คนไปเป็นเชลย คือ นายติง สุวรรณมาโจ, นายสา อุณาพรม, นายแผ้ว บุพศิริ (ถูกจับไปขังนานประมาณ 6 เดือนจึงปล่อยกลับมา) คงเหลือ 2 คนวิ่งหนีกลับมาทางทิศเหนือ เพื่อส่งข่าวแก่ยามอากาศ

นายแผ้ว บุพศิริ เฉลย ใน สงครามอินโดจีน
นายแผ้ว บุพศิริ 1 ใน 3 คนไทยที่ถูกตับไปเป็นเชลย ใน สงครามอินโดจีน (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2540)

ขณะนั้นข้าศึกได้ติดตามราษฎรมาอย่างกระชั้นชิด จนถึงที่ตั้งยามอากาศซึ่งมีนายจรูญ เกษมสินทธุ์ เป็นผู้บังคับบัญชา จึงเกิดการต่อสู้กันขึ้น แต่นายจรูญหัวหน้าป้อมยามอากาศอาสาสมัครถูกรุมแทงด้วยอาวุธสั้นตายคาที่ ยามอากาศคนอื่นเห็นสู้ไม่ไหว ก็วิ่งมาส่งข่าวแก่ ส.ต.ท.หนู ไชยบุรี

ส.ต.ท.หนู ไชยบุรีเป็นหัวหน้าได้ใช้ปืนยิงต่อสู้ต้านทานข้าศึกเต็มความสามารถ แต่ได้ถูกข้าศึกใช้ปืนกล ปืนเล็กและลูกระเบิดขว้างโจมตีหมู่รักษาการณ์ตำรวจอย่างรุนแรง จนพลตำรวจบางนายได้ขอร้องให้ ส.ต.ท.หนู ไชยบุรีสั่งถอย

แต่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์หนูเห็นว่า ถ้าจะถอยไปก็จะทำให้ข้าศึกบุกรุกต่อไป จนยึดที่ว่าการอำเภอท่าอุเทนได้สะดวก จึงตกลงใจสู้อยู่ ณ ที่นั้นจนถึงที่สุด ขณะนั้น ส.ต.ท.หนูถูกกระสุนปืนยิงบาดเจ็บสาหัสมาก ต่อมาก็ถูกข้าศึกขว้างระเบิดเข้าใส่จนถึงแก่ความตายอยู่ในสนามเพลาะนั้นเอง

เมื่อ ส.ต.ท.หนู ไชยบุรีได้เสียชีวิตแล้ว พลตำรวจที่รักษาการณ์อยู่เห็นว่าคงสู้ต่อไปไม่ไหวแน่ จึงพากันล่าถอยไปทางหลัง ทำให้ข้าศึกเกิดความไม่แน่ใจ เกรงจะเป็นกลอุบายจากกำลังที่แอบซุ่มอยู่โจมตี เลยพากันล่าถอยหลังไป โดยได้หอบหิ้วเอาหัวหน้าข้าศึกถูกยิงบาดเจ็บกลับไปด้วย

กองทัพไทยได้รุกเข้าไปพร้อมกันหลาย ๆ ด้าน ทำให้สามารถยึดดินแดนกลับคืนมา 2 พื้นที่ คือ ด้านจังหวัดพระตะบอง เสียมราฐและศรีโสภณ อันเป็นพื้นที่จุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง

สงครามอินโดจีน ฝรั่งเศสได้สงบลงด้วยข้อตกลงพักรบ เมื่อญี่ปุ่นเข้ามาเป็นผู้เจรจาไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ตกลงทำสัญญาเลิกรบกันที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2484 โดยรัฐบาลไทยได้แต่งตั้ง พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร เป็นหัวหน้าคณะกรรมการไปเจรจาสันติภาพ ณ กรุงโตเกียว ซึ่งทำให้ไทยได้ดินแดนอินโดจีนคืนมาจากฝรั่งเศส

รัฐบาลได้แต่งตั้งนายควง อภัยวงศ์เป็นประธานกรรมการรับมอบดินแดนคืนจากรัฐบาลฝรั่งเศส ดินแดนที่ได้กลับคืนมาครั้งนี้ รัฐบาลไทยได้แบ่งออกเป็น 4 จังหวัด คือ พระตะบอง พิบูลสงคราม จำปาศักดิ์ และลานช้าง

แต่ชาวไทยได้ชื่นชมยินดีกับดินแดนที่ได้กลับคืนมาไม่นานนัก เมื่อฝรั่งเศสพลิกสถานการณ์เป็นฝ่ายชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงมีเสียงทางการเมืองระหว่างประเทศมาก ฝรั่งเศสจึงบีบบังคับให้ไทยต้องคืนดินแดนดังกล่าวกลับไปให้ฝรั่งเศสอีก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “28 พฤศจิกายน 2483 วันฝรั่งเศสถล่มนครพนม” เขียนโดย เจริญ ตันมหาพราน ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2540


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 พฤษภาคม 2565