กองทัพไทยจัดกําลังพลไปรบในสงครามมหาเอเชียบูรพา

กองทหารไทยเดินผ่านประตูชัยนครเชียงตุง (ภาพจาก ศรีกรุง 6กันยายน 2485)

เมื่อญี่ปุ่นขยายอิทธิพลในทวีปเอเชีย ด้วยการบุกเข้ายึดครองแมนจูเรีย (พ.ศ. 2476) และทำสงครามกับประเทศจีน (พ.ศ. 2480) ทำให้ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ จีน และเนเธอร์แลนด์ ตอนจนประเทศมหาอำนาจอื่นที่มีอิทธิพลในเอเชียขณะนั้นไม่พอใจ จึงได้ร่วมมือกันปิดล้อมญี่ปุ่นทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ญี่ปุ่นเกิดภาวะขาดแคลนวัตถุดิบและเสบียงอาหาร

ญี่ปุ่นจำเป็นต้องผ่าแนวล้อมดังกล่าวของชาติประเทศมหาอำนาจ ด้วยการถ่วงดุลกับเหล่ามหาอำนาจในเอเชีย ด้วยการทำสัญญาไตรภาคีกับเยอรมนีและอิตาลี (27 กันยายน พ.ศ. 2483) แผนการของกองทัพญี่ปุ่น คือยกกำลังทหารเข้ารุกและขยายอำนาจลงไปทางใต้ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก

Advertisement

โดยมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่ประเทศไทย เนื่องจากเป็นประเทศเดียวที่รักษาเอกราชไว้ได้และตั้งอยู่ศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากญี่ปุ่นจะเข้าโจมตีประเทศอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศสโดยตรงถือเป็นเรื่องยากเพราะจะถูกตั้งรับอย่างเหนียวแน่น การยกกำลังทหารผ่านประเทศไทยเพื่อเข้าโจมตีพม่า อินเดีย มลายู และสิงคโปร์จึงเป็นหนทางที่ดีที่สุด

วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ทหารญี่ปุ่นยกกำลังเข้าสู่ประเทศไทยทั้งทางบกและทางทะเล เกิดการปะทะกันระหว่างทหารไทยกับทหารญี่ปุ่นในหลายจังหวัดทางภาคใต้ สุดท้ายรัฐบาลไทยตกลงเป็นพันธมิตรร่วมรบกับกองทัพญี่ปุ่น ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2485

เมื่อรัฐบาลไทยประกาศสงครามกับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร ก็ถูกบังคับให้ต้องใช้กำลังทหารสนับสนุนปฏิบัติการรบของกองทัพญี่ปุ่น โดยให้เคลื่อนกำลังทหารของกองทัพบกไทยเข้าไปยึดเชียงตุงเพื่อเป็นฝ่ายรักษาแนวเขตด้านพม่าซึ่งเป็นดินแดนที่อังกฤษปกครองอยู่ นอกจากนี้การลงนามในหลักการร่วมยุทธระหว่างไทยกับญี่ปุ่น (14 ธันวาคม พ.ศ. 2484) ที่มีสาระสำคัญ คือให้กองทัพบกไทยรับผิดชอบการยกกำลังเข้ายึดชายแดนไทย-พม่า พร้อมทั้งรักษาชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกในภาคใต้ของไทย

วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2484 รัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่นร่วมลงนามในสัญญาเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการที่เรียกว่า กติกาสัญญาพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น ทำให้กองทัพไทยต้องจัดเตรียมกำลังรบอย่างเร่งรีบ เวลานั้นกองทัพไทยเพิ่งเสร็จจากสงคราม (สงครามพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศศ) เพียง 7 เดือน ยุทโธปกรณ์ของหลายหน่วยอยู่ในระหว่างการซ่อมแซม กองทัพไทยต้องรีบดำเนินการจัดกองทัพ โดยแบ่งกำลังออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ กองทัพพายัพ, กองหนุนทั่วไป และหน่วยรักษาดินแดนและคมนาคม

การจัดโครงสร้างกองทัพพายัพ กองทัพบกใช้มณฑลทหารบกที่ 4 นครสวรรค์ เป็นกองบัญชาการกองทัพพายัพ ซึ่งมณฑลทหารบกที่ 4 มีหน่วยขึ้นตรง 6 หน่วย ได้แก่ กองพันทหารราบที่ 28 นครสวรรค์, กองพันทหารราบที่ 29 พิษณุโลก, กองพันทหารราบที่ 30 ลำปาง, กองพันทหารราบที่ 31 เชียงใหม่, กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 10 นครสวรรค์ และกองพันทหารสื่อสารที่ 1 นครสวรรค์

ส่วนการบังคับบัญชาของกองทัพพายัพ ได้แต่งตั้งให้พลโท หลวง เสรีเริงฤทธิ์ เป็นแม่ทัพ มีกองบัญชาการกองทัพพายัพตั้งอยู่ที่สถานกงสุล อังกฤษ จังหวัดลำปาง (ช่วงแรกตั้งอยู่ที่นครสวรรค์) การวางโครงสร้างกองทัพพายัพ นอกจาก พลโท หลวงเสรีเริงฤทธิ์ เป็นแม่ทัพกองทัพพายัพ ตำแหน่งรับผิดชอบอื่นๆ ได้แก่ พลตรี หลวงไพรีระย่อเดช ผู้บัญชาการกองพลที่ 2 ตั้งที่จังหวัดเชียงใหม่, พลตรี ผิน ชุณหะวัณ ผู้บัญชาการกองพลที่ 3 ตั้งที่จังหวัดเชียงราย, พลตรี หลวงหาญสงคราม ผู้บัญชาการกองพลที่ 4 ตั้งที่จังหวัด ชียงราย, พันเอก ทวน วิชัยขัทคะ ผู้บัญชาการกองพลทหารม้า ตั้งที่จังหวัดเชียงราย

ต่อมากองทัพญี่ปุ่นร้องขอรัฐบาลไทยให้ดำเนินการส่งกำลังทหารเข้าปฏิบัติการในรัฐฉาน (เชียงตุง) นอกจากนี้ภารกิจของกองทัพบกไทยที่ได้รับมอบหมายจากการเป็นพันธมิตรร่วมรบกับกองทัพญี่ปุ่น คือการยกกำลังทหารรุกเข้าไปในพื้นที่ตอนเหนือสุดของแคว้นสหรัฐไทยเดิม (ไทยใหญ่) เพราะกองทัพญี่ปุ่นต้องการให้ไทยเป็นปีกขวาป้องกันข้าศึกในแนวหลังให้กองทัพญี่ปุ่นในพม่า เพราะในช่วงต้น พ.ศ. 2485 กองทัพจีนภายใต้การนำของจอมพล เจียง ไคเช็ก ได้รุกเข้ายึดแคว้นไทยเดิมเอาไว้ เมื่อกองทัพญี่ปุ่นต้องรุกเข้าไปในดินแดนพม่าจนถึงชายแดนอินเดีย แนวหลังของกองทัพญี่ปุ่นจะกลายเป็นจุดอ่อนให้กองกำลังทหารอังกฤษและกองกำลังทหารจีนสามารถเข้าโจมตีแนวหลังของกองทัพญี่ปุ่นได้

การเคลื่อนกำลังพลของกองทัพพายัพไปยังเมืองเชียงตุงต้องประสบปัญหาเดียวกันกับในสงครามพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส คือความไม่พร้อมของฝ่ายสนับสนุนการรบ ซึ่งในสงครามมหาเอเชียบูรพามีปัญหามากกว่า เพราะต้องเคลื่อนกำลังทหารระยะทางไกลเข้าไปในดินแดนต่างประเทศที่มีภูมิประเทศเป็นป่าเขาและสภาพอากาศแปรปรวน ทหารบางส่วนในกองทัพล้มป่วยลงจากการขาดเครื่องนุ่งห่มและยารักษาโรค

ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่ง คือการเคลื่อนกำลังหทารและลำเลียงยุทโธปกรณ์ ซึ่งขณะนั้นใช้ระบบลำเลียงเป็นยานยนต์ทั้งหมด แต่เส้นทางเคลื่อนกำลังทหารของกองทัพพายัพไปยังเมืองเชียงตุงมีแต่ภูมิประเทศเป็นป่าเขา ไม่มีเส้นทางคมนาคม ทำให้ไม่สามารถใช้ยานยนต์ได้ การเคลื่อนกำลังทหารต้องหยุดชะงักและเปลี่ยนวิธีการลำเลียงใหม่โดยใช้สัตว์แทน

วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2485 พลตรี ผิน ชุณหะวัณ ผู้บัญชาการกองพลที่ 3 เคลื่อนกำลังเข้ายึดเมืองเชียงตุง แต่หลังจากนั้นไม่นาน ทหารจำนวนมากเริ่มล้มป่วยด้วยโรคมาลาเรียและโรคบิดกว่าร้อยละ 30 ของทหารทั้งกองพล จนต้องส่งโทรเลขขอความช่วยเหลือไปยังกองบัญชาการกองทัพพายัพ เพื่อให้ส่งยาและเวชภัณฑ์มาให้ทหารที่เชียงตุง แต่ด้วยการขนส่งที่เป็นไปอย่างยากลำบากและล่าช้า ทำให้ทหารล้มป่วยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 ของทหารทั้งกองพล

ระหว่างการคงกำลังทหารยึดเมืองเชียงตุงของกองพลที่ 3 นอกจากทหารจะต้องเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บแล้ว ยังต้องประสบกับปัญหาการขาดแคลนเสบียง และเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งในช่วงแรกของการเคลื่อนกำลังทหารของกองพลที่ 3 จากจังหวัดนครราชสีมาไปยังจังหวัดลำปาง ทหารแต่ละคนได้รับแจกเครื่องแต่งกายเพียงชุดเดียว เนื่องจากในช่วงสงครามอินโดจีนได้เบิกเครื่องแต่งกายจนหมดคลัง

ในช่วง พ.ศ. 2487 กองทัพญี่ปุ่นที่ตั้งกำลังอยู่ทางตอนเหนือของพม่าและตอนเหนือของสหรัฐไทยเดิม ถูกกองทัพจีนสัมพันธมิตรเข้าตีจนต้องถอนกำลังทหารกลับเข้ามาตั้งในเขตแดนไทย เพื่อใช้เป็นฐานตั้งรับ เมื่อกองทัพญี่ปุ่นถอนกำลังมาตั้งในภาคเหนือของไทยมากขึ้น จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกคำสั่งให้กองกำลังในกองทัพพายัพ (กองพลที่ 2 และ 3) ซึ่งตั้งกำลังขัดตาทัพที่เมืองเชียงตุงถอนกำลังกลับเข้ามาที่เดิมในเชียงใหม่ เชียงราย และลำปาง เป็นอันสิ้นสุดการรบนอกประเทศของทหารไทย

 


ข้อมูลจาก

ปรัชญกรณ์ ลครพล. กองทัพคณะราษฎร, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2564


เผยแพร่ในระบบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2564