“ยุทธเวหา” แห่งสมรภูมิบ้านพร้าว ที่ทัพฟ้าไทยสอยบินรบฝรั่งเศสร่วง 2 ลำ

ในปี 2484 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารไทยและฝรั่งเศสปะทะกันบริเวณชายแดนทางภาคบูรพา จนกลายเป็นสงครามระหว่างทั้งสองชาติ สู่สมรภูมิที่รู้จักกันดีคือ “สมรภูมิบ้านพร้าว”

ด้านทหารบกของทหารไทยรบชนะฝรั่งเศสอย่างสง่างาม เป็นวีรกรรมที่น่าจดจำมากในประวัติศาสตร์ของทัพไทยยุคใหม่ที่สามารถทำให้กองทัพฝรั่งเศสอันเกรียงไกรพ่ายแพ้ย่อยยับ แต่อีกด้านหนึ่งนั้น กองทัพอากาศซึ่งก็ได้ต่อกรกับกองทัพอากาศของฝรั่งเศส ก็คว้าชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่มาเช่นกัน ยุทธเวหาครั้งนี้เกิดขึ้นในบริเวณบ้านพร้าว-บ้านยาง แถบอรัญประเทศ มี จอมพลอากาศ เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร เป็นนักบินขับไล่เข้าต่อสู้กับฝรั่งเศส ได้บันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ในครั้งนั้นไว้ดังนี้ (ไว้อาลัย. จอมพลอากาศ เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ 2 มิถุนายน 2503. โรงพิมพ์ทหารอากาศ, 2503)

“…ตลอดเวลาที่พวกเราทหารอากาศภาคบูรพา กำลังปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามราชศัตรูผู้ไร้ศีลธรรมและเต็มไปด้วยความหยิ่งยะโส ถึงอุกอาจรุกล้ำอธิปไตยของชาติอยู่นี้ ยังไม่มีคราวใดเลยที่เราจะได้ประลองฝีมือกันอย่างจริงจังเหมือนในครั้งนี้ ข้าพเจ้าก็ไม่นึกได้ฝันว่า จะมีโอกาสอันงดงามมาสู่ข้าพเจ้า เพราะใคร ๆ ก็ทราบกันแล้วว่า นักบินฝรั่งเศสไม่หาญพอที่จะมาประจัญหน้ากับเราทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน

ชะตาร้ายกำลังฝังตัวแน่นอยู่กับนักบินฝรั่งเศสและโอกาสดีเป็นของพวกเรา เขาพยายามกระทำตนเป็นโจรเที่ยงคืน ซึ่งคอยหาโอกาสเข้ามาในดินแดนเราในเวลาวิกาลเสมอ ยิ่งกว่านั้นยังพยายามหาโอกาสเข้ามาในเวลาหมู่บินของเราเริ่มออกเดินทางกลับจากเขตหน้ามาสู่สนามบินของเรา ฝรั่งเศสไม่กล้าเผชิญหน้ากับพวกเราอย่างมีเกียรติเลย และไม่ใช่แต่จะอ่อนแต่ความกล้าหาญเท่านั้น ฝรั่งเศสยังอ่อนในความคิด และมีความประมาทอีกด้วย

เขาหาคิดไม่ว่า เมื่อหมู่บินหมู่หนึ่งหมดหน้าที่ลงแล้วและจะเดินทางกลับ อีกหมู่หนึ่งจะต้องออกรับช่วงทันที และอย่าพึงคิดเลยว่า ในเวลาใกล้จะพลบค่ำนั้น นักบินไทยจะไม่สามารถออกปฏิบัติงานได้ แม้จะเป็นเวลาค่ำคืน พวกเราก็สามารถทำงานได้เสมอ…

จอมพลอากาศ เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร

จากผลการยุทธทางพื้นดินได้ผ่านพ้นมาแล้วประมาณ 7 วัน กองทัพภาคบูรพาในความร่วมมือของทหารอากาศก็สามารถทำการขับไล่ข้าศึกให้ถอยร่นกลับไปอย่างระส่ำระสาย ไม่มีระเบียบ เป็นเหตุให้ฝรั่งเศสเจ็บแค้นพวกเรามาก พยายามจะออกตีโต้ตอบในพื้นที่บริเวณบ้านยางและบ้านพร้าว เพื่อให้ได้เนื้อที่ ๆ เสียไปกลับคืนมา โดยใช้กองพันทหารต่างด้าวซึ่งมีสมรรถภาพเหนือกองพันอื่น ๆ จนได้รับธงชัยเฉลิมพล ซึ่งประดับประดาด้วยเหรียญหล้าหาญและเป็นที่เกรงขาม

แต่ครั้นแล้วก็ต้องมามอดม้วยด้วยฝีมือของนักรบไทบ เกือบทั้งกองพันต้องถูกเก็บตัวไว้ในหลุมฝังศพ คงทิ้งไว้แต่อาวุธยุทธภัณฑ์และธงชัยเฉลิมพล มีบางคนที่รอดชีวิตและถูกจับเป็นเชลยประมาณ 40 คน พวกนี้รู้ดีว่าภัยจะมาถึงตัว ประกอบกับนักรบไทยมีวัฒนธรรมสูง ฉะนั้นเพียงแต่ทหารต่างด้าวยกมือไหว้เราก็หยุดยิงด้วยความเต็มใจแล้วเชิญตัวกลับแนวหลังแต่โดยดี เราขอเรียกว่า “สุสานบ้านพร้าว” ณ ที่นี้…

จึงเมื่อ 24 ม.ค. 84 เวลา 17.20 ซึ่งเป็นเวลาที่พระอาทิตย์ใกล้อัสดง…แสงสีเลือดและสีหมากสุกอร่ามตา และเป็นเวลาที่เครื่องบินฝรั่งเศสชอบมาลอบทิ้งระเบิด ประจวบกับเครื่องบินแบบ 17 สามเครื่อง ในความควบคุมของนายเรืออากาศโท ชัย สุนทรสิงห์ หมดหน้าที่กำลังเดินทางกลับจากการรักษาเขตสู่สนามบินปราณบุรี เครื่องบินแบบ 18 สามเครื่องซึ่งข้าพเจ้าเป็นหัวหน้าหมู่ จ่าอากาศเอก ศักดิ์ อินทปุระ เป็นหมายเลข 2 จ่าอากาศเอก ลออ จาตกานนท์ เป็นหมายเลข 3 ขึ้นรับหน้าที่แทนทันที เรารับส่งหน้าที่กันทิศตะวันออกอรัญญประเทศ แล้วเราทั้งสามจึงมุ่งหน้าตรงไปบ้านยางเพื่อรักษาเขตตามแนวที่ได้รับมอบ…

10 นาทีให้หลัง เราทั้งสามกำลังอยู่เหนือบ้านยางในระยะสูงประมาณ 1000 เมตร ข้าพเจ้าให้สัญญาณลูกหมู่ขยายระยะต่อระยะเคียงประมาณ 30 เมตร เพื่อจะได้ให้ลูกหมู่ช่วยกันตรวจค้นที่หมายทั้งทางพื้นดินและทางอากาศ ส่วนข้าพเจ้ากวาดสายตาไปรอบ ๆ ข้างเพื่อค้นที่หมายเช่นเดียวกัน ทันใดที่ข้าพเจ้ากำลังค้นหา พลันก็ปรากฏเครื่องบินข้าศึก 3 เครื่อง กำลังบ่ายโฉมหน้าจากศรีโสภณมุ่งตรงมาบ้านยางในระยะสูงประมาณ 600 เมตร และอยู่ห่างจากหมู่บินของเราประมาณ 7 กิโลเมตร ข้าพเจ้าพยายามใช้ความพินิจพิเคราะห์ดูแต่ไกล เพราะเกรงว่าจะเป็นพวกเดียวกันเอง ในระหว่างเวลานี้ ข้าพเจ้าให้สัญญาณแก่ลูกหมู่เพื่อให้บินชิดเข้ามา จะได้ปฏิบัติการได้ทันท่วงที…

(ภาพประกอบ) เครื่องบินแบบ Potez 63.11 ในแอฟริกาเหนือ ราวปี 1943 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ในขณะนี้เครื่องบินเหล่านั้นบินใกล้เข้ามาทุกที เมื่อได้สังเกตดูแน่นอนแล้วจึงเห็นว่า เป็นเครื่องบินขับไล่ปีกชั้นเดียวของข้าศึก จึงได้ให้สัญญาณโจมตีทั้งหมู่ ลูกหมู่ทั้งสองเข้าใจและทราบความมุ่งหมายได้เร็วทันใจ เพียงแต่ขยับปีกเล็กแก้เอียงสองสามครั้ง แล้วกำมือชูขึ้นลงเหนือศีรษะเป็นสัญญาณประกอบชี้ให้ดู เขาก็พยักหน้ายิ้มรับคำแสดงว่าเข้าใจแล้วทุกประการ

จากการกระทำของฝรั่งเศสคราวที่แล้ว ทำให้ข้าพเจ้าหวนระลึกขึ้นมาได้ว่า นอกจากเครื่องบินขับไล่แล้ว ต้องมีเครื่องบินทิ้งระเบิดอีกเป็นแน่แท้ ข้าพเจ้าจึงมองหาเหยื่อชิ้นใหม่ต่อไป สมความคิดแล้ว เจ้าจงอาง (หมายถึงเครื่องบินทิ้งระเบิดของฝรั่งเศส – กองบก.ออนไลน์) สีคล้ำปีกสองชั้นไม่พับฐานเครื่องยนต์เดียว กำลังคืบคลานอย่างเชื่องช้าอยู่ข้างหน้าของเครื่องบินขับไล่ 3 เครื่องนั้นประมาณ 2 กิโลเมตร และอยู่ต่ำกว่าเครื่องบินขับไล่เล็กน้อย ขณะนั้นใกล้จะถึงบ้านยางอยู่แล้ว ส่วนหมู่บินของเราได้ผ่านเหนือเจ้าจงอางไปบ้าง แต่ยังไม่พ้นเครื่องขับไล่ของข้าศึก

ในวินาทีแรกที่ข้าพเจ้าแลเห็นมันกำลังจะถึงที่หมายนั้นเอง ประสาทได้กระตุ้นให้ข้าพเจ้าพลิกตัวลงตัดหน้าเครื่องบินขับไล่ข้าศึก แล้วลงตีเจ้าจงอาง “โปเตส์ 63” นั้นทันที คงทิ้งให้ลูกหมู่อีก 2 คน เผชิญหน้ากับเจ้าโมราน (หมายถึงเครื่องบินขับไล่ของฝรั่งเศส – กองบก.ออนไลน์) ลางร้ายได้ปรากฏขึ้นแก่หมู่เครื่องบินของข้าศึกแล้ว พอข้าพเจ้าพลิกตัวลงตัดหน้า เจ้าโมรานทั้ง 3 เครื่องนั้นก็ขวัญบินแตกกระจัดกระจายไป ซึ่งนับว่าผลดีกำลังตกเป็นของเรา

แต่มี 1 ใน 3 ของฝ่ายมันจิกหัวลงพุ่งตรงเข้าหาข้าพเจ้าในระยะที่ข้าพเจ้าเริ่มยิงเจ้าเครื่องทิ้งระเบิดเป็นครั้งแรก ทั้งนี้มันคงหมายมั่นปั้นมือที่จะตัดกำลังของฝ่ายเรา ก่อนที่จะทำลายเครื่องบินทิ้งระเบิดเครื่องนั้น ข้าพเจ้า “อ้ายเสือมีดคู่” มิได้หวาดหวั่น หรือตกใจหรือเกิดความวิตกแต่อย่างใด เพราะความรู้สึกในขณะนี้คือ “ทำลายอ้ายจงอางเครื่องบินทิ้งระเบิดนั้น” ซึ่งเป็นยอดปรารถนาของนักบินขับไล่ทั้งหลาย

ชั่วไม่กี่นาที เจ้าโมรานก็ผ่านข้าพเจ้าไปทางขวามือ พร้อมกับมีจ่าอากาศเอก ลออ จาตกานนท์ ยังคับเครื่องไล่ติดตามไปด้วย เพราะในขณะที่เจ้าโมรานเครื่องนั้นลงยิงข้าพเจ้า ลออมิได้นิ่งนอนใจ ได้ลงตามยิงอีกต่อหนึ่ง ภาพที่ปรากฏในขณะนี้คือ เครื่องบินซ้อนกัน 4 เครื่องในท่าจิกหัวลงยิงทั้งสิ้น นอกจากเจ้าจงอางเท่านั้น

สำหรับเครื่องบินชับไล่ข้าศึกอีก 2 เครื่อง ที่แตกหมู่นั้น พยายามหนีกลับสนามบิน แต่มีเครื่องหนึ่งที่หนีไม่ทัน และประจวบกับกำลังอยู่ในระยะกรวยกระสุนของ จ่าอากาศเอก ศักดิ์ อินทปุระ ซึ่งได้คลุกคลีพัลวันกับเครื่องที่กล่าวนี้ต่อไปตัวต่อตัว แต่ครั้นแล้วเจ้าโมรานเครื่องนั้นก็หนีไป ซึ่งศักดิ์เข้าใจว่าเขาคงลิ้มรสอะไรไปบ้างแล้ว

(ภาพประกอบ) เครื่องบินแบบ Potez 63.11 ในซีเรีย ราวปี 1941 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

เมื่อเครื่องบินของข้าพเจ้านั้นล้ำหน้าไปแล้ว จ.อ. ลออ จึงไล่ติดตาม และได้ประจันบานกับมันต่อไปแทนข้าพเจ้าตัวต่อตัวอีกคู่หนึ่ง ทิ้งให้ข้าพเจ้าปล้ำกับเจ้าจงอางตัวนั้นได้ตามลำพัง กระสุนชุดแรกของข้าพเจ้าทำให้พลประจำปืนหลังของข้าศึกทราบว่า ภัยอย่างร้ายกาจกำลังใกล้เข้ามาหาแล้ว มันทำการต่อสู้เพื่อป้องกันตัวเอง กำลังบังคับเครื่องไปทางบ้านพร้าว “เรายิงเขา” และ “เขายิงเรา” แลกกระสุนกันคนละชุดสองชุด สุดแต่ว่าใครจะแม่นยำกว่าใคร ซึ่งจะเป็นอำนาจส่วนหนึ่งที่เราจะบังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องหยุดยิงหรือตัดร่อนลงสู่พื้นดิน

ความยากลำบากในการยิงปืนบนอากาศของนักบินยิงขับไล่นั้น ท่านทั้งหลายย่อมทราบอยู่ว่ามีความยุ่งยากเพียงไร นักบินจะต้องบังคับเครื่องบิน เครื่องยนต์ประกอบกับทำการยิงปืนพร้อมไปด้วยในตัว ความแม่นยำนั้นย่อมจะไม่มีให้ฟุ่มเฟือยนัก ถ้าจะให้แม่นยำแล้วจะต้องปล่อยกระสุนในระยะใกล้ประมาณ 100 เมตร ส่วนปืนหลังของอ้ายจงอางนั้นไม่ต้องบังคับเครื่องบิน เครื่องยนต์เลย คงทำการยิงอย่างเดียว

ถึงกระนั้นก็ตาม ข้าพเจ้าก็ไม่ต้องการจะอวดฝีมือของข้าพเจ้าเองว่า ข้าพเจ้ามีความสามารถบังคับพลประจำปืนหลังของอ้ายจงอางนั้นให้หยุดยิงได้ เมื่อการยิงชุดแรกของข้าพเจ้าได้ผ่านพ้นไปแล้ว และเป็นความจริงอย่างข้าพเจ้ากล่าว ปรากฏในเวลาต่อมาว่า เมื่อข้าพเจ้าลองยิงดูอีกหลายครั้งแบบ พลปืนหลังไม่แสดงอาการต่อสู้ข้าพเจ้าแต่อย่างใดเลย ทั้งที่ในเวลาต่อมา ข้าพเจ้าเข้ายิงทางข้างตลอดเวลา เมื่อพลประจำปืนหลังหมดอำนาจแล้ว นักบินจึงพยายามบินต่ำลงทุกที เพื่อจะให้ทหารที่พื้นดินยิงช่วย แต่ข้าพเจ้าไม่ได้นึกอะไรอีกตามเคย มุ่งหน้าแต่จะต่อตีกับเจ้าจงอางอย่างเดียวเท่านั้น

การยิงครั้งที่ 5 ได้ผ่านไปแล้ว ข้าพเจ้าเลี้ยวกลับมาเพื่อลงยิงครั้งใหม่ต่อไป แต่ในครั้งนี้ข้าพเจ้าขอรับว่า สายตาของข้าพเจ้าไม่ดี เพราะได้พยายามตรวจค้นดูอีกเป็นเวลานาน ก็หาปรากฏที่หมายดังเช่นเดิมไม่ จะเหมาเอาว่ายิงตกลงไปก็ไม่ถนัดปาก เพราะไม่เห็นตกวับไปกับตา แต่ก็ไม่ทราบว่าหายไปทางไหน ในขณะที่เลี้ยวจะเข้าพัลวันใหม่ประกอบกับเป็บเวลาโพล้เพล้อยู่แล้ว การตรวจที่หมายที่พื้นดินจึงไม่สามารถกระทำได้ละเอียดนัก 

เมื่อค้นหาอยู่ 2 หรือ 3 นาที ไม่ปรากฏที่หมายแล้ว และทั้งก็ไม่เห็นเครื่องบินของฝ่ายเราอีก 2 เครื่องด้วย ข้าพเจ้าจึงได้บินกลับไปลงยังสนามบินอรัญญประเทศ ก็พอดีพบ จ.อ. ลออ และเครื่องบินแบบ 23 อีก 3 เครื่อง ในความควบคุมของ ร.อ. ละเอิบ ปิ่นสุวรรณ กำลังรวมหมู่เพื่อจะออกไปช่วยเหลือข้าพเจ้าต่อไป เมื่อข้าพเจ้าลงสู่สนามบินเรียบร้อยแล้ว เพื่อนนายทหารที่เห็นเหตุการณ์ทางพื้นดิน วิ่งตรงเข้ามาหาและยิ้มต้อนรับข้าพเจ้าอย่างเปิดเผย จึงได้เล่าเรื่องให้เขาฟังแต่เพียงย่อ ๆ พอควร…”

ผลของยุทธเวหาครั้งนี้ ฝ่ายฝรั่งเศสเสียเครื่องบินทิ้งระเบิด 1 เครื่อง และเครื่องบินขับไล่อีก 1 เครื่อง จอมพลอากาศ เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร กล่าวว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจและเป็นสุขอย่างบอกไม่ถูก” ในชัยชนะครั้งใหญ่ครั้งนี้ และว่า “ขอวิงวอนให้วิญญาณอันไร้ศีลธรรมของเพื่อนนักบินฝรั่งเศส ซึ่งได้ต่อสู้ชิงชัยกับข้าพเจ้า จงไปสู่สุคติภาพโน้นเถิด”

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กรกฎาคม 2564