ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
28 พฤศจิกายน 2483 ฝรั่งเศสบอมบ์นครพนม เปิดฉากสงคราม “กรณีพิพาทอินโดจีน”
จากภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ ที่มหาอำนาจยุโรปแผ่อิทธิพลของลัทธิอาณานิคมเข้ามาในเอเชียตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางประเทศตกเป็น “รัฐอาณานิคม” และเกิดกรณี ร.ศ. 112 สำหรับประเทศไทย ต่อมาเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรป และฝรั่งเศสมีสถานะที่อ่อนแอจนกระทั่งถูกเยอรมนียึดครอง (21 มิถุนายน 2483) เป็นการกระตุ้นให้รัฐบาลไทยขณะนั้น ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเคารพต่อการแบ่งดินแดนในเอเชียของชาติมหาอำนาจอาณานิคมอย่างฝรั่งเศสอีกต่อไป
เมื่อฝรั่งเศสยอมแพ้เยอรมนีได้ขอทำให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาไม่รุกรานกัน จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ตอบ (11 กันยายน 2483) ที่จะให้สัตยาบันด้วยข้อแม้ 3 ข้อคือ
1. ให้ถือร่องน้ำลึกเป็นเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างประเทศ
2. ขอไชยบุรีและจำปาสัก ซึ่งฝั่งขวาของแม่น้ำโขงตรงข้ามกับหลวงพระบาง และตรงข้ามกับปากเซ ให้ไทย โดยถือแม่น้ำโขงเป็นพรมแดนระหว่างประเทศ
3. ขอให้ฝรั่งเศสรับรองว่าถ้าอินโดจีนเปลี่ยนจากอธิปไตยฝรั่งเศสไป ฝรั่งเศสจะคืนอาณาเขตลาวและกัมพูชาให้ไทย
รัฐบาลฝรั่งเศสตอบปฏิเสธ 2 ข้อหลัง
จอมพล ป. ให้สัมภาษณ์เรื่องดังกล่าวแก่หนังสือพิมพ์ กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกชาตินิยมจนเกิดขบวนการเรียกร้องดินแดนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเดินขบวนของคณะนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (8 ตุลาคม 2483)
ขณะที่จอมพล ป. เองก็ตัดสินใจใช้กำลังรบกับฝรั่งเศสอย่างฉับพลัน เพราะรัฐบาลฝรั่งเศสและรัฐบาลญี่ปุ่นมีข้อตกลงระหว่างกันที่ทำให้ญี่ปุ่นสามารถนำกองทัพของตนเข้ามาตั้งในเวียดนามได้ แม้ญี่ปุ่นจะมีทีท่าเห็นใจไทยในการขอปรับปรุงดินแดนกับฝรั่งเศส แต่รัฐบาลไทยก็หวั่นว่าหากกองทัพญี่ปุ่นขยายเขตของตนจากเวียดนามเข้าสู่ลาวและกัมพูชาก็จะเป็นอุปสรรคต่อนโยบายของไทย
20 ตุลาคม จอมพล ป. กล่าวขอบคุณนิสิตนักศึกประชาชนที่สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลทางวิทยุกระจายเสียง และปลุกความรู้สึกชาตินิยม เพลงปลุกใจออกเผยแพร่ เช่น เพลงข้ามโขง เพลงดอกฟ้าจำปาศักดิ์ เพลงเสียมราฐ ฯลฯ เริ่มมีออกเผยแพร่
สถานการณ์ในช่วงเวลานี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในอันที่จะเกิดสงคราม
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2483 รัฐบาลออกประกาศว่าเครื่องบินฝรั่งเศส 5 ลำ โจมตีทิ้งระเบิดจังหวัดนครพนมและมีผู้ได้รับบาดเจ็บ รัฐบาลไทยประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่เกี่ยวข้อง 24 จังหวัด พร้อมกันนั้นกองทัพไทยเคลื่อนเข้าไปยึดครองดินแดนที่มีข้อพิพาทกัน มีการต่อสู้ทั้งทางบก ทางอากาศ และทางทะเลที่เกาะช้าง จังหวัดตราด
ในสงครามครั้งนี้ญี่ปุ่นเสนอตัวเป็นผู้ไกล่เกลี่ยกรณีพิพาท (25 มกราคม 2484) ตกลงให้มีการหยุดยิงในวันที่ 28 มกราคม 2484 และมีการลงนามในอนุสัญญาโตเกียว 9 พฤษภาคม 2484 เป็นผลให้ไทยได้ดินแดนไชยบุรี, จำปาสัก, เสียมราฐ และพระตะบอง (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ลานช้าง, จำปาศักดิ์, พิบูลสงคราม และพระตะบอง ตามลำดับ) เรื่อยมาจนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ในปี 2488 และต่อมาได้มีการสร้างอนุสรณ์เพื่อระลึกถึงทหารไทยที่เสียชีวิตไปในการรบครั้งนี้เรียกว่า “อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ”
อ่านเพิ่มเติม :
- จุดจบทหารฝรั่งเศสพกเบ็ดไปรบ เตรียมเกี่ยวจมูกทหารไทยร้อยเป็นพวง นึกว่าไทยอ่อนแอ-โง่
- อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ “แรงบันดาลใจจากพระปรางค์วัดอรุณฯ”? ที่ระลึกถึงวีรชนผู้กล้าหาญ
ข้อมูลจาก :
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประวัติการเมืองไทยสยาม พ.ศ. 2475-2500, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 2551
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2561