อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ “แรงบันดาลใจจากพระปรางค์วัดอรุณฯ”? ที่ระลึกถึงวีรชนผู้กล้าหาญ

อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ “แรงบันดาลใจจากพระปรางค์วัดอรุณฯ” ? ที่ระลึกถึงวีรชนผู้กล้าหาญ

“…หากหาทางกลับบ้านไม่ถูก ให้ดูรูปปั้นทหาร ที่อุ้มลูกระเบิดในมือ จะเป็นทางไปดินแดง ถ้ารูปปั้นทหารมือซ้ายถือสมุด ทางนั้นจะไปปทุมวันและสยามสแควร์ หากเป็นรูปปั้นทหารจับลูกระเบิดวางชี้ลงบนพื้น นั่นคือไปทางถนนราชวิถี สวนดุสิต ส่วนรูปปั้นทหารถือปืนยาวชี้ขึ้นฟ้า จะเป็นทางไปดอนเมือง…”

คุณยายอร ของคุณเพ็ญวิภา (ปิยวิทยาการ) โสภาภัณฑ์ จากเรื่องเล่าย้อนอดีตอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิในความทรงจำ สอนให้ดูรูปปั้นสี่รูป ที่คุณยายใช้เป็นสิ่งหมายตาบอกทิศทางแทนป้ายจราจรบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ คือบรรดารูปปั้นที่อยู่บนอนุสาวรีย์ นั่นเอง

อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มุมสูง
อนุสารีย์ชัยสมรภูมิ ภาพถ่ายทางอากาศอัลบัมวิลเลียมฮันท์ เมื่อ พ.ศ. 2489

รูปปั้นดังกล่าว เป็นตัวแทนของวีรชนแห่งสงครามอินโดจีนฝรั่งเศส พ.ศ. 2483-2484 หล่อด้วยทองแดง ขนาดความสูงสองเท่าคนจริง ผู้รับผิดชอบงานปั้นและหล่อ ล้วนเป็นลูกศิษย์ของ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่กรมศิลปากร ประกอบด้วย

รูปปั้นทหารบก ที่แสดงท่าถือปืนพร้อมรบชี้ดาบปลายปืนขึ้นฟ้านั้น เป็นผลงานของ นายแช่ม แดงชมพู โดยอาศัย นายพิมาน มูลประมุข เป็นแบบ

รูปปั้นทหารเรือ ที่แต่งเครื่องแบบกลาสี มือซ้ายประคองลูกปืนใหญ่ มือขวาเตรียมบรรจุลูกปืนลงในรังเพลิงท้ายลูกปืน เป็นผลงานของ นายสิทธิเดช แสงหิรัญ โดยมี เรือเอก สิงห์ นาคมี ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในเหตุการณ์ยุทธนาวี เกาะช้าง ตำแหน่งพลบรรจุลูกปืนป้อมปืนหัว ประจำ ร.ล.รัตนโกสินทร์ เป็นแบบ

อ.สิทธิเดช แสงหิรัญ ลูกศิษย์ อ.ศิลป์ พีระศรี ผู้ปั้นรูปปั้นทหารเรือ (ภาพจาก นิทรรศการ รื่นรมย์ชมงานศิลป์ (พีระศรี) จัดโดย บจก.ไปรษณีย์ไทย ณ ไปรษณีย์กลางบางรัก ตุลาคม 2556)
รูปหล่อ ต้นแบบ ทหารเรือ ที่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
รูปหล่อต้นแบบฝีมือ อ.ศิลป์ พีระศรี นาวาโท เอกราช นาคมี ได้รับมอบมาจาก พลเรือเอก ผดุงรัตน์ ศรีเพชร
(ภาพจาก youtube ThaiarmedForce เรือเอก สิงห์ นาคมี ต้นแบบรูปปั้นทหารเรือ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เผยแพร่เมื่อ 24 มิถุนายน 2020)
เรือเอก สิงห์ นาคมี ต้นแบบรูปหล่อทหารเรือ (ภาพจาก Youtube ThaiarmedForce)

รูปปั้นทหารอากาศ ที่ยืนนิ่ง มือจับลูกระเบิด สีหน้าสงบเยือกเย็น เป็นผลงานของ นายสิทธิเดช แสงหิรัญ โดยนายแสวง สงฆ์มั่งมี เป็นแบบ

รูปปั้นตำรวจ ที่ยืนถือปืน ในลักษณะพร้อมใช้ สายตามองไปข้างหน้า เป็นผลงานของ นายพิมาน มูลประมุข

อ. พิมาน มูลประมุข ลูกศิษย์ อ.ศิลป์ พีระศรี แบบรูปปั้นทหารบก และเป็นผู้ปั้นรูปปั้นตำรวจ

รูปปั้นพลเรือน ที่ยืนมือซ้ายถือหนังสือ สายตาสงบนิ่ง เป็นผลงานของ นายอนุจิตร แสงเดือน

รูปปั้นทั้งห้านี้ อยู่บนแท่น รายรอบเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 30 เมตร ผิวหินล้างสีเทาอ่อน คล้ายดาบปลายปืน 5 เล่ม ประกอบรวมกัน เป็นกลีบมะเฟือง ปลายดาบชี้ขึ้นข้างบน หันส่วนคมออก ตามแนวคิดที่ว่า ดาบปลายปืน เป็นดาบประจำกายของทหาร เปรียบเสมือนการต่อสู้อันแหลมคมทั้งอาวุธและสติปัญญา การสู้รบด้วยดาบปลายปืนยังถือเป็นความกล้าหาญ เป็นการรบในระยะประชิด เมื่อเกิดการตะลุมบอน

วัสดุที่ใช้ในการปั้นหล่อ ได้แก่ทองแดงและทองเหลือง โดยกรมอู่ทหารเรือ สนับสนุนทองเหลืองจำนวน 9,981 กิโลกรัม กรมโรงงานทหารอากาศ สนับสนุนทองแดง 3,850 กิโลกรัม กรมยกกระบัตรทหารบก สนับสนุนทองแดง 416 กิโลกรัม ทองเหลือง 115 กิโลกรัม รวมแล้วประมาณ 14,363 กิโลกรัม ถลุงแล้วได้เนื้อทองผสม จำนวน 10,666 กิโลกรัม  โดยรูปปั้นทหารบกใช้ 2,200 กิโลกรัม ทหารเรือ 1,950 กิโลกรัม ทหารอากาศ 1,900 กิโลกรัม ตำรวจ 2,000 กิโลกรัม พลเรือน 1,500 กิโลกรัม วัสดุที่เหลือนั้นมอบให้กรมศิลปากร

การก่อสร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก่อสร้างโดย สำนักงาน พล.ต.ม.ร.ว.ชิต กำภู และบริษัทวิศวกรรมไทย จำกัด ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร กองการโยธา เทศบาลนครกรุงเทพฯ มีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างเป็นเงิน 550,000 บาท ด้วยวัสดุที่มีอยู่ในประเทศทั้งสิ้น

โมเดล ต้นแบบ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
โมเดลต้นแบบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

ผู้ออกแบบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ คือ ม.ล.ปุ่ม มาลากุล สถาปนิกกรมโยธาเทศบาล ม.ล.ปุ่ม มาลากุล เป็นบุตรของ เจ้าพระยาธรรมากรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวัง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังเยาว์ ศึกษาที่โรงเรียนเทพศิรินทร์และโรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกภาษาฝรั่งเศส

ต่อมาได้รับพระราชทานทุนส่วนพระองค์จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ไปศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่ Ecole de Beaux Arts ประเทศฝรั่งเศส เป็นเวลา 5 ปี และกลับเข้ารับราชการตำแหน่งสถาปนิกในกรมโยธาธิการ

ม.ล. ปุ่ม มาลากุล ผู้ออกแบบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (ภาพจาก อ.ธนู มาลากุล, ให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564)

แนวคิดในการออกแบบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ นอกจากแนวคิดของดาบปลายปืนแล้ว อ.ธนู มาลากุล บุตรชายของ ม.ล.ปุ่ม กล่าวว่า บิดาน่าจะได้แรงบันดาลใจมาจากพระปรางค์ วัดอรุณราชวรารามส่วนหนึ่ง ตามคติทางพระพุทธศาสนา และอยู่ในประวัติศาสตร์ของการกอบกู้เอกราชของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่หลังจากเสร็จศึก เรือมาหยุดที่บริเวณนี้เวลาเช้าพอดี โปรดฯ ให้สร้างบ้านแปงเมืองขึ้น โดยตั้งพระราชวัง ณ ฝั่งธนบุรี ระหว่างวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) และวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยาราม)

ลานอนุสาวรีย์ เป็นพื้นคอนกรีตรูปวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง 51 เมตร มีบันไดขึ้นไปตัวฐาน เป็นโถงใหญ่ ผนังภายนอก มีแผ่นจารึกนามผู้เสียชีวิตในสงคราม จำนวน 807 รายชื่อ ซึ่งเป็นผู้เสียชีวิตจาก 3 สงคราม คือ กรณีพิพากอินโดจีนฝรั่งเศส พ.ศ. 2483-2484 จำนวน 171 นาย สงครามมหาเอเชียบูรพา พ.ศ. 2484-2488 จำนวน 103 นาย และสงครามเกาหลี พ.ศ. 2492-2497 จำนวน 118 นาย และไม่ทราบว่าสงครามใดอีกจำนวน 415 นาย

มีประตูทางเข้า 5 ด้าน ตรงกลางโถงมีตะเกียงตามประทีป และคำจารึกว่า “สงฺคาเม เม มตํ เสยฺโย  ยญฺเจ ชีเว ปราชิโต เราตายเสียในสงครามดีกว่า แพ้แล้วเป็นหยู่ จะดีอะไร” 

คำจารึกที่ฐานตะเกียงตามประทีปกลางห้องโถงภายในอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (ภาพจาก หนังสือ 73 ปี อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ)

เมื่อ พ.ศ. 2490 ในการซ่อมปรับปรุงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีการบรรจุอัฐิ ทหาร ตำรวจ และพลเรือน ที่เสียสละชีวิตในการปกป้องเอกราชของชาติเพิ่มเติมอีก 656 นาย และเพิ่มจารึกรายชื่อผู้เสียชีวิตทุกสมรภูมิสงคราม ทั้งที่มีอัฐิและไม่มีอัฐิ จำนวน 7,297 นาย

ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ทุกปี ซึ่งเป็นวันทหารผ่านศึกนั้น จะมีพิธีวางพวงมาลา ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อคารวะดวงวิญญาณ และเชิดชูเกียรติวีรชน รวมทั้งเปิดให้ทายาทผู้เสียชีวิต เข้าไปสักการะ

อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิที่บางคนอาศัยรูปปั้นเป็นสิ่งหมายตาบอกทิศทาง หลายคนใช้เป็นหลักหมายของเมืองในแต่ละวัน มีผู้คนมากมายสัญจรผ่านด้วยเป็นทางแยกสำคัญของพระนคร และเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางสู่ภาคเหนือ และอีสานของประเทศนั้น ยังมีความหมายลึกซึ้งสำหรับคนไทยทุกคนที่ระลึกถึงเหล่าวีรชนผู้กล้าหาญ ยอมสละชีพเพื่อพิทักษ์รักษาอธิปไตยของชาติไทย

…สละเลือดทุกหยาด เป็นชาติพลี เถลิงประเทศชาติไทย ทวีมีชัย ชโย… 

ผู้เขียน บัณฑิต จุลาสัย, รัชดา โชติพานิช / หน่วยปฏิบัติการวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขอขอบพระคุณ ผศ.ดร.กุญฑลทิพย (มาลากุล) พานิชภักดิ์ และ อ.ธนู มาลากุล

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กันยายน 2564