อนุสาวรีย์วีรชน “อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ” ที่หมายแห่งการประสานสามัคคีของพี่น้องชาวไทย

อนุสารีย์ชัยสมรภูมิ เป็นภาพถ่ายทางอากาศอัลบัมวิลเลียมฮันท์ ถ่ายภาพบริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พ.ศ. 2489

…ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด…

ในยุคสมัยแห่งการล่าอาณานิคม ของมหาอำนาจชาติตะวันตก ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ไทยต้องเสียดินแดนไปมากมายหลายครั้ง และยอมเสียเปรียบในสนธิสัญญาต่างๆ เพื่อความอยู่รอด และไม่ตกเป็นเมืองขึ้นเหมือนประเทศเพื่อนบ้าน ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น เมื่อฝรั่งเศสสู้รบกับเยอรมัน ก็เกรงว่าอาณานิคมในอินโดจีนจะถูกไทยรุกเอาดินแดนคืน จึงขอทำสัญญาไม่รุกรานกัน ดูเหมือนว่าการเจรจาใช้เวลานานกว่าจะมีการลงนามในสัญญาในวันที่ 12 มิถุนายน 2483 ในระหว่างที่สัญญายังไม่มีผลบังคับใช้ เพราะทั้งสองประเทศยังไม่แลกเปลี่ยนสัตยาบันซึ่งกันและกันนั้น ฝรั่งเศสเริ่มจะเสียทีแก่เยอรมันจึงเปลี่ยนขอเสนอขอให้ไม่ต้องลงสัตยาบัน รัฐบาลไทยจึงใช้โอกาสนี้ ให้ฝรั่งเศสยอมในสามเรื่องนี้เสียก่อน คือ

1.ให้แนวเส้นเขตแดน เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ถือร่องน้ำลึกของลำน้ำโขง เป็นตัวกำหนด

2.เมื่อแม่น้ำโขงเป็นเส้นเขตแดน ฝรั่งเศสจักต้องคืน ไชยบุรีและจำปาสักให้กับไทย

3.หากฝรั่งเศส ไม่ได้ปกครองอินโดจีน จะต้องคืนลาวและกัมพูชาให้กับไทย

แต่เมื่อฝรั่งเศส ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้น เป็นผลให้นิสิตจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งเป็นยุวชนทหาร ได้ส่งผู้แทนไปพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขออนุญาตเดินขบวนเรียกร้องเอาดินแดนคืน ด้วยในเวลานั้น กระทรวงสั่งห้ามพระสงฆ์และนักเรียนนิสิตนักศึกษาเกี่ยวข้องกับการเมือง

เมื่อทางกระทรวงพิจารณาแล้ว เห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นการแสดงความรักชาติอันเป็นสิทธิหน้าที่ของประชาชน จึงรับทราบ แต่ตักเตือนมิให้ล่วงเกินสถานทูต คนสัญชาติฝรั่งเศส และข้อความบนแผ่นป้าย มิให้ใช้ถ้อยคำหยาบคายก้าวร้าว จึงเป็นที่มาของการเดินขบวน ในวันที่ 8 ตุลาคม 2483 มีประชาชนทุกเพศทุกวัยมาร่วม ด้วยความรู้สึกเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ในเรื่องที่ไทยต้องเสียดินแดนไปในอดีต

ขบวนนักศึกษาหญิงแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เดินขบวนแห่เรียกร้องดินแดนคืน ณ ถนนราชดำเนิน (ภาพจาก ไทยในสมัยสร้างชาติ ที่ระลึกฉลองวันชาติ, 2484)
นิสิตและนักเรียนเตรียมอุดมแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยเดินขบวนแห่เรียกร้องคืน (ภาพจาก ไทยในสมัยสร้างชาติ ที่ระลึกฉลองวันชาติ, 2484)

เมื่อผู้ชุมนุมมาเต็มท้องสนามหลวง และหน้ากระทรวงกลาโหม พลตรีหลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบก (ยศในเวลานั้น) ได้ขึ้นไปโบกธงต้อนรับ และกล่าวปราศรัยขอบคุณเหล่านิสิตนักศึกษาและประชาชนที่มีใจรักชาติ

พลตรีหลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบกโบกธงรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ที่ออกมาร่วมชุมนุมเรียกร้องดินแดนคืน หน้าอาคารศาลาว่าการกลาโหม (ภาพจาก ไทยในสมัยสร้างชาติ ที่ระลึกฉลองวันชาติ, 2484)
นายกรัฐมนตรีกล่าวปราศรัยแก่บรรดานักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ที่หน้ากระทรวงกลาโหม (ภาพจาก ไทยในสมัยสร้างชาติ ที่ระลึกฉลองวันชาติ, 2484)
นายกรัฐมนตรีร่วมกับนิสิตนักศึกษากล่าวปฏิญาณตนต่อพระแก้วมรกตในการเรียกร้องดินแดนคืน (ภาพจาก ไทยในสมัยสร้างชาติ ที่ระลึกฉลองวันชาติ, 2484)
นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนที่มาเดินขบวนเรียกร้องเอาดินแดนคืน (ภาพจาก ไทยในสมัยสร้างชาติ ที่ระลึกฉลองวันชาติ, 2484)

ในเวลาเดียวกันนั้น ฝรั่งเศสก็เตรียมกำลังทหาร บริเวณชายแดน และมีการรุกล้ำทางอากาศ โดยส่งเครื่องบินมายังจังหวัดตราด ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2483 เครื่องบินฝรั่งเศส 5 เครื่อง ได้บินมาทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนม

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ รัฐบาลไทยจึงต้องรักษาป้องกันอธิปไตย กองทัพบกสนาม ประกอบด้วยกองทัพบูรพา กองทัพอีสาน กองพลพายัพ กองพลผสมปักษ์ใต้ และกองพลผสมกรุงเทพฯ ร่วมกับกองทัพเรือ กองทัพอากาศ และตำรวจสนาม บุกเข้าไปในดินแดนลาว และกัมพูชา ยึดดินแดนคืนกลับมาได้ จนเป็นที่รู้กันถึงวีรกรรมทหารไทย ในการรบที่บ้านพร้าว และยุทธนาวี เกาะช้าง

ทหารไทยในสงครามอินโดจีนรบกับฝรั่งเศส (ภาพจาก ไทยในสมัยสร้างชาติ ที่ระลึกฉลองวันชาติ, 2484)
ยุทธนาวีเกาะช้าง (ภาพจาก ไทยในสมัยสร้างชาติ ที่ระลึกฉลองวันชาติ, 2484)
ร.ล.ธนบุรี ระหว่างปฏิบัติการรบกับเรือลาดตระเวน ลามอล์ต ปิเกต์ของฝรั่งเศสที่เกาะช้าง วันที่ 17 มกราคม 2483 (ภาพจาก ไทยในสมัยสร้างชาติ ที่ระลึกฉลองวันชาติ, 2484)
ฝ่ายไทยชักธงชาติไทยขึ้นสู่ยอดเสาที่ช่องจอมในเขตปกครองของฝรั่งเศส (ภาพจาก ไทยในสมัยสร้างชาติ ที่ระลึกฉลองวันชาติ, 2484)

ในเวลานั้น ญี่ปุ่นเริ่มมีฐานทัพในอินโดจีน เห็นว่าชัยชนะของกองทัพไทยจะเป็นอันตรายต่อแผนการรบของตน จึงเสนอตัวช่วยไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทจนสำเร็จ ไทยและฝรั่งเศสได้ตกลงลงนามในสัญญาพักรบบนเรือรบนาโตริของญี่ปุ่นที่เมืองไซง่อน วันที่ 31 มกราคม 2484 และจัดการประชุมเจรจาสันติภาพระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่กรุงโตเกียว โดยมีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร เป็นหัวหน้าคณะ  การเจรจาใช้เวลาหลายเดือน จนในที่สุดมีการลงนามในอนุสัญญาสันติภาพระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2484 โดยฝรั่งเศสยอมยกดินแดน แขวงหลวงพระบางฝั่งขวาแม่น้ำโขง แคว้นจำปาศักดิ์ ในลาว และพระตะบอง ศรีโสภณ (ยกเว้นเสียมราฐและนครวัด)ในกัมพูชาคืนให้ไทย และฝ่ายไทยเสียเงิน 6 ล้านเปียสต์ให้ฝรั่งเศส เป็นค่าชดเชยทางรถไฟ ระยะทาง 130 กิโลเมตรที่ลงทุนก่อสร้างไปแล้ว

ผู้แทนไทยและฝรั่งเศสลงนามข้อตกลงพักรบ ที่มีญี่ปุ่นเป็นคนกลาง บนเรือนาโตริของญี่ปุ่น ณ เมืองไซ่ง่อน เวียดนาม วันที่ 31 มกราคม 2484 (ภาพจาก ไทยในสมัยสร้างชาติ ที่ระลึกฉลองวันชาติ, 2484)
คณะผู้แทนฝ่ายไทย ที่มี พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปเจรจา ณ กรุงโตเกียว (ภาพจาก ไทยในสมัยสร้างชาติ ที่ระลึกฉลองวันชาติ, 2484)

เหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้ไทยได้ดินแดนที่เคยเสียไป กลับคืนมา ถึง 79,029 ตารางกิโลเมตร ในวันที่ 11 มีนาคม 2484 รัฐบาลไทยจึงประกาศให้วันที่ 12 มีนาคม 2484 เป็นวันหยุดราชการ และมีการสวนสนามฉลองชัยชนะ ในวันที่ 27 เมษายน 2484

ข้อความในอนุสัญญา ที่ทำให้ไทยได้ดินแดนคืนมา แม้ว่าอีกหลายปีต่อมาจะมีการยกเลิกอนุสัญญาฉบับนี้ (ภาพจาก ไทยในสมัยสร้างชาติ ที่ระลึกฉลองวันชาติ, 2484)
แผนที่แสดงดินแดนที่เสียไป และที่ได้คืนมา (ภาพจาก ไทยในสมัยสร้างชาติ ที่ระลึกฉลองวันชาติ, 2484)

ในวันที่ 11 มีนาคม 2484 พลตรีหลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีปราศรัยมอบแก่ทหารทุกหมู่เหล่าและตำรวจ ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในสงครามอินโดจีนฝรั่งเศส โดยในตอนท้าย ได้กล่าวถึงผู้ที่เสียสละชีวิตในการรบ “และขอจารึกเกียรติประวัติให้เป็นอนุสรณ์อันถาวรตรึงตราพื้นแผ่นดินไทยว่า ท่านเหล่านี้คือผู้ได้กู้เกียรติศักดิ์อันสำคัญมาสู่ชาติไทยอันเป็นปิตุภูมิอย่างไม่มีวันลบเลือนไปจากพื้นพิภพ”

เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติ และรำลึกถึงคุณงามความดีของทหาร ตำรวจ พลเรือน ที่สละชีพเพื่อมาตุภูมิ จึงมีดำริสร้างอนุสาวรีย์ให้กับผู้ที่เสียชีวิต โดยคณะรัฐมนตรีมีมติวันที่ 26 มีนาคม 2484 ให้ตั้งกรรมการคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาการสร้างอนุสาวรีย์ผู้ที่เสียชีวิตเนื่องในการรบอินโดจีนฝรั่งเศส คณะกรรมการกำหนดสร้างอนุสาวรีย์นี้ บริเวณทางแยกถนนประชาธิปัตย์ (ถนนพหลโยธินในปัจจุบัน) ถนนพญาไท และถนนราชวิถี

แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2475 ทางแยกกลางภาพคือจุดที่จะกำหนดให้สร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

รัฐพิธีวางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์ มีขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน 2484 โดยนายพลตรี พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นประธานฯ ในศิลาฤกษ์นั้น มีจารึกคำปรารภ ดังนี้ …ขอให้ อนุสารีย์ชัยสมรภูมิ เป็นถาวรวัตถุ ที่ระลึกถึงเกียรติของผู้เสียสละแล้วซึ่งชีวิต เพื่อประเทศชาติสืบไป…   

เมื่อการสร้างแล้วเสร็จ จึงมีพิธีเปิดอนุสาวรีย์ ในวันที่ 24 มิถุนายน 2485 โดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ในตำแหน่งบังคับบัญชาสำนักพระราชวัง รับบัญชาจากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ให้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ เปิดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ความในสุนทรพจน์ กล่าวไว้ดังนี้

…อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมินี้ จะเป็นเครื่องเตือนใจ ปวงชนชาวไทย โดยไม่มีวันลืมว่า ประเทศไทยได้กู้เกียรติศักดิ์ของตนสำเร็จ ด้วยน้ำมือวีรชนคนไทยทั้ง 5 เหล่า คือ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน ซึ่งต่างได้ยอมสละชีพเพื่อชาติ… 

…อนุสาวรีย์สำคัญนี้ นอกจากจะเป็นเครื่องยังความระลึก ในเกียรติประวัติของวีรชนคนไทยแล้ว ยังจะเป็นเครื่องกล่อมเกลาเร้าใจ ให้อนุชนคนไทยรุ่นหลัง มีมานะบากบั่น อดทน ปลุกใจ ให้กล้าหาญ ไม่กลัวตาย ในการกู้เกียรติของชาติ ทั้งปลุกความรักชาติให้เกิดอย่างสมบูรณ์ พี่น้องร่วมชาติทุกคน เมื่อได้ผ่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิจะต้องระลึกถึงคุณธรรมเหล่านี้ และตั้งปณิธานร่วมกัน ในอันที่จะป้องกันเอกราชและอิสรภาพ อันเป็นเกียรติสูงสุดของชาติไว้จนถึงเลือดหยดสุดท้าย… 

…อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นที่หมายแห่งการประสานสามัคคีของพี่น้องชาวไทยทุกเหล่า ได้ร่วมมือร่วมใจกันรักษาความเป็นไทยของประเทศไทยไว้ตราบชั่วนิรันดร…

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ไทยในสมัยสร้างชาติ ที่ระลึกฉลองวันชาติ พ.ศ. 2484.  พระนคร : โรงพิมพ์พานิชศุภผล, 2484

ราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. 2483 – 2484.

73 ปี อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ. กรุงเทพฯ : องค์การทหารผ่านศึก, 2558.

คุณธนู มาลากุล บุตรชาย ม.ล.ปุ่ม มาลากุล ผู้ออกแบบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 สิงหาคม 2564