จุดจบทหารฝรั่งเศสพกเบ็ดไปรบ เตรียมเกี่ยวจมูกทหารไทยร้อยเป็นพวง นึกว่าไทยอ่อนแอ-โง่

เชลยศึก ทหารฝรั่งเศส ที่กองทัพไทยจับได้ ทางภาคบูรพา
เชลยศึกทหารฝรั่งเศสที่กองทัพไทยจับได้ทางภาคบูรพา (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, พฤษภาคม 2528)

จุดจบของ ทหารฝรั่งเศส ที่พกเบ็ดไปรบ เตรียมเกี่ยวจมูกทหารไทยร้อยเป็นพวง เหตุนึกว่าทหารไทยอ่อนแอ-โง่

การรุกรานของฝรั่งเศสในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) ดำเนินต่อเนื่องยาวนานและส่งผลมาจนถึงการปะทุของสงครามระหว่างไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศสเมื่อพ.ศ. 2484 จากการบอกเล่าของทหารชั้นผู้ใหญ่ในสังกัดกองบัญชาการทหารสูงสุดท่านหนึ่ง เล่าว่า กองทัพฝรั่งเศสและทหารรับจ้าง ได้รับข้อมูลผิดเพี้ยนว่า ทหารไทยอ่อนแอ และโง่ จนพกเบ็ดขนาดใหญ่ติดตัว ใช้สำหรับเกี่ยวจมูกทหารไทยร้อยเป็นพวง แต่ความคิดที่ผิดเพี้ยนนี้ทำให้พบกับผลลัพธ์ที่ผิดคาด

เหตุการณ์เมื่อ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) เป็นที่คุ้นหูชาวไทยในชื่อวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 อันเป็นการรุกรานที่ส่งผลกระทบต่อไทยอย่างมากในเวลาต่อมา ในความคิดเห็นของ พ.อ. วิชิต วัฒนกุล จากสำนักงานปลัดบัญชีทหาร กองบังคับการทหารสูงสุด ผู้เขียนบทความ “สงครามระหว่างไทยและอินโดจีนของฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2484” มองว่า สงครามครั้งนี้ทำให้ไทยต้องอดทนอดกลั้นและสั่งสมความไม่พอใจมายาวนานหลายสิบปี

แม้ว่าในช่วงพ.ศ. 2483 ฝรั่งเศสประสบความพ่ายแพ้ต่อเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ความไม่เป็นธรรมในการแบ่งเขตแดนและเอาเปรียบในการใช้ลำน้ำโขง ฝรั่งเศสที่ปกครองลาวและเขมรก็ยังดำเนินเรื่อยมา หลังจากที่ฝรั่งเศสรบแพ้ก็ยื่นข้อเสนอใหม่มายังรัฐบาลไทยสมัยพลตรี หลวงพิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และส่งผู้แทนประเทศในอินโดจีนของฝรั่งเศสพร้อมเอกอัคราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ มาเจรจาทำสัญญาไม่รุกรานกัน

ฝ่ายไทยยื่นเงื่อนไขกลับไป 3 ข้อสำคัญคือ กำหนดแนวเส้นเขตแดนตามลำน้ำโขง ถือร่องน้ำลึกเป็นเกณฑ์, ปรับปรุงเส้นเขตแดนให้เป็นไปตามธรรมชาติ ถือลำน้ำโขงเป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับอินโดจีน ขอให้ดินแดนฝั่งแม่น้ำโขงตรงข้ามหลวงพระบางและตรงข้ามปากเซ เป็นของไทย และให้ฝรั่งเศสรับรองว่า หากอินโดจีนของฝรั่งเศสเปลี่ยนจากอธิปไตยฝรั่งเศสไปแล้ว ฝรั่งเศสจะคืนอาณาจักรลาวและกัมพูชาให้ไทย

แต่ด้วยบรรยากาศและความรู้สึกของประชาชนในขณะนั้นที่สั่งสมความคับแค้นใจจากที่ฝรั่งเศสคุกคามข่มเหงมานาน ทำให้ประชาชน นิสิต และนักศึกษา ออกมาเดินขบวนเรียกร้องรัฐบาลให้ทวงดินแดนที่เสียไปให้ฝรั่งเศสจากเหตุการณ์เมื่อ ร.ศ. 112 กลับมา การเจรจาหาข้อสรุปทำสัญญาดูเหมือนจะไม่ได้ผล เมื่อฝรั่งเศสตอบกลับข้อเสนอของไทยโดยปฏิเสธการปรับปรุงเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศส และระบุว่าพร้อมจะต่อสู้ป้องกัน

หลังจากนั้นกำลังของทั้งฝ่ายไทยและฝรั่งเศสก็ปะทะกันหลายหนตามแนวชายแดน กระทั่งวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 ไทยจัดตั้งกองบัญชาการทหารสูงสุด เพื่อบัญชาการหน่วยกำลังพลที่รบข้าศึก มีพล.ต. ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด การต่อสู้หลังจากนั้นเกิดขึ้นทั้งทางบก เรือ และอากาศ จาก พ.ศ. 2483-2484 ซึ่งจากข้อมูลของพ.อ. วิชิต มองว่า การรบทางบกเป็นฝ่ายไทยที่ทำได้ดีกว่า

พ.อ. วิชิต วัฒนกุล เล่าบรรยากาศช่วงเตรียมการทางทหารว่า “ขณะนั้นการเงินงบประมาณและการเตรียมการทางทหารของเรายังไม่เข้มแข็งเท่าทุกวันนี้ (พ.ศ. 2528) จึงเกิดความยุ่งยากในเรื่องการจัดหน่วยรบ และหน่วยช่วยรบ ซึ่งขาดทั้งคนและอุปกรณ์”

สำหรับการรบทางเรือ พ.อ. วิชิต บรรยายว่า ฝรั่งเศสเหมือนได้ใจจากที่เคยข่มเหงไทยได้เมื่อครั้ง ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) เมื่อฝรั่งเศสไม่ได้เหนือกว่าในการรบทางบก จึงส่งกำลังเข้ารุกรานตามรอยเดิมในครั้งร.ศ. 112 ประกอบกับเป็นช่วงเวลาที่เรือรบฝรั่งเศสไม่มีภารกิจติดพัน หรือเรียกง่ายๆ ว่า “ว่างงาน” จากที่เรือรบฝรั่งเศสถูกสั่งห้ามไม่ให้สนับสนุนฝ่ายใดในสงครามโลกครั้งที่ 2 ฟากยุโรปตามเงื่อนไขสัญญาสงบศึกที่ทำกับเยอรมนี เมื่อ ค.ศ. 1940

เมื่อเป็นเช่นนี้ ฝรั่งเศสจึงส่งเรือรบมาในน่านน้ำไทย ซึ่งกลายเป็นสมรภูมิเกาะช้าง ที่ฝั่งไทยต้านทานการรุกล้ำอธิปไตยอย่างดุเดือด แม้ฝ่ายไทยสูญเสียเรือหลวงธนบุรีพร้อมกับผู้บังคับบัญชาเรือ แต่ฝั่งฝรั่งเศสก็เสียหายหนัก เรือรบลามอตต์ ปิเกต์ เสียหายรุนแรงทีเดียว

พ.อ. วิชิต บรรยายว่า สงครามเหล่านี้ ไทยมีจุดประสงค์คือขับไล่ฝรั่งเศสที่เข้ามาตั้งฐานปฏิบัติการเพื่อรุกรานไทย และยึดดินแดนของไทยหลังจากที่เจรจากับฝรั่งเศส เพราะเห็นว่าฝรั่งเศสไม่อาจรักษาสถานภาพเดิมไว้ ก็ขอดินแดนของไทยแต่เดิมให้ตกเป็นของไทยตามเดิมแต่ไม่ได้ผล

เมื่อไม่ได้ผลกัน กองทัพไทยจึงต้องใช้กำลังโดยรุกเคลื่อนที่สู่ดินแดนอินโดจีนของฝรั่งเศสทางด้านที่ถูกรุกรานในเดือนมกราคม พ.ศ. 2484 ซึ่งพ.อ. วิชิต อ้างอิงข้อมูลจากพ.อ. ชอบ ภักดิ์ศรีวงศ์ ว่า ครั้งนั้นไม่มีเสียงคัดค้านจากนานาประเทศ

การเข้าโจมตีปอยเปตโดยฝ่ายไทยสร้างความปั่นป่วนให้ทหารฝรั่งเศสมากพอสมควรถึงขั้นถอยหนีและขวัญเสีย บางกลุ่มยอมจำนน พ.อ. วิชิต อธิบายว่า นายทหารผู้ใหญ่ของฝรั่งเศสหลอกปลอบใจพวกนายทหารชั้นผู้น้อยชาวฝรั่งเศสและชาวญวนที่เป็นผู้บังคับหมู่ว่า “ประเทศไทยไม่มีกำลังรบและไม่มีทหารที่ดี”

เรียกได้ว่า ฝรั่งเศสดูถูกคนไทย!

แต่ข้อมูล (จากการบอกเล่าของทหารชั้นผู้ใหญ่) ที่น่าสนใจคือกำลังทหารฝรั่งเศสทางด้านความรับผิดชอบของกองทัพบูรพา (ผู้บัญชาการทหารสูงสุด จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2483) มี 1 กรม เป็น ทหารฝรั่งเศส  กับทหารรับจ้าง พ.อ. วิชิต อ้างอิงคำบอกเล่าของพ.อ. ชอบ ภักดิ์ศรีวงศ์ ที่เล่าว่า ทหารกรมนี้เคยมีชัยในการรบที่ประเทศเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ได้รับตรา “กัวเอร์แกร์” ประดับธงไชยเฉลิมพล มีสมญาว่า “ทหารเสือ”

การบอกเล่าจากทหารชั้นผู้ใหญ่โดยพ.อ. ชอบ ภักดิ์ศรีวงศ์ เล่าว่า กรมทหารเสือนี้เพิ่งเข้ามาในอินโดจีนยังไม่ค่อยรู้จักข้อมูลประเทศไทย แต่ได้รับข้อมูลกรอกหูมาว่า “คนไทยเหมือนกัมพูชา รูปร่างแคระแกร็น, อ่อนแอ, โง่, ใช้อาวุธไม่เป็น, ชำนาญแต่การใช้กระบอง, ชอบแอบอยู่ตามต้นไม้. ถ้าจับทหารไทยได้แล้วให้ใช้เบ็ดเกี่ยวจมูก ร้อยเป็นพวงแล้วนำไป.” ทำให้ทหารกลุ่มนี้มีเบ็ดขนาดใหญ่ติดตัวไว้คนละห่อ

ฝ่ายไทยที่การข่าวดีกว่าได้รับข่าวว่า ข้าศึกกรมนี้จะเข้าตีตอนเช้า จึงเตรียมแนวปืน เมื่อฝรั่งเศสเดินทัพตามระเบียบเดินแถวเข้ามา ตาก็จ้องมองแต่บนต้นไม้ ไม่สังเกตบนพื้นดิน ทหารฝรั่งเศสเข้ามาในระยะทางปืน ฝั่งไทยจึงสาดกระสุนเข้าใส่ ทหารกลุ่มนี้หนีเตลิดกลับไป เหลือให้จับกุม 11 คน โดยทิ้งธงชัยเฉลิมพลให้ทหารไทยยึดมาด้วย

(จากซ้าย) จอมพลเรือหลวงยุทธศาสตร์โกศล ร.น. ขณะยังเป็นนาวาเอก, จอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลเอกหลวงสวัสดิรณรงค์ ขณะเป็นนายพันเอก ถ่ายภาพกับธงชัยเฉลิมพลของฝรั่งเศส “ครัวเดอแกร์” ที่ยึดได้ในสมรภูมิบ้านพร้าว

หลังจากที่ฝ่ายไทยรุกเข้าไป 23 วัน ช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2484 ญี่ปุ่นที่ต้องการเข้าครอบครองเขตแดนจึงเข้าไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ลงเอยกันที่ทำสัญญาเลิกรบกันที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2484

พล.ต. ป. พิบูลสงคราม เลือกพื้นที่คืนมา คือด้านจังหวัดพระตะบอง, เสียมราฐ และศรีโสภณ ทางด้านตะวันออก และด้านจังหวัดล้านช้างตรงข้ามหลวงพระบางของลาวคนละฟากแม่น้ำโขง ซึ่งไทยนำมาจัดการปกครองต่อไป

สงครามครั้งพิพาทไทยกับฝรั่งเศสนำมาสู่การตั้งอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิในกรุงเทพมหานครนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พ.อ. ชอบ ภักดิ์ศรีวงศ์, “ประวัติศาสตร์สงครามเรื่องสงครามน่ารู้ ตอนกรณีพิพาทระหว่างไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศส เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ของจอมพลผิน ชุณหะวัน.”

พ.อ. วิชิต วัฒนกุล. “สงครามระหว่างไทยและอินโดจีนของฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2484,” ใน ศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ 6 ฉบับที่ 7 พฤษภาคม 2528


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 มีนาคม 2562