ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ยุทธนาวีเกาะช้าง สืบเนื่องมาจากกรณีพิพาทอินโดจีนระหว่าง “ไทย” และ “ฝรั่งเศส” ซึ่งก่อนฝรั่งเศสจะประกาศสงครามกับเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝรั่งเศสได้ขอให้รัฐบาลไทยลงนามในสนธิสัญญาห้ามรุกรานอินโดจีน ทางการไทยได้ยื่นเงื่อนไขว่า ไทยยินดีลงนามหากฝรั่งเศสยอมทำตามข้อเรียกร้องในการปรับปรุงเส้นแบ่งเขตแดน ไทย-อินโดจีนฝรั่งเศสเสียใหม่ โดยใช้แนวร่องน้ำลึกเป็นเกณฑ์ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อความเป็นธรรม และให้ฝรั่งเศสคืนดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงที่ฝรั่งเศสยึดไปจากเหตุการณ์ ร.ศ. 112 แต่ฝรั่งเศสปฏิเสธ
ในช่วงเวลาเดียวกับการเดินขบวนของบรรดานักศึกษาฝ่ายชาตินิยมที่รวมตัวกันเรียกร้องดินแดนพิพาทจากฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ ได้เกิดการปะทะอย่างต่อเนื่องบริเวณชายแดนของทั้งสองฝ่าย ซึ่งฝ่ายไทยอ้างว่า ฝรั่งเศสเป็นผู้ฉวยโอกาสส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดมาโจมตีนครพนมก่อนในวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 นำไปสู่การเผชิญหน้าแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งทางฝรั่งเศสตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการรบภาคพื้นดินและอากาศต่อกองทัพไทยที่มีกำลังรบที่เยอะและทันสมัยกว่า ฝ่ายฝรั่งเศสจึงตัดสินใจส่งกองเรือรบที่มีกำลังและความพร้อมมากกว่าเข้าโจมตีฝ่ายไทย
การสู้รบบริเวณเกาะช้างเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เช้าตรู่ของวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2484 กำลังรบทางเรือของฝ่ายไทยที่รักษาการณ์อยู่ในบริเวณนั้น ประกอบด้วย เรือหลวงธนบุรี เรือหลวงชลบุรี และเรือหลวงสงขลา ได้เข้าต่อสู้ขัดขวางกองเรือฝรั่งเศส ซึ่งมีกำลังทางเรือถึง 7 ลำ ประกอบด้วย เรือลาดตระเวน 1 ลำ เรือสลุป 2 ลำ และเรือปืน 4 ลำ ผลของการสู้รบทำให้ฝ่ายไทยต้องเสียเรือทั้ง 3 ลำ พร้อมชีวิตของทหารเรือรวม 36 นาย ขณะที่ฝ่ายฝรั่งเศสแทบไม่ได้รับความสูญเสียใดๆ แต่ก็เป็นฝ่ายล่าถอยออกไปเอง
หลังการสูญเสียอย่างหนักของฝ่ายไทยในการสู้รบที่เกาะช้าง ญี่ปุ่นได้เข้ามาแทรกแซงโดยให้ทั้งสองฝ่ายเจรจาสงบศึก ก่อนมีการลงนามในอนุสัญญาสันติภาพที่กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ทำให้ไทยได้ดินแดนพิพาทมาอยู่ในปกครอง แต่เป็นช่วงระยะเวลาเพียงสั้นๆ เนื่องจากเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยจำเป็นต้องคืนพื้นที่พิพาทดังกล่าวกลับคืนให้กับฝรั่งเศส
ยุทธนาวีเกาะช้าง การสู้รบครั้งนี้แม้จะมิได้เป็นการประจัญบานครั้งใหญ่ แต่ก็ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของกองทัพเรือไทยในการรบหลังยุคการปรับปรุงกองทัพเรือสู่ความเป็นสมัยใหม่ และกองทัพเรือไทยยังได้เลือกวันนี้เป็น “วันสดุดีวีรชนกองทัพเรือ” อีกด้วย
อ่านเพิ่มเติม :
- ความเสียหายที่ ฝรั่งเศส “ปกปิด” จาก “ยุทธนาวีเกาะช้าง”
- ย้อนดูบ้านเมือง “ตราด” ในอดีต มี “อ.เกาะช้าง” ที่ไม่ได้อยู่เกาะช้าง ฯลฯ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
“ประวัติการเมืองไทยสยาม พ.ศ. 2475-2500”. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ 5 : พฤศจิกายน 2551
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มกราคม 2562