ผู้เขียน | เด็กชายผักอีเลิด |
---|---|
เผยแพร่ |
ยุทธนาวีเกาะช้าง (Battle of Ko Chang) เหตุการณ์การรบทางเรือจากกรณีพิพาทอินโดจีน เกิดขึ้นบริเวณทางใต้ของเกาะช้าง จังหวัดตราด วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2484 หลังไทยเรียกร้องให้ปรับปรุงเส้นแบ่งเขตแดนไทย-อินโดจีนฝรั่งเศสใหม่ พร้อมเรียกร้องให้ฝรั่งเศสส่งคืนดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงที่เสียไปจากเหตุการณ์ ร.ศ. 112
การรบที่เกาะช้างถือเป็นการรบทางทะเลครั้งเดียวในประวัติศาสตร์กองทัพเรือไทย และรัฐบาลวิชีฝรั่งเศส (Vichy France) ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตัวละครหลักในการเผชิญหน้า คือ เรือหลวงธนบุรี (HTMS Thonburi) เรือปืนยามฝั่งของฝ่ายไทย และ เรือลามอตต์ปิเกต์ (La Motte Picquet) เรือลาดตระเวรเบาของฝรั่งเศส ซึ่งผลของการรบคือ ไทยสูญเสียเรือรบ 3 ลำ (เรือตอร์ปิโด 2 ลำ และเรือหลวงธนบุรี) ส่วนฝรั่งเศสแม้ไม่สูญเสียเรือรบเลย แต่มีรายงานว่าเรือลามอตต์ปิเกต์ได้รับความเสียหายอย่างหนักก่อนถอนกำลังกลับไซ่ง่อน แต่ฝรั่งเศสอ้างว่าเรือของตน “ไม่มีความเสียหาย” ซึ่งขัดแย้งกับคำให้การฝ่ายไทยอย่างมาก
มนต์ชัย ราบรื่นทวีสุข ผู้เขียนบทความ “ความเสียหายที่ฝรั่งเศสปกปิดจากการรบที่เกาะช้าง” (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2564) ได้การรวบรวมหลักฐานและประจักษ์พยานที่เกี่ยวข้องมาอธิบายการปกปิดความเสียหายจากการเผชิญหน้ากับเรือหลวงธนบุรีของเรือลามอตต์ปิเกต์ ดังนี้
…ขอกล่าวถึงพยานที่จะยืนยันความเสียหาย หรือผลการยิงของปืนเรือหลวงธนบุรี ที่ลูกเรือไทยหลายคนที่ร่วมรบเป็นพยานสายตา โดยเฉพาะคุณครูเฟี้ยม (นาวาโท เฟี้ยม สกุลมั่น) ที่มีความชำนาญเรื่องปืน 6 นิ้วนี้อย่างมาก (ปกติเมื่อจะยิงปืนใหญ่จะต้องวัดระยะห่างด้วยกล้องวัดระยะและดูตารางคำนวณเวลากระสุนตกเพื่อตรวจผลการยิง เมื่อยิงออกไปก็จะมีการขานเวลาเพื่อดูฝอยน้ำจากกระสุนตก) ซึ่งลูกปืน 6 นิ้ว ฝอยน้ำจากกระสุนตกในระยะหมื่นกว่าถึง 13,000 เมตร ที่ยิงในวันนั้น ลูกปืนจะมีความเร็วประมาณเท่าเสียงฝอยน้ำจากกระสุนตกหากไม่โดนเป้านั้น ครูเฟี้ยมบอกว่าจะสูงเหมือนลำต้นตาล และครูเฟี้ยมท่านเห็นลูกปืนผลุบหายเข้าไปในเรือลามอตต์ปิเกต์ของข้าศึกและควันที่เป้าจากการโดนยิง โดยไม่เห็นฝอยน้ำจากลูกปืน และการกระทบเป้าที่โครงสร้างส่วนบน (super structure) ของเรือข้าศึก
ท่านจึงยืนยันว่าเรายิงโดนข้าศึกแน่นอน และไม่ใช่เพียงนัดเดียวด้วย แต่หากกระสุนเจาะเกราะทะลุเรือฝรั่งเศสและตกน้ำ แทนที่จะระเบิดในเรือ มิฉะนั้นผลการรบอาจเปลี่ยนโฉมหน้าไปเลย
เพราะการที่ฝรั่งเศสเปิดให้ชาวญวนขึ้นชมเรือในวันต่อๆ มาหลังการรบนั้น ผู้ที่ศึกษาเรื่องการรบของเรือประจัญบานขนาดกระเป๋า คือเรือกราฟ สเป ของเยอรมันกับหมู่เรือลาดตระเวนหนักและเบา 3 ลำ ของอังกฤษ ในแอตแลนติกใต้จนได้รับความเสียหายกันทั้ง 2 ฝ่าย
กราฟ สเป ต้องหลบเข้าซ่อมเรือที่ มอนเตวิเดโอของอุรุกวัย ลูกเรือใช้เวลาเพียงคืนเดียวเพื่อกลบร่องรอยความเสียหายต่างๆ ของตัวเรือและโครงสร้างต่างๆ โดยใช้ผ้าใบและสีทาเรือ จนฝ่ายอุรุกวัยที่ขึ้นดูเรือยังไม่เห็นความเสียหายที่ชัดเจน…
ส่วนการที่จะซ่อนความเสียหายของเรือลามอตต์ปิเกต์จากสายตาชาวบ้านเวียดนามที่ไม่คุ้นเคยกับเรือรบ เพราะหากเรือลามอตต์ปิเกตไม่เสียหาย ย่อมจะไม่รีบถอนตัว เรียกเรือลูกหมู่กลับไซ่ง่อนไป ย่อมจะไม่ยาก
นับเป็นความบังเอิญที่ในระหว่างสงครามเวียดนาม ท่านพลเรือเอก นิตย์ ศรีสมวงษ์ ร.น. อดีตผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ และรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ท่านเล่าให้ฟังว่า สมัย ร.ล.พงัน ในราชการสงครามเวียดนาม ท่านเดินเรือจากปากน้ำเมืองวังเตา เข้าแม่น้ำไปเทียบท่าเมืองไซ่ง่อน เมื่อ พ.ศ. 2509 บังเอิญเรือจะเทียบที่ Pier Bravo เป็นท่าเทียบเดียวกับเรือลามอตต์ปีเกต์จอดเทียบ เมื่อปี 2484
นำร่องชาวเวียดนามใต้ วัยราว 40 ปี เล่าให้คุณครูนิตย์ฟังว่า เมื่อเขา 10 ขวบ ได้ร่วมกับบิดาขึ้นชมเรือลามอตต์ปิเกต์และเมื่อเดินชมไปที่ห้องหนึ่งเห็นมีส่วนประกอบของเรือบางแห่งที่เป็นกระจก มีกระจกแตกชำรุดเสียหายปรากฏให้เห็น และได้รับคำอธิบายจากฝรั่งว่าเกิดจากความสั่นสะเทือนอย่างแรงในขณะเรือยิงปืนใหญ่จำนวนมากในระหว่างการสู้รบกับเรือรบไทย
ซึ่งในสภาพความริงแล้วในการยิงปืนใหญ่เรือที่ต้องมีการซักซ้อมเป็นประจำ กระจกในเรือที่จะมีก็คือที่บานหน้าห้องสะพานเรือ และบานช่องหน้าต่างที่เป็นบานกลม มีกระจกหนา และกลไกเปิด-ปิดล็อค จะไม่มีโอกาสแตกได้เลยหากไม่ถูกปืนใหญ่ยิงกระทบโดนบริเวณใกล้เคียง ซึ่งก็จะหาอะไหล่ซ่อมเปลี่ยนได้ยาก หากไม่ได้อยู่ในอู่ใหญ่ในบ้านตัวเอง จึงน่าจะนับว่าเป็นการกลบเกลื่อนที่หลงเหลือร่องรอยของฝรั่งเศส ที่เมื่อได้โกหกแล้ว จะไม่ยอมรับ ต้องโกหกต่อๆ ไป ตามนิสัยฝรั่ง (เศส)
ซึ่งหนังสือสารานุกรมเรือรบระดับโลก Jane’s Fighting Ships ฉบับปี 1955 ที่พิมพ์จําหน่ายไปทั่วโลกของฝรั่งเองที่ย่อมจะเป็นกลาง ก็ได้กล่าวถึงเรือนี้ว่า “ถูกอาวุธเสียหายในการรบกับเรือรบไทย ที่เกาะช้าง”…
คุณครูนิตย์ได้กล่าวถึงความเสียหายที่ฝรั่งเศสยอมรับในข้อมูลฝ่ายตน ที่ เรือเอก จิตพร ตันติกุล ร.น. (ยศในสมัยนั้น) นักเรียนเก่าโรงเรียนนายเรือฝรั่งเศส ได้แปลเอกสารของฝรั่งเศสอยู่ตอนหนึ่งในช่วงการดวลปืนใหญ่ระหว่างเรือลามอตต์ปิเกต์ กับ ร.ล.ธนบุรี ว่า คนฝรั่งเศสบนเรือลามอตต์ปิเกต์สังเกตเห็นว่าเรือเกิดอาการสะท้านอย่างแรงไปทั้งลำ ความเร็วเรือซึ่งวิ่งอยู่สูงสุดซึ่งเป็นปกติในระหว่างรบ เกิดความเร็วตกอย่างฮวบฮาบกะทันหัน จนเกิดควันดำที่ปล่องเรือ อาการนี้คงอยู่เพียงชั่วครู่แล้วหายไป ซึ่งเจ้าตัวนึกว่าเรือคงถูกกระสุนจากเรือรบฝ่ายไทยเสียหาย แต่เมื่อมองไปที่ท้ายเรือ จึงแจ้งถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น เพราะได้สังเกตเห็นพริ้วน้ำท้ายเรือลามอตต์ปิเกต์ขุ่นแดงเป็นทางยาว แสดงว่าเรือได้แล่นโดนที่ตื้น ซึ่งมีอยู่มากมายบริเวณนั้น และสามารถหลุดออกไปได้เอง…
หากเรือลามอตต์ปิเกต์ต้องเกยที่ตื้นและนั่งแท่นแบบถาวรแล้ว ก็คงเป็นโศกนาฏกรรมที่ทหารเรือฝรั่งเศสจะต้องเศร้าหมองตลอดไป (แสดงว่ามีความคิดว่า จะเสียศักดิ์ศรีมาก หากมารบกับทหารเรือไทยแล้วเสียเรือ) ความเป็นไปได้ในเรื่องนี้ก็มีมาก เพราะเรือที่มีระวางเต็มที่ถึงกว่า 3,000 ตัน กินน้ำลึกสูงสุดถึง 20.67 ฟิต คาดว่าต้องใช้ความเร็วสูงสุด เพื่อความได้เปรียบขณะรบในน่านน้ำจำกัดที่มีเกาะน้อยใหญ่ อีกทั้งกองหินและที่ตื้นทั่วไป ส่วนที่ลึกของทะเลบริเวณนั้นเพียงประมาณ 31.1 ฟิต ในพื้นที่ที่ฝรั่งเศสไม่คุ้นเคย การเฉี่ยวโดนที่ตื้นนี้จึงเป็นการเสี่ยงที่ไตร่ตรองไว้ก่อนแล้วและคุ้มค่า…
ผู้เขียนก็ได้พยายามติดต่อโดยผ่านทหารเรือไทย ซึ่งทางทหารเรือฝรั่งเศสก็มีความสงสัยบันทึกของฝ่ายตนที่สับสนกับหมอกควันในการรบว่า ร.ล.ศรีอยุธยาเข้าร่วมรบด้วย และถูกยิงจนต้องหนีเข้าแม่น้ำจันทบุรีไปเกยตื้น และมีเรือตอร์ปิโดไทยคือ ร.ล.ตราดหรือเรือพิฆาตขนาดพันตันที่ฝรั่งเศสเข้าใจว่าอาจเป็น ร.ล.พระร่วง และฝรั่งเศสได้จมเรือนี้อีก 1 ลำด้วย
แต่ในความเป็นจริง เรือตอร์ปิโดอีกลำที่เครื่องบินฝรั่งเศสบินมาตรวจการณ์เห็นเมื่อเย็นวันที่ 16 มกราคม ก่อนจะรบกันในเช้าวันรุ่งขึ้น คือ ร.ล.ระยอง ที่ ผบ.หมวดเรือให้วิ่งออกไปตรวจการณ์แถวเกาะกูดก่อนสว่างและไม่ได้ร่วมรบ ฝรั่งเศสระดมยิงเกาะง่าม โดยเข้าใจว่าเป็น ร.ล.ศรีอยุธยา ซึ่งมาจมในกรณีแมนฮัตตัน อีก 10 ปีให้หลัง (และใช้เป็นเรือพระที่นั่งในการเสด็จนิวัติพระนครของรัชกาลที่ 8) และ ร.ล.พระร่วง ที่มาปลดระวางฯ เมื่อราวปี 2512 โดยไม่ได้อยู่ในหมวดเรือใดที่มาผลัดเปลี่ยนกำลังเลย
ผู้เขียนเคยแลกเปลี่ยนข้อมูลกับต่างชาติมาหลายครั้งแล้ว แต่เมื่อทางเราถามกลับไปเพื่อที่จะสืบค้นตามรายชื่อทหารเรือฝรั่งเศสที่มีอยู่ เหมือนกันกับที่มหาอำนาจร่วมรบจะชำระประวัติศาสตร์กันอย่างผู้เจริญแล้ว โดยจะหาตัวลูกเรือบนเรือลามอตต์ปิเกต์ที่ร่วมรบและยังมีชีวิตอยู่เพื่อการสอบถามหรือสัมภาษณ์นั้น
ปรากฏว่าได้รับคำตอบว่า “ไม่ใช่กิจของทหารเรือฝรั่งเศส”
ผู้ชำนาญการเรือได้บอกกับผู้เขียนว่า หากจะปกปิดเรื่องการรบใดให้เป็นความลับ ก็สามารถจะประชุมและสั่งไม่ให้บันทึกในปูมเรือ และสั่งไม่ให้พูดถึงกันอีกก็จะปกปิดความจริงบางประการได้เช่นกัน
แม้การสิ้นสุดของเรือลามอตต์ปีเกต์หรือที่เรือครั้งสุดท้ายตามที่คุณครูนิตย์กล่าวไว้ และอยู่ถึงปัจจุบัน ก็คือเหตุการณ์หลังการรบที่เกาะช้างแล้วบางท่านมีความเห็นว่าเรือน่าจะเสียศูนย์ไปแล้ว
ดังนั้นตอนก่อนปลายสงครามโลกเล็กน้อย คือต้นปี พ.ศ. 2498 เมื่อญี่ปุ่นเข้าครองอินโดจีนทั้งหมด เรือลามอตต์ปิเกต์จึงได้ถูกยึดไปด้วยและถูกถอนกำลังพลส่วนหนึ่งขึ้นบก แล้วนำเรือไปจอดที่นาเบ (Nha Be) กับเรือสลูปอีก 2 ลำที่ได้ร่วมรบกันมาก็ถูกนำไปผูกไว้ที่เมืองไมโถ (My Tho) และต่อมาไม่นานก็ถูกเครื่องบินจากเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐของ นายพลเรือ แมคเคน เข้าโจมตีทำลายจมคาก้นแม่น้ำอยู่ในเวียดนามใต้จนถึงปัจจุบัน
นักบินที่เข้าโจมตีจมเรือลามอตต์ปิเกต์ก็มีความสงสัย ว่าทำไมการยิงต่อสู้อากาศยานของเรือ ลาดตระเวนในวันโจมตีนั้น เป็นไปแบบพอเป็นพิธี แล้วเห็นลูกเรือส่วนใหญ่ไม่ได้รักเรือหรือจะป้องกันเรือตามวิสัยชาวเรือเลย กลับรีบสละเรือ โดดน้ำหนีกัน คล้ายกับว่า เรือเสียศูนย์ไปแล้ว หรืออยากจะปล่อยให้จมไปเพื่อจะกลบเกลื่อนหลักฐานความเสียหายจากการรบที่ผ่านมา
จึงอาจดูคล้ายกับเรือประจัญบานขนาดกระเป๋า กราฟ สเป ของเยอรมันที่ระเบิดตนเองที่ปากแม่น้ำปลาต้า อุรุกวัย เพราะเสียหายจนไม่อาจจะรบต่อกับกองเรืออังกฤษที่จะตามมาไล่ล่าได้จึงได้ระเบิดทำลายตนเองเสีย…
อ่านเพิ่มเติม :
- 17 มกราคม พ.ศ. 2484 ทัพเรือไทยปะทะทัพเรือฝรั่งเศสใน “ยุทธนาวีเกาะช้าง”
- ย้อนดูบ้านเมือง “ตราด” ในอดีต มี “อ.เกาะช้าง” ที่ไม่ได้อยู่เกาะช้าง ฯลฯ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 สิงหาคม 2565