ข้อมูลอีกด้านเรื่อง “เตรียมอุดมศึกษา” โรงเรียนสหศึกษาที่แรกในไทย ผลงานของคณะราษฎร

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จอมพล ป. พิบูลสงคราม

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เดิมชื่อว่า “โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ก่อตั้งเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2480 (นับปีแบบเก่า) ข้อมูลที่จะนำเสนอนี้เป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การศึกษาไทยที่มิได้มีกล่าวถึงในปัจจุบัน เหมือนว่าบทบาทของ “คณะราษฎร” จะถูกลบเลือนออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของโรงเรียน

ในเอกสาร วารสารข่าวภาพไทย กรกฎาคม พ.ศ. 2484 ปรากฏข้อมูลบทบาทของคณะราษฎรกับ “โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา” มีข้อความส่วนหนึ่งดังนี้

Advertisement

“โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย มีกำเนิดเมื่อท่านอธิการบดี จอมพล หลวงพิบูลสงคราม ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อต้นพุทธศักราช 2481 เพื่อดำเนินการตามแผนการศึกษาใหม่ของรัฐบาล

ผู้สมัครเข้าศึกษาต้องสอบไล่ได้ประโยคมัธยมศึกษา และเลือกเรียนวิชาประเภทใดประเภทหนึ่งใน 10 ประเภทนี้คือ เตรียมอักษรศาสตร์ เตรียมพาณิชยศาสตร์ เตรียมวิชาการบัญชี เตรียมวิทยาศาสตร์ เตรียมแพทยศาสตร์ เตรียมเภสัชกรรมศาสตร์ เตรียมสัตวแพทยศาสตร์ เตรียมทันตแพทยศาสตร์ เตรียมวิศวกรรมศาสตร์ และเตรียมสถาปัตยกรรมศาสตร์

ประเภทวิชาต่างๆ เหล่านี้ บางประเภทมีหลักสูตรเหมือนกันในชั้นเรียน แต่บางประเภทหนักไปในทางภาษา บางประเภทหนักไปทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ บางประเภทต้องเรียนศิลปวาดเขียน เศรษฐศาสตร์ ฯลฯ เมื่อนักรียนเรียนจบหลักสูตร 2 ปีแล้ว ได้เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยตามประเภทวิชาที่ได้เรียนมา

คนโดยมากเรียกโรงเรียนนี้อย่างย่อว่า “เตรียมจุฬา” ซึ่งดูออกจะสั้นสักหน่อย แต่ก็แสดงความหมายอย่างถูกต้อง การมัธยมศึกษาในปัจจุบันกับอุดมศึกษานั้นต่อกันไม่ติด โรงเรียนนี้จึงมีหน้าที่เตรียมทุกๆ อย่างที่จะให้ต่อกันติดตามแนวที่อุดมศึกษาต้องการ คือเตรียมนักเรียนที่มีความรู้เพียงชั้นมัธยมปีที่ 6 ให้มีความรู้ถึงขีดที่จะเข้าฟังปาฐกถาวิชาอาชีพต่างๆ ในจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เตรียมเด็กซึ่งเคยชินกับการอยู่ใต้บังคับของโรงเรียนและของครู ให้เป็นผู้ที่รู้จักผิดชอบ บังคับและควบคุมตนเองได้ในเวลาที่จะศึกษาต่อไป

นอกจากนี้ยังเตรียมนักเรียนหญิง นักเรียนชายซึ่งเคยเรียนแยกกันมาในโรงเรียนมัธยม ให้เป็นผู้ที่จะวางตนได้เหมาะ สมควรเป็นนิสสิตหญิงชาย ซึ่งเรียนรวมกันในมหาวิทยาลัย

ปัญหาเรื่องสหศึกษาเป็นปัญหาข้อใหญ่ และโรงเรียนนี้เป็นสถานที่ทดลองอย่างแท้จริง มีระเบียบข้อบังคับกวดขันในบางข้อ และส่งเสริมในบางประการ มุ่งที่จะให้เกิดความเคยชินขึ้นที่ละน้อย และสมาคมกันในสายตาของครูอาจารย์อันเป็นการกระทำที่เปิดเผยไม่ต้องปิดปัง เมื่อโรงเรียนเปิดในปีแรก ผู้ปกครองนักเรียนหญิงคงจะมิได้ให้ความไว้วางใจมากนัก สถิติจึงแสดงว่ามีนักเรียนหยิงเพียงร้อยละ 25 ของนักเรียนทั้งหมด

แต่ในศกนี้มีนักเรียนหญิงมากขึ้นถึงร้อยละ 48 ของนักเรียนทั้งหมด เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และเพื่อแก้ปัญหาความยุ่งยากเกี่ยวกับการควบคุมภายนอกบริเวณ โรงเรียนจึงได้จัดหารถยนตร์รับส่งประจำโรงเรียน เวลาเช้าและเวลาเย็นจะเห็นรถยนตร์เหล่านี้ตามถนนหนทางสายต่างๆ ตลอดไปจนถึงโรงปูนซิเมนต์บางซื่อ ช่องนนทรีย์ ถนนตก และตลาดพลู

รับนักเรียนหญิงมาโรงเรียนและส่งกลับถึงบ้านวันละเกือบ 200 คน โรงเรียนคิดค่ารับส่งอย่างมิได้หวังกำไร หากนักเรียนผู้ใดไม่ประสงค์จะใช้รถของโรงเรียนก็อนุญาตให้ใช้รถยนตร์ส่วนตัวทางบ้านรับส่งได้ แต่ห้ามใช้รถรับจ้างหรือพาหนะอื่นทั้งสิ้น

การศึกษาในโรงเรียนนี้ได้เจริญก้าวหน้าขยายตัวมาเป็นลำดับ ในปีพุทธศักราช 2481 มีนักเรียนเพียง 300 คนเศษ แต่ในปีพุทธศักราช 2484 นี้มี 1300 คนเศษ และมีนักเรียนที่จบหลักสูตรของโรงเรียนไปแล้วเป็นจำนวน 600 คนเศษ ได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย สำหรับสถานที่ศึกษานั้น ในชั้นต้นใช้ตึกหลังสั้นริมถนนพญาไท มองจากสนามม้าไม่เห็น แต่บัดนี้ได้ก่อสร้างเพิ่มเติมขึ้นตรงไปทางทิศตะวันออก และตึกหลังสุดท้ายคือ หลังยาวริมถนนสนามม้าซึ่งมองไม่เห็นจากถนนพญาไท

โรงเรียนนี้แบ่งนักเรียนออกเป็นห้องๆ เรียกชื่อห้องด้วยตัวเลข เพราะถ้าจะใช้ตัวอักษร ก. ข. ค. เรียกชื่อห้อง ก็จะถึง ฮ. และมี ฒ. ฑ. ท. ธ. ซ้ำกัน เป็นการลำบาก จำนวนนักเรียนที่รับนั้นไม่จำกัดว่าจะรับประเภทใดเท่าใด นักเรียนที่สอบคัดเลือกได้ สมัครเข้าเรียนประเภทใด จำนวนเท่าใด ก็รับตามจำนวนนั้นสำหรับประเภทนั้น แต่ว่าจำนวนรวมยอดนั้นย่อมจำกัดด้วยสถานที่

ตามสถิติในปีพุทธศักราช 2484 นี้ จำนวนนักเรียนที่มาจากส่วนภูมิภาคสูงขึ้นกว่าที่แล้วมา นักเรียนมาจากจังหวัดต่างๆ เกือบทั่วพระราชอาณาจักร จากแม่ฮ่องสอนถึงนราธิวาส จากกาญจนบุรีถึงนครพนม…”

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กรกฎาคม 2563