“ทวารวดี” คืออะไรกันแน่ ได้คำตอบหรือยังว่าที่จริงคืออะไร?

ทวารวดี
พระพุทธรูปและพระเศียรพระพุทธรูป ศิลปะตามแบบวัฒนธรรมทวารวดี

“ทวารวดี” คืออะไรกันแน่? เป็นชื่อ ราชวงศ์ ไหม เกี่ยวอะไรกับดินแดน “ไทย”

รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง จากภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยอธิบายไว้ในทริป “พลังศรัทธา…พุทธศาสน์ งานช่าง ทวารวดี” จัดโดย มติชนอคาเดมี เมื่อปี 2562 ให้เห็นภาพเป็นพื้นฐานด้วยคำอธิบายเข้าใจง่าย ดังนี้

บรรยากาศทัวร์ “พลังศรัทธา…พุทธศาสน์ งานช่าง ทวารวดี” วิทยากรโดย รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2562

“ทวารวดี” ได้คำตอบหรือยังว่าที่จริงคือออะไร?

คำว่า ทวารวดี จริงๆ แล้ว เรานิยามความหมายปัจจุบัน มีหลายนิยามความหมายมาก แต่ในแวดวงวิชาการทั่วไป เวลาพูดถึงทวารวดีเรากำลังหมายถึงกลุ่มวัฒนธรรมกลุ่มหนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และดูช่วงอายุอย่างคร่าวๆ คือตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 จนถึงราวพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นช่วงที่เราเรียกช่วงทวารวดี

นอกจากความหมายเบื้องต้นนี้แล้ว อีกส่วนหนึ่งที่ยังคงเป็นปัญหาอยู่ มีผู้คนคิดว่า “ทวารวดี” เป็นชื่อบ้านเมืองด้วยหรือเปล่า ซึ่งแน่นอนว่าหลักฐานที่เราได้จากเอกสารจีนก็ดี หรือบันทึกต่างๆ นานา ก็ดี มันต้องเป็นชื่อบ้านเมืองนั่นแหละ แต่ว่าบ้านเมืองนี้จะใช้ระบบการปกครองแบบไหน? แบบมีศูนย์กลางที่เดียวอยู่ตลอดเป็นเวลาร้อยๆ ปี เหมือนกรุงศรีอยุธยา 417 ปี หรือเหมือนกรุงเทพฯ 236 ปี อันนี้ยังเป็นที่ถกเถียง และยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะนักวิชาการบางคนมองว่าศูนย์กลางทวารวดีอยู่ที่ จ. นครปฐม บางคนมองว่าศูนย์กลางอาจจะเคลื่อนย้ายไปได้เรื่อยๆ ตามแต่ว่าผู้ปกครองเมืองไหนจะขึ้นมามีอำนาจมากกว่ากัน

ดังนั้น ในเชิงของการปกครองหรือว่านิยาม บางท่านก็มองว่าเป็นอาณาจักรมีกษัตริย์ขึ้นครองราชย์ บางคนอาจมองว่าเป็นกลุ่มบ้านเมืองที่มารวมตัวกัน แล้วสถาปนาใครขึ้นมาปกครอง พออำนาจคนนี้หมดไปก็มีคนอื่นของบ้านเมืองใกล้เคียงขึ้นมาแทน นี่คือคำว่าทวารวดีที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน

เป็นชื่อราชวงศ์ด้วยหรือไม่?

อืม..เรารู้ว่าต้องมีระบบกษัตริย์ เพราะมีชื่อของกษัตริย์อยู่ เช่น พระเจ้าหรรษวรมัน แต่ก็ยังมีปัญหาว่าจะเป็นกษัตริย์เขมรได้ไหม อันนั้นเป็นข้อถกเถียงอยู่ แต่ถึงขนาดเป็นชื่อราชวงศ์ไหม อันนี้ยังไม่มีหลักฐาน แต่อย่างน้อยที่สุดทำให้เรารู้ว่าชื่อทวารวดีเกิดจากหลักฐานที่เป็นเหรียญก็ดี จารึกบนฐานพระพุทธรูปก็ดี มันกระจายไปวงกว้าง ไม่ได้มีแค่เมืองใดมืองหนึ่งเท่านั้น มีทั้งที่นครปฐม อู่ทอง ไปจนถึง อ. ปากช่อง ปัจจุบัน

ทวารวดีอยู่ในดินแดนไทย?

อยู่ในดินแดนไทยแน่นอน เพราะเราพบจารึกบนเหรียญเงินที่พูดถึง “ศรีทวาราวดี ศวรปุณยะ” แปลว่า “บุญกุศลของพระราชาแห่งศรีทวารวดี” ซึ่งแสดงว่าทวารวดีนั้นมีจริงในประเทศไทย และยังมีจารึกบนฐานพุทธรูปที่วัดจันทึก อ. ปากช่อง จ. นครราชสีมา นี่คือหลักฐานที่พบในเมืองไทย ส่วนหลักฐานที่เจอนอกประเทศ เช่น หลักฐานที่เป็นบันทึกของพระภิกษุจีนจิ้นฮง ท่านไล่เรียงชื่อดินแดนที่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงมาทางใต้ของอินเดียว่ามีนามประเทศอะไรบ้าง ดินแดนอะไรบ้าง แต่ออกเสียงเป็นสำเนียงจีน ปรากฏว่าบ้านเมืองที่เขาเรียก “โถ โล โป ตี” มันอยู่ในจังหวะที่น่าจะอยู่ในพื้นที่ของประเทศไทยพอดี

ฉะนั้น นักจารึกและผู้เชี่ยวชาญภาษาจีนโบราณเขาพยายามถอดเสียงว่าโถโลโปตี มันตรงกับอะไร ในที่สุดก็น่าจะเป็นทวารวดี ซึ่งสอดคล้องกับการเจอเหรียญเงินในประเทศไทย ฉะนั้น ทวารวดีอยู่ในเมืองไทยแน่ แต่ศูนย์กลางจะเป็นที่นครปฐมหรือบ้านเมืองอื่น เช่น อู่ทอง หรือบางคนบอกว่าลพบุรีไหม อันนี้เป็นข้อถกเถียงในเชิงรายละเอียด

ส่วนความเห็นผม โดยส่วนตัวค่อนข้างให้น้ำหนักกับนครปฐมมากกว่าคนอื่น เพราะในเชิงความกว้างใหญ่ของเมือง ขนาดของโบราณสถาน ความหนาแน่นของโบราณวัตถุที่พบ นครปฐมมีมากกว่า

ทำไมต้องชื่อ “ทวารวดี”?

ทวารวดีแปลว่าอะไร? “ทวารวดี” เป็นชื่อเมือง มีปรากฏในพระไตรปิฎกส่วนที่เป็นพระสูตร แปลว่าเมืองที่ประกอบไปด้วยประตูและรั้ว และยังถือเป็น “นามมงคล” เพราะเป็นชื่อเมืองของพระกฤษณะด้วย ชื่อเมืองทวารวดี หรือ ทวารกา ฉะนั้น ชื่อเมืองต้นประวัติศาสตร์จะเอาชื่อบ้านเมืองในอินเดียมาตั้งเป็นชื่อบ้านเมืองตัวเองด้วย ไม่ได้หมายความว่ามีศูนย์กลางอยู่นอกประเทศไทย

ทำไมจึงว่าเป็นดินแดนแรกเริ่มพุทธศาสนา?

รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง

ลักษณะของบ้านเมืองที่เจริญขึ้นในยุคต้นประวัติศาสตร์ของ ไทย  เป็นช่วงแรกที่ดินแดนไทยเริ่มใช้ตัวอักษรเป็นเครื่องมือสื่อสาร เมื่อทวารวดีรับเอาวัฒนธรรมจากอินเดียเข้ามาประสมประสาน ส่วนหนึ่งคือรับเอาตัวอักษรเข้ามาใช้ด้วย และพร้อมๆ กับที่เขาใช้ตัวอักษร สิ่งที่รับมาพร้อมกัน คือวัฒนธรรม อารยธรรมในมิติอื่นๆ เช่น ระบบการปกครอง สถาบันพระมหากษัตริย์ เรื่องของพิธีกรรมต่างๆ

ที่ปฏิเสธไม่ได้คือเรื่องศาสนาพุทธ ดูเหมือนคนทวารวดีจะยอมรับนับถืออย่างค่อนข้างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับศาสนาพราหมณ์ จะเห็นว่าพุทธศาสนามีปริมาณความหนาแน่นที่มากกว่า

ดังนั้น เราอาจบอกได้ว่าโดยภาพรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนครปฐม คูบัว เมืองหลักๆ ของทวารวดี นับถือพุทธศาสนามากกว่า และถ้าอนุมานจากตัวโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่พบ มีความละม้ายคล้ายคลึงในทางรูปแบบกับศิลปะอินเดียที่อยู่ร่วมสมัยกัน คือต่อเนื่องตั้งแต่คุปตะ มาหลังคุปตะ และต่อเนื่องด้วยปาละ แสดงให้เห็นเหมือนกันว่าพุทธศาสนาของทวารวดีน่าจะรับมาจากอินเดีย แต่ไม่ได้หมายความว่าศูนย์กลางพุทธศาสนาในบ้านเมืองอื่นจะไม่เกี่ยวข้อง

โดยความเห็นส่วนตัว ผมว่าศรีลังกาในยุคอนุราธปุระอาจมีประเด็นความสัมพันธ์กับทวารวดี มากกว่าที่เราเคยวิจัยกันมา มากกว่าความรู้ที่เรามีกันอยู่ปัจจุบัน น่าคิดอยู่

ก่อนหน้าทวารวดีไม่มีการเอ่ยถึงศาสนาใดๆ?

ก่อนหน้าทวารวดีเป็นยุคการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามธรรมชาติ บูชาผี ผู้ล่วงลับที่เชื่อว่าอาจให้คุณให้โทษเราได้ ผมเชื่อว่าวัฒนธรรมที่สืบทอดมามันต้องมีอยู่แน่ ทำไมถึงพูดอย่างนั้น เพราะทวารวดีบางเมืองเราเจอตุ๊กตาดินเผา ซึ่งแน่นอนว่าบางคนอาจมองว่าเป็นของเล่นได้ไหม ส่วนหนึ่งก็มองว่ามันคล้ายๆ “ตุ๊กตาเสียกบาล” ถ้าข้อสันนิษฐานนี้เป็นจริงก็คือ เป็นการอุทิศตุ๊กตานี้ให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์บางอย่างที่จะมาทำร้ายทำให้เราเจ็บไข้ได้ป่วยหรือตาย

ยังมีข้อน่าสังเกต ตุ๊กตาพวกนี้ ตุ๊กตาเสียกบาลจะเป็นการปั้นดินเหนียวเฉพาะกิจ ปั้นแล้วก็จบกัน แล้วค่อยปั้นใหม่ แต่บางอันเช่น ตุ๊กตาจูงลิง ใช้แม่พิมพ์นะ ไม่ค่อยมีคนพูดกัน ใช้แม่พิมพ์ประกบ ซึ่งทำให้ผมมองว่าถ้าอันนี้เป็นตุ๊กตาเสียกบาลที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน แสดงว่าในอดีตมันน่าจะต้องมีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดการทำตุ๊กตาเสียกบาลจำนวนมากถึงขนาดที่ต้องใช้แม่พิมพ์

ผมเคยคุยเล่นๆ สิ่งที่เป็นเรื่องคอขาดบาดตายของคนในอดีต คือโรคระบาด หรือที่เรียกกันว่าโรคห่า ฉะนั้น ตั้งข้อสังเกตได้ไหมว่าทวารวดีจะมีโรคระบาด ทำให้คนต้องมาร่วมกันทำพิธีปั้นตุ๊กตาเสียกบาล ถึงขนาดต้องทำแม่พิมพ์ออกมา ซึ่งประเด็นนี้น่าสนใจ

จู่ๆ ทวารวดีก็หายไป?

จริงๆ แล้วเหตุปัจจัยที่ทำให้บ้านเมืองหนึ่งถูกทิ้งร้างลง พูดในแง่พื้นที่เล็กๆ ก่อน อย่างบางเมืองที่ร้างผู้คนลงไปจากที่เคยเจริญมากๆ อาจมีหลายเหตุผล เช่น เกิดโรคระบาด หรือเคลื่อนย้ายไปหาแหล่งที่อุดมสมบูรณ์กว่าเดิม แต่ถ้าพูดถึงภาพกว้าง เช่น การหายไปของวัฒนธรรมทวารวดี เช่น การสร้างพุทธรูปหน้าตาแบบทวารวดี การสร้างธรรมจักร หรือการใช้ตัวอักษรแบบทวารวดีหายไป

ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าหายไปพร้อมกับมีวัฒนธรรมอื่นเข้ามาแทนที่ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าวัฒนธรรมนั้นมาจากกัมพูชา ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 อยู่ดีๆ เราค้นพบว่าช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 พื้นที่ภาคกลางของไทยเหมือนมีวัฒนธรรมเขมรเข้ามาแทน เริ่มมีการสร้างพวกปราสาท มีจารึกของพระเจ้าสุริยวรมันขึ้นมา การที่พระองค์ท่านมีโองการ ทำให้เราสันนิษฐานว่าพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 เริิ่มมีอำนาจเหนือลพบุรีแล้ว

กลางพุทธศตวรรษที่ 16 คือช่วงวัฒนธรรมทวารวดี ค่อยๆ หายไปจากลพบุรี พอมาดูบ้านเมืองอื่นๆ ในพื้นที่ภาคกลางก็พบว่าค่อยๆ หายไปเหมือนกัน เป็นวัฒนธรรมเขมรค่อยๆ เข้ามาแทนที่ พอมาถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ยิ่งเห็นได้ชัดว่าวัฒนธรรมเขมรเข้ามาค่อนข้างจะเต็มตัว

การวิจัยค้นคว้าเรื่องทวารวดียังมีต่อไป?

ที่จริงมีประเด็นที่เราจะค้นคว้าต่อได้ในเรื่องรายละเอียด แต่เรื่องหลักๆ คล้ายๆ มันจะหยุดแล้วล่ะ เริ่มเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษไหน หายไปศตวรรษไหน นับถือศาสนาใด นิกายไหน อันนี้ค่อนข้างจะอยู่ตัวแล้ว แต่สิ่งที่อาจเพิ่มเติมมาก็อยู่ที่หลักฐานที่พบใหม่ เช่น เจอเหรียญขึ้นมาใหม่ อาจเพิ่มเติมประเด็นการแพร่กระจาย เป็นต้น

ถ้าทวารวดีมีอายุร่วม 400 ปี ทำไมถึงมีกษัตริย์องค์เดียวที่เอ่ยถึง?

อันนี้น่าสงสัยเหมือนกัน เพราะถ้าเทียบกับเพื่อนบ้าน เช่นในกัมพูชาที่เจริญขึ้นในช่วงระยะเวลาเดียวกัน เขามีชื่อกษัตริย์ ผู้ปกครองเพียบเลย แต่ทวารวดีเราขาดหลักฐาน มีอยู่ประมาณองค์สององค์ที่รู้จักชื่อ ผมคิดว่าส่วนหนึ่งชื่อกษัตริย์อาจไปอยู่ในหลักฐานที่ไม่ได้ถาวร เช่น พวกคัมภีร์ที่ทำจากใบลานหรือกระดาษ เลยทำให้เราขาดหลักฐาน

ปัญหาหนึ่งของทวารวดีคือการเสื่อมสภาพของตัววัตถุ อายุพันปีต้องเสื่อมสภาพเป็นธรรมดา คนรุ่นนั้นเขาก็มองว่าสิ่งที่สร้างชั่วชีวิตเขามันแข็งแรงแล้ว ไม่คิดว่าจะต้องอยู่เป็นพันๆ ปี ก็แค่ชั่วชีวิตเขา เหมือนเราสร้างบ้าน คงไม่คิดว่าบ้านเราจะต้องอยู่ถึงพันปี แค่ในชั่วชีวิตเราเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม:

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 22 กรกฎาคม 2563