“ศรีเทพ-เสมา” เมืองเครือข่าย ศรีทวารวดี-ศรีจนาศะ?

เศียร พระโพธิสัตว์เมตไตรยะ เขาถมอรัตน์ กับ เศียร พระโพธิสัตว์เมตไตรยะ บ้านโตนด ศรีเทพ เสมา ศรีทวารวดี ศรีจนาศะ
(ซ้าย) เศียรพระโพธิสัตว์เมตไตรยะ จากเขาถมอรัตน์ กับ (ขวา) เศียรพระโพธิสัตว์เมตไตรยะ จากบ้านโตนด

“ศรีเทพ” เมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งล่าสุดของไทย เป็นเมืองโบราณสำคัญลุ่มแม่น้ำป่าสักที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ชาติไทยโดยตรง และเชื่อได้ว่ามีความเกี่ยวข้องกับ เมืองเสมา เมืองโบราณอีกแห่งแถบต้นแม่น้ำมูล จังหวัดนครราชสีมา ทั้งเป็นไปได้ว่า ศรีเทพ-เสมา เป็นเมืองในเครือข่ายกัน คือ ศรีทวารวดี และ ศรีจนาศะ ตามจารึกโบราณ

รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อธิบายข้อมูลสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวว่า ศรีเทพ คือ “ศรีทวารวดี” ส่วน เสมา คือ “ศรีจนาศะ” และทั้งสองเมืองมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เรียกได้ว่าเป็น “เมืองคู่แฝด” กัน …

ประเด็นแรก ศรีเทพ คือ ศรีทวารวดี จริงหรือ? อาจารย์รุ่งโรจน์ อธิบายว่า การพบ รูปพระกฤษณะ เป็นจำนวนมากในเขตเมืองศรีเทพ บ่งชี้ความเป็นศูนย์กลางทวารวดีของเมืองแห่งนี้ เพราะตามตำนาน พระกฤษณะคือพระราชาครองเมืองทวารกา หรือทวารวดี ขณะที่เมืองโบราณอื่น ๆ ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา อย่างเมืองนครปฐม เมืองอู่ทอง ที่ส่วนหนึ่งเชื่อว่าคือศูนย์กลางทวารวดี กลับมีร่องรอยเกี่ยวกับพระกฤษณะน้อยมาก เทียบไม่ได้เลยกับที่พบในศรีเทพ

แม้จะมีการพบเหรียญทวารวดีทั่วภาคกลาง แต่นั่นไม่ใช่หลักฐานยืนยันความเป็นศูนย์กลางทวารวดีของนครปฐมหรืออู่ทองแต่ประการใด เพราะเหรียญมีขนาดเล็ก เคลื่อนย้ายได้ง่าย ตรงกันข้าม ศิลาขนาดใหญ่ซึ่งพบที่เมืองจันทึก อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา มีข้อความกล่าวถึงทวารวดีเช่นกัน ดูจะมีความหนักแน่นกว่า เพราะเป็นศิลาก้อนใหญ่ เคลื่อนย้ายยาก แนวโน้มที่ทวารวดีจะอยู่ซีกตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งเดียวกับศรีเทพ) จึงมีความเป็นไปได้มากกว่าตามไปด้วย

ประเด็นต่อมา เสมา คือ ศรีจนาศะ หรือไม่? อาจารย์รุ่งโรจน์ ให้สรุปความเห็นว่า เมื่อมีการกล่าวถึงเมืองศรีจนาศะใน จารึกบ่ออีกา ที่เมืองเสมา ศูนย์กลางรัฐศรีจนาศะจึงควรเป็นเมืองเสมา ไม่มีอะไรซับซ้อน

ส่วนประเด็นความเป็นเมืองเครือข่ายกันระหว่าง ศรีเทพ กับ เสมา นั้น อาจารย์รุ่งโรจน์ ชี้ว่า ต้องทบทวนกันต่อไป ทั้งนี้การพบภาชนะที่เรียกว่า “พิมายดำ” ในเมืองศรีเทพ ซึ่งเป็นเครื่องใช้ที่พบได้มากในเขตต้นแม่น้ำมูล พื้นที่เมืองเสมา บอกใบ้ถึงความเชื่อมโยงของสองเมืองได้เช่นกัน รวมถึงงานศิลปกรรรมหลาย ๆ อย่างของศรีเทพก็มีความคล้ายคลึงหรือเกี่ยวข้องกับสกุลช่างแถบต้นแม่น้ำมูลด้วย

เช่น ทรงผมของพระโพธิสัตว์ที่ได้จากเขาถมอรัตน์ เมืองศรีเทพ คล้ายกับทรงผมของพระโพธิสัตว์สำริดจากบ้านโตนด จังหวัดนครราชสีมา ทำให้เชื่อได้ว่าเมืองทั้งสองมีความสัมพันธ์กันไม่มากก็น้อย

ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การพบจารึกเอ่ยถึงลูกสาว “พระเจ้าทวารวดี” แถบเมืองเสมา หากศรีเทพคือศรีทวารวดีจริง ๆ เมืองทั้งสองย่อมเกี่ยวพันหรืออาจเป็นรัฐเครือญาติกันนั่นเอง

ติดตามเรื่องราวแบบเต็ม ๆ ได้ใน SILPA PODCAST ทะลุเพดานความรู้ “เมืองศรีเทพ” EP.2 “ศรีเทพ” เมืองไม่เคยร้าง ศูนย์กลางทวารวดี โดย รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ที่ YouTube : Silpawattanatham

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2566