“สังเค็ด” คืออะไรกันแน่? ดูร่องรอยสังเค็ดในอดีตจากเรื่องขุนช้างขุนแผน

สังเค็ด

“สังเค็ด” คืออะไรกันแน่? ดูร่องรอยสังเค็ดในอดีตจากเรื่องขุนช้างขุนแผน

คำ “สังเค็ด” นี้ในปทานานุกรมได้ให้คำนิยามว่า “ทานวัตถุที่ถวายแก่สงฆ์เมื่อเวลาปลงศพ มีตู้, โต๊ะ เป็นต้น รวมกันถวายแก่พระสงฆ์ผู้เทศน์หรือบังสุกุล”

นี่คือบันทึกของคนรุ่นปู่ รุ่นทวด (เพราะเริ่มรวบรวมคำไว้แต่ พ.ศ. 2427 ถึง พ.ศ. 2434) ที่บันทึกไว้จากประสบการณ์ ที่ได้เคยใช้ (ตู้, โต๊ะ ฯลฯ ที่เขาถวายวัด) มากับตัวเอง เพราะท่านเคยบวชเป็นพระเป็นมหาเปรียญ คือขุนประเสริฐอักษรนิติ์ (แพ ตาละลักษณ์) จึงไม่ควรจะไปปรามาสถามหาหนังสืออ้างอิง

Advertisement

หัสเดิมเริ่มแรกก็คงจะเป็นว่าสิ่งของดังกล่าว (คือ ตู้, โต๊ะ, เก้าอี้ ฯลฯ) ก็จะเป็นของที่ผู้ตายเคยใช้สอย, เมื่อตายไปแล้วผู้อยู่หลัง (ผัว, เมีย หรือญาติสนิท) ได้เห็นสิ่งของเหล่านั้นก็ให้ระลึกถึง อาวรณ์อาลัย (คร่ำครวญ) อยู่ไม่วาย ก็เลยเมื่อเผาศพก็เอาของเหล่านั้นถวายพระหรือถวายวัดเสียเพื่อไม่ให้เตะตาเตือนใจ

ดังมีเค้าอยู่ในเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนที่ขุนช้างมาหลอกนางศรีประจันกับนางวันทองว่าขุนแผนตายกลางทัพ นางวันทองจะต้องถูกจับเป็นหม้ายหลวงให้รีบแต่งงานเสียก่อน คือแต่งงานกับแกเพื่อให้พ้นภัย ดังนี้

“ครั้นรุ่งขึ้นขาวรอบขอบฟ้า   สกุณากู่ก้องร้องสลอน

วันทองตื่นตาก็อาวรณ์   ปรับทุกข์ปรับร้อนกับสายทอง

ถึงหม่อมแก้วตายจริงฤาหาไม่   จะอาไลยอะไรกับข้าวของ

แต่ผัวรักยังไม่ได้ครอบครอง   น้องนึกจะอุทิศทำบุญไป

มาดแม้นหม่อมแก้วรอดกลับมา   ข้าวของก็คงหามาได้ใหม่

จะเอาของหม่อมแก้วแววไว   ทำบุญส่งไปให้หมดตัว

วันนี้จะไปวัดป่าเลไลย   ทั้งจะได้ไล่เลียงกับท่านขรัว

หมากพลูยังมีที่ในชั้ว   ทูลหัวช่วยพาให้ข้าไป

ว่าแล้วไปหาศรีประจัน   รำพรรณบอกความสะอื้นไห้

บัดนี้ผัวลูกก็บรรไลย   จะลาแม่ออกไปยังวัดพลัน

ผ้าผ่อนของหล่อนที่เหลือไว้   เอาทำบุญส่งไปให้ผัวฉัน

เงินทองเสื้อผ้าสารพัน   ศรีประจันว่าไปเถิดแม่ไป”

ต่อมาคนที่ไม่รู้ความนัย เห็นเขาทำบุญถวายตู้ถวายโต๊ะ ฯลฯ (รวมเรียกว่า “สังเค็ด”) คงจะได้บุญดี ก็นึกอยากจะได้บุญในส่วนนี้กับเขาบ้าง แม้ไม่มีสิ่งของอยู่ก็ไปซื้อเขาเอา, และแม้ในงานบุญอย่างอื่น (ที่ไม่ใช่งานศพ) ก็เอาดังเช่นในขุนช้างขุนแผน

“ครานั้นเจ้าจอมหม่อมขุนช้าง   น้ำใจกว้างขวางให้ฟุ้งส้าน

เด็กเอ๋ยหาไม้อย่าได้นาน   จักสานกระจาดนั้นเตรียมไว้

เอาเงินตราไปหาซื้อสังเค็ด   ปริขารเบ็ดเสร็จทั้งน้อยใหญ่

หาผ้าเนื้อดีมาทำไตร   ที่ผู้หญิงนั้นไปหาเครื่องกัณฑ์”

นี่ขุนช้างท่านเอาสังเค็ดมาถวายในงานบุญเทศน์มหาชาติ ในทางโบราณคดี “สังเค็ด” เป็นที่พระนั่งสวดศพ

หลายปีมาแล้ว คุณไมเคิ้ล ไร้ท์ ผู้สัดทัดคดีลังกาเคยถามผมว่า “สังเค็ด” แปลว่า สวด ได้ไหม ใจผมนึกถึงศัพท์ “สังเค็ด” ทันที, เพราะ อิ, อี มันแผลงเป็น เอ ได้, และเอามาเขียนแบบไทย ๆ เอาไม้ไต่คู้ใส่แล้วสะกดด้วยตัว ด แทนตัว ต เช่น ผลิต เป็น เผล็ด ผมก็เลยตอบไปว่า

“พอได้ ตามหลักคำ, เพี้ยนมาจาก สังคีต แต่สังเค็ดมันเป็นวัตถุจำพวก ตู้, โต๊ะ, ฯลฯ นะ” ผมพูดอย่างติดนิยามในปทานานุกรม

สังเค็ด หรือ สังเค็ต สวดพระศพ สมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถร) วัดราชบพิธ
สังเค็ตที่ใช้สวดพระศพสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถร) วัดราชบพิธ

แต่ตอนนี้ผมยอมรับแล้ว 100 เปอร์เซนต์ เพราะโบราณวัตถุที่เป็นฝีมือช่างชั้นเอกของไทยเราชิ้นหนึ่งที่มีอยู่ที่วัดเชิงท่า จังหวัดอยุธยา คือ “สังเค็ด”, เป็นที่สำหรับพระนั่งสวดจริง ๆ

คุณไมเคิล ไร้ท์ ได้ขยายความต่อไปว่า ในลังกานั้นมีที่พระนั่งสวดเหมือนของเรา แต่ของเขาเรียก “ปริตตมณฑป”, ใช้นั่งสวดทั้งงานมงคลและงานศพ (นี่แสดงว่าคุณไมเคิ้ล ไร้ท์ ได้ไปเห็นสังเค็ดของเรามาแล้ว)

แต่ของเราคงจะใช้เฉพาะแต่ในงานศพ เพราะพระสวด 4 องค์นั้น ในงานอื่นเราไม่ใช้กัน

ปัจจุบันพระนั่งสวดศพในสังเค็ดนั้นยังมีอยู่แต่ในงานหลวง (แต่ไม่เสมอไป) เมื่องานศพสมเด็จพระสังฆราชวาสน์ วาสโน วัดราชบพิธนั้นพระสวดศพก็นั่งสวดในสังเค็ด

ในทางนิรุตติศาสตร์ เรื่องเสียงเลื่อนนั้นเป็นไปตามหลักภาษาอยู่แล้ว เช่น กิจ เป็น เก็จ (แล้วแผลงเป็น กำเหน็จ อีกต่อหนึ่ง), อินดู ของโบราณนั้นก็มาเป็น เอ็นดู ในสมัยเรา แต่ความเลื่อนนั้น ที่นั่งสวด จะเลื่อนมาเป็นตู้, โต๊ะ ฯลฯ, หรือ ตู้, โต๊ะ จะเลื่อนมาเป็นที่สวด ยังกังขา

ว่าแต่ว่า การนั่งสวดใน “ที่นั่งสวด” นี้ เราเอาอย่างลังกาเขาหรือเปล่า, หรือว่าลังกาเอาอย่างไทย?

สังเค็ต หรือ สังเค็ด วัดเชิงท่า พระนครศรีอยุธยา
ที่เห็นข้างหลังนั้นคือ “สังเค็ต” วัดเชิงท่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศิลปะชิ้นเอกชิ้นหนึ่งที่กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติของชาติ

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 ธันวาคม 2559