“สมาคมลับบัวขาว” กบฏกู้ชาติของชาวฮั่นในการล้มมองโกล

สมาชิก สมาคมลับบัวขาว พบปะ พูดคุย
การพบปะกันหารือกันของสมาชิกสมาคมลับบัวขาว (ภาพจาก https://www.metmuseum.org)

สมาคมลับบัวขาว คืออะไร ก่อนอื่นต้องย้อนไปยุคปลายราชวงศ์หยวน ถึงจะพอเห็นภาพ

“ล้มล้างแมนจู ฟื้นฟูราชวงศ์หมิง” เป็นคำพูดที่ได้ยินเสมอ ๆ ทั้งในทางวิชาการและทางสารคดีบันเทิงต่าง ๆ ที่แสดงถึงการปฏิเสธคนต่างเชื้อชาติคนชาวฮั่น แม้จะไม่มีคำพูดติดปากเช่นนี้กับชาวมองโกลหรือราชวงศ์หยวนก็ตาม แต่ภารกิจ “ขับไล่มองโกล” อยู่ในความคิดของชาวจีนฮั่นเสมอ

เพียงแต่รอเวลาอันสมควรนั้นยังมาไม่ถึง

จนกระทั่งในปลายราชวงศ์หยวน พระเจ้าซุ่นตี้ (ค.ศ. 1333-1368) ที่มีพระชนมายุมากขึ้นกลับใฝ่หาแต่ความสุขส่วนพระองค์ ไม่ทรงสนพระทัยราชการแผ่นดิน งบประมาณปิดหีบไม่ได้ เกิดกบฏลุกลามอยู่เนือง ๆ ซ้ำร้ายยังเกิดภัยธรรมชาติรุนแรง ใน ค.ศ. 1343 หวงเหอเกิดอุทกภัยร้ายแรง ค.ศ. 1344 มีฝนตกหนักติดต่อกันถึงกว่า 20 วัน เกิดน้ำท่วมใหญ่เป็นประวัติการณ์ ระดับน้ำสูงกว่าฝั่งถึง 7 เมตร เขื่อนถูกกระแสน้ำทำลายเสียหาย

ราชสำนักมองโกลใช้ทหาร 20,000 คน เข้าบังคับเกณฑ์แรงงานชาวฮั่น 150,000 คน ให้ขุดดินเพื่อซ่อมเขื่อนที่พังดังกล่าว การเกณฑ์แรงงานทําให้ประชาชนไม่มีโอกาสทํามาหากิน ทั้ง ๆ ที่พวกเขาเองก็เป็นผู้ประสบภัยเช่นกัน ภายหลังอุทกภัยผู้คนอดอยากจนถึงขั้นอดตายก็มี

ระหว่างนั้นเกิดข่าวลือแพร่สะพัดทั่วไปว่า “มนุษย์หินตาเดียว” จะมาปลุกระดมให้ผู้คนชาวฮั่นทั้งหลายก่อการกบฏต่อมองโกล ต่อมาก็มีชายสองคนที่ถูกเกณฑ์แรงงาน ชื่อว่า หันซานถงกับหลิวฟุตง ขุดดินพบรูปปั้นเป็นมนุษย์ตาเดียวขึ้น ข่าวลือจึงเริ่มดูจริงจังน่าเชื่อถือขึ้นพร้อม ๆ กับกระแสต้านมองโกลที่แพร่หลายไปอย่างรวดเร็วเหมือนไฟไหม้ป่า

และนั่นคือการทำงานของ สมาคมลับบัวขาว

หันซานถงเป็นหัวหน้าสมาชิกสมาคมลับบัวขาวหรือไปเหลียนเจี้ยวในท้องที่นั้น สมาคมลับบัวขาวเริ่มต้นจากความเชื่อถือของชาวฮั่นที่นับถือศาสนาพุทธ ที่ได้เผยแพร่คําสั่งสอนในยามที่เกิดทุรยุคว่า ภายภาคหน้าจะมีผู้มีบุญมาปราบยุคเข็ญ แล้วก็จะถึงยุคพระศรีอาริยะเมตไตรย บ้านเมืองจะอยู่เย็นเป็นสุข มั่งคั่งไพบูลย์ ฯลฯ

การเผยแพร่ความเชื่อถือพระศรีอาริยะเมตไตรย ในยุคใหม่ที่มีแต่สันติสุขเป็นผลงานของสมาชิกสมาคมลับบัวขาวมานานแล้ว สมาคมนี้มีการก่อตั้งกันอย่างลับ ๆ มาตั้งแต่สมัยปลายศตวรรษที่ 4 เมื่อถึงต้นศตวรรษที่ 14 เงื่อนไขทางสังคมของจีนสอดคล้องกับความเชื่อของสมาคมลับบัวขาว เพราะประชาชนกำลังประสบกับความลำบากยากแค้นทั้งจากการปกครองของชาวมองโกล และจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น

แต่การลุกขึ้นสู้กับทางการของชาวบ้านที่เรียกว่า กำลังรบโผกผ้าแดง (หงจิน) นั้น ถูกกองทัพมองโกลรุกไล่อย่างหนัก จนในที่สุดสามารถจับหัวซานถงหัวหน้าสำคัญได้ และฆ่าทิ้งใน ค.ศ. 1351 หากหลิวฟุตงมือขวาของเขาคิดหลบหนีพร้อมกับหลินเอ๋อบุตรชายหันซานถงที่ยังเด็กอยู่ไปด้วย

สมาชิกสมาคมลับบัวขาวแม้ว่าจะไม่มีหัวหน้าใหญ่นําการต่อสู้ร่วมกัน ต่างก็ใช้กําลังอาวุธต่อต้านทหารมองโกล บ้างก็ประกาศตั้งอาณาจักรอิสระของตน กระจัดกระจายกันอยู่ตามท้องที่ต่าง ๆ ทางบริเวณตอนเหนือของแม่น้ำฉางเจียง ด้านตะวันออกมณฑลหูเป่ย พลพรรคโพกผ้าแดงภายใต้การนําของสมาชิกสมาคมลับบัวขาวก็มีกําลังถึงกว่าแสนคนเทียบเท่ากับกองทัพหนึ่งทีเดียว เรียกว่า “กองทัพโพกผ้าแดง-หงจินจุน”

ค.ศ. 1355 หลิวฟุตงยึดเมืองป๋อโจว (ป๋อเสี้ยนในอานฮุยปัจจุบัน) จึงสถาปนาหันหลินเอ๋อขึ้นเป็น “เสี่ยวหมิงหวาง-กษัตริย์หมิงองค์เล็ก” หรือผู้สืบราชวงศ์ซ่งที่ถูกมองโกลกําจัดไปแล้ว ขณะเดียวกันพระเจ้าซุ่นตี้จักรพรรดิมองโกลก็พยายามปราบปรามกบฏอย่างรุนแรง

ค.ศ. 1358 กองทัพโพกผ้าแดงมีความเข้มแข็งเต็มที่ สามารถทำลายกำลังหลักของกองทัพมองโกลลงได้แล้ว แต่กองทัพโพกผ้าแดงไม่ได้สร้างพันธมิตรกับบรรดาผู้นําที่ก่อตั้งเป็นก๊กเป็นเหล่าเพื่อต่อต้านมองโกล และก็ไม่ได้สร้างฐานที่มั่นสําหรับกองทัพของตนขึ้นในพื้นที่ที่พิชิตได้ จึงเกิดขัดแย้งกันขึ้นเองในระหว่างผู้นํา ทำให้มองโกลมีเวลาตั้งหลักใหม่ และสามารถระดมกําลังกอบกู้ชัยชนะได้สําเร็จ กองทัพโผกผ้าแดงพ่ายแพ้ หลิวฟุตงเสียชีวิตระหว่างสู้รบใน ค.ศ. 1362

จูหยวนจางผู้นํากบฏอีกทัพหนึ่ง ส่งกำลังมารับและคุ้มครองเสี่ยวหมิงหวาง เพื่อไปเป็นประมุขหรือตัวเชิดของจูหยวนจาง โดยพระนามกษัตริย์ราชวงศ์ซ่งในฐานะผู้นําการต่อต้านมองโกล จนสามารถล้มมองโกลสำเร็จ

จูหยวนจางผู้นํากบฏนี้ เป็นนักการเมืองและนักการทหารที่มีสติปัญญาความสามารถเหนือกว่าผู้นํากบฏทั้งหลายที่ต่อต้านมองโกลในยุคนั้น สถาปนาตนเองเป็นปฐมจักรพรรดิราชวงศ์หมิง ปกครองอาณาจักรสืบต่อไปได้ถึงร่วมสามร้อยปี

อนึ่ง เรื่องพระศรีอาริยะเมตไตรยจะมาโปรดของ “สมาคมลับบัวขาว” นี้ สอดคล้องกันกับอนุศาสน์ของมานี ศาสดาชาวเปอร์เซีย (ค.ศ. 216-276) ที่รวมเอาลัทธิบูชาไฟ (Zoroastrianism) คําสอนของศาสดามานีแพร่หลายเข้ามาในจีนสมัยราชวงศ์ถัง โดยการติดต่อค้าขายระหว่างพ่อค้าชาวฮั่นกับพ่อค้าชาวเปอร์เซียในเอเชียกลางตามเส้นทางสายไหม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ทวีป วรดิลก. ประวัติศาสตร์จีน, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, กุมภาพันธ์ 2547


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มีนาคม 2563