ไม้ขีดไฟในสยาม เริ่มมีใช้ครั้งแรกสมัยรัชกาลที่ 4

(ภาพจากหนังสือ สิ่งพิมพ์สยาม, สนพ.ริเวอร์ บุ๊คส์)

“ไม้ขีดไฟ” เป็นของใช้จำเป็นที่ต้องมีติดบ้านเสมอ มันทำให้เราติดไฟ, จุดไฟได้ง่าย เร็ว และสะดวกทันใจกว่าการใช้เหล็กไฟชุดเหลือเกิน ไม่รู้เหมือนกันว่าเมื่อแรกมีไม้ขีดไฟใช้กันผู้คนจะตื่นเต้นกับมันมากน้อยแค่ไหน

แต่ปัจจุบันเมื่อของข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ใช้ “ไฟฟ้า” เป็นพลังงาน การใช้งานก็แค่เสียบปลั๊ก กดสวิตช์ก็เป็นเรียบร้อย ไม้ขีดไฟก็ค่อยๆ หายไปจากชีวิตคนไทย

Advertisement

วันนี้เราจึงอยากชวนท่านผู้อ่านกลับไปย้อนดูว่าเรื่องราวของไม้ขีดไฟเมื่อแรกเข้ามาในไทย

แน่นอนว่าบทความแบบนี้จะใช้ของใครอื่นไม่ได้นอกจาก เอนก นาวิกมูล  เขาเคยเขียนเรื่องนี้ไว้ใน “แรกมีในสยาม 2” (สนพ.แสงแดด, 2534) โดยได้ข้อมูลอ้างอิงจากอุตสาหกรรมทั่ว (โดยกระทรวงศึกษาธิการ แบบเรียนสำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (พ.ศ. 2491))

ไม้ขีดไฟเริ่มมีการประดิษฐ์คิดค้นขึ้นครั้งแรกในประเทศเยอรมนี เมื่อ พ.ศ. 2213 แต่ไม้ขีดไฟในยุคแรกยังไม่ค่อยปลอดภัยนัก เนื่องจากฟอสฟอรัสเหลืองที่เป็นส่วนประกอบนั้นมักจะมีปฏิกิริยาสามารถลุกติดไฟได้ง่ายเมื่อถูกอากาศ มีการพัฒนาคุณภาพไม้ขีดไฟเป็นระยะ

จนกระทั่ง พ.ศ. 2370 (ต้นรัชกาลที่ 3) จอห์น วอล์เกอร์ นักทดลองชาวอังกฤษ คิดทำไม้ขีดไฟจากฟอสฟอรัสแดงและส่วนผมอื่น ๆ และมีการตั้งโรงงานผลิตขึ้นเพื่อจำหน่าย ในไม่ช้าไม้ขีดไฟก็แพร่หลายในยุโรปและอเมริกา

สำหรับประเทศไทย “ไม้ขีดไฟแพร่หลายในกลางรัชสมัยพระจอมเกล้าฯ…แต่เป็นไม้ขีดไฟจากสวีเดน พวกบาทหลวงที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาเป็นผู้นำเข้ามาใช้ก่อน สมัยปัจจุบันนี้มีโรงงานอุตสาหกรรมไม้ขีดไฟเกิดในประเทศหลายแห่งแล้ว เราจึงไม่ต้องอาศัยไม้ขีดไฟต่างประเทศต่อไป”

พยานเอกสารอีกชิ้นที่ช่วยยืนยันว่า ไม้ขีดไฟเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 4 คือ

หนังสือ “บางกอกรีคอร์เดอร์” ฉบับภาษาไทย เล่ม 2 หน้า 263 ฉบับวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 1866 (พ.ศ. 2409) ซึ่งเป็นช่วงปลายรัชกาลที่ 4 ซึ่งต้องถือว่าเป็นหลักฐานเกี่ยวกับไม้ขีดไฟในประเทศไทยที่เก่าแก่ที่สุด พบในมีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงไม้ขีดไฟว่า (คัดตามต้นฉบับเก่า)

“ความไฟไหม้

ณ วันจันทร เดือนอ้าย ขึ้น 3 ค่ำ, เกิดไฟไหม้บ้านที่ถนนเจริญกรุง ที่หลังบ้านมิศเตอปิกเอนเปก แอนกำปนี. แต่ไหม้ก็ไม่มาก.

อนึ่ง ในวันนั้น ที่โรงษี, พวกจีนหลังบ้านหลวงวิสูทธสาครดิษฐ. พวกกระเวนคนหนึ่งเหนเพลิงติดหลังคาโรงษีนั้น, ก็ร้องปลุกคนขึ้นให้ดับไฟ ก็ดับทัน. ได้เหนไม้คีดไฟฝรั่งเปนกำมือ 1 ห่ออยู่ในกระดาดฟางหลายชั้น ไฟติดกระดาดฟางอยู่ ยังหาถึงที่ไม้คีดไฟไม่. ถ้าไม่ได้ดับ อิกประเดี๋ยวก็จะถึงไม้คีดไฟ ก็จะติดไหม้ขึ้น จะดับไม่ได้. บ้านนั้นก็จะไหม้เสียหมด จะติดลามไปถึงบ้านมิศเตอมากวั่น แอนกัมปนี, แลมิศเตอกอด แอนกัมปนี. เพราะลมพัดเรื่อยในขณะนั้น. พวกกระเวนเดินยามดั่งนั้นเปนคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองจริง” [เน้นโดยผู้เขียน]

เป็นอันว่า ความน่าจะเป็นที่ว่าไม้ขีดไฟเข้ามาในเมืองไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 4 นั้นเป็นไปได้มาก แต่บทบาทของไม้ขีดไฟในปัจจุบันไม่ใช่ของจำเป็นติดบ้านอีกต่อไปแล้ว แต่กลายเป็นของสะสม เป็นของโบราณที่บอกเล่าวิวัฒนาของบ้านเมืองยุคหนึ่งแทน

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มีนาคม 2563