ที่มาของชื่อ “เสียมราบ” หรือ “เสียมเรียบ” ?!?

เสียมราบ และนครวัด (วงกลม) ในแผนที่เลขที่ 10 (ภาพจาก Royal Siamese Maps : War and Trade in Nineteenth Century Thailand, Bangkok : River Books, 2006.)

ที่มาของชื่อ “เสียมราบ” หรือ “เสียมเรียบ” ?!?

บทนำ

เสียมราบ หรือ เสียมเรียบ เป็นชื่อเมืองสำคัญเมืองหนึ่งของประเทศกัมพูชา พจนานุกรมเขมร ฉบับพุทธศาสนบัณฑิตย์ให้ความหมายโดยไม่ได้อธิบายความหมายของชื่อนี้ว่า …ชื่อจังหวัดหนึ่งในกัมพุชรัฐ อยู่ในทิศภาคตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงพนมเปญ โบราณสถานแปลกๆ มีมากในจังหวัดนี้ยิ่งกว่าเขตอื่นอีก…

Advertisement

คำว่า เสียม พจนานุกรมเขมรฉบับเดียวกันให้ความหมายว่า ชื่อประเทศหนึ่งมีพรมแดนติดกับประเทศกัมพูชาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ…คนที่อยู่ในประเทศนี้ก็เรียกว่าเสียมด้วย…

อาจเป็นไปได้ที่คำนี้จะตรงกับคำว่า สยำ ภาษาเขมรโบราณที่ใช้เรียกชนชาติหนึ่ง ปรากฏอยู่ในภาพสลักระเบียงพระนครวัด ซึ่งนักวิชาการส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป็นชาวสยาม แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามคำว่า เสียม ในชื่อ เสียมราบ ก็หมายถึงคนไทยนั่นเอง

คำว่า ราบ ในภาษาเขมรปัจจุบันออกเสียงว่า เรียบ มีความหมายว่า ราบ เรียบ ซึ่งตรงกับภาษาเขมรโบราณว่า “ราบ” หมายถึง “ลุ่ม ปราบให้เรียบ ปราบ” เมื่อรวมความแล้ว เสียมราบ (ออกเสียงว่าเสียมเรียบ) จึงแปลว่า ชาวสยาม (แพ้) ราบเรียบ

ชื่อ เสียมราบ มาจากไหนทำไมต้อง “เรียบ”

พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ เอกสารโบราณของกัมพูชาอธิบายที่มาชื่อ เสียมเรียบ เกิดมาจากพระร่วงไปหมอบราบด้วยความเกรงกลัวอำนาจพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ สถานที่บริเวณนั้นจึงได้ชื่อว่า เสียมราบ ดังความว่า

…พระเจ้าร่วงกับพวกพลไทยทั้งปวงกลัวพระเดชานุภาพกราบถวายบังคมชมพระบารมีพระเจ้าปทุมสุริยวงษ์ ตั้งแต่พระนครธมนครวัดจนถึงเมืองเสียมราบ จึงได้ชื่อว่า เสียมราบ แต่นั้นมา…

แสดงให้เห็นว่าแม้แต่ผู้เขียนพงศาวดารเขมรเองก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่า เสียมราบ นั้น ราบเมื่อใด และราบเพราะเหตุใด จึงต้องแต่งตำนานอธิบายชื่อสถานที่

“สยามพ่าย” ที่เมืองพระนคร ที่มาของนาม “เสียมราบ” ในพงศาวดารกัมพูชา

อย่างไรก็ตามหลักฐานของกัมพูชากล่าวว่า เมื่อเจ้าพญาจันทราชาประทับอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาได้ 3 ปี เจ้าพญายศราชาได้เสด็จหนีไปที่กรุงศรีอยุธยาและทูลว่า เสด็จกอนได้กบฏและปลงพระชนม์สมเด็จพระศรีสุคนธบท เจ้าพญาจันทราชาจึงทูลลาพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจะเสด็จกลับไปกัมพูชา แต่ไม่ได้รับพระราชทานอนุญาต เจ้าพญาจันทราชาจึงทำทีว่าจะเสด็จออกไปคล้องช้างเผือกมาถวาย แล้วเสด็จหนีกลับมาจากกรุงศรีอยุธยาพร้อมด้วยกำลังทหาร

เมืองเสียมราบ นครวัด และนครหลวง ในแผนที่เขมรในนี้ ซึ่งเขียนขึ้นสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (ภาพจาก Royal Siamese Maps : War and Trade in Nineteenth Century Thailand, Bangkok : River Books, 2006.)

ครั้นเจ้าพญาจันทราชาปราบปรามขุนหลวงเสด็จ (กอน) ได้แล้ว พระองค์จึงได้ตั้งราชธานีของพระองค์อยู่ที่เมืองละแวก (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดกำพงฉนัง)

ต่อมาใน พ.ศ. 2083 พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจึงให้ยกทัพมาตีกัมพูชา ดังความในพงศาวดารเขมร ฉบับแปล จ.ศ. 1217 ที่แปลจากพระราชพงศาวดารกัมพูชา ฉบับออกญาวงศาสรรเพชญ (นง) กล่าวว่า

“…พระองค์ทรงราชย์ ลุศักราช 1462 (จ.ศ. 902) ศกชวดนักษัตรได้ 25 ปี พระชันษาได้ 55 ปี พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา จึ่งยกทัพมาถึงพระนครหลวง ในปีชวดนั้น พระองค์ยกทัพไปถึงพระนครหลวงรบชนะ พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาหนีไป พระเจ้าจันทร์ราชาจับได้เชลยไทยเป็นอันมากแล้วเสด็จกลับเข้ามาครองราชสมบัติ…”

ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ฉบับพระองค์นพรัตน์ กล่าวถึงสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับกัมพูชาไว้คล้ายคลึงกันว่า

“…๏ ลุศักราช 1462 (จ.ศ. 902 พ.ศ. 2083) ปีชวด พระองค์เสวยราชสมบัติ ณ บันทายลงแวกนานมาได้ 25 ปี สมเด็จพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ได้ยกทัพมาตีกรุงกัมพูชาธิบดี พระองค์ได้ยกทัพไปรบกับกองทัพไทย มีชัยชนะกษัตริย์สยาม จับเชลยไทยไว้เป็นอันมาก เหลือจากนั้นได้แตกหนีกลับคืนไปยังกรุงศรีอยุทธยา…”

ส่วนพระราชพงศาวดารพระมหากษัตริย์เสวยราชสมบัติ ในกรุงกัมพูชาธิบดี ที่ชำระในรัชกาลสมเด็จพระนโรดมบรมรามเทวาวตาร ซึ่งส่วนใหญ่มักมีการเพิ่มเติมรายละเอียดเข้าไปมาก แต่ในสงครามครั้งนี้กลับบันทึกไว้เพียงสั้นๆ แต่มีการระบุปีศักราชแตกต่างไปจากพระราชพงศาวดารทั้ง 2 ฉบับที่กล่าวมา เนื่องจากในพระราชพงศาวดารฉบับนี้ระบุว่าเป็น จ.ศ. 872  (พ.ศ. 2053) และมีการกล่าวถึงสาเหตุของสงครามว่าเกิดจากการที่พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาขอช้างเผือก แต่เจ้าพญาจันทราชาไม่ยอมถวาย ดังที่ได้แปลมาต่อไปนี้

“…ลุจุลศักราช 872 ปีมะเมียโทศก…ขณะนั้นพระเจ้าศรีอยุธยาให้พระราชสารมาขอช้างเผือกจากสมเด็จพระจันทราชา สมเด็จพระจันทราชาไม่ยอมถวาย จึ่งพระเจ้าศรีอยุธยายกทัพมา เสด็จยกไปรับรบที่มหานครวัด มีชัยชนะจับได้สยามเป็นเชลยกว่า 10,000 ส่วนกองทัพสยามก็ถอยกองทัพคืนไปศรีอยุธยา…”

เอกสารประวัติศาสตร์ของไทย เช่น พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ไม่มีการบันทึกถึงสงครามครั้งนี้ไว้

สงครามครั้งนี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดชื่อ เสียมราบ บริเวณเมืองพระนครหลวงก็เป็นได้ อย่างไรก็ตามแต่เดิมน่าจะเป็นเพียงชุมชนแล้วจึงขยายเป็นเมืองต่อภายหลังในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ปราสาทนครวัด ศูนย์กลางของเมืองพระนครวัด ในสมัยหลังพระนคร

เสียมราบ ในเอกสารกัมพูชา

ดังได้กล่าวมาแล้วว่าไม่พบการใช้ชื่อ เสียมราบ เรียกบริเวณเมืองพระนครวัดก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เนื่องจากไม่ปรากฏชื่อนี้เลยในศิลาจารึกนครวัดสมัยหลังเมืองพระนคร ดังนั้นชื่อนี้ควรเกิดขึ้นในสมัยกรุงธนบุรีจนถึงต้นรัตนโกสินทร์เป็นอย่างช้า

นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบกับหลักฐานที่เป็นพงศาวดารกัมพูชาโดยเฉพาะพงศาวดารเขมร ฉบับออกญาพระคลัง (นง) ซึ่งแต่งในรัชกาลสมเด็จพระอุทัยราชา (พระองค์จันท์) ตรงกับรัชกาลที่ 2 ของไทย และสมเด็จพระหริรักษ์รามาอิศราธิบดีได้ส่งมาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและโปรดให้ขุนสุนทรโวหารแปลเป็นภาษาไทย ไม่พบว่ามีการเรียกบริเวณเมืองพระนครวัดว่า เสียมราบ หากใช้ว่า เมืองพระนครวัด ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 1 ของไทย (สอดคล้องกับศิลาจารึกนครวัดสมัยหลังพระนครที่เรียกบริเวณนี้ว่าเมืองพระนครวัด)

จารึกซึ่งปรากฏคำว่า “นครวัด” ในจารึกนครวัดสมัยหลังพระนคร ที่ปราสาทนครวัด

หากชื่อนี้ไม่มีการแก้ไขเมื่อแปลเป็นภาษาไทย ก็จะเป็นข้อมูลที่ยืนยันว่า ไม่มีการใช้ชื่อ เสียมราบ ในช่วงที่ร่วมสมัยกับรัชกาลที่ 2 ของไทย หากยังเรียกบริเวณนั้นว่า เมืองพระนครวัด (ต่อมาเมื่อได้สอบถาม มัก เปือน นักประวัติศาสตร์เขมร ได้รับคำยืนยันว่า ในพงศาวดารเขมร ฉบับออกญาพระคลัง (นง) ไม่มีการใช้ชื่อ เสียมราบ จริง แต่มักใช้ว่า เมืองพระนครวัด)

ส่วนราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ฉบับพระองค์นพรัตน์ (แต่งเมื่อ พ.ศ. 2420) มีกล่าวถึงเมือง “เสียมราฐ” ตั้งแต่เหตุการณ์ในรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นต้นไป อย่างไรก็ตามชื่อ “เสียมราฐ” ในส่วนนี้น่าจะถูกแก้ไขแล้ว เนื่องจากบางตอนเมื่อกล่าวถึงเมืองนคร (วัด) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในรัชกาลพระเจ้าท้ายสระมีการเพิ่มวงเล็บอธิบายว่า “(คือเสียมราฐ)” แทรกอยู่ และในฉบับภาษาเขมรก็เรียกว่า “เสียมราบ” ไม่ได้ใช้ว่า “เสียมราฐ”

นอกจากนี้ก็มีกล่าวถึง เสียมราบ ในตำนานเรื่องพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ ดังได้กล่าวมาแล้ว แม้หลักฐานดังกล่าวจะมีความหนักแน่นไม่มากนัก แต่ก็แสดงให้เห็นว่าในสมัยที่เขียนตำนานเรื่องนี้ ไม่มีผู้ใดทราบว่า เสียมราบ เกิดขึ้นเมื่อใด จึงต้องแต่งเรื่องขึ้นเพื่ออธิบายชื่อของสถานที่ตรงนั้น

เสียมราบ ในเอกสารไทย

แม้พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับความพิสดารแทบทุกฉบับจะปรากฏชื่อ เสียมราบ ย้อนไปถึงรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อครั้งยกทัพไปตีเมืองละแวก ใน พ.ศ. 2136 ดังปรากฏความในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ความว่า “…ให้เกณฑ์ทัพเมืองนครราชสีมาหมื่นหนึ่ง ยกตีลงมาทางสะพานทิพสะพานแสงไปเอาเมืองเสียมราฐ ตีไปฟากตะวันออกตั้งกะพงสวาย…”

ดังความที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวถึงการยกทัพไปทางเมืองเสียมราบในรัชกาลพระเจ้าท้ายสระ ว่า …ฝ่ายพลทหารทัพบกไปทางเสียมราบ

อย่างไรก็ตามข้อความดังกล่าวมีความน่าสงสัย เนื่องจากไม่พบเอกสารร่วมสมัยฉบับอื่นที่กล่าวถึง เสียมราบ แม้แต่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ก็กล่าวถึงเหตุการณ์นั้นเพียงสั้นๆ ว่า

…ศักราช 1081 ปีกุนเอกศก ทรงพระกรุณาให้เกณฑ์กองทัพเรือพล 5,000 ทัพบกคน 5,000 ให้พระยาจักรีบ้านโรงฆ้องเป็นแม่ทัพบก พญาโกษาจีนเป็นแม่ทัพเรือกำปั่นสองลำ ยกออกไปรบญวนละแวกตีแตกเข้ามา…

ดังนั้นจึงไม่อาจระบุได้ว่า เสียมราบ มีใช้ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือรัชกาลพระเจ้าท้ายสระ ตามความในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับความพิสดารสำนวนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน หรือพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาก็ตาม

ชื่อเมือง เสียมราบ ปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจนในพระราชพงศาวดารสมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยเฉพาะพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) กล่าวถึงการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตรัสขอเมืองพระตะบอง และเมืองนครเสียมราบ จากสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี (พระองค์เอง) ว่า

พระวิหารวัดเรียจโบร์ เมืองเสียมราบ สร้างในสมัยที่ไทยปกครองเมืองเสียมราฐ

“…จึ่งได้ทรงขอเขตแว่นแคว้นเมืองพระตะบอง แลเมืองขึ้น แลแขวงเมืองนครเสียมราบซึ่งเป็นเมืองใกล้เขตแดนไทย ตัดออกเป็นส่วนหนึ่งให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศรว่ากล่าวบังคับบัญชาให้มาขึ้นต่อกรุงเทพมหานครทีเดียวมาจนทุกวันนี้…”

ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 3 จึงมีการสร้างเมืองเสียมราบอย่างเป็นทางการ และมีการสร้างกำแพงเมืองเสียมราบด้วย ดังปรากฏข้อความในพงศาวดารเขมร ฉบับพระยาราชเสนา (เดช) ได้กล่าวถึงการที่พระยาราชสุภาวดี (โต กัลยาณมิตร) ซึ่งต่อมาได้เป็นเจ้าพระยานิกรบดินทร์ที่สมุหนายก ออกมาก่อสร้างป้อมและกำแพงเมืองพระตะบองและเมืองเสียมราบไว้ ดังนี้

“…แล้วโปรดเกล้าให้พญาราชสุภาวดีซึ่งเป็นเจ้าพญานิกรบดีนที่สมุหนายก ออกไปทำป้อมกำแพงเมืองปัตบอง  เมืองณครเสียมราบ พญาราชสุภาวดีก็ให้ก่อกำแพงเมืองปัตบองสูงสุดใบเสมา 8 ศอก มีป้อม 8 ป้อม น้ำข้างเชิงเทิน 8 ศอก ยาวตามลำน้ำ 17 เส้น ยืนขึ้นไปกว้าง 15 เส้น 10 วา ที่เมืองณครเสียมราบตามลำน้ำ 12 เส้น ยืนขึ้นไป 10 เส้น มีป้อม 6 ป้อม กำแพงแลป้อมสูงต่ำเท่ากันกับที่เมืองปัตบอง พญาราชสุภาวดีทำแล้วแต่ ณ ปีขาล จัตวาศก ศักราช 1204 (พ.ศ. 2385) พญาราชสุภาวดีกลับเข้ามา ณ กรุงเทพฯ…

ในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องประกาศเรื่องแผ่นดินเขมร ทรงเรียกเมือง เสียมราบ ว่า เมืองนครวัด อย่างไรก็ดี เอกสารอื่นๆ ยังคงใช้ เสียมราบ ทั่วไปจนถึงรัชกาลที่ 5 แล้วจึงเปลี่ยนมาเป็น เสียมราฐ ในภายหลัง

บทสรุป

จากหลักฐานในจารึกนครวัดสมัยหลังเมืองพระนครและพงศาวดารเขมรจะเห็นได้ว่า ในสมัยหลังเมืองพระนคร บริเวณที่เป็น “เมืองพระนคร” ลดความสำคัญลงไปมากเนื่องจากไม่ใช่ศูนย์กลางทางการปกครองเช่นอดีต

อย่างไรก็ตามเมือง เสียมราบ ถือเป็นจุดตั้งยุทธศาสตร์ที่สำคัญของกัมพูชาในสมัยหลังพระนคร นอกเหนือไปจากเมืองพระตะบองที่มีความสำคัญเพิ่มขึ้นแทนที่ ต่อมาเมื่อไทยพยายามเข้าแทรกแซงการเมืองของประเทศกัมพูชาในสมัยกรุงธนบุรีและสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

เมืองพระนครวัดจึงเพิ่มความสำคัญมากขึ้น และนำไปสู่การสร้าง “เมืองเสียมราบ” และมีการก่อสร้างกำแพงเมืองในสมัยรัชกาลที่ 3 ชื่อ เสียมราบ หรือ “เสียมเรียบ” จึงถูกใช้เป็นชื่อเมืองตามตำบลที่ย้ายมาตั้งเมืองอยู่จนกระทั่งปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 ธันวาคม 2562