ตำนาน “ดอกนาร์ซิสซัส” ดอกไม้ของชายผู้หลงตัวเอง

นางไม้เอคโค่ นาร์ซิสซัส ดอกนาร์ซิสซัส

ดอกนาร์ซิสซัส ดอกไม้จากชายที่หลงรักเงาของตัวเอง!

ดอกนาร์ซิสซัส (Narcissus) เป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดี การได้รับ การตื่นขึ้น และความหวัง แล้วรู้หรือไม่ ดอกไม้ที่สวยงามชนิดนี้มีต้นกำเนิดมาจากความแค้นของสาว ๆ ที่ถูกชายหนุ่มหลงตัวเองไม่รับรักพวกนาง

ต้นนาร์ซิสซัส
ต้นนาร์ซิสซัส (ภาพโดย Trachemys ใน Wikimedia Commons)

ในตำนานกรีก มีชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อว่า นาร์ซิสซัส เป็นบุตรของเทพแห่งแม่น้ำซิฟิสซัส (Cephissus) กับนางไม้ลิโรพี (Lirope) เขามีรูปลักษณ์ที่งดงามมาก ไม่ว่าจะเดินไปทางไหน เหล่านางไม้ก็ตกหลุมรักทุกคน

แต่นาร์ซิสซัสก็ไม่มีท่าทีจะสนใจใครเลย แม้ผู้นั้นจะพยายามเข้าหาเขาแค่ไหนก็ตาม

การที่เขาไม่รับรักใครและหักอกนางไม้สาว ๆ ไปหลายคน เดือดร้อนไปถึง เทพีนิมิซิส (Nemesis) เทพีแห่งการแก้แค้น นางได้สาปให้เมื่อใดก็ตามที่นาร์ซิสซัสก้มมองเงาตัวเองในแม่น้ำ เขาจะต้องหลงรักเงานั้นเสีย!

วันหนึ่งขณะที่นาร์ซิสซัสก้มลงดื่มน้ำในแม่น้ำ เขาได้พบคนผู้หนึ่งที่งดงามมาก แล้วตกหลุมรักคนผู้นั้นทันที เขาพยายามไขว่คว้าสัมผัส แต่ทุกครั้งที่เอื้อมถึง คนผู้นั้นมักหายไปเสมอ 

ระหว่างที่ไขว่คว้า เขาไม่ทราบเลยว่าคนรูปงามคนนั้นคือเงาของตนเอง!

นาร์ซิสซัสพยายามคว้าเงาในน้ำ
นาร์ซิสซัสพยายามคว้าเงาในน้ำ

นาร์ซิสซัสนั่งเฝ้ารอเพื่อพบและสัมผัสคนที่เขาหลงรักวันแล้ววันเล่า แต่ก็พบเพียงความผิดหวัง เวลาผ่านไปเขาเริ่มป่วยเพราะไม่ได้ลุกออกไปที่ไหน เอาแต่เฝ้ารออยู่ที่ริมฝั่งน้ำนั้น

การอดทนรอได้จบลง เมื่อเขาตรอมใจจนสิ้นลมหายใจไปในที่สุด ณ ริมน้ำแห่งนั้นเอง

เหล่านางไม้ที่หลงรักนาร์ซิสซัสอยากนำร่างเขาไปฝังไว้ แต่เมื่อไปถึงริมแม่น้ำกลับพบเพียงดอกไม้ชนิดหนึ่ง พวกนางจึงตั้งชื่อให้ว่า ดอกนาร์ซิสซัส 

ด้วยเหตุนี้ ดอกไม้นี้จึงมักขึ้นอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เพราะเมื่อดอกไม้เติบโตขึ้น มันจะโน้มเข้าไปใกล้น้ำเพื่อให้เห็นเงาสะท้อนของตัวเอง เหมือนที่นาร์ซิสซัสคอยมองเงาสะท้อนของตน เพื่อที่จะพบผู้ที่เขารักตลอดไป

นางไม้เอคโค่ นาร์ซิสซัส
นางไม้เอคโค่กับนาร์ซิสซัส, ผลงานของ John William Waterhouse (ภาพจาก Wikimedia Commons)

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

https://kids.britannica.com/kids/article/Narcissus/353515

https://www.britannica.com/topic/Narcissus-Greek-mythology

https://www.damrong-journal.su.ac.th/upload/pdf/72_4.pdf

เอดิธ แฮมิลตัน ; นพมาส แววหงส์ แปล. (2564). ปกรณัมปรัมปรา ตำนานเทพและวีรบุรุษกรีก-โรมัน-นอร์ส. พิมพ์ครั้งที่ 17. กรุงเทพฯ : อัมรินทร์.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2568