“คิวปิด” กับ “ไซคี” ตำนานรักที่นรกมิอาจกั้น สวรรค์มิอาจขวาง

กามเทพ คิวปิด กับ ไซคี
ภาพ "The Abduction of Psyche" วาดโดย William-Adolphe Bouguereau, ปี 1895 (ภาพจาก Obelisk Art History / Public domain)

“คิวปิด” (Cupid) เทพแห่งความรักที่คอยยิงศรบันดาลให้คนหนุ่ม-สาวเกิดความรักระหว่างกัน หรือ “กามเทพ” เวอร์ชั่นตะวันตก เป็นชื่อภาษาละตินของโรมัน ส่วนปกรณัมกรีกซึ่งเป็นฉบับออริจินัลเรียกว่า “เอรอส” (Eros) แม้มีภาพลักษณ์เป็นเทพเด็กรูปร่างหน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู แต่คิวปิดในตำนานเก่าแก่ก็มีเรื่องราวความรักระดับมหากาพย์เป็นของตนเองด้วย เรื่องนี้ถูกเล่าโดย อาพุเลอัส (Apuleius) นักประพันธ์ชาวละตินในคริสต์ศตวรรษที่ 12

แต่ก่อนอื่น ขอให้ทุกท่านลืมภาพ คิวปิด ในร่างเด็กน้อยมีปีกง้างศรยิงคนโน้นคนนี้ไปทั่วเสียก่อน เพราะ คิวปิด ในตำนานนี้ คือเรื่องราวของเทพหนุ่มรูปงามกับสตรีเลอโฉมที่สุดคนหนึ่งในปกรณัมกรีก-โรมัน ซึ่งเป็นความรักฉบับคนวัยหนุ่มสาว ต้องพบเหตุการณ์และบททดสอบนานัปการ เต็มไปด้วยแรงปรารถนา ความริษยา และความพากเพียรเพื่อให้ได้มาซึ่ง “ความรัก” และ “ความสมหวัง” เรียกได้ว่าครบทั้ง รัก โลภ โกรธ หลง ประหนึ่งเป็นเรื่องราวของมนุษย์ทั่ว ๆ ไป

เรื่องราวเริ่มต้นจากธิดาคนสุดท้องของราชามนุษย์ผู้หนึ่ง นางเป็นสาวงามแรกแย้มที่งามล้ำกว่าพี่สาวอีกสองคน ชื่อเสียงความงามนั้นมากจนผู้คนพูดกันว่า งามยิ่งกว่า “วีนัส” (อะโฟรไดท์) เทพีแห่งความงามและความรักเสียอีก คนทั้งหลายจึงเทิดทูนบูชาความงามของนางแทนการบูชาองค์เทพี วิหารเทพีวีนัสถูกปล่อยทิ้งร้าง เพราะคนหันเหความสนใจไปที่นางผู้เดียว ธิดาราชามนุษย์นางนั้นชื่อ “ไซคี” (Psyche)

ความงามของ ไซคี สั่นสะเทือนเลื่อนลั่นไปถึงสรวงสวรรค์ เทพีวีนัสพิโรธกับเรื่องที่เกิดขึ้น พระนางมอบหมายบุตรชาย ซึ่งเป็นเทพหนุ่มรูปงามนาม “คิวปิด” ให้ใช้อิทธิฤทธิ์กลั่นแกล้งไซคีให้หลงรักสิ่งมีชีวิตอัปลักษณ์น่ารังเกียจเสีย แต่เมื่อคิวปิดได้เห็นไซคี เทพหนุ่มคล้ายโดนเทวศาสตราของตนซะเอง แผนการของเทพีวีนัสจึงล้มเหลว ไซคีไม่ได้ตกหลุมรักสิ่งอัปลักษณ์ใดทั้งสิ้น

แต่มีเรื่องประหลาดเกิดขึ้นกับไซคี ไม่มีบุรุษใดมาสู่ขอนางเลย ขณะที่พี่สาวทั้งสองได้อภิเษกกับราชาต่างเมือง แต่ธิดาองค์น้อยผู้เลอโฉมกลับถูกปล่อยให้ครองโสดอย่างโดดเดี่ยว กระทั่งบิดาและมารดาของนางได้รับการแจ้งจากเทพพยากรณ์แห่งวิหารอพอลโลว่า ชะตากรรมของไซคีถูกลิขิตให้ครองคู่กับปีศาจงูมีปีก จงนำนางไปคอยเขาบนยอดเขา เพื่อความปลอดภัยของทุกคนที่เกี่ยวข้องกับนาง

แม้ครอบครัวของไซคีจะโศกเศร้าต่อเรื่องดังกล่าว แต่คำของเทพพยากรณ์คือเทวบัญชา พวกเขาต้องทำตาม ไซคีถูกปล่อยให้คอยสวามีที่น่าสะพรึงกลัวของนางบนยอดเขาแห่งหนึ่ง พลันบังเกิดสายลมปริศนาหอบร่างนางอย่างอ่อนโยนไปยังทุ่งเขียวขจี ไซคีเผลอหลับไปเพราะความอ่อนล้า ก่อนตื่นมาพบว่าตนอยู่ริมแม่น้ำและคฤหาสน์หลังโตราววิหารเทพเจ้า พร้อมพรั่งด้วยอาหาร และมีดนตรีบรรเลงคลอ 

ไซคี กับสวนในคฤหาสน์, วาดโดย John William Waterhouse ปี 1903 (ภาพจาก Art UK)

คืนนั้นนางได้พบสามีที่โผล่มากระซิบข้างหูอย่างอ่อนโยน ความโศกเศร้าค่อย ๆ มลายไปก่อนแปรเปลี่ยนเป็นความอิ่มเอมใจ เสียงอันนุ่มละมุนนั้นทำให้ไซคีรู้ทันทีว่าเขาไม่มีทางเป็นปีศาจร้าย แม้นางไม่ได้รับอนุญาตให้เห็นใบหน้าของเขา แต่รู้สึกได้อย่างจริงจังว่าเขาเป็นบุรุษรูปงามที่นางอยากครองคู่ด้วย

เวลาผ่านไป หญิงงามผู้มีชื่อเสียงเป็นภัยคุกคามเทพีแห่งสรวงสวรรค์ได้ใช้ชีวิตยามกลางวันอยู่ในคฤหาสน์กับเสียงปริศนาที่แนะนำตัวว่าเป็นผู้รับใช้ของนาง ส่วนสามีจะมาหานางยามราตรีแล้วหลับนอนกันท่ามกลางความมืดมิด และอันตรธานหายไปก่อนฟ้าสาง แม้ไซคีจะมีความสุขอย่างล้นพ้น แต่การไม่ได้ยลโฉมคู่รักยังเป็นเรื่องค้างคาใจของนางตลอดมา

ภายหลังไซคีทราบว่าพี่สาวสองคนของนางมักมาร่ำไห้ถึงน้องสาวที่ยอดเขา นางขอสามีไปปลอบประโลมพี่ ๆ แต่สามีห้ามปรามไว้ เขาบอกว่าการเปิดเผยตนเองของนางจะนำความวิบัติมาสู่เขาและตัวนางด้วย แต่เมื่อเห็นไซคีจมอยู่กับความโศกเศร้า ที่สุดสามีก็ยอมให้นางไปพบพี่สาว พร้อมเตือนว่า หากเกิดการหว่านล้อมให้นางดูหน้าเขา โทษคือเขาจะไปจากนางทันที ไซคีรับปากว่าจะไม่เกิดเรื่องเช่นนั้นขึ้น

เมื่อพี่สาวทั้งสองของไซคีมีโอกาสเห็นคฤหาสน์และทราบถึงความสุขสบายของน้องสาวก็บังเกิดความริษยาขึ้น พวกนางใคร่รู้ว่าใครคือสามีและเจ้าของความวิจิตรตระการตาที่น้องสาวกำลังได้รับอยู่ เมื่อรู้ว่าไซคีไม่เคยเห็นหน้าสามี พวกนางจึงยุแยงว่า สามีของไซคีเป็นปีศาจตามคำพยากรณ์อย่างแน่แท้ จึงปกปิดตัวตนเช่นนี้ และวันหนึ่งเขาอาจทำร้ายนางได้ พร้อมแนะนำให้ไซคีส่องตะเกียงดูหน้าเขาตอนหลับใหล หากเป็นปีศาจจริงจงชิงจังหวะนั้นฆ่าเขา

แผนการได้ผล ไซคีประหวั่นใจกับคำยุแยง คืนนั้นไฟตะเกียงส่องไปยังร่างที่หลับใหลของสามีผู้ปกปิดตัวตน ไซคีปลาบปลื้มใจอย่างหาที่สุดไม่ได้เมื่อพบว่าสามีของนางไม่ใช่อสุรกาย แถมเป็นชายหนุ่มรูปงาม ขณะเดียวกันนางละอายแก่ใจเหลือเกินที่หลงเชื่อคำยุยงของพี่สาว ร่างกายจึงอ่อนแรงจนเผลอทำมีดร่วงจากมือ และทำน้ำมันตะเกียงหยดใส่สามี เขาจึงสะดุ้งตื่นและตระหนักแก่ใจทันทีว่าภรรยาสุดที่รักไม่เชื่อใจเขา แถมผิดคำสัตย์ที่ให้ไว้ เขากางปีกเตรียมบินจากไซคี ส่วนไซคีวิ่งตามเขาไปท่ามกลางความมืด เขายอมเปิดเผยตนว่าคือ “คิวปิด” เทพแห่งความรัก แล้วพูดว่า “ความรักไม่สามารถอยู่ได้ในที่ที่ไม่มีความเชื่อใจกัน” ก่อนเหาะจากไป

ไซคีได้แต่โทษตนเองกับเรื่องที่เกิดขึ้น นางเดินทางออกตามหาเขา สวดอ้อนวอนให้ทวยเทพช่วยเหลือ แต่เทพเจ้าทั้งหลายเกรงใจเทพีวีนัส ซึ่งบัดนี้โกรธเป็นฟืนเป็นไฟหลังรู้ว่าคิวปิดแอบไปมีสัมพันธ์กับนางมนุษย์ที่ตนเกลียดชัง เมื่ออับจนหนทาง ไซคีถึงกับยอมถวายตัวรับใช้เทพีวีนัส เพราะหวังให้องค์เทพีคลายแรงพิโรธและเมตตาในความรักของนางต่อคิวปิด เทพีวีนัสตอบรับคำขอแล้วมอบบททดสอบซึ่งไม่น่ามีมนุษย์หน้าไหนแก้ได้ให้ไซคีทันที

ไซคี ถวายตัวรับใช้เทพีวีนัส, ภาพเขียนปี 1795 (ภาพจาก Wikimedia Commons)

เทพีวีนัสให้ไซคีคัดแยกเมล็ดพืชกองมหึมาที่มีธัญพืชนานาพรรณ เช่น ข้าวสาลี ป็อปปี้ ข้าวฟ่าง ฯลฯ บอกให้จัดการให้เสร็จก่อนมืด ปรากฏว่ามีเหล่ามดกรูออกมาช่วยหญิงสาวผู้น่าสงสารคัดแยกเมล็ดพืชจนเสร็จ เทพีวีนัสเห็นดังนั้นจึงมอบหมายให้ไซคีไปเอาขนแกะทองคำจากฝูงแกะที่ดุร้าย เมื่อมาถึงริมตลิ่งที่ฝูงแกะอาศัยอยู่ มีต้นอ้อต้นหนึ่งบริเวณนั้นบอกให้นางรอจนฝูงแกะเดินผ่านพงไม้ไปก่อน เพราะจะมีขนแกะทองคำเกี่ยวติดอยู่ตามพงไม้เหล่านั้น ไซคีจึงนำขนแกะเลอค่ามามอบให้เทพีวีนัสจนได้

เทพีวีนัสยังไม่เลิกกลั่นแกล้งไซคี ภารกิจต่อมาคือนางต้องตักน้ำจากแม่น้ำสติกซ์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแม่น้ำมรณะ รายล้อมด้วยตลิ่งที่เป็นโขดหินผาสูงชันและมีกระแสน้ำเชี่ยวกราก ไร้ทางเข้าถึงโดยตรง (นอกจากจะบินได้) รอบนี้ผู้ช่วยของไซคีคือนกอินทรีที่จิกเอาขวดแก้วไปตักน้ำมาให้ ภารกิจต่อมา เทพีวีนัสมอบหีบให้ไซคีนำไปส่งยมโลก โดยไซคีต้องบอกกับ เทพีโพรเซอร์พิเน ธิดามหาเทพจูปิเตอร์ (ซุส) ซึ่งประทับอยู่ในยมโลกว่า พระนางขอให้บรรจุ “ความงาม” ใส่กล่องนั้นฝากกลับขึ้นมา

ไซคีออกเดินทางไปยังยมโลกของเทพเฮเดส บนเส้นทางสุดวิบาก ก่อนถึงวังของเทพีโพรเซอร์พิเน ต้องผ่านหอคอยบอกทาง โพรงใหญ่ปากทางเข้ายมโลก และแม่น้ำแห่งความตาย นางนั่งเรือแจวของเครอนผู้นำวิญญาณไปยังวังเซอร์เบอรัส สุนัขสามหัวผู้เฝ้าประตูสู่ยมโลก ก่อนจะพบเทพีโพรเซอร์พิเน ซึ่งพระนางก็มอบสิ่งที่เทพีวีนัสต้องการให้  ไซคีถูกทดสอบครั้งยิ่งใหญ่ระหว่างการเดินทางกลับ ความอยากรู้อยากเห็นและแรงปรารถนาทำให้นางเปิดกล่องนั้นก่อนถึงวังเทพีวีนัส แต่พบว่ากล่องว่างเปล่า แล้วไซคีก็ผล็อยหลับไปทันที

คิวปิดโผล่มาหานาง เทพหนุ่มไม่อาจหักห้ามใจและปกปิดความอาวรณ์ที่มีต่อนางได้ เขาแทงศรดอกหนึ่งปลุกนางให้ตื่น แล้วต่อว่านางเล็กน้อยที่อยากรู้อยากเห็น พร้อมบอกให้นางนำกล่องใบนั้นไปให้มารดาของตนเพื่อจบภารกิจนี้

คิวปิดร้องขอให้จูปิเตอร์ช่วยสะสางปัญหา เพราะมั่นใจว่ามารดาคงไม่หยุดระรานหญิงงามคนรักเป็นแน่ มหาเทพแห่งโอลิมปัสตอบรับคำขอ พระองค์เรียกประชุมทวยเทพแล้วประกาศให้คิวปิดกับไซคีครองคู่กันอย่างเป็นทางการ พร้อมมอบพลังแห่งอมตชนให้ไซคี ไซคีจึงกลายเป็นเทพีที่เป็นอมตะ ส่วนเทพีวีนัสได้แต่ยอมรับสถานะลูกสะใภ้ของนางอย่างเสียมิได้

หลังเจอบททดสอบและการลองใจอันสาหัสสากรรจ์ สุดท้ายเรื่องราวนี้ก็จบแบบ “สุขนาฏกรรม” คือทั้งคู่ต่างสมหวังในความปรารถนา เพราะ “ความรัก” (Eros) กับ “วิญญาณ” (Psyche) ย่อมมีแรงดึงดูดซึ่งกันและกัน ฉันใดก็ฉันนั้น

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เอดิธ แฮมิลฮัน; แปลโดย นพมาส แววหงส์. (2564). ปกรณัมปรัมปรา ตำนานเทพและวีรบุรุษกรีก-โรมัน-นอร์ส. พิมพ์ครั้งที่ 17. กรุงเทพฯ : อมรินทร์.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2566