กามเทพไม่ได้มีแค่คิวปิด คนไอริชมี “เออองกัส” เป็นเทพความรัก(แต่ไม่ซนจนยิงศรไปทั่ว)

ภาพประกอบเนื้อหา - กามเทพในจินตนาการ

กามเทพ ไม่ได้มีแค่คิวปิด คนไอริชยังมี “เออองกัส” เป็นเทพแห่งความรักที่ไม่ซนยิงลูกศรใส่ใครๆ ไปทั่ว

เออองกัส (Aonghus) เป็นเทพแห่งความรักตามเทวตำนานของชาวไอริช (อยู่ในกลุ่มเทวตำนานเซลติ ประกอบด้วย ประเทศอังกฤษ เวลส์ สกอตแลนด์ ไอร์แลนด์ เบลเยียม และฝรั่งเศส) ซึ่งมีความเหมือนและความแตกต่างจากเทพแห่งความรักหรือกามเทพ (Cupid) ในเทวตำนานกรีก-โรมันบางประการทำนองนี้ครับ

พระบิดาของเออองกัส คือมหาเทพดัคดา (Dagda) ผู้มีฐานะเป็นพระบิดาแห่งทวยเทพทั้งหลาย รวมทั้งสมาชิกในศาสนาเซลติ เช่น พระและกวี เป็นต้น ด้วย ส่วนพระมารดาคือเทวีแห่งวารีโบอันน์ (Boann) ผู้เยือกเย็นและงดงามยิ่ง

มหาเทพดัคดามีพฤติกรรมเจ้าชู้สู่สาว เช่นเดียวกันกับมหาเทพซูส หรือจูปิเตอร์ในเทวตำนานคลาสสิค   กรีก-โรมัน แต่ต้องเข้าใจไว้ก่อนว่า เจ้าชู้สู่สาวของมหาเทพนั้นต่างกับมนุษย์ ด้วยข้อยกเว้นหลายประการ ตำนานเล่าโดยพระชาวไอริชว่า

มหาเทพดัคดาใช้กลลวง (อาจเรียกว่า ลับ ลวง พราง) พระสวามีของเทวีโบอันน์อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วถือโอกาสลอบเข้าไปสมสู่เป็นชู้กับเทวี จนเกิดเป็นเทพแห่งความรัก-เออองกัสในที่สุด

เออองกัสเป็นชายหนุ่มรูปงาม มีปีก และมีนก 4 ตัว ที่มักจะบินโฉบฉวัดเฉวียนอยู่เหนือศีรษะของเขาเสมอ อันถือว่าเป็นเครื่องหมายของ “จุมพิต” นอกจากนี้นกทั้งสี่ หมายถึง “การร่วมรัก” กับเทวีแห่งความงามจากสวรรค์นางหนึ่งนามว่า เคร์ (Caer) ผู้แปลงองค์ลงมาเป็นหงส์และแหวกว่ายรวมอยู่กับหงส์ตัวอื่นอีก 150 ตัว จึงดูดาดตาเต็มสระเหมือนกันไปหมด แต่เออองกัสก็มีตาวิเศษที่รู้ว่าเธอคือหงส์ตัวใด และนี่คือเหตุผลที่เธอยอมแต่งงานด้วย

ในเทวตำนานของชาวไอริช มิได้มีรายละเอียดว่าเออองกัสมีความสามารถที่จะบันดาลให้ใครรักใครได้ แบบต้อง “คมศร” หรือ “ถูกน้ำมันพราย” จึงคล้ายๆ กับว่าผู้ปรารถนาความรักจะรักใครชอบใคร จะต้องตั้งโต๊ะหมู่บูชาหรือไม่ก็สร้างศาลที่แวดล้อมด้วยสระน้ำใสสะอาดแล้วปล่อยหงส์ลงแหวกว่าย ในความหมายว่าขอให้สมปรารถนาในความรักก็แค่นั้น

ความเหมือนของเออองกัสและกามเทพคิวปิดก็คือ มีปีกคล้ายนกเหมือนกัน ปีกน่าจะหมายถึงความเร็ว คือความรักเป็นอารมณ์มาเร็วและไปเร็ว จึงคล้ายเป็นการเตือนใจให้ตระหนักในความรักไว้ก่อน โดยเฉพาะความรักที่มันแกว่งสวิงกลับเป็นความชัง ซึ่งให้ผลร้ายตามมามากนัก

ความเหมือนอีกอย่างหนึ่งก็ตรงต่างเป็นลูกชู้ คิวปิดคือลูกของเทวีวีนัสเป็นชู้กับเทพมาร์ส พระสวามีตัวจริงคือเทพวัลแคน

ความต่างก็น่าจะอยู่ที่เทพคิวปิดมีสภาพเป็นเด็กเล็กๆ ทรงศรซุกซนและติดตามแม่อยู่นานมาก จนพระมารดารู้สึกว่าเป็นปัญหา เพราะความซนทำให้ต้องคมศรกามเทพโดยไม่ได้ตั้งใจอยู่เสมอ ทำให้แม่ต้องไปรักผู้ชายที่ไม่ตั้งใจ เช่น กรณีของอโดนิส เป็นต้น เทพผู้เชี่ยวชาญเชิงจิตวิทยาแนะนำให้เทวีให้กำเนิดน้องชายคิวปิดอีกคนหนึ่งเพื่อเป็นเพื่อนกัน ชื่อแอนทีรอส เป็นเหตุให้คิวปิดโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นโดยพลัน จึงศรรักจะปักใครย่อมถี่ถ้วนและรัดกุมกว่าแต่ก่อนมาก

เออองกัสไม่มีศรดังกล่าวนี้เลย!

สำหรับกามเทพแบบฮินดูนั้น ทรงศรเหมือนคิวปิด แต่คันศรทำด้วยต้นอ้อย (หวาน) สายศรเป็นตัวผึ้งต่อกัน (มีความหมายว่าหวานอีก) ลูกศรเป็นดอกไม้ (หอมหวาน) ความรักของกามเทพฮินดูจึงเป็นบวก จะว่ามองโลกในแง่ดีหรือมองเฉพาะครึ่งใบก็ได้

ส่วนกามเทพแบบไทย ไม่แน่ใจว่ามี นึกคราวใดก็นึกได้แค่น้ำมันพรายและรักยม เท่านั้นเอง!

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ทำไม “มาร” ของคนอินเดียคือ “กามเทพ” ผู้พลีชีพเพื่อความสุข-ความรักแห่งทวยเทพ


หมายเหตุ : เนื้อหาส่วนหนึ่งเรียบเรียงมาจากบทความ “เออองกัส : กามเทพไอริช” โดย ส.สีมา ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2552