ทำไม “มาร” ของคนอินเดียคือ “กามเทพ”?

พระกามเทพ กามเทพ เทพ ศาสนาฮินดู
กามเทพในคติฮินดู

ทำไม “มาร” ของคนอินเดียคือ “พระกามเทพ หรือ “กามเทพ” เทพเจ้าแห่งความรัก ผู้พลีชีพเพื่อความสุข-ความรักแห่งทวยเทพ

คนไทยจะรู้จักคำว่า “มาร” ในรูปแบบของยักษ์ หรืออสุรกายที่ดุร้าย ตัวโต กำยำ ตัวเขียว มีเขี้ยวสีขาวอันใหญ่ มีกำลังมาก กินคนและสัตว์เป็นอาหาร เนื่องมาจากคติในพุทธศาสนาในเรื่องที่เล่าว่า สมัยพุทธกาล พระยามารมาผจญพระพุทธเจ้าหลายครั้ง เพื่อขัดขวางมิให้พระองค์สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือแม้แต่ตัวละครฝ่ายยักษ์ในวรรณคดีอันโด่งดังอย่างรามเกียรติ์เป็นต้น คนไทยจึงมีทัศนคติและจินตภาพว่า “มาร” คือ สิ่งชั่วร้าย อีกทั้งเป็นศัตรูของมนุษย์และเทพเทวดา

แต่คำว่า “มาร” ของคนอินเดียนั้น หมายถึง กามเทพ หรือเทพเจ้าแห่งความรัก ซึ่งตามคติความเชื่อของศาสนาฮินดูนั้น เชื่อว่าพระกามเทพยังมีอีกหลายพระนาม และ “มาร” ก็คือหนึ่งในพระนามของพระกามเทพ อีกด้วย

ตำนานการกำเนิดพระกามเทพก็มีมากมายหลายอย่าง บ้างก็พิจารณาจากคำศัพท์ในพระนามของพระกามเทพ ซึ่งคำว่า “มาร” ที่แปลว่า ผู้ผลาญ ประกอบกับบทสรรเสริญพระกามเทพในอถรรพเวทมีกล่าวว่าพระองค์คือพระอัคนี จึงทำให้บ้างก็เชื่อกันว่าพระกามเทพ คือ พระอัคคี

บ้างก็เชื่อว่า กามเทพ เป็นโอรสพระธรรมราช (พระยม) กับนางศรัธทาผู้เป็นชายา บ้างว่าเป็นลูกพระลักษมี บ้างว่าเกิดจากพระหทัยแห่งพระพรหม (ผู้สร้าง) ด้วยความเชื่อเกี่ยวกับการกำหนดพระกามเทพที่มากมาย จึงทำให้พระนามของพระองค์นั้นมีมากตามไปด้วย

พระกามเทพ เป็นชายหนุ่มรูปงามและเป็นอธิบดีในหมู่อัปสร มีนกแก้วเป็นพาหนะ และถือธงซึ่งมีลักษณะพื้นธงเป็นสีแดงมีลายรูปมังกร อาวุธประจำกาย คือ ธนู ที่ทำด้วยต้นอ้อย มีสายเป็นตัวผึ้งร้อยต่อๆ กัน ส่วนลูกศรมีปลายเป็นดอกไม้

พระกามเทพฮินดู (ที่มา: http://massimobalkan.wixsite.com/massimobalkanmanna/single-post/2017/03/15/KAMA-IL-DESIDERIO-CHE-MISE-ALLA-PROVA-LASCESI-DI-SHIVA)

จากหัวข้อบทความนั้นสาเหตุที่กล่าวว่า “มาร” หรือ กามเทพ นั้น เป็นผู้ที่พลีชีพเพื่อความสุขและความรักแห่งทวยเทพ มาจากเรื่องเล่าในปุราณะว่า ตั้งแต่ พระสดี ได้สิ้นชนชีพไป พระอิศวร มีความเสียพระทัยมาก จึงเสด็จไปเข้าฌานประพฤติพระองค์เป็น สันยาสี (ผู้เที่ยวภิกขาจาร เลี้ยงชีพด้วยการขอเขากิน ซึ่งคงเป็นนิสัยของพราหมณ์ พระอิศวร ผู้เป็นสันยาสีนั้นตั้งจิตมุ่งอยู่ตรงปรพรหมและนฤพาน) ซึ่งในขณะนั้นทวยเทพได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก

ต่อมาพระสดีได้มีกำเนิดใหม่เป็นบุตรีท้าวหิมาลัย ทรงนามว่า พระอุมาเหมเทวี หรือ บรรพตี เหล่าเทวดาจึงคบคิดกันจะให้พระอุมาได้เป็นพระมเหสีพระอิศวร โดยให้พระกามเทพเป็นผู้ไปจัดการ

กามเทพจึงสั่งให้ วสันต์ ผู้เป็นมิตรคู่ใจของตน เนรมิตดอกไม้ให้ผลิขึ้นเต็มไปหมด เพื่อสร้างบรรยากาศอันน่ารื่นรมย์ และเชิญให้พระอุมาไปอยู่ ณ ที่อันควร แล้วพระกามเทพจึงยิงพระอิศวรด้วย “บุษปศร” หรือศรที่ทำด้วยดอกไม้ แต่พระอิศวรทรงตกพระทัยและพิโรธ จึงเกิดลืมพระเนตรที่สามขึ้น บันดาลให้เกิดเพลิงไหม้กามเทพสูญไป กามเทพจึงได้พระนามอีกอย่างหนึ่งว่า อนังคะ (ไม่มีตัว)

การปฏิบัติภารกิจครั้งนี้ของพระกามเทพเรียกได้ว่าเป็นการสละชีพในหน้าที่ก็ว่าได้ แต่เพื่อให้ทวยเทพไม่ต้องเดือดร้อนจากการที่พระอิศวรและพระชายาไม่ได้ครองรักกัน และเพื่อความรักของเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ กามเทพจึงต้องปฏิบัติภารกิจให้ลุล่วงไป แม้ตนจะต้องสละชีวิตก็ตาม

ครั้นต่อมาเมื่อพระอิศวรคลายความพิโรธลงแล้ว จึงโปรดให้กามเทพได้เกิดใหม่เป็น พระประทยุมน์ ผู้เป็นโอรสของพระกฤษณาวตาร และได้เป็นพระบิดาแห่งพระอนิรุทธ์ (อุณรุท) นักรบผู้ยิ่งใหญ่แห่งมหากาพย์มหาภารตะในภายหลัง

(ซ้าย) พระกามเทพ (Kamadeva), (ขวา) พระศิวะ

เรื่องรามของ “มาร” หรือพระกามเทพ ซึ่ง อาจารย์เกื้อพันธุ์ นาคบุปผา ได้ศึกษาไว้นั้น ท่านก็ได้เล่าจบแต่เพียงเท่านี้

จากตำนานพระกามเทพข้างต้น จะเห็นว่าลักษณะของกามเทพของฮินดูจะแตกต่างกับกามเทพในปกรณัมของกรีก ซึ่งรู้จักกันในนามของ “คิวปิด” อยู่บ้าง แม้ว่าพระกามเทพของทั้งสองซีกโลกจะเป็นหนุ่มรูปงามเหมือนกัน แต่องค์ประกอบต่างๆ ของตัวเทพเจ้านั้นมีรายละเอียดที่ต่างกันไปตามวัฒนธรรมและความเชื่อของชนชาตินั้นๆ

เรื่องราวของ กามเทพ จากปกรณัมของทั้งโลกตะวันออกและโลกตะวันตก แม้ว่าจะถูกถ่ายทอดเนื้อหาแตกต่างกันออกไป และนามของเทพแห่งความรักก็ยังถูกกล่าวถึงหลายๆ ครั้ง ทั้งในวรรณกรรมและสื่อศิลปะต่างๆ อาทิ ประติมากรรม จิตรกรรม สื่อโฆษณา โทรทัศน์ เป็นต้น ทำให้สามารถเข้าใจได้ว่า มนุษย์ทั้งหลายไม่ว่าจะเชื้อชาติใด ชนชั้นใด ก็ย่อมมีความปรารถนาในเรื่องของความรักทั้งสิ้น ชื่อของกามเทพจึงเป็นที่สนใจและถูกกล่าวถึงเสมอ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เกื้อพันธุ์ นาคบุปผา. 2542. พื้นฐานการอ่านวรรณคดีไทย. กรุงเทพฯ : เลิฟแอนด์ลิพเพรส.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2562