แมวในอารยธรรมโบราณ แรกเริ่มมนุษย์ปฏิสัมพันธ์กับแมว สู่ความเชื่อในแต่ละสังคม

เฟรยา freya ลากเลื่อน ลากจูง ด้วย แมว
ภาพวาดแมวกับเทพธิดา Freya ในตำนานนอร์ส โดย Carl Emil Doepler (1905)

แมว เป็นสัตว์ที่อยู่คู่กับมนุษย์ยาวนานนับหมื่นปี แมวในอดีตมีลักษณะรูปร่างหน้าตาแตกต่างจากแมวปัจจุบัน เพราะก่อนที่มนุษย์จะนำแมวมาเลี้ยงนั้น แมวก็ถือว่าเป็นสัตว์นักล่าจำพวกหนึ่ง คาดว่ามนุษย์รู้จักนำแมวมาเลี้ยงเนื่องจากเห็นประโยชน์จากการที่แมวล่าหนูและสัตว์อื่น ๆ ซึ่งสัตว์เหล่านี้เป็นศัตรูต่อการเกษตรกรรมของมนุษย์ยุคโบราณ

ไม่นานการนำแมวมาเลี้ยงก็แพร่ขยายไปทั่วทุกมุมโลก จนปรากฏในตำนานและเรื่องเล่าในอารยธรรมต่าง ๆ ทั่วโลก และนับแต่นั้นมาแมวก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์มนุษยชาติก็ว่าได้

Advertisement

อียิปต์โบราณ

ในอารยธรรมอียิปต์มีการบูชาแมวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากชาวอียิป์นับถือ เทพีบาเตส (Bastet) เทพีแห่งความรัก ความอุดมสมบูรณ์ และช่วยต่อต้านสิ่งชั่วร้ายและความเจ็บป่วย เทพีองค์นี้มีส่วนหัวเป็นแมว ลำคัวเป็นคน เมื่อมีแมวเป็นสัตว์เทพเจ้า ชาวอียิปต์จึงมีกฎห้ามทำร้ายแมว หรือนำแมวออกจากอาณาจักร ผู้ใดละเมิดกฎอาจมีโทษถึงชีวิต มีตำนานเล่าว่าทหารโรมันผู้หนึ่งฆ่าแมวโดยไม่ตั้งใจ แต่นั่นทำให้ชาวอียิปต์โกรธแค้นมากจนรวมตัวกันสังหารทหารโรมัน

นอกจากจะบูชาแมวแล้ว แมวยังมีประโยชน์ต่อชาวอียิปต์คือพวกมันช่วยกำจัดหนูและล่างูด้วย ซึ่งสัตว์ทั้งสองชนิดนี้นับเป็นภัยคุกคามชาวอียิป์ในยุคโบราณอย่างมาก จึงไม่แปลกที่จะยกย่องบูชาแมวเป็นสัญลักษณ์แห่งเทพเจ้า แมวยังปรากฏในอักษรเฮียโรกลิฟฟิคของชาวอียิป์ โดยคำว่าแมวนั้นคือ “miu” หรือ “mau” ซึ่งสอดคล้องกับเสียงร้องของแมวนั่นเอง

โรมันโบราณ

นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าแมวเข้าสู่ยุโรปในช่วงต้นศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสต์กาล โดยพ่อค้าชาวฟินิเชียนที่ทำการค้าขายในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ชาวโรมันชอบแมวเป็นพิเศษและนำแมวเข้ามาประจำในป้อมปราการ เพราะพวกมันสามารถจับหนูและสัตว์อื่น ๆ ได้ กองทัพโรมันนำแมวเป็นตัวช่วยในการจับหนู เพราะหนูนั้นชอบกัดกินอาหารในคลัง ชอบเคี้ยวไม้และหนังซึ่งเป็นอันตรายต่อชุดเกราะและยุทโธปกรณ์ จนแมวถูกย่องย่องสรรเสริญและกลายเป็นมิตรคู่กายของทหารโรมันก็ว่าได้

ชาวโรมันมองว่าแมวเป็นสัตว์สัญลักษณ์แห่งเสรีภาพและอิสรภาพ สะท้อนจากเทพเจ้าลิเบอร์ตัส (Libertas) เทพเจ้าแห่งเสรีภาพที่มักจำแลงกายเป็นแมว

ญี่ปุ่นโบราณ

แมวถูกนำไปยังเกาะญี่ปุ่นครั้งแรกประมาณคริสต์ศักราช 500 คาดว่าอาจนำเข้ามาโดยชาวจีน โดยชาวญี่ปุ่นนำแมวไปเลี้ยงเพื่อปกป้องคลังอาหารเช่นเดียวกับที่อียิป์และโรมัน หนูไม่เพียงทำลายคลังอาหารของมนุษย์เท่านั้น พวกมันยังแทะกินเอกสารหรือหนังสือของวัดในญี่ปุ่น เช่นพระไตรปิฎก พวกพระจึงอาสัยแมวเป็นตัวช่วยจับหนู ในเวลาต่อมาแมวก็กลายเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ปกป้องหนังสือหายาก ซึ่งไทำให้พวกมันได้รับการยกย่องและความรักเพิ่มขึ้นด้วย

วัฒนธรรมญี่ปุ่นมองว่าแมวเป็นเครื่องรางแห่งความโชคดี มีตำนานเก่าแก่เรื่องหนึ่งเล่าว่า ขุนนางผู้ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งกำลังเดินบนถนน เมื่อท่านเห็นแมวตัวหนึ่งยกอุ้งเท้าขึ้นมาราวกับกำลังกวักมือเรียก ด้วยความอยากรู้ท่านจึงเดินเข้าไปหา ทันใดนั้น สายฟ้าก็ฟาดลงมายังด้านหลังที่ท่านพึ่งเดินผ่านไป จึงเชื่อกันว่าแมวเป็นผู้ช่วยชีวิตท่านไว้

และนับตั้งแต่นั้นมา ชาวญี่ปุ่นก็เชื่อว่าแมวเป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดี จนกระทั่งในยุคสมัยใหม่จึงมีการประดิษฐ์ “แมวกวัก” ขึ้นมานั่นเอง

นอกจากนี้ยังปรากฏแมวในอารยธรรมอื่น ๆ อีก เช่นในตำนานของชาวนอร์ส ในยุโรปแถบสแกนดิเนเวีย ก็มีการกล่าวถึงแมวได้เป็นพาหนะของเทพี Freya ในอารยธรรมอินเดียก็มีการกล่าวถึงแมว และนำแมวมาใช้เพื่อป้องกันหนู และในอารยธรรมอาราเบียโบราณก็นำแมวมาป้องกันงู รวมถึงในอารยธรรมเปอร์เซียเช่นกัน

แมว ปรากฏคู่กับประวัติศาสตร์มนุษยชาติมานานนับพันนับหมื่นปี มุมมองของมนุษย์ที่มีต่อแมวจึงเปลี่ยนไป จากสัตว์เลี้ยงเพื่อบูชา เพื่อผลประโยชน์ต่อการเกษตรกรรม สู่สัตว์เลี้ยงแสนน่ารัก ประหนึ่งสมาชิกอีกคนหนึ่งในครอบครัว ด้วยความผูกพันธ์อันยาวนานของมนุษย์กับแมว จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมคนในปัจจุบันยังคงชื่นชอบแมว และยอมตกเป็น “ทาสแมว” แต่โดยดี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Soojin Um. (2018). Cats in the Ancient Worlds. Access 7 August 2019, from https://fussiecat.com/cats-in-the-ancient-world/ 

Phillip Mlynar. (2018). The History of Cats — Cats in the Ancient World. Access 7 August 2019, from https://www.catster.com/the-scoop/the-history-of-cats-cats-in-the-ancient-world


ปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 8 สิงหาคม 2562