หมาแมวมิตรสหายในอารยธรรมของมนุษย์

ภาพวาด คน กับ หมา ยุคคลาสสิก
หมาในยุคคลาสสิก ที่มนุษย์ต้องการ เพราะมันช่วยล่าสัตว์ เฝ้าบ้าน เลี้ยงแกะ ฯลฯ

หมาแมว นับเป็นสัตว์เลี้ยงที่คุ้นเคยกับมนุษย์มาเป็นเวลานาน แต่ “เวลานาน” ที่ว่านานแค่ไหน? หมาที่นอกจากจะเป็นสัตว์เลี้ยง บางทีก็ยังเป็นสัตว์แรงงาน หรือใช้ประโยชน์อื่นๆ เช่น เฝ้าบ้านได้ แล้วสัตว์เลี้ยงอย่างแมวที่ช่วยหรือบางตัวที่แทบไม่ช่วยทำประโยชน์อะไรเลย ทำไมมนุษย์จึงยอมเป็น “ทาส” ของมัน

หูชวนอัน นักวิชาการชาวไต้หวัน เรียบเรียงคำตอบเรื่องของ หมาแมว ไว้ใน “ย้อนรอยโฮ่ง ตามรอยเหมียว” (สนพ. มติชน, พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2565) ไว้ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)


 

บรรดานักวิทยาศาสตร์มีข้อถกเถียงมากมายตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา นักโบราณคดีค้นพบซากฟอสซิลของหมาป่าที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในช่วง 26,000-10,000 ปีที่แล้ว บริเวณพื้นที่ตงเป่ย [1] ของประเทศจีน แต่เนื่องจากเวลาผ่านมานานเกินไป จึงไม่อาจระบุช่วงเวลาที่แน่นอนได้ ส่วนซากฟอสซิลหมาบ้านที่เก่าที่สุดในยุโรปมีอายุประมาณ 10,000 ปี ถูกค้นพบบริเวณพื้นที่ประเทศเยอรมนีในปัจจุบัน

แม้ว่าเรายังไม่สามารถสรุปช่วงเวลาที่มีหมาบ้านตัวแรกได้ แต่เราแน่ใจได้ว่าเมื่ออารยธรรมโลกยุคโบราณทั้งสี่ [2] เริ่มต้นขึ้น มนุษย์กับหมาก็อยู่ร่วมกันมาเป็นเวลานานแล้ว และชาวดาวหมาก็เติบโตมาพร้อมกับอารยธรรมมนุษย์

ส่วนแมวบ้านในปัจจุบันนี้มีวิวัฒนาการมาจากแมวป่า แมวบ้านตัวแรกเท่าที่เคยพบมาอยู่ที่เกาะไซปรัส ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยมีการขุดพบซากกระดูกแมวในสภาพสมบูรณ์พร้อมโครงกระดูกมนุษย์ในโลงศพอายุ 9,500 ปี ภายในโลงศพยังพบข้าวของติดตัวผู้ตายอีกหลายชิ้น ซึ่งล้วนแต่เป็นของมีค่าในยุคนั้น เป็นหลักฐานยืนยันว่าในช่วงเวลานั้นมีการจัดพิธีศพอย่างเป็นทางการ และมีธรรมเนียมฝังสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับผู้ตายลงไปด้วย

สิ่งนี้น่าจะต้องมีความหมายเชิงสัญลักษณ์อะไรบางอย่างอยู่ ปัจจุบันเรายังไม่ทราบว่าเป็นความพอใจของเจ้าของสุสาน หรือเป็นความนิยมของไซปรัสที่เป็นปกติในยุคนั้น แต่แมวบ้านตัวแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาตินี้ถูกนำมาจากที่อื่น ไม่ใช่พันธุ์ดั้งเดิมของไซปรัส บางทีประวัติศาสตร์แมวบ้านของมนุษยชาติอาจจะย้อนกลับไปได้มากกว่านี้

เรื่องที่น่าสนใจก็คือ ในแหล่งโบราณคดีวัฒนธรรมหย่างเสา ที่นับเป็นจุดบ่งชี้ถึงการเริ่มต้นของอารยธรรมจีนก็พบร่องรอยของแมวบ้านด้วยเช่นกัน มีการค้นพบกระดูกแมว 8 ชิ้น อายุประมาณ 5,500-5,200 ปีที่หมู่บ้านเฉวียนฮู่ มณฑลส่านซี ซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นแมวบ้านที่นำมาใช้ควบคุมประชากรหนู ในพื้นที่ภาคเหนือของจีนเริ่มมีการเพาะปลูกข้าวฟ่างเมื่อประมาณ 10,000 ปีก่อน แต่เมื่อเริ่มมีการทำเกษตรกรรม ศัตรูพืชอย่างหนูจึงเริ่มระบาด ผู้คนในยุคนั้นพบว่าแมวสามารถช่วยจับหนูได้ ดังที่ปรากฏหลักฐานในคัมภีร์โบราณของจีนที่ชื่อว่า “หลี่จี้ บทเจียวเท่อเซิง” [3] ซึ่งมีตอนหนึ่งกล่าวว่า “รับแมว ให้หนูนาเป็นอาหาร…เป็นการเซ่นไหว้รับ”

เมื่ออารยธรรมมนุษย์กำเนิดขึ้นมา ทั้งแมวและหมากลายมาเป็นมิตรสหายกับมนุษย์ งานหัตถกรรมของอารยธรรมอียิปต์หลายชิ้นจึงนำแมวและหมามาเป็นองค์ประกอบในการตกแต่ง และเนื่องจากผู้คนดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับพวกมันมาเป็นเวลานาน มีความรู้สึกผูกพันอย่างลึกซึ้ง จึงมีธรรมเนียมนำร่างแมวและหมามาทำเป็นมัมมี่แล้วฝังในโลงศพด้วย นอกจากนี้ยังมีเทพเจ้าอีกจำนวนไม่น้อยที่เกี่ยวข้องกับพวกมัน

อีกฟากหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน แมวและหมาก็อยู่เคียงคู่มนุษย์เช่นเดียวกัน ตั้งแต่ฮ่องเต้ เสนาบดี ลงมาจนถึงชาวบ้านร้านตลาด ต่างนิยมเลี้ยงหมากันอย่างแพร่หลาย ซึ่งสภาพการณ์เดียวกันนี้ก็ปรากฏในอารยธรรมมายาเช่นกัน

มองทางด้านประเทศญี่ปุ่น แมวและหมาในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นต่างมีบทบาทและสถานะแตกต่างกันไป ในยุคเอโดะ (ค.ศ. 1603-1868) จะพบเห็นแมวในภาพวาดจำนวนมาก นับเป็นสัตว์ที่สำคัญต่อจิตวิญญาณมนุษย์ ขณะที่หมาจะสัมพันธ์กับการดำเนินชีวิตมากกว่า เราจะเข้าใจจิตวิญญาณการดำเนินชีวิตของชาวญี่ปุ่นผ่านความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับแมวและหมาได้

มนุษย์มักจะนำการประเมินคุณค่าของตนเองมาใช้กับสัตว์ มักกล่าวชื่นชมหมาด้วยการบอกว่าพวกมัน “กล้าหาญและซื่อสัตย์” อีกทั้งยังใช้พวกมันเพื่อจำกัดความเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสังคมมนุษย์เองอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในวัฒนธรรมยุโรป หมาล่าเนื้อขนาดใหญ่กับหญิงสาวจะอยู่ด้วยกันไม่ได้ ส่วนผู้ชายหากเลี้ยงหมาล่าเนื้อทั้งฝูงก็มักสะท้อนว่าเขาคนนั้นมีความสามารถในการปกครองและควบคุมคน สัตว์กลายมาเป็นเครื่องมือในการกำหนดความแข็งแกร่งระหว่างเพศและบทบาททางสังคม

…หากเราต้องการเพื่อนที่สนิทชิดเชื้อและคาดหวังว่าจะได้รับการต้อนรับที่อบอุ่นเมื่อกลับถึงบ้าน ก็เหมาะสมที่สุดที่จะเลี้ยงหมา หมาจะตอบแทนความมีน้ำใจของคุณเสมอ และการทอดทิ้งหมาตัวหนึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับการฆ่ามันดีๆ นั่นเอง

ส่วนแมวนั้นจะไม่ได้แสดงความซื่อสัตย์เหมือนอย่างหมาหรือส่งเสียงขู่ใส่คนแปลกหน้า เดินตามเจ้าของต้อยๆ หรือกระทั่งช่วยเฝ้าบ้านให้ การมีอยู่ของแมวก็เหมือนกับที่ในภาพยนตร์เรื่อง “ถ้าโลกนี้ไม่มีแมว” กล่าวไว้ว่า “มนุษย์ไม่ได้ [เลือก] เลี้ยงแมวหรอก แต่แมวเลือกที่จะมาอยู่กับมนุษย์เองต่างหาก” เช่นเดียวกับคำกล่าวของ มาร์เซล มอสส์ (Marcel Mauss) นักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศสที่ว่า “มนุษย์ฝึกหมาให้เชื่อง ส่วนแมวฝึกมนุษย์ให้เชื่อง”

แน่นอนว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านวิวัฒนาการสัตว์หลายคนอาจไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว แต่สิ่งที่เห็นพ้องต้องกันก็คือ มนุษย์ไม่ได้เลือกเลี้ยงแมว ด้วยเหตุผลด้านคุณประโยชน์ที่แท้จริงอะไร แต่หากจะหาเหตุผลสักอย่างก็อาจเป็นเพราะรู้สึกว่าแมวน่ารักดี สามารถช่วยปลอบประโลมจิตใจของตนได้

แต่เหตุใดแมวถึงได้รับความเอ็นดูจากมนุษย์ขนาดนี้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำอะไรสักอย่าง

คอนราด ลอเรนซ์ (Konrad Lorenz) ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ชี้ว่า คุณลักษณะทางกายภาพของแมวค่อนข้างโดนใจมนุษย์ อย่างเช่น ใบหน้ากลมๆ แก้มยุ้ยๆ และจมูกเล็กที่เข้าคู่กับดวงตากลมโต ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่คล้ายคลึงกับมนุษย์ในช่วงทารก ส่งผลให้เราหลั่งฮอร์โมนปริมาณมากจนเกิดการฉายภาพทางจิตวิทยาผิดเพี้ยนโดยสัญชาตญาณ บรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนหนึ่งสะท้อนว่า ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นแบบที่เรามีต่อลูกของตัวเอง ทำให้เราหันเหไปชอบสัตว์สปีชีส์อื่นที่มีหน้าตาคล้ายคลึงกัน ซึ่งนักชีววิทยาวิวัฒนาการชื่อว่า สตีเฟน กูลด์ (Stephen Gould) ที่วิจัยเรื่องนี้มานานหลายปีก็มีความเห็นในทำนองเดียวกัน

………….

นอกเหนือจากนี้ แมวและหมายังเข้ามาเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์และภาษาของเรา กลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์บางช่วงเวลา ตั้งแต่อารยธรรมมนุษย์ถือกำเนิดขึ้นมานจนถึงปัจจุบัน บางครั้งแมวและหมาก็กลายมาเป็นมื้ออาหารในจาน หรือวัตถุดิบยารักษาโรค…

…ประวัติศาสตร์ของแมวและหมาไม่จำเพาะเพียงเรื่องราวที่พวกมันถูกนำมาเลี้ยงให้เชื่องเท่านั้น…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน

[2] อารยธรรมโลกยุโบราณทั้งสี่ ได้แก่ อารยธรรมเมโสโปรเตเมีย อารยธรรมอียิปต์โบราณ อารยธรรมอินเดียโบราณ และอารยธรรมจีน

[3] หลี่จี้เป็นคัมภีร์สำคัญของสำนักขงจื๊อ ว่าด้วยจารีตประเพณี เจียวเท่อเซิงเป็นบทที่ว่าด้วยการเซ่นไหว้ในชนบท


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 กันยายน 2565