“ขุนหลวงตากเป็นบ้าหรือ?”: พระวินิจฉัยกรมพระยาดำรงฯ เรื่องสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

พระบรมรูป สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ พระเจ้าตาก พระราชวังเดิม
พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ภายในพระราชวังเดิม

“ขุนหลวงตากเป็นบ้าหรือ?” : พระวินิจฉัย สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เรื่อง “สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี”

หลังจากสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จกลับจากปีนังมาพำนักที่ประเทศไทยเป็นการถาวร พระองค์ได้ประทานวโรกาสให้หม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล เข้าเฝ้าเพื่อซักถามเกี่ยวกับความรู้ทางวรรณคดี ประวัติศาสตร์และโบราณคดีของไทยในเวลาเย็นของทุกวัน โดยหม่อมราชวงศ์สุมนชาติได้ตั้งคำถามขึ้นและจดบันทึกเอาไว้ ก่อนจะนำมารวบรวมและตีพิมพ์เป็นหนังสือ ชื่อ “บันทึกรับสั่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ” จัดพิมพ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2493 ปัญหาที่ซักถามนั้นมีความหลากหลายตั้งแต่เรื่องเกี่ยวกับพงศาวดารสยาม ธรรมเนียมประเพณีในอดีต สถานที่สำคัญ ประวัติพระพุทธรูป ฯลฯ

Advertisement

หนึ่งในหัวข้อที่สำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยและเป็นหัวข้อที่ผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์ถกเถียงกันมาเป็นเวลานาน คือ เรื่องราวของ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือพระเจ้าตาก และเหตุการณ์ในปลายรัชสมัยก่อนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจะทำการปราบดาภิเษกและตั้งราชวงศ์จักรีขึ้น

ในหัวข้อเรื่อง “ขุนหลวงตากเป็นบ้าหรือ?” หม่อมราชวงศ์สุมนชาติ ได้ตั้งคำถามต่อสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงวิปลาสหรือไม่ในสมัยปลายรัชกาล เนื่องจากมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียังมีพระสติปกติดีอยู่ ต่างกับรายละเอียดที่เขียนไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับต่างๆ “เนื่องด้วยมีผู้เขียนบทความลงในหนังสือต่างๆ อันเกี่ยวกับขุนหลวงตากเนืองๆ ข้อความสำคัญอยู่ที่ว่า ทรงมีพระสติปกติดีอยู่ทุกประการ ซึ่งตรงข้ามกับหลักฐานอันมีในพระราชพงศาวดาร จดหมายเหตุและวรรณคดีที่เขียนขึ้นในครั้งนั้น จึงทูลถามเพื่อขอประทานพระดำริ”

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2527)

โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้ทรงชี้ให้เห็นว่า การตั้งข้อสังเกตของผู้ที่สนใจเรื่องราวประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานี้ เป็นไปเพราะต้องการ “ปรักปรำ” ราชวงศ์จักรีว่าอยู่ในฐานะกบฏต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มากกว่าที่จะพิจารณาว่าราชวงศ์จักรีพยายามจะเขียนถึงคุณความดีของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไว้ในพระราชพงศาวดาร

“เรื่องขุนหลวงตากนี้เป็นเรื่องที่น่าเอาใจใส่ นักปราชญ์สมัยใหม่กำลังปรักปรำราชวงศ์จักรี แต่ไม่มีอะไรจะว่านอกจากจะว่าขุนหลวงตากไม่บ้า และเพื่อชี้ให้คนเห็นว่า พระพุทธยอดฟ้าฯเป็นกบฏต่อขุนหลวงตาก ว่าตามจริงในการที่เขียนเรื่องขุนหลวงตากในพงศาวดารเรารบกับพะม่าครั้งกรุงธนบุรีนั้น ได้พยายามให้ความยุติธรรมแก่ขุนหลวงตากเต็มที่ อันใดที่จะชี้ให้เห็นถึงคุณงามความดีของขุนหลวงตากแล้ว ก็ได้หยิบยกขึ้นมาพิจารณาให้จนหมดสิ้น ได้พยายามเขียนให้จนสุดฝีมือ”

ส่วนเรื่องที่ว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงวิปลาสหรือไม่ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้สรุปว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น “ไม่มีที่สงสัยเลยที่ว่าขุนหลวงตากจะไม่บ้า บ้าแน่ๆ” แต่ผู้ที่ก่อการจลาจลในครั้งปลายแผ่นดินพระองค์คือ พระยาสรรค์ ชาวเมืองธนบุรีเอง ไม่ใช่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นเพียงผู้มาปราบการจลาจล เมื่อเหตุการณ์สงบแล้ว บรรดาราษฎร ขุนนางและข้าราชการต่างลงความเห็นให้ปลงพระชนม์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หาใช่ความต้องการส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

ไม่เพียงแต่ความวุ่นวายจากเหตุการณ์กบฏพระยาสรรค์ ระหว่างนั้นกรุงธนบุรียังเผชิญกับการคุกคามของศึกพม่าที่ยิ่งทำให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกหนักพระราชหฤทัยและอยู่ในฐานะที่ “จะลำบากใจหาน้อยไม่” ที่จะรับสั่งให้ปลงพระชนม์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตามที่ทุกฝ่ายลงความเห็น แต่ถ้าหากจะปล่อยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเอาไว้ ความวิปลาสของพระองค์ก็รังแต่จะทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย

“ถ้าขุนหลวงตากเป็นบ้าอย่างมากมายไม่รู้วันรู้คืน พระพุทธยอดฟ้าฯก็คงออกพระโอษฐ์ขอไม่ให้ปลงชีวิต นี่ขุนหลวงตากไม่ได้บ้าถึงเพียงนั้น เป็นบ้าคลั่งอันตรายต่อแผ่นดิน”

ดังนั้นเมื่อจัดการสำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงได้มีพระบรมราชโองการให้สร้างเมรุและเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงจนเสร็จสิ้น ทั้งหมดล้วนแสดงให้เห็นว่าพระองค์ไม่ได้มีความต้องการแต่แรกที่จะยึดอำนาจจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีและสถาปนาตัวเองเป็นกษัตริย์

ไม่เพียงแต่จะทรงอธิบายเรื่องราวในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเพื่อแสดงให้เห็นว่าราชวงศ์จักรีหรือแม้แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเอง ไม่ได้มีความต้องการที่จะแย่งชิงอำนาจมาจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตามที่มีผู้เขียนโจมตี สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ยังทรงเตือนให้คนรุ่นหลังพิจารณาให้ดีถึงหลักฐานที่มีอยู่ในพระราชพงศาวดาร ไม่ควรจะใช้อคติที่มีมาบดบังหลักฐานที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร “ควรพิจารณาดูให้ดี อย่าลืมหลักฐาน อย่าเอาโลภจริตเข้าใส่ในการวินิจฉัยเรื่องราวในพงศาวดาร พึงกระทำด้วยความเที่ยงธรรม”

สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ยังได้ทรงเล่าถึงพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับเรื่องสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยทรงเล่าว่าพระองค์ได้ทรงอ่านเรื่องสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์เคยเขียน “ล้อเอาไว้เสียๆ หายๆ” ในระหว่างทางเสด็จประพาสโดยทางรถไฟจากสถานีบางกอกน้อยไปพระปฐมเจดีย์ ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง “กริ้วมาก” ที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์เขียนถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในทางที่ทำให้เสียหาย เพราะพระเจ้าตากเป็นบุคคลที่ทำคุณงามความดีให้กับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นบ้าหรือไม่ก็ไม่ควรเอามาเป็นเรื่องล้อเลียน และ “กษัตริย์ในราชวงศ์จักรีนี้ทุกพระองค์นับถือขุนหลวงตากเสมอ ไม่ควรที่ใครจะมาลบหลู่บุญคุณ ฉะนั้นการที่เขียนเรื่องล้ออย่างนี้ ไม่ชอบด้วยพระราชนิยม”

เป็นอันสิ้นสุดพระวินิจฉัยของสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่มีต่อเรื่องราวของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีว่าทรงวิปลาสหรือไม่ และยังเป็นข้อวินิจฉัยเพื่ออธิบายความรู้สึกชื่นชมของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีที่มีต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ว่าอยู่ในฐานะที่เป็น “ผู้มีบุญคุณ” ต่อประเทศชาติ หาใช่ความรู้สึกเกลียดชังและต้องการทำให้พระองค์มีชื่อเสียงมัวหมองโดยบิดเบือนข้อเท็จจริงในพระราชพงศาวดารผ่านการสร้างภาพว่าพระองค์เสียพระสติตามที่มีคนตั้งข้อสังเกต

“SILPA PODCAST X สมฤทธิ์ ลือชัยไขปริศนาประเด็นสุดฮอต คลิกชม!

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ที่มาของข้อมูล :

หม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล. บันทึกรับสั่ง สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พิมพ์ในการฌาปนกิจศพ นางอนุพงศ์จักรพรรดิ (เป้า วินทวามร), 2493.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กรกฎาคม 2562