“ตำราตรีภพ” ดูวันเดือนปีเกิด ทำนายลักษณะอวัยวะเพศ ฤๅเป็นงานเขียนของเจ้านาย?

จิตรกรรม เชิงสังวาส พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
จิตรกรรมฝาผนัง เชิงสังวาส พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

วัฒนธรรมและความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเพศและเชิงสังวาสปรากฏอยู่ในหลักฐานโบราณหลากหลายแหล่งทั้งในตะวันตกและตะวันออก สำหรับไทยเองก็มีตำราโบราณที่ค้นพบกันหลายเล่ม อีกเล่มที่พูดถึงกันมากคือ “ตำราตรีภพ”

ตำราตรีภพ เป็นที่รู้จักกันในชื่ออื่นด้วย อาทิ ตำราเศษพระจอมเกล้าฯ เศษพระจอมเกล้าฯ หรือจอมตรีภพ อภิลักษณ์ เกษมผลกูล ผู้เขียนหนังสือ “ผูกนิพานโลกีย์ ตำรากามสูตรสัญชาติไทย” อธิบายว่า ตำรานี้ถูกกล่าวขานกันว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้และแทรกในตำราดูเกณฑ์ชะตาชายหญิง พร้อมพระราชทานนามว่า “ตำราตรีภพ”

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า เป็นบทพระราชนิพนธ์ โดยนักวิชาการวิเคราะห์ว่า “พระจอมเกล้า” คำนี้ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจไม่ได้หมายถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แต่เมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงพระปรีชาด้านโหราศาสตร์ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เชื่อกันแบบนั้น

เนื้อหาส่วนหนึ่งมีใจความว่า

ตัวเราพระจอมเกล้า   บำรุงเหล่าราษฎร์สำราญ
เลี้ยงเสนาข้าราชการ   ใช้แบบนี้ดีหนักนา ฯ

ตำรานี้ชื่อตรีภพ   จงปรารภเร่งศึกษา
หญิงชายที่เกิดมา   ตามชะตาชั่วและดี ฯ

อภิลักษณ์ บรรยายว่า ตำรานี้ประพันธ์ด้วยกาพย์ยานี และโคลงสี่สุภาพ เนื้อหาส่วนที่เกี่ยวกับตำราดูลักษณะเพศหญิง-ชาย เป็นโคลงสี่สุภาพ มี 27 บท ซึ่งบางตอนมีลักษณะคล้ายวรรณกรรม “ผูกนิพานโลกีย์” แต่ใช้ฉันทลักษณ์แตกต่างกัน แต่เนื้อหาเกือบกึ่งหนึ่งตรงกัน แม้นักวิชาการชี้ว่า ผูกนิพานโลกีย์ ให้รายละเอียดชัดเจนกว่าบ้าง แต่ยังไม่อาจชี้ชัดว่าเล่มใดเป็นอิทธิพลถึงเล่มใด หรือเล่ม “ต้นฉบับ” คือเล่มใด ตัวอย่างเนื้อหาส่วนหนึ่งมีใจความว่า

ตำราตรีภพ ทำนายลักษณะโยนีตามวันเดือนปีเกิด

บัดนี้จะกล่าวด้วย   ราศี
ในลักษณะนารี   ย่อมแจ้ง
หญิงใดชั่วและดี   เศษบอก เองนา
ใช่ว่าจะกลั่นแกล้ง   แต่ล้วนของจริง ฯ

เชิญโฉมวรนุชเจ้า   จงสดับ
มยุเรศมีแวววับ   โชติได้
สตรีก็ที่ลับ   เป็นศรี ตนแฮ
ควรจักบำรุงไว้   เพื่อชู้เชยชม ฯ

หนึ่งใครจะใคร่รู้   ร้ายดี
จงเอาวันเดือนปี   บวกเข้า
ต่อไปจึงเอาตรี   ภพเร่ง คูณแฮ
แปดทิศคิดดูเจ้า   แปดนั้นพลันหาร ฯ

เศษหนึ่งพึ่งพิศแม้น   ใบพลู
ช่องแคบคะเน   ลอดได้
ราศีชะตาดู   แรงยิ่ง นาแฮ
อาภัพโชคลาภไซร้   นิ่มเนื้อขนบาง ฯ

เศษสองบ่ผิดเพี้ยน   เต่าหับ
เกิดแก่ใครคงยับ   โชคร้าย
พอเหมาะจะรับ   การสวาท
ขนดกแคมซ้าย   เฉกเชื้อพงแคม ฯ

เศษสามนามกล่างอ้าง   เปรียบปรา
โตเท่าเทียมกะลา   คว่ำได้
ขนดำบ่ดกหนา   สมรูป
ทางกระทำนั้นไซร้   ไป่กว้างพอประมาณ ฯ

เศษสี่รีลีบคล้าย   กีบกวาง
โลมาชาติสำอาง   เอี่ยมหน้า
แต่จิตมักผิดทาง   มักมาก
ถึงจริตจะแช่มช้า   อย่าได้สมาคม ฯ

เศษห้าโชคลาภล้ำ   ควรชม
รายราบน่านิยม   นิ่มน้อง
เต้าตาลพอเปรียบสม   วรรณะ
ควรถนอมประคองต้อง   ตั้งเลี้ยงเคียงกัน ฯ

เศษหกดูดั่งแกล้ง   กล่าวสวรรค์
กล้วยกาบกัทลีพันธุ์   อวบอั้น
มิดชิดสนิทกัน   ดีเมื่อ แก่นา
ควรรักโลมานั้น   ดุจเส้นจามจุรี

เศษเจ็ดเท็จถ่อยแท้   ทรลักษณ์
หอยโข่งอัปลักษณ์   ร่างร้าย
ขนดกรอบแคมชัก   เสียรูป
เมื่อร่วมภิรมย์คล้าย   ว่ายน้ำหาโคลน ฯ

เศษศูนย์พูนพ่างน้ำ   เต้าเทียม
เห่อห่ามตัณหาเรียม   พักตร์กร้าน
ยลชายใช่กลเรียม   แนะเล่ห์ สวาทเฮย
มีหนึ่งมิพึงคร้าน   เสาะคว้าหาสอง ฯ

จบเสร็จฉบับเบื้อง   โบราณ
ลักษณะเศษประมาณ   กล่าวนี้
ชายใดเร่งวิจารณ์   ควรจด จำแฮ
ของที่ลับหลบลี้   อาจรู้ดูขำ ฯ

ทำนายลักษณะองคชาตตามวันเดือนปีเกิด

จะแนะนิเทศเค้า   คัมภีร์
ชมติลักษณะชั่ว (ดี)   ดั่งอ้าง
ผิดแผกภาคพาที   ทางเล่า สืบนา
ยาวสั้นบั่นต่อบ้าง   ถูกแท้ทางเดิม ฯ

กะกามีโทษร้าย   สิบชนิด
ตามลักษณ์สุภาษิต   กล่าวไว้
ดีชั่วซึ่งบัณฑิต   ท่านกล่าว ไว้นา
ผู้จะเลี้ยงจะได้   เลือกเลี้ยงแต่ควร ฯ

จะดูลักษณะให้   พึงหา
วันเดือนปีเกิดมา   บวกเข้า
ทั้งสามแห่ชันษา   รวมเท่า ใดฤา
จึงคอยสืบดูเค้า   ต่อนั้นฉันใด ฯ

กามคุณเบญจนั้น   เป็นมูล
คือเลขห้ามาคูณ   จึ่งได้
ทวารเก้าตกเค้าศูนย์   หารลับ
เหลือเศษเท่าใดให้   เร่งค้นหาฝอย ฯ

เศษหนึ่งท่านกล่าวด้วย   สัณฐาน
วัดโดยยาวประมาณ   หกนิ้ว
มีเศษแต่มักหาญ   ห่ามเล่น ชู้นา
จนถึงแก่ต้องหิ้ว   พักตร์ด้วยความซน ฯ

เศษสองยาวเจ็ดนิ้ว   พอดี
โคนิ่วและหิดฝี   มากไซร้
คดซ้ายฝ่ายนารี   ห่อนชอบ ใจนา
แต่ว่ามียศได้   เทียบด้วยพระหลวง ฯ

เศษสามกามราคร้าย แ  รงครัน
รูปพรรณพอสัน-   ทัดแท้
ดีชั่วกึ่งกลางกัน   บ่ยิ่ง หย่อนแฮ
ตามแบบท่านกล่าวแก้   เหตุด้วยบุญกรรม ฯ

เศษสี่มียศล้ำ   หญิงรัก
รูปพรรณพอจัก   ช่วยใช้
หมวกบ่มีบังพักตร์   กึ่งกั่น เจียวพอ
เมียมักนอกใจให้   เดือดร้อนรำคาญ ฯ

เมื่อกล่าวถึงการทำนายวันเดือนปีเกิดแล้วนำมาพยากรณ์ลักษณะอวัยวะแล้ว ต่อมาจะกล่าวถึง “กามจรผู้หญิง” เรียงตามวัน และช่วงเวลาแต่ละวันที่จะช่วยชี้นำการเลือกสังวาส เชื่อมโยงกับลักษณะสีผิวของสตรีที่เหมาะสมต้องตามตำรา ซึ่งหากมีโอกาส จะกล่าวถึงในครั้งต่อไป

อ่านเพิ่มเติม

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

อภิลักษณ์ เกษมผลกูล. ผูกนิพานโลกีย์ ตำรากามสูตรสัญชาติไทย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2550


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 มิถุนายน 2562