“ผูกนิพานโลกีย์” ตำรากามสูตรสัญชาติไทย คาถาขอบุตร-จุดอารมณ์หญิง-ขนาดสำคัญไฉน

ภาพจิตรกรรมเชิงสังวาส วัดหนองยาวสูง
ภาพกิจกรรมเชิงสังวาสแบบชาวบ้าน จิตรกรรมที่วัดหนองยาวสูง จังหวัดสระบุรี

ผูกนิพานโลกีย์” ตำรากามสูตร สัญชาติไทย มีเนื้อหาอย่างไรกัน?

เราคงมิอาจปฏิเสธได้ว่าการ “เสพสมพาส” มีความหมายอย่างยิ่งในการธำรงรักษาเผ่าพันธุ์ของมนุษย์มิให้สูญสิ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอารยธรรมตะวันออกนั้น การเสพสมพาสได้รับการยอมรับว่าเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง คือเป็นศิลปะในการร่วมรักด้วยท่วงท่าต่างๆ เพื่อให้การปฏิบัติกิจนั้นเกิดความสุขอย่างหฤหรรษ์ ตำราในลักษณะนี้ที่ขึ้นชื่อลือชาและรู้จักกันทั่วโลก คงไม่พ้น “ตำรากามสูตร” ของอินเดีย

Advertisement

ในสังคมไทยนับแต่โบราณมา เรื่องการเสพสมพาสถือเป็นเรื่อง “บัดสีบัดเถลิง” ผู้ดีย่อมไม่กล่าวถึง (ในที่แจ้ง) ดังนั้นตำราในลักษณะนี้จึงมักไม่เกิดขึ้นได้ง่าย อย่างไรก็ตามในขณะที่สังคมปิดกั้นเรื่องดังกล่าว นิทานพื้นบ้านและเพลงพื้นบ้านกลับบรรจุเรื่องราวเหล่านี้ไว้อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะนิทานแนวตาเถรกับยายชี เพลงปฏิพากย์ต่างๆ ที่แสดงถึงการระบายออกเรื่องเพศของสังคม แต่ก็ยังไม่พบตำราหรือบันทึกใดๆ ที่กล่าวถึงการเสพสมพาสไว้อย่างชัดเจน การค้นพบวรรณกรรมที่เป็นตำราในลักษณะ “กามสูตร” ที่มีสัญชาติไทยเต็มร้อยครั้งนี้จึงนับเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ใจยิ่ง

เชิงสังวาสเชิงขบขัน จิตรกรรมที่วัดหนองโนเหนือ จังหวัดสระบุรี

เรื่อง ผูกนิพานโลกีย์ นี้ พบที่วัดไผ่ล้อม ตำบลบางพระ อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด จารลงใบลาน ด้วยอักษรขอมและอักษรไทย ประพันธ์เป็นกลอนสุภาพ จำนวน 1 ผูก ฉบับลานดิบ มี 28 หน้าลาน ใบลานหน้าปกมีข้อความจารว่า “ผูกนีภานโลกี ฯIะ จบบ่อรีบูญตามช่บับแล ฯIะ” ใบลานหน้าปลายมีข้อความจารว่า ฯIะ นีภารโลกีผูกนีข้าพ่เจ้านายรุ่งล่คอร จำลองไวยสืบกู่ลบุตไปยในยผายภากหน้านั้นแล ฯIะ” เป็นอันว่าเรื่องผูกนิพานโลกีย์นี้นายรุ่งโต้โผคณะละครคัดลอกไว้ เพื่อไม่ให้ลูกหลาน “สูญพันธุ์”

จักฃ่อกล่าวตำราชตาหยีง

แต่บูราญทายทักประจักจริ่ง

เปนไหญ่ยิ่งลัคะณ่นารี

ในช่โลกเรียกว่าโลกค่วีใสย

อุประไมดังตราพระยาราช่ษีร

ตีประทับไว้ยสำรับกระสัตรี

ใครชัวดีดูรูในยกายา

ใบลาน “ผูกนิพานโลกีย์” ที่วัดไผ่ล้อม ตำบลบางพระ อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด นับเป็น ตำรากามสูตร สัญชาติไทย ที่บอกกลเม็ดเคล็ดลับของ “กามจรหญิง” อย่างละเอียด

เริ่มต้นเรื่องด้วยการทำนายวันเดือนปีเกิดของหญิง เพื่อทำนายสัณฐานและขนาดของของลับและปริมณฑล อารมณ์ทางเพศและลักษณะนิสัย ในการทำนายนั้นตามตำรามีวิธีการดังนี้คือ

ท่านใหยเอาปีเดีอรวันกำเนีด

ที่ก่อเกีษออกจากครันชัณ่ษา

บวกกันเข้าไวยเปนตำรา

เอาตรีภพ่โลกานันมาคูน

เอา ๘ ทีดษานั้นมาหาร

มากประมารกว่าเสษ ๗ ว่าเสดสูน

ทายตามตำราอย่าอาดูน

คูนหารให้ยถูกย่ากลัวแคลง ฯ

เมื่อคำนวณวันเดือนปีเกิดได้ตามวิธีการแล้ว จึงนำเศษนั้นมาตรวจกับตำรา ดังจะขอยกตัวอย่างดังนี้

เสด ๑ พืงพิศ่ไบยพูล

ร่วมรูรอยแค่บอยานายแหนง

ประกอ่บดวยมาร่ยาตันหาแรง

ยาร่แวงขนมากไม่ยยากมี

ถ้าทำเถิ่งไจยากลัวอด

เถิ่งสิ้นมดจนตายไม่ยนายหนี

จฉีบหายลาโภเพราะโยนี

มักถอยทรัพอัปีรเชีอใจยคล ฯ

เสษ ๒ ดังกระดองเต่าหับ

ว่ารอยคับแคมโคกปีดหปากหน

มันนอกใจยหมีไห้ยผัวรูกน

เสนขนมากดํกปํกปิดทาง

เถิ่งทำเทาไรยก็ยังมาคีดคํด

ไม่ละพ่ยศทีชัวยาอางขนาง

จะอาภับโภคาคียาร่าง

ด้วยกระดางทังสองกิ่นแหนงแรง ฯ

จิตรกรรมเชิงสังวาสในพระอุโบสถ วัดบางยี่ขัน กรุงเทพฯ

หลังจากทำนายวันเดือนปีเกิดเพื่อพยากรณ์ขนาดแล้ว จึงกล่าวถึง “กามจรผู้หญิง” (จุดหรือตำแหน่งที่จะทำให้เกิดอารมณ์ทางเพศ) โดยกล่าวว่าเรียงตามวัน ตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ จนกระทั่งถึงวันแรม 15 ค่ำ รวมทั้งเรียงตามวันทั้ง 7 และช่วงเวลาในแต่ละวันด้วย

เรียกว่าถ้าจะเสพสมพาสให้ถึงฝั่งแล้ว ตามที่ระบุใน ผูกนิพานโลกีย์ จะต้องคำนึงก่อนร่วมรักว่า ตรงกับวันกี่ค่ำ วันอะไร เวลาใด สีผิวของหญิง เพื่อจะได้หากามจรหญิงได้ถูกต้องตามตำรา ดังตัวอย่างช่วงเวลาในแต่ละวัน

วันฯIะ ก่อนไกยแลไก่ยขันอยูฝาตีน ครันรุ่งอยู่ฝาตีน ครันรุ่งอยู่ไบยหู แดษอุนอยูนํมทังสองค่าง กอนงายยูตํนแขน สายอยู่ปลายนีอแลงายแกแมแลงต่วันเทียงอยู่ปาก ต่วันชายอยูทองน้อย บายควายอยู่หัวแลน้า ฝายคำยูโยนี เมือเข้านอนยูปลายตีน เทียงคืนอยู่ต่โภ่ก เสพด้วยมันให้ยคลำโยนีมัน ๓ ที ให้ยมันคลำอํงคชาติด้วย ๓ ที เสพด้วยมันรักแล ฯIะ

ในตำราได้กล่าวถึงสรรพคุณของ “กามจรหญิง” นี้ไว้ว่า “ท่าบุรุษผูไดยทำตามกล่าวมาดังนี ถ้าแมนว่าไปยศัก ๑๐๐ ปีหมีลืมเลย กล่าวไวยทังนีไหยีงชายทังหลายทังปวงภํบหํนทางนี เส่มีอรนึ่งภ่บหํลทางส่วันนีภาฬแล ” “ไหรูจักกามจอรตามลัคณวันกาม จอรทีในยให้จับทีนันใมรองเลย ฯ” เข้าใจว่าด้วยสรรพคุณดังกล่าวนี้เอง จึงเป็นที่มาของชื่อวรรณกรรมเรื่องนี้

จากนั้นเป็นอักษรขอมประโยคหนึ่งว่า “มาตาปิตุปุตฺตทนํ” เป็นคาถาสำหรับภาวนาขอบุตร ใต้คาถาเป็นภาพจำลองอวัยวะเพศหญิง 3 ภาพ ภายในแต่ละภาพแสดงจุดต่างๆ ของอวัยวะเพศหญิง เพื่อให้ฝ่ายชายได้เลือกว่าต้องการแบบใด โดยแต่ละจุดจะมีคุณประโยชน์แตกต่างกันไป นอกจากนี้ในตำรายังจะได้บอกวิธีการเข้าถึงจุดเหล่านั้น ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย และกลเม็ดเคล็ดลับในการกำหนดว่าใครจะเป็นฝ่ายถึงจุดสุดยอดก่อน โดยพรรณนาไว้อย่างละเอียดลออ ดังตัวอย่าง

“ถ้าจ่ะใหยตองประตูกลางให้ยหยีงนรเยียดตีนตัวเราเข้านังกลาง เอาตีนเราแย่กขาหยีงออกทังสองค่าง แล้วกํดเข้าไวยแต่เทียมควบแล ถ้าตองแล้วใหยเยียดตีนออกจึ่งส่อืกเข้าไปให้ยสีนเถิษ ฯ ถ้าตองประตูใด ยาแซไวยนารจ่เปนพ่ยาติแล ฯ ถ้าจ่ะใหยตองประตูซรายขวาทัง ๔ แห่งนั้นใหยหยีงนอรแหกฃาออกแล้วคู้ตีนเข้าทังสองใหยตีดต่โพ่ก แล้วตัวเราเข้านังกลางแต่เทียมควบใหยต้องชองขวาหยีงนันส่นุกนักแล ฯ”

ในตำรายังได้อธิบายวิธีการร่วมรักให้ต้องกับหญิงสีผิวต่างๆ ขนาดของอวัยวะเพศต่างๆ กามจรของรูปหน้าของหญิงแบบต่างๆ กามจรของลักษณะหัวนมสีต่างๆ ดังตัวอย่าง

“หยิงไดยหัวนํมแดงดังลูกมากศุกกามอยู่ตํนขาแล ฯ ถ้าหัวนํมเฃียวกามอยูแกม ถ้าหัวนํมเหลืองกามอยู่ทองน้อย ถ้าหัวนํมขาวกามอยูส่ดือ ถ้าหัวนํมดำกามอยูอํกแล ฯฯ”

ต่อจากนี้เป็นอักษรขอม ภาษาบาลี ว่าดังนี้ “เอจุตโตปโนอกฺเข จุตโตมิเมมิปาปุตตอุปฺปวา ปุตตปาเสฺสสงฺคโหพุทโธโหติอนาคเต” เป็นคาถาภาวนาขอบุตร แล้วจึงกล่าวถึงการดูลักษณะอวัยวะเพศชาย อวัยวะเพศหญิง และขนเพชร เพื่อทำนายลักษณะนิสัย และปิดฉากลงด้วยการดูลักษณะองคชาต ดังนี้

“ฯ ถ้าผู้ไดยลึงดังดอกบัวมีบูญนักหนาแล ฯ ถ้าผู้ไดยลืงดังงัวมักเลนชูนักแล ฯ ถ้าผู้ไดยลืงดังม้ามีเมียเถิงสองคํลมักเลนชูนักแล ฯ ถ้าผู้ไดยลืงยาว ๔ อํงคูลีจ่มีลูกหลายคํนแลฯ ถ้ายาว ๕ อํงคูลีเมียรักนักหนาแลฯ ถายาว ๖ อํงคูลีเมียเลนชูนักแล ฯ ถ้ายาว ๗ อํงคูลีเขนใจยนักหนาแล ฯ ถ้ายาว ๘ อ่งคูลีมักตายโหงแล”

ผูกนิพานโลกีย์ จึงนับได้ว่าเป็น ตำรากามสูตร สัญชาติไทยอย่างแท้จริง เพราะนอกจากจะเสนอเรื่องราววิธีการร่วมสมพาสของชายหญิงแล้ว ยังได้แทรกคติความเชื่อและความรู้ทางโหราศาสตร์ ลักษณะทางสรีระของหญิงชายไทยไว้อย่างครบถ้วน ดังที่ท่านผู้ประพันธ์ได้ศึกษาค้นคว้าไว้อย่างละเอียด 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 พฤษภาคม 2560