“พระตำรับแก่กล่อน” ตำราทางเพศหายากแบบไทย เปิดเคล็ดปรุงยา-ทำนายลักษณะนารี

กิจกรรมเชิงสังวาส ชาวบ้าน จิตรกรรม วัดหนองยาวสูง จังหวัดสระบุรี
ภาพกิจกรรมเชิงสังวาสแบบชาวบ้าน จิตรกรรมที่วัดหนองยาวสูง จังหวัดสระบุรี

ตำราเพศศาสตร์จากหลายแห่งในเอเชียเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ทั้งจากอินเดีย จีน และญี่ปุ่น สำหรับของไทยเองก็มีตำราเพศศาสตร์เช่นกันแต่ตำราจากยุคจารีตส่วนหนึ่งไม่ค่อยหลงเหลือสืบทอดมาถึงยุคหลังมากนัก จะมีเพียงการค้นพบตำรับตำราตามแหล่งต่างๆ บ้าง ในบรรดาตำราเหล่านี้มีต้นฉบับที่พบในชื่อ พระตำรับแก่กล่อน รวมอยู่ด้วย

สำหรับผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับตำรับตำราโบราณในไทยน่าจะคุ้นเคยกับตำราหลายฉบับตั้งแต่ตำรานรลักษณ์ ตำราตรีภพ หรือผูกนิพพานโลกีย์ แต่หากพูดถึงความเป็นมาโดยรวมแล้ว ศาสตราจารย์สุกัญญา สุจฉายา อธิบายในหนังสือ “ไขความลับวรรณกรรมตำราเพศศาสตร์” ว่า ไม่พบตำราเพศที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

Advertisement

แต่ในอีกความหมายสำหรับนักวิชาการแล้วพิจารณาได้ว่า ก่อนหน้านั้นอาจมีก็เป็นได้แต่ไม่พบหลักฐานหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน ที่พบกลับเป็นวรรณคดีที่เป็นเสมือนบันทึกห้วงอารมณ์พิศวาสโดยเจ้านายชายถึงภรรยาด้วยภาษาสัญลักษณ์ที่ให้ความรู้สึกรัญจวนใจจาก “โคลงทวาทศมาส” อันเป็นวรรณคดีสมัยอยุธยาตอนต้น มีเนื้อหาบอกเล่าถึงความคำนึงเรื่องการร่วมรักระหว่างชายและหญิงโดยใช้สัญลักษณ์เปรียบเปรย “งูใหญ่ แมลงภู่” แทนอวัยวะเพศชาย “บัวทอง สระ ดอกไม้” แทนอวัยวะเพศหญิง “ถนำทึก นพนิต” แทนน้ำกาม

ส่วนตำราเพศลักษณะทำนองแบบกามสูตรที่เป็นลายลักษณ์ของไทยกลับไม่เป็นที่รู้จักอย่างเปิดเผย ตามความเห็นของศาสตราจารย์สุกัญญา มองว่า ตำราเพศศาสตร์ของไทยเริ่มเป็นที่รู้จักกันเมื่อการพิมพ์เป็นหนังสือในระบบโรงพิมพ์เริ่มปรากฏในยุครัชกาลที่ 7

ขณะที่ตำราวรรณกรรมเพศศาสตร์ซึ่งเชื่อว่าอยู่ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์เล่มที่น่าสนใจอีกเล่ม คือ พระตำรับแก่กล่อน โดยพิสดาร ฉบับที่ค้นพบและนำมาศึกษานั้นอยู่ในรูปแบบ “สมุดฝรั่ง” ได้มาจากกรุงเทพมหานคร บุญเตือน ศรีวรพจน์ ผู้ตรวจสอบต้นฉบับวรรณกรรมเพศศาสตร์ อธิบายว่าต้นฉบับเป็นสมุดฝรั่ง ที่มาที่ไปของรูปแบบของการบันทึกนั้น ผู้ตรวจสอบตั้งข้อสังเกตว่าตำรากลุ่มนี้เคยมีทั้งที่จารลงใบลานและบันทึกในสมุดไทย เมื่อกระดาษสมุดฝรั่งแพร่หลายถึงมีการคัดลอกลงสมุดฝรั่ง

สำหรับ พระตำรับแก่กล่อน ฉบับนี้ บริเวณหัวกระดาษพิมพ์รูปตราอาร์ม หรือตราแผ่นดินที่ใช้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื้อหาคัดด้วยเส้นหมึกตัวบรรจง เนื้อหาในเล่มเล่าถึงพระราชกุมารสองพี่น้อง เป็นพระราชโอรสของ “ท้าวยักขพิมล” แห่ง “เหมะวะดีมะหานคร” ราชกุมารพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า “พระราชกุมารวิเชียร” พร้อมสมเด็จพระน้องยาไปเรียนศิลปศาสตร์กับพระอาจาริย์ สำนักทิศาปาโมกข์ในเมือง “ตักสิลาก์”

พระเชษฐาเรียนศิลปศาสตร์การคบเพื่อน “ผูกสันฐวะรักใคร่ ให้ร่วมจิตร์เจริญใจ” ส่วนผู้น้องเรียนเรื่องลักษณะแห่งหญิงและชาย ประเวณีลักษณะ ราคะลักษณะ การประกอบยารักษาอาการบกพร่องเกี่ยวกับประเวณี ในตำราตอนท้ายยังมีมีเนื้อหาส่วนเศษนารี ทำนายลักษณะของนารี

ที่มาที่ไปของพระตำรับนี้ บุญเตือน ศรีวรพจน์ ตั้งข้อสังเกตว่า ที่หน้าปกระบุชื่อผู้เขียนว่า “พิสดาร” มีข้อความว่า “ลักษณแห่งกุศลแลอกุศลนำมาปฏิสนธินั้นเป็นตราพระราชสีห์ตีประทับมาตั้งแต่ปถมวิญญาณ” ซึ่งข้อความส่วนที่อ้าง “ตราพระราชสีห์ตีประทับ” เป็นส่วนที่พบเห็นได้จากผลงาานกวีนิพนธ์ของนายมี หรือหมื่นพรหมสมพัตสร กวีที่มีชื่อเสียงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวหลายเรื่อง เช่น “ศรีสวัสดิ์วัด”

การอ้างตราพระราชสีห์นี้ใช้กันแพร่หลายสมัยรัชกาลที่ 3 ทำให้สันนิษฐานได้ว่า พระตำรับแก่กล่อน โดยพิสดาร น่าจะแต่งขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ และคัดลอกต่อกันมากระทั่งเกิดระบบพิมพ์เผยแพร่

เนื้อหาในพระตำรับส่วนแรกว่าด้วยเรื่องทำนายชะตาจากลักษณะภายนอก มาจนถึงประเวณีลักษณะ ทำนายนิสัยจากลักษณะอวัยวะของสตรี เนื้อหาส่วนนี้ยกตัวอย่างได้เป็นบางข้อ ดังนี้

“หญิงใดโยนีดังกีบกวาง แลหัวเล็กข้างบนยาวก็ดี เรียวๆแลดูหัวไหล่หลุบ หญิงนั้นมักแพ้ผัว ชายพึงเว้นเสียแล

หญิงใดโยนีดังกระบานหาที่พึ่งมิได้ ชายใดจะสมเสพย์ ถ้าทำถึงใจมันจึงรัก ถ้าทำไม่ถึงใจมันคิดจะหาใหม่แล

หญิงใดโยนียาวแลหน้ายาว ขายาว มือยาว หญิงนั้นมีใจรักจะใคร่ลองเล่นลองดูซึ่งผัวเขาอื่น หญิงนั้นคิดอยู่เนืองๆ จะเอาผัวเขาแล
…”

ส่วนต่อมาว่าด้วย “ราคะลักษณ” เล่าด้วยการตอบคำถามของฤาษี ว่าด้วยข้อแนะนำในการปฏิบัติกิจทางเพศ ตามมาด้วยการประกอบยารักษาอาการบกพร่องทางประเวณี ใจความส่วนหนึ่งกล่าวไว้ว่า

“ถ้าชายใดลึงค์หดอ่อนไปไม่แขง ท่านให้เอารากละหุ่งดำ 1 ราก ละหุ่งแดง 1 รากละหุ่งขาว 1 บดทาลึงค์ทั้งใหญ่ทั้งแขงดีนักแล

ถ้าเอาไม่ทน ท่านให้เอากระเทียมบดกับเนยกินเถิดกำลังมากเอาทนดีแล

…”

และส่วนสุดท้ายคือวิธีคิดเศษทำนายลักษณะอวัยวะของสตรีโดยเอาวันเดือนปีมาบวกกันแล้วหารด้วยแปด ให้นับปีชวดเป็นที่หนึ่ง ให้นับเดือนห้าเป็นที่หนึ่ง และนับวันอาทิตย์เป็นวันที่หนึ่ง เอาจำนวนที่นับได้มาบวกรวมกัน แล้วหารด้วยแปด จะได้เศษมา เนื้อหาคำทำนายส่วนหนึ่งที่ใช้ยกตัวอย่างมีดังนี้

“เศษหนึ่งตำราท่านว่ามี รูปโยนีเท่าใบพลูไม่สู้ใหญ่ หนทางเข้านั้นขยับจะคับไป ขนก็ไม่มีรกปิดปกรู พิเคราะห์ดูสินทรัพย์อาภัพครัน แต่ว่าขันหมากจนคนไม่สู้ ชะตาแรงหนักหนาตำราครู จะมีคู่เลือกเอาเองไม่เกรงใคร

เศษสองท่านทายทำนายว่า โตเท่าฝ่ามือกางอย่างใหญ่ๆ ทั้งขนดำนั้นรกดกกะไร เนื่องขึ้นไปจนถึงหนอกดูออกดำ อนึ่งว่าอาภัพอัประลักษณ์ ทั้งยศศักดิ์เสื่อมทรามแม่งามขำ ทรัพย์สมบัติก็หาอุตส่าห์ทำ กว่าจะปล้ำตัวได้เหื่อไหลเปาะ

…”

พระตำรับฉบับนี้ย่อมเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในรูปแบบบันทึกโบราณซึ่งยากจะพบเห็น และหาผู้วิเคราะห์มาเพื่ออธิบายอีกแง่มุมของพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมให้คนรุ่นต่อไปได้เข้าใจ ที่สำคัญคือการรับรู้เรื่องภูมิปัญญาของคนไทยในด้านเพศศาสตร์ ดังที่ประเทศอื่นในแถบเอเชียรับรู้ถึงผลงานทางวัฒนธรรมโบราณของประเทศตัวเองซึ่งกลายเป็นตำราทรงอิทธิพลแพร่กระจายไปสู่หลายภูมิภาคทั่วโลกและสืบทอดกันมาจนถึงวันนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สุกัญญา สุจฉายา. ไขความลับวรรณกรรมเพศศาสตร์. นครปฐม: โครงการวิจัย “วรรณกรรมตำราเพศศาสตร์ของคนไทยภาคกลาง : ไขความลับเป็นความรู้” คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2561


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 กรกฎาคม 2562