การประกาศสถานะ “บุคคลไม่พึงปรารถนา” เชิง “เอาใจ” ประเทศเผด็จการคอมมิวนิสต์ (ในอดีต)

ดิดิเย่ร์ รัตสิรากา Didier Ratsiraka ผู้นำมาดากัสการ์
ภาพถ่ายปี 1972 ของ ดิดิเย่ร์ รัตสิรากา (Didier Ratsiraka, กลาง) ผู้นำมาดากัสการ์ ที่ครองอำนาจหลายทศวรรษ (ภาพจาก AFP PHOTO/ JOEL ROBINE)

การประกาศสถานะ “บุคคลไม่พึงปรารถนา” เชิง “เอาใจ” ประเทศเผด็จการคอมมิวนิสต์ (ในอดีต)

เมื่อช่วงเช้าวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 2016 หลายสำนักข่าวในเมืองไทยได้เผยแพร่ข่าวการส่งตัว “โจชัว หว่อง” นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยชาวฮ่องกงกลับประเทศ โดย หว่อง เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมเป็นแขกพิเศษในงานปาฐกถา 6 ตุลาฯ ในหัวข้อ “การเมืองของคนรุ่นใหม่” ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม (2016)

…สำนักข่าวมติชน (ออนไลน์) อ้างแหล่งข่าวที่ระบุว่า “เป็นไปตามคำขอ ซึ่งส่งมาเป็นหนังสือจากรัฐบาลจีน ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้มากกว่านี้ เนื่องจากเป็นเคสชั้นความลับ”

เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนักในยุคหลังสงครามเย็น เพราะรัฐที่มีอธิปไตยเต็มที่ย่อมไม่ยอมตกอยู่ใต้อิทธิพลของรัฐอื่น คำร้องขอจากภายนอกให้จัดการกับบุคคลที่ตกอยู่ใต้อำนาจอธิปไตยของตนจึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ หรือรัฐธรรมนูญของประเทศนั้นๆ ไม่ใช่ยอมทำตามคำขอของชาติใหญ่กว่าโดยไม่เคารพหลักเกณฑ์ของปวงชน (ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของรัฐประชาธิปไตย)

หากย้อนกลับไปในในยุค 1970 ที่โลกยังอยู่ในภาวะสงครามเย็น เหตุการณ์ที่รัฐหนึ่งขับไล่พลเรือนของอีกรัฐหนึ่ง เพื่อเอาใจรัฐที่ 3 เคยเกิดขึ้นมาแล้วในมาดากัสการ์ ประเทศที่ตั้งอยู่บนเกาะทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา ซึ่งขณะนั้นปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการสังคมนิยม

ในยุคสาธารณรัฐที่ 1 มาดากัสการ์มีสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับตะวันตกโดยเฉพาะกับฝรั่งเศส อดีตเจ้าอาณานิคม แต่หลังการปฏิวัติในปี 1972 มาดากัสการ์เปลี่ยนนโยบายทั้งภายในและระหว่างประเทศแบบสุดโต่ง และหันไปจับมือกับค่ายคอมมิวนิสต์แทน

ในปี 1976 มาดากัสการ์ได้เป็นเจ้าภาพในการประชุมระหว่างประเทศในหัวข้อว่าด้วย “การพึ่งพาตนเอง” แบบเกาหลีเหนือ หรือ “จูเช” (Juche) ซึ่งคิดค้นขึ้นมาโดย คิม อิล ซุง ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของประเทศเกาหลีเหนือ ระหว่างนั้น รัฐบาลมาดากัสการ์ได้ประกาศให้เจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐฯ 3 รายประจำมาดากัสการ์ให้เป็น “บุคคลไม่พึงปรารถนา” โดยไม่แจ้งเหตุผลกับทางสหรัฐฯ แต่อย่างใด

ซามูเอล วิค สมิธ (Samuel Vick Smith) เจ้าหน้าที่ทูตสหรัฐฯ ซึ่งประจำอยู่ที่มาดากัสการ์ในขณะนั้น กล่าวว่า ระหว่างการจัดการประชุมเพื่อโปรโมตทฤษฎีพึ่งพาตนเองของเกาหลีเหนือ มีกลุ่มนักศึกษาออกมาทำการประท้วง และเจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐฯ รายหนึ่งก็ได้ชวนนักศึกษา 2-3 คนที่ยืนโบกรถอยู่ข้างทางขึ้นรถ เนื่องจากขณะนั้นรถสาธารณะมีไม่เพียงพอ ก่อนเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ จะนัดหมายให้นักศึกษากลุ่มนี้ไปกินข้าวเที่ยงด้วยกันภายหลัง

ปรากฏว่า หลังจากที่นักศึกษากินข้าวเสร็จในวันที่นัดหมายกัน พวกเขาก็ถูกเจ้าหน้าที่มาดากัสการ์ควบคุมตัว หลังจากนั้นรัฐบาลมาดากัสการ์ก็ออกประกาศให้เจ้าหน้าที่ทูตสหรัฐฯ 3 ราย เป็นบุคคลไม่พึงปรารถนา โดยระบุให้ผู้ที่อยู่ในรายชื่อต้องออกจากประเทศภายในระยะเวลา 24-48 ชั่วโมง ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เชิญชวนนักศึกษาถูกระบุชื่อเป็นลำดับแรก

เมื่อการเล่นงานเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ไม่ได้มีการแจ้งเหตุผลที่ชัดเจน ด้วยรัฐเผด็จการไม่จำเป็นต้องให้เหตุผลในการใช้อำนาจ ทำให้มีการสันนิษฐานว่า ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างมาดากัสการ์กับรัฐเผด็จการคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือในขณะนั้นอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ถูกเนรเทศ เนื่องจากเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวไปช่วยเหลือกลุ่มนักศึกษาที่กำลังทำให้เกาหลีเหนือเสียหน้า (รวมถึงมาดากัสการ์เองที่เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน)

เช่นเดียวกับเหตุการณ์ในเมืองไทยเมื่อยังไม่มีความกระจ่างชัด ย่อมเปิดช่องให้เกิดการสันนิษฐานไปต่างๆ นานาเช่นกัน ซึ่งก็ไม่รู้ว่า จริงๆ แล้ว “หว่อง” เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศใดกันแน่ ไทยจึงไม่ยอมให้เข้าประเทศ

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

“Interview with Samuel Vick Smith”. Library of Congress. <https://www.loc.gov/item/mfdipbib001457/>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 ตุลาคม 2559 ปรับปรุงเนื้อหาโดยกองบรรณาธิการเมื่อ 13 มกราคม 2565