ที่มา | สงครามเย็นในแดนโสม: วิกฤตที่ยังไม่สิ้น |
---|---|
ผู้เขียน | อนุช อาภาภิรม |
เผยแพร่ |
“ลัทธิจูเช่” คืออะไร ทำไมถึงเป็นเครื่องมือที่ผู้นำ “ตระกูลคิม” ใช้สร้างชาติ “เกาหลีเหนือ” ?
ในสายตาภายนอก เกาหลีเหนือเป็นประเทศที่แปลกประหลาดมากที่สุดประเทศหนึ่ง มีความขัดแย้งในตัวสูง ได้แก่ เป็นประเทศที่ปิดลับมากที่สุด แต่ก็สามารถเป็นข่าวดังระดับโลกได้ตลอดเวลากว่า 60 ปีมานี้ เป็นประเทศขนาดเล็กและยากจน แต่ก็สามารถพัฒนาขีปนาวุธพิสัยปานกลางและระเบิดนิวเคลียร์ได้ ขณะที่ประชาชนถูกกีดกันไม่ให้รับข่าวสาร จากแหล่งอื่นนอกจากของรัฐ ปรากฏว่าอัตราการรู้หนังสือของชาวเกาหลีเหนือสูงถึงร้อยละร้อย ขณะที่ในประเทศที่ถือว่าเจริญ มีเสรีภาพสูง ผู้นำถูกวิจารณ์ ด่าทอ ใส่ร้ายเสียๆ หายๆ ผู้นำเกาหลีเหนือได้รับการยกย่องบูชา
จากการประมวลทัศนะและข้อเท็จจริงจากแหล่งต่างๆ สรุปได้ว่า การจะทำความเข้าใจเกาหลีเหนือให้ได้มากขึ้นควรผ่านการเข้าใจ “ลัทธิจูเช่” ซึ่งประกาศในที่สาธารณะเป็นครั้งแรกโดย คิมอิลซอง (ปี 1912-1994) ผู้นำเกาหลีเหนือในปี 1955 และพัฒนาเป็นรูปร่างชัดเจนในปี 1965 หลังจากนั้นได้มีการตีความเพิ่มเติมตามสถานการณ์
แหล่งที่มา “ลัทธิจูเช่”
“จูเช่” เป็นอุดมการณ์ของพรรคคนงานเกาหลีที่ปกครองแบบพรรคเดียวภายใต้การนำของตระกูลคิม ตั้งแต่ คิมอิลซอง ผู้ปู่จนถึง คิมจองอุน ผู้หลาน ลัทธิจูเช่ที่ปลูกฝังความเชื่อมั่นในพลังตนเอง พึ่งตนเองนี้มีแหล่งที่มาหลากหลาย จึงทำให้พรรณนาได้ยากว่าเป็นอะไรแน่ และพลอยทำให้เข้าใจประเทศเกาหลีเหนือยากไปด้วย
จูเช่ ประกอบด้วยแนวคิดหลัก 3 ประการ ได้แก่ ความอิสระทางการเมือง การพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจ และการป้องตนเองทางทหาร
แหล่งที่มาของลัทธินี้ อาจกล่าวได้ว่ามีอยู่ 4 ประการด้วยกัน ได้แก่
1. ลัทธิขงจื๊อใหม่แบบเกาหลี ซึ่งมีลักษณะเคร่งและเข้มข้นยิ่งเสียกว่าในประเทศจีนที่เป็นแหล่งกำเนิดเสียอีก ลัทธิขงจื๊อใหม่ได้พัฒนาขึ้นสู่ระดับสูงในสมัยอาณาจักรโชซอน (ปี 1392-1910) มีลักษณะเด่นได้แก่ การพัฒนาระบบวรรณะที่แข็งตัว การรวมศูนย์อำนาจสู่ราชวัง และเข้าสู่ช่วงแห่งการปิดประเทศโดยลำดับราว 300 ปี นับแต่การรุกรานของญี่ปุ่น ในทศวรรษ 1590
นอกจากนี้ เกาหลียังไม่ผ่านการปฏิวัติประชาธิปไตย ไม่มี ดร.ซุน ยัตเซ็น อย่างที่จีนมี
เกาหลีเหนือได้สืบทอดลัทธิขงจื้อใหม่คือ
(ก) การอยู่อย่างโดดเดี่ยว และพึ่งพาพลังของตนเองเป็นหลัก
(ข) การจัดลำดับชั้นในสังคม โดยพรรคคนงานเป็นผู้ปกครอง ไม่ใช่เรื่องสิทธิประชาธิปไตย
(ค) การนับถือผู้รู้หรือยังบัน ต่างกับในประเทศคอมมิวนิสต์อื่นที่ในระยะเริ่มแรก ประชาชนจะประกอบด้วยกรรมกรกับชาวนาเท่านั้น ในประเทศจีนถึงขั้นรังเกียจปัญญาชนนักวิชาการ แต่ในเกาหลีเหนือยอมรับปัญญาชนนักวิชาการว่าอยู่ในกลุ่มประชาชนด้วย
การรับปัญญาชนนักวิชาการเข้ามาอยู่ในฟากประชาชนนี้เปิดโอกาส ให้มีการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของชาติได้ต่อเนื่องและเร็ว ในจีนหลังยุคสี่ทันสมัย มีการยอมรับนายทุนว่าอยู่ในฝ่ายประชาชนได้ แต่เกาหลีเหนือไม่ยอมรับ
(ง) การรวมศูนย์อำนาจไปอยู่ที่พรรคและผู้นำ ทำนองเดียวกับการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ราชวังและกษัตริย์ ทั้งมีการสืบทอดตำแหน่งในตระกูลอีก
2. ลัทธิสตาลิน (รวมความคิดเหมาเจ๋อตง) ประกอบด้วยแนวคิดทฤษฎีและการปฏิบัติจำนวนหนึ่ง ได้แก่
(ก) แนวคิด “สังคมนิยมในประเทศเดียว” ที่เน้นลักษณะเฉพาะของแต่ละประเทศ ไม่ต้องยึดเรื่องสากลนิยมมาก
(ข) ลัทธิบูชาตัวบุคคล เพื่อประโยชน์การทำลายศัตรูทางการเมือง และการรวมศูนย์การบัญชาในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของการสร้างประเทศใหม่
(ค) การสอดส่องควบคุมชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกมิติ การโฆษณาและปลุกระดมภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง
(ง) การสร้างระบบนารวม การพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก เพื่อปรับการผลิตเป็นแบบใช้เครื่องจักรกลให้รวดเร็ว และสร้างอุตสาหกรรมการทหารเพื่อป้องกันตนเอง เกาหลีเหนือก้าวไปถึงขั้นยึดกิจการการผลิตทั้งหมดเป็นของส่วนรวมหรือของสังคม
(จ) การวางแผนเศรษฐกิจที่ควบคุมเศรษฐกิจทั้งหมดจริงจัง
3. ลัทธิทหารและลัทธิฟาสซิสต์แบบญี่ปุ่น ลัทธิฟาสซิสต์แบบญี่ปุ่นมีลักษณะเด่นที่บางคนเห็นว่าส่งผลต่อการปฏิบัติทางการเมืองของเกาหลีเหนือได้แก่
(ก) เป็นลัทธิทหารเพื่อการสร้างความเข้มแข็งและขยายจักรวรรดิ สำหรับในกรณีเกาหลีเหนือเป็นเพื่อการรวมประเทศ
(ข) การยกย่องผู้นำสูงส่งดังเทพ
(ค) มีระบบโฆษณาและปลุกระดมให้ประชาชนภักดี และยอมปฏิบัติทุกอย่างเพื่อความรุ่งเรืองของประเทศ ในช่วงญี่ปุ่นเข้ายึดครองเกาหลี ได้ให้ชาวเกาหลีปฏิญาณตนทุกวันว่าจะเคารพเชื่อฟังต่อองค์จักรพรรดิญี่ปุ่น
(ง) การสร้างความก้าวหน้าและความเข้มแข็งอย่างรวดเร็ว ความมีเอกภาพภายในชาติ และการไม่มีฝ่ายค้าน
ข้อสังเกต : การปฏิบัติทางการเมืองที่มีลัทธิฟาสซิสต์แบบญี่ปุ่นเข้ามาเจือปนนี้ บางคนจึงเห็นว่า ลัทธิจูเช่ไม่ใช่ลัทธิสตาลินแท้ แต่มีลักษณะเหมือนบรรษัทนิยมแบบสังคมนิยมใหม่ นั้นคือสร้างความร่วมมือกันเพื่อการวางแผนและดำเนินการทางเศรษฐกิจภายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จของรัฐ
4. บริบททางสถานการณ์และความแน่วแน่ของฝ่ายนำเกาหลีเหนือ มีส่วนกำหนดในการสร้างและการตีความหมายของลัทธิจูเช่อย่างสำคัญ กล่าวคือ เป็นไปได้ว่า คิมอิลซองมีแนวคิดเรื่องการพึ่งตนเอง เชื่อมั่นในพลังของตนเองมานาน แต่มิได้ประกาศออกมาอย่างเปิดเผย ทั้งนี้เพราะว่ายังต้องการพึ่งพาสหภาพโซเวียตและจีน เพื่อการขึ้นสู่อำนาจและการรวมชาติ แต่เมื่อโซเวียตละทิ้งลัทธิสตาลิน คิมอิลซองก็ได้ประกาศลัทธินี้ให้ปรากฏแก่สาธารณะ หลังจากนั้น ก็ได้พัฒนาแนวคิดให้มีความชัดเจน และมีการอธิบายขยายความเป็นระยะตามสถานการณ์
ลัทธิจูเช่ ในด้านต่างๆ
ลัทธิจูเช่หรือหลักความเป็นอิสระและความเชื่อมั่นตนเองใน 3 ด้าน หลัก คือการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร จะจำแนกกล่าวเพื่อการเข้าใจเกาหลีเหนือดังนี้
(1) ลัทธิจูเช่ทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ลัทธิจูเช่ประกาศความเป็นอิสระทางการเมืองของเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นกลยุทธ์สำคัญเพื่อการสร้างความสมดุลของความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพโซเวียตและจีน ซึ่งชิงการนำในโลกสังคมนิยมหลังจากสตาลินถึงแก่อสัญกรรมในปี 1953 เนื่องจากเกาหลีเหนือต้องพึ่งพาทั้ง 2 ประเทศนี้อย่างสูงเพื่อการบูรณะประเทศ ในช่วงหลังสงครามเกาหลี ทั้งด้านทุน เทคโนโลยีและด้านอื่นๆ การมีจุดยืนที่เป็นอิสระทางการเมืองช่วยให้เกาหลีเหนืออาศัยความขัดแย้งของทั้ง 2 ประเทศให้เป็นประโยชน์ ในการให้ความช่วยเหลือ และการต่อต้านสหรัฐและเกาหลีใต้ที่เป็นศัตรูคู่แข่งสำคัญต่อไป
ส่วนความเป็นอิสระทางการเมืองภายในประเทศ ได้แก่ ความเป็นเอกภาพแบบไม่มีฝ่ายค้าน คิมอิลซองใช้ผลกระทบจากสงครามเกาหลีมากวาดล้างคู่แข่งทางการเมืองของเขาที่มีอยู่หลายกลุ่ม เพื่อให้เกิดเอกภาพและพลังรวมหมู่ เพราะการมีฝ่ายค้านเป็นเงื่อนไขให้อิทธิพลภายนอกเข้ามาแทรกแซงยุยงได้ง่าย เมื่อประสบความสำเร็จในการกวาดล้างแล้ว เขาก็เสริมอำนาจและอิทธิพลจนมั่นคงแข็งแกร่ง สามารถสืบทอดมายังรุ่นลูกได้
(2) ลัทธิจูเช่กับการพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือนั้น ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากประเทศสังคมนิยมโดยตลอด ได้แก่ จีน สหภาพโซเวียต และประเทศยุโรปตะวันออกหลายประเทศ ลัทธิจูเช่ที่เน้นการพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจจะทำให้ชาวพรรคและผู้ปฏิบัติงานไม่งอมืองอเท้า รอคอยแต่ความช่วยเหลือจากภายนอก จนในที่สุดเกาหลีเหนือก็จะไม่สามารถรักษาความเป็นอิสระทางการเมืองของตนไว้ได้
ภายใต้ลัทธิจูเช่ เกาหลีเหนือสามารถพัฒนาการเกษตร อุตสาหกรรม และกิจการเหมืองแร่ให้เป็นรากฐานของเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนได้ในระดับหนึ่ง อุตสาหกรรมนี้ได้แก่ เครื่องจักรกล เหล็กกล้า เคมีภัณฑ์ และปุ๋ย
(3) ลัทธิจูเช่กับลัทธิทหาร ลัทธิจูเช่มี 3 หลักการ แต่เมื่อปฏิบัติไปก็เห็นได้ว่า ทางด้านการทหารมีความสำคัญและขึ้นเป็นแกนหลักของลัทธินี้ โดยเฉพาะหลังสหภาพโซเวียตยุติการช่วยเหลือในปี 1990 ก็ได้เสนอยุทธศาสตร์ “การทหารก่อนอื่น” ขึ้นมา ปัจจุบันค่าใช้จ่ายทางการทหารของเกาหลีเหนือสูงมาก แต่ไม่ปรากฏตัวเลขอย่างเป็นทางการ บางแหล่งกล่าวว่าทหารเกณฑ์ต้องประจำการ 7-10 ปี
ลัทธิจูเช่ ความสำเร็จและทางตัน
เมื่อเกาหลีเหนือกำเนิดบนเวทีโลก ประเทศนี้ไม่ใช่ประเทศแปลกประหลาด ตรงกันข้ามกลับมีเกียรติภูมิสูงในหมู่ประเทศโลกที่ 3 อันกว้างไพศาลที่หลุดพ้นหรือกำลังหลุดพ้นจากการเป็นประเทศอาณานิคม หรือกึ่งอาณานิคม เกาหลีเหนือเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับจักรวรรดินิยมต่างๆ มีบทบาทสูงในกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ลัทธิจูเช่ก็ได้การยอมรับในระดับสูง จนเป็นที่กล่าวขวัญ
ความสำเร็จของเกาหลีเหนือในการพัฒนาเศรษฐกิจ-การเมือง-การทหารหลังสงครามเกาหลี เป็นที่น่าจับตาดูแม้ในหมู่ชนชั้นนำของเกาหลีใต้เองในช่วงทศวรรษ 1950 และ 1960 ก็มีความหวาดหวั่นในความเข้มแข็งของเกาหลีเหนือ ว่าอาจก่อสงครามบุกเกาหลีใต้
แต่ในท่ามกลางความเข้มแข็งนี้ ก็ได้เริ่มปรากฏความอ่อนแอขึ้น และความอ่อนแอนี้ได้ชัดเจนขึ้นเรื่อย จนกระทั่งในปัจจุบันลัทธิจูเช่และเกาหลีเหนือกลายเป็นประเทศแปลกประหลาดที่ถึงทางตัน
อุปสรรคที่กีดขวางการเติบโตและการเป็นที่ยอมรับในชุมชนโลกของเกาหลีเหนือมี 2 ด้านใหญ่ ได้แก่ ด้านภายในประเทศ และด้านภายนอกประเทศ
ด้านภายในประเทศ ได้แก่
(ก) การยึดมั่นในลัทธิทหาร นำความมั่งคั่งของชาติจำนวนมากไปใช้ในกิจการนี้ ทำให้ละเลยส่วนการผลิตเพื่อปากท้องของประชาชน บางแหล่งข่าวระบุว่า ค่าใช้จ่ายทางทหารของเกาหลีเหนือสูงถึง 1 ใน 3 ของรายได้ประชาชาติ (ดูบทความชื่อ North Korea spends about a third of income on military ใน reuters.com 180611 อ้างแหล่งข่าวจาก สถาบันการวิเคราะห์ทางทหารเกาหลี ซึ่งเป็นหน่วยงานของเกาหลีใต้)
(ข) นโยบายไม่มีฝ่ายค้าน ปิดกั้นเสรีภาพทางการรับรู้และการแสดงออก ได้ทำลายความคิดริเริ่มและนวัตกรรมทางสังคมและการผลิต
(ค) ความไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ของรัฐบาล รัฐและหน่วยงาน เปิดโอกาสให้เกิดการฉ้อฉล การปฏิบัติงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ
(ง) การวางแผนจากส่วนกลางอาจได้ผลดีในระยะหนึ่ง แต่เมื่อสังคมมีความซับซ้อนขึ้น การได้ผลก็จะลดลงจนถึงขั้นติดลบได้ เช่น การแทรกแซงราคาสินค้าในตลาดมากไปก็กระทบต่อการผลิต
(จ) การเสื่อมสิ้นไปของทรัพยากรธรรมชาติ เช่น หน้าดิน ป่าไม้ แหล่งถ่านหินซึ่งกระทบต่อการผลิต
ในทางสากล ช่วงหลังสงครามโลก กล่าวอย่างเล่นๆ ว่า ประเทศต่างๆ ล้วนเป็นแบบลัทธิสตาลิน แม้แต่ในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐมีลัทธิแมกคาร์ธีที่ปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออก ที่ฝรั่งเศสมีลัทธิชาร์ล เดอ โกลที่มีลักษณะรวมศูนย์อำนาจ แต่เมื่อเวลาผ่านไปแนวคิดแบบลัทธิสตาลินถูกปฏิเสธมากขึ้นทุกที เริ่มต้นสำคัญจากสหภาพโซเวียต ต่อมาที่ประเทศจีนอันเป็นหลังพิงใหญ่ของเกาหลีเหนือ
การล่มสลายของสหภาพโซเวียตทำให้เกาหลีเหนือไม่ได้รับน้ำมันราคาถูกจากรัสเซียอีกต่อไป ซึ่งส่งผลกระทบสูงมากต่อการผลิตทางการเกษตร มีส่วนทำให้เกิดภาวะอดอยากใหญ่ในเกาหลีเหนือ (สูงสุดปี 1997)
สำหรับจีนก็ได้เริ่มเดินหนทางทุนนิยมตั้งแต่ทศวรรษ 1980 และได้ขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกตั้งแต่ปี 1986 จนได้เข้าเป็นสมาชิกในปี 2001 กับได้ติดต่อค้าขายกับเกาหลีใต้มากขึ้นทุกที่
นับแต่ทศวรรษ 1990 เกาหลีเหนือที่เคยใช้ความขัดแย้ง 3 เส้าคือ จีน โซเวียต และสหรัฐให้เป็นประโยชน์ ก็ได้ผลน้อยลงโดยลำดับ จนกระทั่งในปัจจุบันถือว่าไม่ได้ผลอะไร
ขณะนี้จีน-รัสเซียเป็นพันธมิตรกันเพื่อต้านอิทธิพลสหรัฐ แต่ทั้งจีน และรัสเซียก็ต้องการสหรัฐสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจของตน และมีภาระในการขับเคลื่อนกระบวนโลกาภิวัตน์ต่อไป (ดูบทความของ Scott Snyder and Joyce Lee to The Impact of the Korean War on the Political Economic System of North Korea 920 International Journal of Korean Studies ฤดูใบไม้ร่วง ปี 2010)
เกาหลีเหนือที่ถึงทางตันนี้จะปฏิบัติตนอย่างไร จึงเป็นเรื่องที่น่า จับตา…
- เกาหลีเหนือ ประเทศที่รัฐควบคุมชีวิตประชาชนในทุกมิติ
- เส้นทางผู้นำสูงสุดคนแรกของ เกาหลีเหนือ ถึงวาระจากไปด้วย “หัวใจวาย”
- ทำไมแยกเกาหลีเหนือ-ใต้ กำเนิดเส้นขนานที่ 38 จากราชวงศ์โชซอน ถึงคิมอิลซองคุมโสมแดง
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “สงครามเย็นในแดนโสม: วิกฤตที่ยังไม่สิ้น” (มติชน, 2558)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 ตุลาคม 2564