ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
โดยทั่วไปผู้ปกครองมักจะสอนบุตรหลานไม่ให้พูดคำหยาบ หรือเสียงดังในที่สาธารณะ แต่แค่นั้นไม่พอสำหรับ “เกาหลีเหนือ” ที่แม่สอนลูกว่า “‘จำไว้นะ…แม้แต่เวลาที่ลูกคิดว่าตัวเองอยู่คนเดียว พวกนกและพวกหนูก็สามารถได้เสียงกระซิบของลูก’ แม่ไม่ได้ตั้งใจทำให้ฉันกลัว แต่ฉันรู้สึกถึงความมืดมิดและความน่าสะพรึงกลัวที่ลึกอยู่ในตัวฉัน” ปาร์ค ยอนมี สตรีชาวเกาหลีเหนือกล่าวไว้ในบันทึกประสบการณ์ชีวิตในบ้านเกิดของเธอ ก่อนหลบหนีออกนอกประเทศ
นั่นคือข้อมูลเมื่อ 20 ปีก่อน มาดูข้อมูลที่ร่วมสมัยขึ้นอีกขั้นจากงานของ อนุช อาภาภิรม เมื่อปี 2558 ที่กล่าวถึงการควบคุมประชาชนในแต่ละมิติ พอสรุปได้ดังนี้
การควบคุมประชาชนใน “เกาหลีเหนือ”
หน่วยเพื่อนบ้าน/หน่วยประชาชน ระบบการควบคุมประชาชนของรัฐ โดยจัดให้ครอบครัวระหว่าง 15-30 ครอบครัว รวมตัวกันในทุกหมู่บ้าน, บล็อกถนน, หรืออพาร์ตเมนต์สูงในเมือง เพื่อสอดส่องพฤติกรรมที่ชวนสงสัย, ตรวจตราการเยี่ยมเยือน โดยหัวหน้าหน่วยจะผสานกับตำรวจในการตรวจค้นบ้านที่มีของต้องห้ามอย่างหนังสือหรือเอกสารจากเกาหลีใต้
การรับข่าวสารต่างๆ บนท้องถนนในเกาหลีเหนือมีลำโพงที่ติดตั้งประจำและเคลื่อนที่สำหรับกระจายข่าวสารที่รัฐต้องการ, สถานีวิทยุและโทรทัศน์ รวมถึงสิ่งพิมพ์ต่างควบคุมโดยหน่วยงานของรัฐทั้งหมด, ระบบส่งเสียงตามสายที่มีไปถึงทุกบ้าน โดยมีเจ้าหน้าที่ไปคอยตรวจตราว่ายังใช้งานดีหรือไม่
ในกรณีของประชาชนที่ซื้อวิทยุและโทรทัศน์ ต้องรายงานให้รัฐรับทราบ เพื่อจะได้มาตรวจสอบว่าเครื่องใช้เหล่านี้รับช่องสัญญาณของทางการได้ แต่ก็มีการลักลอบนำวิทยุคลื่นสั้นมาฟังข่าวสารจากภายนอกอยู่ ส่วนการรับข่าวสารจากช่องทางอื่น เช่น การอ่านหนังสือนิตยสารและหนังสือพิมพ์ต่างประเทศเป็นสิ่งต้องห้าม
ชีวิตคนทำงาน ก่อนเข้าทำงานจะมีช่วงเวลา 7.30-9.00 น. สำหรับออกกำลังกาย 30 นาที และการอ่านข่าว, เรื่องคำชี้แนะการศึกษาบทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ของพรรค ตามด้วยคำชี้แนะในการทำงานประจำวัน, ประกาศของทางการ เวลาเลิกงานคือ 17.00 น. แต่คนงานเกือบทั้งหมดต้องอยู่ต่อในโรงงาน เพื่อเข้าร่วมประชุมชุมชนเกี่ยวกับการทำงาน และการเรียนรู้ประจำวันเกี่ยวกับการเมือง, ศึกษาอุดมการณ์การเมือง และเผยแพร่นโยบายของพรรค ตลอดจนมีการจัดการประชุมวิจารณ์ตนเองตามที่รัฐกำหนด
นักเรียน มีการออกกำลังกายตามจังหวะเพลง, เข้าทำความเคารพต่อหน้ารูปผู้นำ หลักสูตรการศึกษาอาศัยรากฐานแนวคิดของคิมอิลซองตั้งแต่ปี 1977 เน้นบทบาทการศึกษาในการพัฒนาจิตใจปฏิวัติ, หนังสือที่อ่านก็เกี่ยวกับชีวิตของคิมอิลซอง, ชั่วโมงร้องเพลงเป็นการร้องเพลงปลุกใจรักชาติ, การสามารถท่องจำอุดมการณ์การเมืองได้จะทำให้ได้คะแนนสูง ซึ่งจะทำให้มีโอกาสเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้
การแคลนไฟฟ้าส่งผลกระทบมากมาย เช่น ที่อยู่อาศัย ชาวเปียงยางทั้งหมดอาศัยอยู่ในตึกสูงขนาด 20-40 ชั้น แต่เนื่องจากขาดแคลนไฟฟ้า ลิฟต์ใช้งานได้จำกัด ครอบครัวที่มีผู้สูงอายุการขึ้นบันไดยิ่งยากลำบากต้องดิ้นรนหาทางย้ายจากชั้นสูงลงมาชั้นล่างด้วยความยากลำยาก บางทีก็ต้องติดสินบนเจ้าหน้าที่, ไฟที่ดับบ่อยทำให้ฤดูหนาวที่บางวันอุณหภูมิติดลบประชาชนต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากมากขึ้น ผู้คนต้องนำแผ่นพลาสติกมาปิดกันลมโกรก เอาเสื้อผ้าเท่าที่มีมาห่อคลุมร่างกาย
เทคโนโลยี สำนักงานในเกาหลีเหนือไม่ว่าจะเป็นธนาคาร, วิสาหกิจทางอุตสาหกรรมและทางธุรกิจ เกือบทั้งหมดทำงานโดยไม่มีคอมพิวเตอร์, เครื่องถ่ายเอกสาร และเทคโนโลยีสำนักงานสมัยใหม่อื่น การจ่ายเงิน การทำบัญชีทั้งหมดเป็นระบบทำมือ
แฟชัน ชาวเกาหลีเหนือต้องติดเข็มคิมอิลซอง บิดาของมาตุภูมิที่คอปกเสื้อด้านหน้า (เข็มนี้ผลิตขึ้นในปลายทศวรรษ 1960 มีการซื้อขายเปลี่ยนมือในตลาดมืด ราคาหลายร้อยวอน), ร้านตัดผมดำเนินการโดยคณะกรรมการจัดการความสุขท้องถิ่น ส่วนมากผู้ชายจะไว้ผมแบบคิมจองอิลหรือคิมอิลซอง
ความบันเทิงและชีวิตกลางคืน เช่น การช้อปปิ้งนั้นเป็นเรื่องที่ต้องกระทำทันที เมื่อพบสินค้าที่ต้องการจำหน่าย เพราะว่าไม่ช้าก็จะหมด, โรงภาพยนตร์ที่มีราว 8 แห่ง ทีี่ฉายภาพยนตร์ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการคดโกงของเกาหลีใต้และสหรัฐฯ จบลงด้วยชัยชนะของเกาหลีเหนือ, การจัดคอนเสิร์ตของนักร้องของรัฐในวันหยุดสุดสัปดาห์เพื่อปลุกจิตใจปฏิวัติ, ชีวิตกลางคืนหลัง 22.00 น. ไม่มี ผู้คนนอนกันหมดเมื่อถึงสองยาม (24.00)
เทศกาลวันหยุด ในเกาหลีเหนือมีน้อย ปีหนึ่งมีเพียง 4-5 วัน ได้แก่ วันเกิดของคิมจองอิล, วันครบรอบก่อตั้งพรรค และวันเกิดของคิมอิลซอง เป็นต้น
ทีนี้มาดูข้อมูลล่าสุดกับข่าวเล็กๆ (11 มกราคม 2563) แต่สำนักข่าวต่างประเทศให้ความสนใจ
ข่าวไฟไหม้บ้านเรือนประชาชนในจังหวัด Onsong จังหวัดทางเหนือของประเทศ ผู้เป็นแม่สามารถช่วยลูก 2 คน ของเธอออกจากกองเพลิงอย่างปลอดภัย ทว่ารูปของคิมอิลซุงและคิมจองอิล อดีตผู้นำของเกาหลีเหนือถูกไฟไหม้ทำลายจนหมด เธอจึงถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐกุมตรวจไปสอบสวนดำเนินคดี เพราะตามกฎหมายเกาหลีเหนือ กำหนดว่าต้องมีรูปของท่านผู้นำประดับไว้ทุกบ้าน และต้องดูแลรักษารูปท่านผู้นำอย่างดีที่สุด หากรูปดังกล่าวสูญหาย, ถูกทำลาย เจ้าของบ้านจะมีความผิดทางอาชญากรรมร้ายแรง
จะมีกี่ประเทศที่เป็น ที่ทำกับประชาชนอย่าง “เกาหลีเหนือ” ประเทศที่รัฐสอดส่อง, ควบคุมชีวิตผู้คนในทุกมิติ ตั้งแต่ด้านเศรษฐกิจ, การเมืองสังคม, การสื่อสาร, วัฒนธรรม ฯลฯ และลงโทษผู้เชื่อฟังฝ่าฝืนอย่างหนัก ตั้งแต่การจับเข้าค่ายแรงงานไปจนถึงการประหารชีวิต
ถ้าทำได้แม้แต่ความฝันยามค่ำคืน รัฐก็อยากเข้ามาควบคุมสั่งการ!!
อ่านเพิ่มเติม :
- ลัทธิจูเช่ เครื่องมือที่ผู้นำตระกูลคิมใช้สร้างชาติเกาหลีเหนือ
- ทำไมแยกเกาหลีเหนือ-ใต้ กำเนิดเส้นขนานที่ 38 จากราชวงศ์โชซอน ถึงคิมอิลซองคุมโสมแดง
- เส้นทาง “คิมอิลซุง” ผู้นำสูงสุดคนแรกของเกาหลีเหนือ ถึงวาระจากไปด้วย “หัวใจวาย”
ข้อมูลจาก :
ปาร์ค ยอนมี-เขียน, อรดา ลีลานุช-แปล. มีชีวิต…เพื่ออิสรภาพ, โพส์ตบุ๊กส์, 2559
อนุช อาภาภิรม. สงครามเย็นในแดนโสม, มติชน, 2558
https://www.timesnownews.com/the-buzz/article/north-korean-mother-may-face-prison-for-saving-her-children-from-house-fire-and-not-portraits-of-ex-leaders/538641
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 เมษายน 2564