ทำไมแยกเกาหลีเหนือ-ใต้ กำเนิดเส้นขนานที่ 38 จากราชวงศ์โชซอน ถึงคิมอิลซองคุมโสมแดง

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ (ซ้าย) และคิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ พบกันในเขตปลอดอาวุธ เกาหลี เมื่อ 30 มิ.ย. 2019 (ภาพจาก BRENDAN SMIALOWSKI / AFP)

เกาหลีที่คนไทยส่วนหนึ่งคุ้นเคยด้วยศัพท์ที่ขนานนามให้ว่า “แดนกิมจิ” มาพร้อมกับคำศัพท์แบ่งแยกเป็นโสมแดงและโสมขาว สื่อถึงเกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวอันซับซ้อนซึ่งพัวพันหลายด้านโดยเฉพาะกับอิทธิพลของชาติมหาอำนาจกินเวลาหลายทศวรรษสืบเนื่องต่อมาจนถึงปัจจุบัน

ราชวงศ์โชซอน

ก่อนที่จะเป็นเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ดังเช่นปัจจุบัน หลังจากค.ศ. 935 เป็นต้นไป อาณาจักรเกาหลีอยู่ภายใต้อาณาจักรโครยอ (Koryo) หรือโกเรียว (Goryeo) ดินแดนในคาบสมุทรเกาหลีอยู่ภายใต้กษัตริย์องค์เดียว แต่ระบบการเมืองการปกครองไม่ได้เข้มแข็งเสมอไป บางช่วงขุนนางท้าทายอำนาจกษัตริย์ กระทั่งปลายทศวรรษที่ 1380 อาณาจักรโครยอ เริ่มเสื่อมอำนาจ

ในค.ศ. 1392 อี ซองกเย ผู้นำทหารเข้ายึดอำนาจจากกษัตริย์ และสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นกษัตริย์แทโจ (Taejo) ก่อตั้งราชวงศ์อี (Yi) หรือในชื่อราชวงศ์ที่คุ้นเคยกันว่าราชวงศ์โชซอน (Joseon) ย้ายเมืองหลวงจากซองโด ไปเมืองฮันยาง (Hanyang) หรือปัจจุบันก็คือกรุงโซล (Seoul)

สมัยราชวงศ์โชซอน โดยเฉพาะในช่วงปลายตั้งแต่ ค.ศ. 1864 เป็นต้นมาจนถึงสงครามเกาหลีระหว่าง ค.ศ. 1950-1953 เป็นช่วงที่ถือว่าวุ่นวายทั้งภายในและภายนอก วิเชียร อินทะสี ผู้เขียนหนังสือ “เกาหลีในช่วงอลหม่าน” อธิบายว่า ในช่วง ค.ศ. 1864 ราชสำนักโชซอนที่มีพระเจ้าโกจง (ครองราชย์ ค.ศ. 1864-1907) เป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์ตั้งแต่พระชนมายุ 11 พรรษาเท่านั้น และยิ่งในช่วงที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อทางประวัติศาสตร์ด้วย รัชสมัยของพระองค์มีพระราชินีมินจายองเป็นผู้มีอิทธิพลหลังบัลลังก์

แม้จะมีผู้สำเร็จราชการแทน แต่ราชสำนักช่วงเวลานั้นเผชิญกับความท้าทายจากภายนอกโดยมหาอำนาจอย่างจีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย ความสัมพันธ์ของเกาหลีกับจีน อยู่ในแบบบรรณาการ เมื่อเกาหลีวุ่นวาย จีนย่อมต้องช่วยเหลือ ซึ่งบริบทนี้ทำให้ญี่ปุ่นไม่พอใจ เนื่องจากญี่ปุ่นต้องการเข้าไปมีอิทธิพลในเกาหลี เป็นผลให้นำไปสู่สงครามจีน-ญี่ปุ่นในช่วง ค.ศ. 1894-1895 ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายชนะ จีนต้องรับรองเอกราชของเกาหลี เรียกได้ว่า เกาหลีหลุดลอยไปจากอำนาจของจีน

หลังสงครามจีน-ญี่ปุ่น

สงครามสืบเนื่องต่อมาในช่วงที่ญี่ปุ่นต้องรบกับรัสเซียเพื่อผลประโยชน์ว่าด้วยตัวเกาหลี สงครามดำเนินไประหว่าง 1904-1905 กองทัพเรือญี่ปุ่นเป็นฝ่ายเอาชนะกองทัพรัสเซียได้ ในค.ศ. 1910 ญี่ปุ่นยึดครองเกาหลีเป็นอาณานิคมอย่างเป็นทางการ โดยก่อนหน้านั้นก็ได้ปลดพระเจ้าโกจง ออกจากราชบัลลังก์แล้วควบคุมพระองค์ไปที่ญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นสถาปนาพระเจ้าซุนจง พระราชโอรสของพระเจ้าโกจงเป็นจักรพรรดิเกาหลี แต่ก็เป็นแค่ในนาม ปล่อยให้ข้าหลวงใหญ่ญี่ปุ่นปกครองกันเอง การถือครองเกาหลีกินเวลาถึงช่วงที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ในค.ศ. 1945

ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นมีท่าทียอมจำนนหลังถูกสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูลูกที่ 2 ที่เมืองนางาซิกิ (Nagasaki) ก่อนหน้านั้นสหรัฐอเมริกาทำข้อตกลงกับสหภาพโซเวียต เนื่องจากเกรงว่าสหภาพโซเวียตจะเข้ายึดครองเกาหลีเพียงฝ่ายเดียว ข้อตกลงกำหนดให้เส้นขนานที่ 38 เป็นเส้นแบ่งเขตปฏิบัติการทางทหารสำหรับการปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น พื้นที่เหนือเส้นขนานที่ 38 เป็นความรับผิดชอบของสหภาพโซเวียต ขณะที่ทางตอนใต้ของเส้นขนานเป็นความรับผิดชอบของสหรัฐฯ

ในบริบทความสัมพันธ์ทางอำนาจนี้ สหรัฐอเมริกามองว่า เมื่อญี่ปุ่นยอมจำนน ดินแดนที่ญี่ปุ่นครอบครองต้องถูกยึดกลับมา ขณะที่เกาหลีจะอยู่ในภาวะพิทักษ์ หรือทรัสตี (Trusteeship) โดยมีสหรัฐอเมริกา จีน และประเทศอื่นอีกจำนวนหนึ่งเป็นผู้ดูแล

นโยบายนี้เป็นไปเพื่อป้องกันสหภาพโซเวียตยึดครองเกาหลี ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ย่อมกระทบต่อดุลอำนาจในเอเชียตะวันออก (สหรัฐฯ ก็ต้องการมีสถานะเหนือกว่าโซเวียตด้วยเหตุผลหลายประการรวมถึงจำกัดอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออก) แนวคิดนี้ได้รับเสียงสนับสนุนจากจีนและอังกฤษ สุดท้ายก็สามารถบรรลุข้อตกลงเรื่องภาวะทรัสตีกับโจเซฟ สตาลิน นายกรัฐมนตรีแห่งสหภาพโซเวียต แต่ยังไม่ได้มีการระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการกำหนดให้เกาหลีอยู่ในภาวะทรัสตี

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 

ก่อนหน้าที่ต่างชาติจะเข้ามาปลดอาวุธ ผู้สำเร็จราชการญี่ปุ่นในเกาหลีเริ่มตั้งรัฐบาลชั่วคราว ให้คนเกาหลีบริหารและควบคุม จากนั้นในช่วงสิงหาคม ค.ศ. 1945 คณะกรรมการเตรียมการเพื่อเอกราชของเกาหลีประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนเกาหลี (Koran People’s Republic) มีการร่างรัฐธรรมนูญ และเลือกคณะรัฐมนตรีโดยมีทั้งบุคคลที่เป็นฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ในช่วงแรกก็เป็นไปแบบไม่มีปัญหา แต่ก็มาเผชิญปัญหาความขัดแย้งทางความคิดและช่วงชิงอำนาจระหว่างคอมมิวนิสต์กับฝ่ายขวา ฝั่งฝ่ายขวาก็จัดตั้งพรรคประชาธิปไตยเกาหลี (Korean Democratic Party)

เดือนกันยายน ค.ศ. 1945 สหรัฐฯ เริ่มปฏิบัติการภารกิจในส่วนเกาหลีตอนใต้ ด้วยจุดยืนของสหรัฐฯ และบรรยากาศที่คุกรุ่นด้วยประเด็นเรื่องคอมมิวนิสต์ ผู้นำทหารสหรัฐอเมริกามองผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนเกาหลีในฐานะขั้วตรงข้าม และไม่ยอมรับสถานะสาธารณรัฐประชาชนเกาหลี และประกาศว่า สาธารณรัฐประชาชนเกาหลีมีสถานะนอกกฎหมายเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1945 สถานการณ์นี้ก่อให้เกิดความวุ่นวายและการปะทะกันเล็กน้อย

สหรัฐอเมริกามีแผนจัดตั้งรัฐบาลจากฝ่ายชาตินิยม โดยมีคิมคู และอีซึงมัน อดีตประธานาธิบดีของรัฐบาลเกาหลีพลัดถิ่นเป็นผู้นำ จากนั้นจะขยายอำนาจไปถึงดินแดนส่วนเหนือ หากไม่สามารถทำได้ก็จะจัดตั้งรัฐบาลแยกส่วนเหนือและใต้ เมื่อดูจากท่าทีของคิมคู ที่ต่อต้านเรื่องเกาหลีอยู่ในสภาวะทรัสตี สหรัฐฯ จึงหันมาสนใจคิมคยูซิก รองประธานาธิบดีในรัฐบาลเกาหลีชั่วคราวในจีน แต่รายนี้ก็คัดค้านเช่นกัน สุดท้ายก็ต้องพิจารณาอีซึงมัน ซึ่งในเบื้องลึกแล้วก็ไม่ลงรอยกับนายพลจอห์น ฮอด์จ ผู้นำทหารสหรัฐอเมริกาในเกาหลี

ขณะที่สหภาพโซเวียตเริ่มปฏิบัติการในเกาหลีส่วนเหนือเมื่อสิงหาคมปีเดียวกัน กองทัพสหภาพโซเวียตเข้ามาในเปียงยาง และให้การรับรองคณะกรรมการบริหารของประชาชน ใน 5 จังหวัด อีกทั้งยังรับรองคณะกรรมการบริหารของประชาชนในระดับเมืองและระดับล่างลงมา หลังจากนั้นไม่นาน คิมอิลซอง (Kim II-sung) ก็เริ่มปรากฏตัว (ไม่มีข้อมูลเรื่องเวลาที่ปรากฏตัวอย่างแน่ชัด) พร้อมกับนายพลโรมาเนนโก นายทหารของสหภาพโซเวียต ซึ่งเขาแนะนำคิมอิลซองต่อผู้นำชาตินิยมและกลุ่มคอมมิวนิสต์ ยกย่องเรื่องความกล้าหาญในการต่อสู้กับญี่ปุ่น เรียกได้ว่า เป็นการเปิดเผยท่าทีต้องการสนับสนุนให้เป็นผู้นำเกาหลีฝ่ายเหนือ

คิมอิลซอง

วิเชียร อินทะสี วิเคราะห์สาเหตุที่สหภาพโซเวียตต้องการสนับสนุนคิมอิลซอง ซึ่งขณะนั้นยังไม่ค่อยมีประชาชนรู้จักเขามากนัก และมีประสบการณ์ทางการเมืองไม่มากเช่นกันเพื่อเป็นผู้นำในอนาคตว่า สหภาพโซเวียตเชื่อถือและไว้วางใจคิมอิลซอง การที่จะไว้ใจได้ย่อมต้องรู้จักมานาน ซึ่งหากพิจารณาแล้ว ก่อนที่คิมอิลซอง เข้ามาในดินแดนเกาหลีก็มียศพันตรีในกองทัพสหภาพโซเวียต เชื่อว่าอาจทำงานในการทหารของสหภาพโซเวียตก่อนที่จะเดินทางไปในสหภาพโซเวียตในค.ศ. 1942 ซึ่งเป็นช่วงที่เขาเข้ามารับการอบรมด้านการเมืองก่อนที่จะเข้ามาในดินแดนเกาหลี กรณีนี้ข้อมูลขัดกันกับข้อกล่าวอ้างของสหภาพโซเวียตที่เล่าว่า คิมอิลซองต่อสู้กับญี่ปุ่นในดินแดนแมนจูเรียกระทั่งเกาหลีได้รับการปลดปล่อยจากญี่ปุ่น

ประการต่อมา คือ สหภาพโซเวียตรับรู้ว่า กลุ่มคอมมิวนิสต์เกาหลีที่ต่อสู่กับญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วง 20 ปีก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็แตกออกเป็นฝักฝ่าย การสนับสนุนใครคนใดคนหนึ่งย่อมทำให้เกิดการแย่งชิงอำนาจขึ้น

และประการที่ 3 คือ สหภาพโซเวียต รู้ดีว่าคิมอิลซอง มีประสบการณ์การเมืองไม่มากนัก ก็อาจต้องการให้คิมอิลซองเรียนรู้ในการเป็นผู้นำภายใต้การนำของนักชาตินิยมที่คนในพื้นที่ให้การยอมรับอย่างโชมันซิก สักระยะก่อน

ไม่นานนัก โชมันซิก ถูกปลดจากตำแหน่งคณะกรรมการประชาชนชั่วคราว 5 จังหวัด การดูแลด้านนิติบัญญัติและบริการขององค์กรท้องถิ่นในเกาหลีส่วนเหนืออยู่ภายใต้การดูแลของคิมอิลซอง และกลุ่มที่ฝักใฝ่สหภาพโซเวียต ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1945 หลังสหภาพโซเวียตเข้าปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น สนับสนุนการตั้งสำนักงานสาขาพรรคคอมมิวนิสต์เกาหลีที่กรุงเปียงยาง และในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน คิมอิลซอง ก็ได้รับเลือกเป็นประธาน

ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1946 สำนักงานสาขาพรรคคอมมิวนิสต์เกาหลีเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ การดำเนินการของคิมอิลซองก็อยู่ภายใต้การชี้นำของสหภาพโซเวียต

จะเห็นได้ว่า มหาอำนาจแต่ละฝ่ายต่างวางแนวทางและให้การสนับสนุนกลุ่มทางการเมืองที่มีอุดมการณ์สอดคล้องกับฝั่งตัวเอง ภายหลังสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียตไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวของเกาหลี เพื่อนำไปสู่ภาวะพิทักษ์ตามที่ตกลง บรรยากาศกลายเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนให้เกาหลีอยู่ในภาวะพิทักษ์ กับฝ่ายอนุรักษนิยมที่ต้องการให้เกาหลีเป็นเอกราชทันที

สหรัฐอเมริกาเสนอให้จัดเลือกตั้งในเกาหลีเพื่อให้มีรัฐบาลและสภานิติบัญญัติชั่วคราว แต่สหภาพโซเวียตปฏิเสธ การเลือกตั้งเกิดเฉพาะในเกาหลีส่วนใต้ของเส้นขนานที่ 38 ผลการเลือกตั้งนำมาสู่รัฐบบาลโดยมีอีซึงมัน (Syngman Rhee) เป็นประธานาธิบดี และสถาปนาสาธารณรัฐเกาหลี หรือเกาหลีใต้ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1948

ส่วนเกาหลีส่วนเหนือภายใต้การดูแลของโซเวียต ก็สถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี หรือเกาหลีเหนือ ในเดือนกันยายนปีเดียวกัน โดยมีคิมอิลซอง เป็นนายกรัฐมนตรี

หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดสงครามเกาหลีระหว่างค.ศ. 1950-1953 ฝ่ายเกาหลีเหนือมีสหภาพโซเวียตและจีนสนับสนุน ส่วนเกาหลีใต้มีสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรสนับสนุน บรรยากาศที่เป็นอยู่สะท้อนสภาพของความพยายามของมหาอำนาจในการมีอิทธิพลเหนือเกาหลีเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจในช่วงเริ่มต้นสงครามเย็น อันกลายเป็นความล้มเหลวของมหาอำนาจด้วย

สงครามสิ้นสุดลงด้วยสัญญาหยุดยิง แต่ยังไม่สามารถหาทางออกในด้านสันติภาพร่วมกัน แต่ละฝ่ายไม่ยอมรับสถานะความเป็นรัฐของกันและกัน มาจนถึงยุค 2000s และมีเหตุการณ์กระทบกระทั่งกันเกิดขึ้นประปรายควบคู่ไปกับความพยายามของมหาอำนาจและชาติต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาและหาข้อตกลงร่วมระหว่างทั้งสองฝ่าย


อ้างอิง:

ไกรฤกษ์ นานา. “อย่าให้เหมือนเกาหลี กษัตริย์ที่หายไปจากภาพประมุขทั่วโลกออกมหาสมาคม”. ใน ศิลปวัฒนธรรม. พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วิเชียร อินทะสี. เกาหลีในช่วงอลหม่าน ค.ศ. 1864-1953. พิษณุโลก : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2561

รงรอง วงศ์โอบอ้อม. ประวัติศาสตร์เกาหลี. กรุงเทพฯ : พี.เอ.ลีฟวิ่ง, 2561


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2562